เทสโก้ โลตัส ย้อนรอย 23 ปี ก่อนจะกลับมาอยู่ใต้ปีก ซีพี อีกครั้ง (วิเคราะห์)

“ลูกผู้ชาย 10 ปี ล้างแค้นยังไม่สาย”  ว่ากันตามสุภาษิตจีน หมายถึง จะทำการใดให้อดทนอย่างสุขุมรอจนถึงโอกาสอันสมควร

สำหรับเจ้าสัวธนินท์ … “23 ปี ยังไม่สาย” นับเป็นการรอคอยมานานถึงกว่า 20 ปี กว่าที่ฝันจะเป็นจริง นั่นคือการได้ “เทสโก้ โลตัส” กลับมาอยู่ในอ้อมกอดของเครือซีพีอีกครั้ง หลังจากเครือซีพีชนะการประมูลซื้อ “กลุ่มเทสโก้เอเชีย” ซึ่งประกอบด้วย เทสโก้ ประเทศไทย และเทสโก้ ประเทศมาเลเซีย

คุณธนินท์มักพูดเสมอว่า “เทสโก้ โลตัสเป็นเสมือนลูก (คนเล็ก)” เพราะเขาเป็นคนปลุกปั้นแบรนด์ “โลตัส” ขึ้นมาในเมืองไทย แต่ต่อมาต้องขายกิจการไปในช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 เพื่อรักษาธุรกิจหลักของเครือไว้ ดังนั้น เมื่อได้โอกาสที่บริษัทแม่ของกลุ่มเทสโก้ในประเทศอังกฤษประกาศขายกิจการในเมืองไทย เจ้าสัวซีพีจึงย่อมไม่ปล่อยโอกาส “เอาคืน”

ก่อนหน้านี้ กระแสความสนใจอยากได้ “โลตัส” กลับคืนสู่เครือมีมาตั้งแต่ปี 2557 หลังกลุ่มซีพีเพิ่งได้กิจการแม็คโครมาหมาดๆ ประกอบกับเป็นช่วงที่ผลประกอบการของเทสโก้ฯ ในเอเชียอยู่ในช่วงตกต่ำ และมีทีท่าว่าจะยอมถอยออกจากตลาดเอเชีย แต่ในครั้งนั้นบริษัทแม่จากอังกฤษก็ยังคงเดินหน้าสู้ต่อในประเทศไทยและมาเลเซีย

กระทั่งปลายปี 2562 จึงมีกระแสข่าวว่ากลุ่มเทสโก้ต้องการขายกิจการในเอเชียที่เหลืออยู่ (เทสโก้ฯ ประเทศไทย และเทสโก้ฯ มาเลเซีย) พร้อมกับข่าว “3 ตระกูลเจ้าสัว” รวยอันดับต้นๆ ของประเทศไทย” แย่งกันประมูลเพื่อหวังซื้อกิจการเทสโก้ฯ มาต่อยอดธุรกิจค้าปลีกในมือตน (อ่านเพิ่ม “ใครๆ ก็อยากได้เทสโก้ฯ”)

วันที่ 9 มี.ค. 2563 เว็บไซต์ของ TESCO Plc. ระบุว่า บริษัทได้ขายกิจการในไทยและมาเลเซียให้กับ “กลุ่มซีพี (CP Group)” โดยแบ่งเป็น บมจ. ซีพี ออลล์ (CP ALL) ถือหุ้น 40% บริษัท เจริญโภคภัณฑ์ โฮลดิ้ง จำกัด ถือหุ้น 40% และอีก 20% ที่เหลือถือโดยบริษัท ซีพี เมอร์แชนไดซิ่ง จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยในเครือของ บมจ. เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF) โดยมูลค่าดีลครั้งนี้ร่วม 10.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ

“สามประสาน” เพื่อถือหุ้นใน Tesco Stores

ข้อมูลแจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จากฝั่ง CP ALL ระบุว่า ในการทำธุรกรรมครั้งนี้ CP ALL จะเข้าถือหุ้นในสัดส่วนไม่เกินร้อยละ 40 ของบริษัท เทสโก้ สโตร์ส (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งถือหุ้น 99.99% ใน บริษัท เอก-ชัย ดีสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด ผู้ประกอบการธุรกิจค้าปลีกภายใต้แบรนด์ Tesco Lotus ในประเทศไทย และถือหุ้น 40% ใน Tesco Stores (Malaysia) Sdn. Bhd. (เทสโก้ประเทศมาเลเซีย) โดยลงทุนโดยอ้อมผ่านบริษัทเฉพาะกิจที่จัดตั้งขึ้นใหม่คือ บริษัท ซี.พี. รีเทล โฮลดิ้ง จํากัด เพื่อถือหุ้น 100% ใน บริษัท ซี.พี. รีเทล ดีเวลลอปเม้นท์ จํากัด ซึ่งถูกจัดต้ังขึ้นเพื่อการลงทุนในกลุ่มเทสโก้เอเชีย (เทสโก้ โลตัส ในไทยและมาเลเซีย)

นอกจาก CP All บริษัท ซี.พี. รีเทล โฮลดิ้งนี้ยังถือหุ้นโดยบริษัท เจริญโภคภัณฑ์ โฮลดิ้ง จํากัด ในสัดส่วน 40% ส่วนอีก 20% ถือโดย บริษัท ซี.พี. เมอร์แชนไดซิ่ง จํากัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ บมจ. เจริญโภคภัณฑ์อาหาร หรือ CPF … ซึ่งนี่ต้องถือว่าดีลนี้เป็นอีกโปรเจกต์ใหญ่สำหรับ “เจริญโภคภัณฑ์ โฮลดิ้ง” หลังจากปลายปี 2561 บริษัทร่วมกับพันธมิตรชนะประมูล “โครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) เชื่อมต่อ 3 สนามบิน” 117,227 ล้านบาท

โครงสร้างการถือหุ้นใหม่ใน Tesco Stores

จากข้อมูลในจดหมายแจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ เงินลงทุนในส่วนของ CP ALL ในธุรกรรมครั้งนี้ มีมูลค่าประมาณ 3,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 95,981 ล้านบาท (อัตราแลกเปลี่ยน 32 บาท/USD) ขณะที่เงินลงทุนในส่วนของ CPF มูลค่าประมาณ 1,500 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 47,991 ล้านบาท

สำหรับเทสโก้ประเทศไทย ณ สิ้นเดือน ส.ค. 2562 มีสาขาทั้งสิ้น 2,158 สาขา ณ งวดบัญชีสิ้นสุดวันที่ 28 ก.พ. 2562 มีรายได้รวมราว 1.89 แสนล้านบาท ลดลง 4% จากปี 2561 แต่ถ้าเทียบกับปี 2560 รายได้รวมลดลงกว่า 13% ขณะที่กำไรสุทธิอยู่ที่ 7.82 พันล้านบาท ลดลงจากปี 2561 เกือบ 19%

ส่วนเทสโก้ประะเทศมาเลเซีย ณ สิ้นเดือน ส.ค. 2562 มีสาขาทั้งสิ้น 68 สาขา ณ งวดบัญชีสิ้นสุดวันที่ 28 ก.พ. 2562 มีรายได้รวมราว 3.36 หมื่นล้านบาท (อัตราแลกเปลี่ยน 7.655/ริงกิต) เพิ่มขึ้นเพียง 0.3% และ 1.4% จากปี 2561 และปี 2560 ตามลำดับ โดยมีขาดทุนสุทธิ 339.1 ล้านบาท ลดลงจากปี 2561 ที่มีกำไร 174.6 ล้านบาท หรือกำไรสุทธิโตลดลงเกือบ 300%

จากผลประกอบการที่ไม่ค่อยสดใสใน 2 ประเทศ ซึ่งเป็นฐานทัพสุดท้ายในภูมิภาคเอเชีย ทำให้กลุ่ม Tesco Plc ตัดสินใจขายกิจการในเอเชีย เพื่อหันกลับไปโฟกัสในตลาดหลักที่ประเทศอังกฤษ และตลาดยุโรปนั่นเอง

เงื่อนสำคัญที่จะทำให้ดีลนี้เป็นจริง

อย่างไรก็ดี เงื่อนไขสำคัญที่จะทำให้ธุรกรรมครั้งนี้สำเร็จครบถ้วนได้ ประกอบด้วย 1) ที่ประชุมผู้ถือหุ้นของ Tesco PLC ในประเทศอังกฤษมีมติอนุมัติดีลการซื้อขายครั้งนี้ และ 2) ได้รับอนุญาตจากหน่วยงานกำกับดูแลเรื่องการแข่งขันทางการค้า โดยในประเทศไทย คือ สํานักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (สขค.) ส่วนประเทศมาเลเซีย ได้แก่ Ministry of Domestic Trade and Consumers Affairs of Malaysia…. ซึ่งหลายฝ่ายมองว่า กขค. คือปราการด่านสำคัญของดีลนี้!!

ยกเว้นเจ้าสัวธนินท์ ที่ยืนยันว่าตนรู้จักธุรกิจค้าปลีกดีกว่าใคร การเข้ามาซื้อเทสโก้ โลตัสในครั้งนี้ไม่ได้เป็นการผูกขาด เนื่องจากแม็คโครเป็นกลุ่มค้าส่ง เทสโก้ฯ เป็นกลุ่มค้าปลีก 7-Eleven เป็นกลุ่มร้านสะดวกซื้อ ในต่างประเทศไม่เอามารวมกัน มันจะผูกขาดได้ยังไง และหลังจากซื้อเทสโก้ฯ มาแล้วจะมีการปรับปรุงเพื่อทำในรูปแบบใหม่ 

หลังจากข่าวคราวชัยชนะของเจ้าสัวซีพีครั้งนี้สำเร็จ คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) ได้ออกมาแถลงเป็นกรณีพิเศษว่า การประมูลกิจการเทสโก้ โลตัส ต้องได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการก่อน เนื่องจากจะส่อการผูกขาดทางการค้า พร้อมกับสั่งการให้ สขค. เฝ้าระวังดีลนี้เป็นพิเศษ และติดตามการรวมธุรกิจอย่างใกล้ชิด

เนื่องจาก กขค. มองว่าการซื้อกิจการของเทสโก้ โลตัสโดยกลุ่มซีพี อาจเข้าข่ายการเป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาด จะต้องขออนุญาตรวมธุรกิจ ตาม พ.ร.บ. แข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 โดย กขค. จะรอการยื่นเอกสารการขออนุญาตรวมธุรกิจจากกลุ่มซีพีก่อน เพื่อนำมาศึกษาวิเคราะห์ขอบเขตตลาดที่เกี่ยวข้องเนื่องจากธุรกิจนี้มีทั้งค้าส่งค้าปลีกหลากหลายรูปแบบ และศึกษาผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจ การแข่งขันทางการค้า รวมทั้งผู้บริโภค

ทั้งนี้ การพิจารณาของ กขค. อาจออกมาได้ 3 ลักษณะคือ เห็นควรอนุญาต, ไม่อนุญาต หรืออนุญาตแบบมีเงื่อนไขตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่ง พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า 2560 ได้กําหนดแนวปฎิบัติไว้ 2 แนวทาง

1) เมื่อมีการรวมธุรกิจแล้วอาจก่อให้เกิดการผูกขาดหรือเป็นผู้ประกอบธุรกิจ ซึ่งมีอํานาจเหนือตลาด (มีส่วนแบ่งตลาดเกินร้อยละ 50 และมียอดเงินขายตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป หรือเป็นผู้ประกอบธุรกิจ 3 รายแรกในตลาดมีส่วนแบ่งตลาดรวมกันเกินร้อยละ 75)  ต้องขออนุญาต จาก กขค. ก่อนและต้องได้รับการอนุญาตจึงจะทําการรวมธุรกิจได้

2) เมื่อมีการรวมธุรกิจแล้ว อาจก่อให้เกิดการแข่งขันลดลงอย่างมีนัยสําคัญ ต้องแจ้งให้ กขค. ทราบภายใน 7 วันนับแต่วันที่รวมธุรกิจ  โดย กขค. ได้กําหนดหลักเกณฑ์ไว้ว่าเป็นการรวมธุรกิจที่มียอดเงินขายในตลาดตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป และไม่ก่อให้เกิดการผูกขาด หรือ เป็นผู้ประกอบธุรกิจซึ่งมีอํานาจเหนือตลาด

ประเด็นที่น่าคิดก็คือ ในการพิจารณาของ กขค. สัดส่วนการถือหุ้นเพียง 40% ของ CP ALL จะถูกนำมาเป็นเงื่อนไขในการแบ่งสัดส่วนในส่วนแบ่งตลาดของเทสโก้ฯ ด้วยหรือไม่

อย่างไรก็ดี “เงื่อน กขค.” ผ่านฉลุย อาณาจักรค้าปลีกในเครือซีพีก็จะครอบคลุมค้าปลีกทั้ง 3 เซกเมนต์ ทั้งกลุ่มร้านสะดวกซื้อ นำโดยแบรนด์ 7-Eleven, กลุ่มค้าส่ง Cash & Carry ในแบรนด์ Makro และกลุ่ม Hypermarket ด้วยแบรนด์เทสโก้ โลตัส แถมแต่ละแบรนด์ยังเป็น “ผู้นำตลาด” ในเซกเมนต์ของตัวเอง …ถือว่า “ครบ (วงจร) จบที่เครือซีพี”

แหล่งเงินทุนมาจากไหน….

ตามจดหมายแจ้งตลาดฯ ของ CP ALL และ CPF ระบุว่า แหล่งเงินจะมาจากกระแสเงินสดของบริษัทร่วมกับเงินกู้ยืม จึงสามารถระดมทุนได้โดยไม่ต้องเพิ่มทุนให้กระทบต่อผู้ถือหุ้น

นักวิเคราะห์หลายแห่งมองว่า รูปแบบการซื้อกิจการของเครือซีพีครั้งนี้ถือว่าเหนือความคาดหมาย แต่ก็นับเป็นความชาญฉลาดของผู้บริหารซีพี ที่ใช้ 3 บริษัทในเครือมาร่วมหุ้นกันตั้งบริษัทย่อยขึ้นมา 2 บริษัทเพื่อปิดดีลซื้อเทสโก้ โลตัส ในครั้งนี้ เพราะย่อมเป็นการเพิ่มโอกาสในการกู้ยืมสถาบันการเงินจากแต่ละบริษัท นอกจากนี้ บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังมีทางเลือกเป็นการออกหุ้นกู้ได้ด้วย แต่แน่นอนว่าย่อมมีผลให้สัดส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E) เพิ่มขึ้น

คาดการณ์กันว่าในเบื้องต้น CP ALL, CPF และเจริญโภคภัณฑ์ โฮลดิ้ง จะกู้เงินเพื่อใส่ในส่วนของทุนตามสัดส่วนการถือ โดยอาจจะกู้ไม่ถึงมูลค่าหุ้นทั้งหมด หากบริษัทมีกระแสเงินสดจำนวนมาก ส่วนเงินลงทุนที่ยังขาดเหลือ น่าจะเป็นการกู้โดย ซี.พี. รีเทล โฮลดิ้ง ที่ตั้งขึ้นใหม่เพื่อถือหุ้น 100% ใน ซี.พี. รีเทล ดีเวลลอปเม้นท์ ที่ใช้เป็นบริษัทเข้าลงทุนในเทสโก้ฯ

ผลตอบรับจากนักลงทุน

หลังข่าวการซื้อ เทสโก้ โลตัส ถูกประกาศผ่านตลาดหลักทรัพย์ฯ เพียงไม่นาน ผลปรากฏว่าราคาหุ้นทั้ง CPALL และ CPF ร่วงลงมาหนักมาก

บ่ายวันที่ 9 มี.ค. ราคา CP ALL ร่วงต่ำสุดหลุดไปถึง 62.25 บาท ก่อนราคาจะเด้งกลับมาปิดอยู่ที่ 63.75 บาท ความมั่งคั่งหายไป 5.50  บาท หรือ 7.94% แต่ทั้งนี้ต้องยอมรับว่าวันนั้นเป็นวันที่ตลาดหุ้นไทยดิ่งหนักมาก (ปิดตลาดร่วงไปกว่า 100 จุดในวันเดียว) สำหรับมูลค่าซื้อขายสูงมากเป็นประวัติการณ์ครั้งหนึ่ง โดยสูงถึง 6,420 ล้านบาท เกือบ 3 เท่าจากวันก่อนหน้า ส่วนวานนี้ (10 มี.ค.) ราคาปิดอยู่ที่ 66.50 บาท ปรับขึ้น 2.75 บาท หรือ 4.31% มูลค่าซื้อขายกว่า 3,999 ล้านบาท ซึ่งก็แน่นอนว่าส่วนหนึ่งเป็นผลของการรีบาวด์จากวันที่ 9 ด้วย

นักวิเคราะห์หลายแห่งมองว่า เหตุที่ราคาหุ้นร่วงแรงในช่วงแรก อาจเป็นเพราะมูลค่าดีลที่ค่อนข้างสูง และสาเหตุที่ทำให้ราคากลับขึ้นมาได้เร็ว เป็นเพราะนักลงทุนคลายความกังวลเรื่องการเพิ่มทุน บวกกับเห็นประโยชน์ที่ชัดเจนจากการเข้าลงทุนในครั้งนี้

ในส่วนของ CP ALL แน่นอนว่า ทำให้ธุรกิจค้าปลีกของเครือสมบูรณ์ครบวงจร จนนำไปสู่การประหยัดต่อขนาด (Economy of Scale) โดยเฉพาะต้นทุนการจัดซื้อและต้นทุนโลจิสติกส์ และหลังจาก Synergy กันเรียบร้อย ช่องทางและรูปแบบร้านค้าที่หลากหลายให้ทั้งผู้ซื้อผู้ขายได้เลือกย่อมสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันให้ CP ALL ในหลายๆ ด้าน อีกทั้งยังมีฐานตลาดขนาดใหญ่ในประเทศมาเลเซียไว้ให้ด้วย

ด้าน CPF ราคาต่ำสุดของวันอยู่ที่ 22.40 บาท ก่อนจะขยับมาปิดที่ 24.20 บาท ราคาร่วงไป 3.30 บาท หรือ 12% มูลค่าการซื้อขาย 2,477 ล้านบาท สูงกว่าค่าเฉลี่ยประมาณ 2 เท่า ทั้งนี้ ราคาปิดวานนี้ กลับขึ้นมาอยู่ที่ 25.25 บาท เพิ่มขึ้นมา 1.05 บาท หรือ 4.34% มูลค่าการซื้อขายประมาณ 1,472 ล้านบาท

โดยสาเหตุที่ราคา CPF ร่วงหนักมากเป็นเพราะไม่มีการคาดคิดมาก่อนว่า CPF จะมีส่วนร่วมในการประมูลเทสโก้ฯ แต่เมื่อพิจารณาแล้ว CPF จะได้ประโยชน์ทั้งในแง่ของการต่อยอด Value Chain ของสินค้าอาหารของ CPF ทั้งในประเทศไทยและประเทศมาเลเซีย ในแง่ของโอกาสในการขยายธุรกิจศูนย์อาหารและ Food Service โดยเฉพาะแบรนด์ 5 ดาว

นอกจากทิศทางราคาหุ้นหลังจากนี้ อีกสิ่งที่น่าสนใจและต้องจับตาดูอย่างใกล้ชิดยิ่งกว่า คือ ความเห็นของ กขค. ต่อดีลการซื้อกิจการครั้งนี้ของเครือซีพี ว่าจะนำไปสู่การผูกขาดหรือการมีอำนาจเหนือตลาด หรือไม่ แล้ว กขค. จะมีมติออกมาแนวทางไหน…  เพราะนั่นจะเป็นบทสรุปของดีลนี้ที่แท้จริง!!

ที่มา: Tesco PLC, ข่าวแจ้งตลาดของ CP ALL และ CPF, คำอธิบายงบการเงินปี 2562 ของ CP ALL

อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline

 



อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline

ติดตาม Marketeer Online ทาง LINE Official


เพิ่มเพื่อน