New Normal ในโลกของการทำงานและธุรกิจที่จะเกิดขึ้นหลังวิกฤตโควิด-19 (เทรนด์ธุรกิจ)

โควิด-19 ทำพิษเศรษฐกิจโลก จากข้อมูลของ UN พบว่าปีนี้โควิด-19 จะทำให้ GDP ทั่วโลกลดลง 0.9% จากปกติที่ต้องเติบโต 2.5%

ส่วนในประเทศไทย คณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. คาดการณ์ GDP ของไทยปีนี้จะติดลบ 5.3%

นอกจากโควิด-19 จะทำให้ GDP โลกและไทยเปลี่ยนไป

โควิด-19 ยังเปลี่ยนพฤติกรรมคนสู่เทคโนโลยีมากขึ้น

นาถ ลิ่วเจริญ ประธานกรรมการบริหารกลุ่มบริษัท ซีดีจี ให้ความเห็นว่าวิกฤตโควิด-19 คือสนามดิสรัปชั่นลูกใหม่ผลักดันทุกภาคส่วนเห็นความสำคัญของเทคโนโลยีและดิจิทัล ที่เข้ามาทรานส์ฟอร์เมชั่นองค์กรตั้งแต่ SME ไปจนถึง Enterprise

แต่การทรานส์ฟอร์เมชั่นสู่ดิจิทัลขององค์กรไทยมีเรื่องที่น่ากังวลคือ ในวันนี้มีองค์กรเพียง 21% ที่พร้อมรับมืออย่างสมบูรณ์จริง

นาถแนะนำเพื่อการอยู่รอดอย่างยั่งยืนขององค์กร ควรปรับทบทวนแผนงานเชิงธุรกิจที่วางไว้ เพื่อเตรียมพร้อมสอดรับกับ 3 ปรากฏการณ์ New Normal ในโลกของการทำงานและธุรกิจที่จะเกิดขึ้นหลังวิกฤตโควิด-19 ที่จะเกิดขึ้นดังนี้

  1. Remote Working มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น

การทำงานในรูปแบบ Work From Home กลายเป็นแนวการทำงานที่ถูกนำมาปรับใช้ในช่วงโควิด-19 เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดในวงกว้าง

จากการทำงาน Work From Home สร้างความคุ้นชินกับการใช้เทคโนโลยีเพื่อการรับ-ส่งงาน จนกลายเป็นพฤติกรรมการทำงานของพนักงานไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานประเภทไหน จะไม่จำกัดด้วยเวลาและสถานที่ และยังคงประสิทธิภาพการให้บริการลูกค้าได้ดีเหมือนเดิม

สิ่งเหล่านี้ทำให้หลายองค์กรมีการลงทุนปรับรูปแบบการเก็บข้อมูลอยู่บนคลาวด์เพื่อความสะดวกในการใช้งานนอกสถานที่ การวางระบบจัดเก็บข้อมูลของหน่วยงาน การสร้างระบบเชื่อมต่อเพื่อเข้าถึงข้อมูลอย่างปลอดภัย รวมทั้งการตรวจสอบความพร้อมในการเรียกใช้งานข้อมูล

  1. Digital Platforms and Data Usage

โควิดสร้างโลกให้เห็นภาพการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภคอย่างเร่งด่วน

การทำธุรกรรมต่างๆ ของภาครัฐหรือภาคเอกชน ถูกปรับมาอยู่บนแพลตฟอร์มออนไลน์ เครื่องมือหรือเทคโนโลยีเพื่อการวิเคราะห์ข้อมูลที่หลั่งไหลมาจากดิจิทัลแพลตฟอร์มต่างๆ เพื่อนำดาต้าที่ได้มาเพิ่มมูลค่าให้กับประสิทธิภาพการทำงานขององค์กร เช่น การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงธุรกิจผ่านเทคโนโลยี GIS : Geographic Information System  หรือระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์เพื่อหาความเหมาะสมในการเพิ่ม-ลดสาขา หรือการจัดการโลจิสติกส์และการขนส่งผ่านระบบติดตามการขนส่งแบบเรียลไทม์ เพื่อให้สินค้าและบริการถึงมือผู้รับอย่างถูกต้อง รวดเร็ว และคงคุณภาพ

  1. Health Conscious

องค์กรขับเคลื่อนด้วยคนเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างการเติบโต และวิกฤตโควิด-19 ส่งผลให้องค์กรเพิ่มระดับการรักษาความปลอดภัยด้านสุขภาพให้พนักงาน ด้วยมาตรการสร้างพื้นที่ปลอดเชื้อภายในอาคาร การใช้เครื่องมือตรวจสอบสุขภาพพนักงาน ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะยังคงอยู่หลังวิกฤตผ่านไป

และแน่นอนว่า การส่งเสริมสุขภาพของพนักงานจะถูกนำมาเป็นหัวข้อหลักของการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ด้านบุคคล รวมทั้งการใช้แอปพลิเคชันต่างๆ ที่มีการเชื่อมต่ออุปกรณ์ IoT เพื่อจัดเก็บเป็นข้อมูลสำคัญด้านสุขภาพของพนักงาน และสามารถนำมาวิเคราะห์ผ่านแพลตฟอร์มเพื่อเป็นประโยชน์ต่อองค์กรในการดูแลพนักงาน เช่น การติดตามสุขภาพของพนักงานทั้งสภาวะปกติและเจ็บป่วย หรือการสร้างกิจกรรมบนโลกออนไลน์ อย่างเช่น การวิ่งเก็บระยะแบบ Virtual Run เพื่อยกระดับความสัมพันธ์ และส่งเสริมสุขภาพที่ดีของบุคลากรในองค์กร

นอกเหนือจาก New Normal ที่เปลี่ยนไปในภาคธุรกิจและการทำงาน นาถแนะนำกลยุทธ์ 3P ได้แก่ Product, Process และ People ที่จะพาองค์กรสู่ความสำเร็จในการรับมือกับวิกฤตโควิด-19 ดังนี้

1) Product

มองหาสิ่งที่ลูกค้าต้องการบนพื้นฐานเทคโนโลยีควบรวมกับความรู้ความสามารถของบุคลากรในองค์กร เกิดเป็นนวัตกรรมที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ตรงตามสภาวการณ์อย่างทันท่วงที

2) Process

การนำเสนอนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในขั้นตอนกระบวนการทำงานของลูกค้าทั้งหน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และเอกชน ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย ตอบรับพฤติกรรมการทำธุรกรรมบนโลกดิจิทัลที่เพิ่มขึ้น

3) People
เสริมศักยภาพให้บุคลากร ปรับแพลตฟอร์มการเรียนรู้เป็น virtual training และ e-learning นำเทคโนโลยีที่มีมาใช้ เข้าถึงง่ายและเหมาะสมต่อสถานการณ์ ทำให้องค์กรแข็งแกร่งยิ่งขึ้นในยามวิกฤต ต้องมองว่าเมื่อวิกฤตผ่านไป ทุกหน่วยงานที่ต้องการปรับตัวสู่ดิจิทัล จะต้องอาศัยทักษะของคนในองค์กรเพื่อขับเคลื่อนความสามารถของเทคโนโลยี นำพาหน่วยงานหรือธุรกิจ ทำให้การทรานส์ฟอร์มขององค์กรเห็นผล และฝ่าคลื่นดิสรัปชันลูกต่อๆ ไป เพื่อความแข็งแกร่ง มั่นคง และยั่งยืนในระยะยาว

อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online