ปี 2562 ธนาคารกรุงศรีมีกำไรสุทธิ 32,749 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 32% จากปี 2561
การเติบโตของธนาคารกรุงศรี ส่วนหนึ่งมาจากการปรับตัว ยกระดับประสบการณ์ลูกค้าสู่ Digital Transformation ในผลิตภัณฑ์ธนาคารในรูปแบบต่างๆ เช่น การให้ความสำคัญกับ Digital Lending ซึ่งถือเป็นพอร์ตที่สำคัญในการสร้างรายได้ การนำ AI มาวิเคราะห์ข้อมูลลูกค้า ร่วมมือกับพันธมิตรในการพัฒนา Ecosystem เชื่อมต่อธนาคารกับผู้บริโภคในหลากมิติ
“ธนาคารกรุงศรีมีการเติบโตของเงินให้สินเชื่อที่สูงที่สุดและคุณภาพสินทรัพย์ที่แข็งแกร่งที่สุดเมื่อเทียบกับธนาคารในกลุ่มสถาบันการเงินที่มีความสำคัญเชิงระบบ (D-SIB)” เซอิจิโระ อาคิตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวในวันแถลงข่าวกลยุทธ์ธุรกิจปี 2563
นอกจากนี้ ที่ผ่านมาธนาคารกรุงศรียังได้ทุ่มเงินลงทุน 800 ล้านบาทในการพัฒนาและการผลักดันกรุงศรี โมบาย แอปพลิเคชัน (KMA) สู่การเป็นแพลตฟอร์มสำหรับโลกการเงินในอนาคต และเป็นประตูสำคัญที่ทำให้ธนาคารได้เรียนรู้และรู้จักพฤติกรรมในการจับจ่ายของผู้บริโภคมากขึ้น
ในปี 2562 ที่แอปพลิเคชันกรุงศรีโมบายแบงกิ้งมีจำนวนผู้ใช้งาน 3.8 ล้านราย เพิ่มจากปี 2561 ที่มีจำนวนผู้ใช้งานอยู่ที่ 2.5 ล้านราย ผ่านการทำธุรกรรม 1,500 ล้านรายการ เพิ่มขึ้น 47% จากปี 2561 ที่มีเพียงกว่า 1,000 ล้านรายการ
ส่วนปีนี้ ซึ่งเป็นปีที่ธนาคารกรุงศรีอยุธยาครบรอบ 75 ปี กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกรุงศรี ยังคงมุ่งเน้นผู้นำการเปลี่ยนแปลงธุรกิจเงินในยุคดิจิทัล ผ่านแนวคิด “เรื่องเงิน เรื่องง่าย” ซึ่งเป็นสโลแกนที่เป็นหัวใจหลักของธนาคาร ซึ่งประกอบด้วย
1. การสร้างประสบการณ์ลูกค้าผ่านกระบวนการพัฒนาเพื่อปรับเปลี่ยนองค์กรโดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Transformation)
ในปีนี้ธนาคารกรุงศรีมีแนวทางในการพัฒนานวัตกรรมด้านผลิตภัณฑ์ ออกบริการใหม่ๆ พัฒนาระบบและธุรกรรมทางการเงินเป็นดิจิทัลที่สร้างประสบการณ์ที่ดีกับลูกค้าในการใช้บริการ อย่างเช่น ล่าสุดได้เปิดบริการเงินฝากออมทรัพย์ มีแต่ได้ ออนไลน์ ที่ให้ลูกค้าเก่าและลูกค้าใหม่ธนาคารสามารถเปิดบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ผ่าน KMA ซึ่งเป็นโมบายแบงกิ้งของธนาคารได้ทันที ส่วนลูกค้าใหม่สามารถยืนยันตัวตนในรูปแบบ NDID (National Digital ID) ซึ่งเป็นระบบยืนยันตัวตนผ่านระบบดิจิทัลที่ให้ธนาคารสามารถนำข้อมูลการยืนยันตัวตนของผู้บริโภคจากธนาคารพาณิชย์อื่นๆ เพื่อเปิดบัญชีได้เช่นกัน
2. การขับเคลื่อนธุรกิจด้วยศักยภาพด้านข้อมูล
ธนาคารกรุงศรียังคงเดินหน้าในการเก็บข้อมูลลูกค้า และนำ AI มาวิเคราะห์ข้อมูลของลูกค้า เพื่อดูแลลูกค้า นำเสนอผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ตรงกับความต้องการ และลดความเสี่ยงในการปล่อยสินเชื่อให้กับลูกค้าทุกระบบ
และนอกจากนี้ ฐากร ปิยะพันธ์ ประธานกรรมการ กรุงศรี คอนซูเมอร์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เคยมองไว้ว่าถ้าธนาคารรู้จักพฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคดีพอ ยังสามารถเป็นคลังข้อมูลในรูปแบบ Data Company ให้กับธุรกิจอื่นๆ ได้อีกด้วย
3. กลยุทธ์ความร่วมมือกับพันธมิตร
มีการวางโครงการต่างๆ ที่มุ่งเน้นด้านการพัฒนาระบบนิเวศทางธุรกิจ (Ecosystem) เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับลูกค้า รวมทั้งกลุ่มผู้ใช้รถ ผู้ซื้อบ้าน และผู้ประกอบการเอสเอ็มอี อีกด้วย
ทั้งนี้ ในปี 2563 กรุงศรีคาดว่าเงินให้สินเชื่อจะเติบโตในระดับ 5-7% และมีส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิที่ 3.4-3.6% การเติบโตของรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยอยู่ในช่วง -3% ถึง 3% และอัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้อยู่ที่ระดับต่ำกว่า 2.5%
เพราะ ดิจิทัลเปลี่ยนโลกใหม่ให้กับธนาคารได้เสมอ
Marketeer FYI
สรุปผลประกอบการธนาคารกรุงศรีปี 2562
• กําไรสุทธิ 32,749 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 32% จากปี 2561
(ไม่รวมรายการพิเศษในปี 2562 กําไรสุทธิจากการดําเนินธุรกิจตามปกติของปี 2562 เพิ่มขึ้น 2,128 ล้านบาท หรือ 8.6% จากปี 2561)
• เงินให้สินเชื่อ เพิ่มขึ้น 8.7% หรือจํานวน 145,859 ล้านบาท เมื่อเทียบกับสิ้นเดือนธันวาคม 2561
• อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพ 1.98% จาก 2.08% ในสิ้นเดือนธันวาคม 2561
• การเติบโตของเงินรับฝาก เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.9 หรือจํานวน 140,537 ล้านบาท เมื่อเทียบกับสิ้นเดือนธันวาคม 2561
–
ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ