ประชุม มาลีนนท์ ลาออกจาก BEC ! ไขคำตอบเหตุผลที่ทิ้งบังเหียน พร้อมวิเคราะห์ทิศทางของ BEC นับจากนี้

ปกติช่วงสุดสัปดาห์ใกล้กับวันที่ 26 มี.ค. ของทุกปี จะมีงานใหญ่ในวงการบันเทิงงานหนึ่ง นั่นคืองานมหกรรมฟุตบอลฉลองวันเกิดช่อง 3 ที่จะมีพาเหรดดาราและพิธีกรที่ร่วมงานกับช่อง 3 หลายร้อยชีวิตมาพบปะแฟนๆ ช่อง 3 … แต่สำหรับปีนี้ที่เป็นปีครบรอบ 50 ปีของช่อง 3 กลายเป็นปีที่เงียบเหงา เพราะนอกจากจะต้องเลื่อนจัดงานออกไปอย่างไม่มีกำหนด อันเนื่องมาจากสถานการณ์แพร่ระบาดของ Covid-19

วันที่ 26 มี.ค. 2563 เป็นวันเกิดครบ 50 ปีของช่อง 3 และเป็นวันเดียวกับที่ ประชุม มาลีนนท์ ประกาศลาออกจาก BEC … โดยจดหมายแจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ ระบุว่า ประชุม มาลีนนท์ ซึ่งมีตำแหน่งรองประธานกรรมการ, ประธานกรรมการบริหาร และกรรมการผู้มีอำนาจลงนาม ประสงค์ลาออกจากตำแหน่งกรรมการบริษัท ด้วยเหตุผลจากปัญหาสุขภาพ

ประชุมเป็นน้องชายคนเล็กของตระกูลมาลีนนท์ จากพี่น้อง 8 คน ชาย 4 คนและหญิง 4 คน โดยเขาก้าวเข้ามารับตำแหน่ง “แม่ทัพใหญ่” ใน BEC ช่วงต้นปี 2560 ต่อจาก “ประสาร” พี่ชายที่เสียชีวิตช่วงปลายปี 2559…โดยประสารขึ้นมาสู่ตำแหน่ง หลังจากอดีต “นายใหญ่แห่งช่อง 3” อย่าง “ประวิทย์” ลาออกจากตำแหน่งโดยให้เหตุผลเรื่องสุขภาพเช่นกัน

กระแสข่าวงช่วงนั้นรายงานว่า หลังจากพี่น้องมาลีนนท์คนอื่นมีมติให้ประชุมนั่งแท่นผู้บริหารสูงสุด ต่อมาไม่นาน ประวิทย์ก็ลาออกจากทุกตำแหน่งใน BEC พร้อมกับทยอยขายหุ้นในส่วนของตนและครอบครัว …ทำให้บางกลุ่มมองว่าเขาอาจอยากหวนคืนตำแหน่งก็เป็นได้

ย้อนผลงานของอดีตแม่ทัพใหญ่ที่ชื่อ ประชุม มาลีนนท์

ย้อนกลับไป 10 กว่าปี ช่อง 3 เคยเป็นหนึ่งในช่องโทรทัศน์ที่ได้รับความนิยมสูงสุดของเมืองไทย และเป็นสถานีขวัญใจคนเมืองในยุคนั้น ขณะที่กองทัพดาราศิลปินของช่อง 3 ในยุคนั้นก็มีจำนวนมาก และหลายคนได้รับความนิยมสูงจนดึงดูดให้หนุ่มสาววัยรุ่นหน้าใหม่อยากเข้าไปสังกัด “วิก 3 พระราม 4”

“ช่อง 3″ เป็นธุรกิจหลักของ บมจ. บีอีซี เวิลด์ หรือ BEC แต่หลังอุตสาหกรรมทีวีเข้าสู่ยุค “ดิจิทัลทีวี” ซึ่งสร้างภาระต้นทุนก้อนโตให้ผู้ประกอบการ แถมยังมาผิดเวลา เพราะเพียงไม่นานคลื่น Technology Disruption ของสื่อออนไลน์ก็เข้ามาทำให้มือถือกลายเป็นทีวี และมีคอนเทนต์ดีๆ ให้เลือกหลากหลาย แถมตอบโจทย์ความต้องการผู้ชมยุคใหม่ ที่อยากดูอะไร เวลาไหน ต้องได้ดู ยิ่งทำให้อุตสาหกรรมทีวีอยู่ยาก

เม็ดเงินโฆษณาจำนวนมหาศาลหายไปอยู่ในโลกของสื่อออนไลน์ เพราะผู้โฆษณาและเจ้าของสินค้าก็แห่ตามไปหาผู้ชมในสื่อใหม่ ทำให้แม้แต่ยักษ์ใหญ่สื่อเก่ายังต้องโซซัดโซเซ การนำพา “ช่อง 3” ให้อยู่รอดกลายเป็น “มิชชั่น” อันดับแรกของ “แม่ทัพแห่ง BEC” มานับแต่นั้น ขณะที่การเติบโตให้สูงขึ้นเรื่อยๆ แทบกลายเป็น “ความฝัน/ความหวัง” 

แน่นอน! มิชชั่นดังกล่าวถูกสืบทอดมาจนถึงยุคของประชุม ซึ่งเขาน่าจะคุ้นเคยกับธุรกิจในยุค “สื่อใหม่” เพราะก่อนหน้านี้ เขาเคยนั่งแท่นคุมสายธุรกิจสื่อโฆษณาและ New Media มาก่อน

ประชุมตระหนักดีถึงการต้องปรับตัวแบบที่เรียกว่า “ดิสรัปตัวเอง” หลังเข้ามากุมบังเหียนไม่นาน เขาจึงเริ่มทำการเปลี่ยนถ่ายเลือดครั้งใหญ่โดยนำเอาผู้บริหารมืออาชีพที่เป็นคนนอกองค์กรเข้ามาร่วมงาน จนเรียกได้ว่าเป็นยุคแห่งการ “เปิดตึกมาลีนนท์” เพื่อนำมุมมองของคนนอกเข้ามาปรับเปลี่ยนคนในและองค์กร โดยเฉพาะการเชิญผู้บริหารมือพระกาฬจากวงการธุรกิจที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีสื่อใหม่เข้ามาร่วมนั่งบัญชาการบริหาร

เริ่มจากการแต่งตั้ง  อดีต CEO คนเก่งแห่ง AIS อย่าง สมประสงค์ บุญยะชัย มานั่งเป็นประธานกรรมการบริหารในช่วงปี 2560 ตามมาด้วยการโครงสร้างตำแหน่งผู้บริหารระดับ C-Level ที่ปรับขึ้นมาจนมีถึง 13 คน (Group C-Level) โดยในหลายตำแหน่งของ C-Level มีการว่าจ้างผู้บริหารที่เชี่ยวชาญในสายงานนั้นๆ จากองค์กรอื่นเข้ามา ขณะที่ตำแหน่งในด้านสายการผลิตรายการก็มีการดัน “ลูกหม้อ” ขึ้นมาควบคู่กับการนำมืออาชีพ

แต่การเปลี่ยนแปลงไม่ใช่เรื่องง่าย ผู้บริหารหลายคนที่รับเข้ามาทยอยลาออกในขณะที่บางคนยังทำงานไม่ครบปี หรือบางคนก็เพียงปีเศษ ซึ่งสมประสงค์ ผู้บริหารที่เป็นความหวังใหญ่ของประชุม ก็ลาออกจากตำแหน่งประธานกรรมการบริหาร ทั้งที่ทำงานยังไม่ถึงปีดี หลังจากนั้นก็ตามมาด้วยการลาออกและไม่ต่อวาระของ C-Level อีกหลายตำแหน่ง

การปรับตำแหน่งผู้บริหารและโครงสร้าง BEC ครั้งใหญ่อีกครั้ง เกิดขึ้นต้นปี 2562 เมื่อประชุมได้เชิญ อริยะ พนมยงค์ อดีตผู้บริหารของ Line (ประเทศไทย) เข้ามานั่งตำแหน่ง “กรรมการผู้อำนวยการ (President)” เมื่อต้นเดือน พ.ค. 2562 ซึ่งความพิเศษของตำแหน่งใหม่นี้คือสามารถรายงานตรงต่อคณะกรรมการบริหารได้เลย…ด้วยความหวังว่า “อดีตแม่ทัพไลน์” จะนำพาช่อง 3 ไปขี่ยอดคลื่นของสื่อดิจิทัล  

แน่นอนว่า การที่ธุรกิจสื่อทีวีที่หยั่งรากลึกในธุรกิจเแบบเดิมมาร่วมครึ่งศตวรรษ จู่ๆ จะมาปรับเปลี่ยนเพื่อก้าวเข้าสู่โลกของสื่อดิจิทัลที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ย่อมไม่ใช่เรื่องง่าย ประกอบกับภาวะที่เศรษฐกิจไม่เป็นใจ

ประกอบกับโครงสร้างรายได้และต้นทุนแบบเดิมที่เป็นอุปสรรค ก็ยิ่งทำให้ไม่ง่ายที่จะมี “อัศวินขี่ม้าขาว” เข้ามาพลิกฟื้นสถานการณ์แล้วเข้าถึงเส้นชัยได้ในเวลาอันรวดเร็ว

ผลการดำเนินงานช่วง 4 ปีย้อนหลังที่ติดลบมาโดยตลอด คือบทพิสูจน์ความยากของการจะเข้ามายืนหยัดในตำแหน่งผู้นำทัพ BEC ในภาวะเช่นนี้

จับตาก้าวต่อไปของ “มาลีนนท์” ใน BEC

สิ่งที่น่าจับตาต่อจากนี้คือ การยอมถอยฉากจากตำแหน่งของประชุมจะเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้บริหารรุ่นใหม่เลือดใหม่อย่างอริยะ สามารถทำงานได้อย่างมีอิสระและมีอำนาจในการตัดสินใจเด็ดขาดยิ่งขึ้นกว่าเดิม หรือไม่

หรือจะมีใครเข้ามากุมบังเหียนแทนเขาไหม… จะเป็น “ผู้บริหารรุ่นสาม” ของตระกูลหรือไม่ ขณะที่ภาพในงานแถลง “50 ปีช่อง 3” ที่มีประวิทย์นั่งอยู่ท่ามกลางผู้บริหารและดารา ทำให้หลายคนสงสัยว่าจะมีนัยต่อการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ไหม

แล้วโครงสร้างการบริหาร และทิศทางของช่อง 3 ต่อจากนี้จะเป็นเช่นไร … นับเป็นการก้าวสู่ครึ่งหลังของศตวรรษที่น่าสนใจไม่น้อยทีเดียว!!

นอกจากนี้ ยังมีข้อสังเกตว่า ไม่เพียงการถอยจากตำแหน่งผู้บริหารของคนในตระกูลมาลีนนท์ ในทางการถือหุ้น กลุ่มมาลีนนท์เองก็ค่อยๆ ลดสัดส่วนการถือหุ้นด้วยเช่นกัน

ณ 30 ส.ค. 2559 กลุ่มตระกูลมาลีนนท์ ถือหุ้น 47.03%

ณ 28 มี.ค. 2561 กลุ่มตระกูลมาลีนนท์ ถือหุ้น 42.88%

ณ 29 มี.ค. 2562 ใน 31 อันดับผู้ถือหุ้นใหญ่ของ BEC มีกลุ่มมาลีนนท์ ถือหุ้น 34.49%

สำหรับ Market Cap ของ BEC ณ วันที่ 27 มี.ค. 2563 อยู่ที่ 6,560 ล้านบาท ลดลงจากสิ้นปี 2562 กว่า 44%

ที่มา: รายงานประจำปี BEC ย้อนหลังตั้งแต่ 2559-2560, คำอธิบายงบการเงินปี 2562 และข่าวแจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ ของ BEC
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline

 



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online