หากตัดเรื่องของโควิด-19 ออกไป ตลาดศัลยกรรมไทย ยังโตต่อเนื่อง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่ได้รับผลกระทบ

ผลกระทบมีแน่นอนในไตรมาส 1 และไตรมาส 2 ที่นอกจากจะไม่สามารถให้บริการศัลยกรรมได้ นักท่องเที่ยวที่นิยมมาทำศัลยกรรมที่เมืองไทยยังหายไปอีก

โฟกัสเฉพาะตลาดศัลยกรรม โรงพยาบาลที่ดังเรื่องการตกแต่งศัลยกรรมของไทยที่หลาย ๆ คนรู้จัก และเคยได้ยินชื่อแน่นอน คือ โรงพยาบาลยันฮี และโรงพยาบาลบางมด

สิ่งที่เหมือนกันของทั้งสองโรงพยาบาลนี้คือจุดเริ่มต้นเปิดเป็น “โพลีคลินิก” เล็ก ๆ ไม่กี่คูหาก่อนจะขยับขยายมาเป็นโรงพยาบาลที่มีแต่คนรู้จัก

จากจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ ที่ตึกแถว 2 คูหาย่านบางกรวย พระราม 7 “ยันฮีโพลีคลินิก” ถือกำเนิดขึ้นในปี 2527 จากเพื่อนหมอ 7 คน หนึ่งในนั้นคือ นพ. สุพจน์ สัมฤทธิวณิชชา ที่ปัจจุบันเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารโรงพยาบาล

จากนั้นเริ่มขยับขยายมาเป็นยันฮีโพลีคลินิกแห่งที่สอง รองรับได้ 28 เตียง และปี 2540 เป็นก้าวสำคัญของยันฮีที่เปิดบริการเป็นโรงพยาบาลขนาด 400 เตียง บนเนื้อที่ประมาณ 10 ไร่

 

บริษัท โรงพยาบาลยันฮี จำกัด

รายได้ปี 2559 : 2,172,491,674.59
กำไร : 14,860,385.57

รายได้ปี 2560 : 2,243,763,813.34
กำไร : 17,866,678.11

รายได้ปี 2561 : 2,199,244,375.70

กำไร : 26,200,070.36

หน่วย : บาท
ที่มา-กรมพัฒนาธุรกิจการค้า

 

หากจะพูดว่าตอนนั้น ‘ยันฮี’ คือยักษ์ใหญ่ย่านบางกรวย-พระราม 7 ส่วน โรงพยาบาลบางมด ก็ถือเป็น ยักษ์ใหญ่ย่านพระราม 2

เพราะเป็นโรงพยาบาลเอกชนแห่งแรกในย่านถนนพระราม 2 จากฝีมือของ ‘นพ. สุรสิทธิ์ อัศดามงคล’ จากที่เป็นหมออยู่ชนบท ก่อนที่จะเข้ามาเปิดเป็นคลินิก ขยายเป็นโพลีคลินิก และขยายต่อมาตั้งโรงพยาบาลบางมด ขนาด 100 เตียงขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2531 และขยายเป็นโรงพยาบาลขนาด 400 เตียง ในปี พ.ศ. 2538

บริษัท โรงพยาบาลบางมด จำกัด

รายได้ปี 2559 : 467,987,747.66
กำไร : 41,967,799.57

รายได้ปี 2560 : 463,328,986.70
กำไร : 30,849,890.98

รายได้ปี 2561 : 482,510,828.21
กำไร : 18,734,347.30

หน่วย : บาท
ที่มา-กรมพัฒนาธุรกิจการค้า

 

แม้ทั้งสองโรงพยาบาลจะสั่งสมชื่อเสียง และประสบการณ์มานาน แต่สิ่งที่เป็นข้อท้าทายของตลาดศัลยกรรมและโรงพยาบาลด้านศัลยกรรมความงามของไทย Marketeer มองว่า

การแข่งขันของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนยังมีสูง แต่ละโรงพยาบาลต่างเปิดแผนกต่าง ๆ นำนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อเข้ามาตอบโจทย์ผู้บริโภคในยุคปัจจุบันที่ต้องการมาครบ จบในที่เดียว

มูลค่า ตลาดศัลยกรรมไทย

2560 : 30,000 ล้านบาท
2561 : 36,000 ล้านบาท
2562 : 39,600-43,000 ล้านบาท

รวมทั้งโรงพยาบาลเอกชนอื่น ๆ ก็ยังหันมาเปิดแผนกศัลยกรรมขึ้นมาเพื่อเป็นอีกหนึ่งจุดขายนอกจากการรักษาทั่วไป

เพราะฉะนั้นเราจึงเห็นภาพที่โรงพยาบาลต่าง ๆ ไม่เว้นแม้แต่ยันฮี และบางมดที่ต้องปรับภาพลักษณ์ให้ดูใหม่ และทันสมัย ใช้ช่องทางสื่อโซเชียลอย่างเฟซบุ๊ก ไลน์แอดมาเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการติดต่อและประชาสัมพันธ์

ตลาดศัลยกรรมในประเทศไทยมูลค่า 36,000 ล้านในปีที่ผ่านมา สัดส่วน 70% มาจากโรงพยาบาล และ 30% มาจากคลินิกและสถาบันความงาม

รวมทั้งใช้กลยุทธ์ทางการตลาดในการออกผลิตภัณฑ์ที่จับต้องและเข้าถึงง่ายโดยมีชื่อแบรนด์กำกับอยู่ ยกตัวอย่างของยันฮีที่มีทั้งผลิตภัณฑ์ครีมซอง และน้ำวิตามิน ที่วางขายตามโรงพยาบาล และร้านสะดวกซื้อ ที่แม้อาจจะไม่ใช่ตัวเลือกที่ผู้บริโภคหยิบจับทุกครั้ง แต่การให้เห็นผ่านตาก็ถือเป็นกำไรที่ทำให้รู้จักโรงพยาบาลมากขึ้น

การมาของคลินิก สถาบันความงาม และเอเจนซีศัลยกรรมต่าง ๆ ที่เข้ามาดิสรัปโรงพยาบาลไม่น้อย หากลองสังเกตคลินิก สถาบันความงามเหล่านี้มีสาขาเกิดใหม่เหมือนแบบป่าล้อมเมืองที่ไปเดินศูนย์การค้าก็แทบจะเจอร้าน เจอสาขาให้บริการอยู่เต็มไปหมด รวมทั้งเอเจนซีศัลยกรรมที่พาบินไปศัลยกรรมไกลถึงเกาหลี

รวมทั้งหมอที่มีชื่อเสียงเอง นอกจากจะเข้าเวรตามระบบโรงพยาบาลแล้ว ก็เลือกที่จะออกมาเปิดคลินิกเป็นของตัวเองมากขึ้น

และที่สำคัญคือ สมัยนี้แข่งด้วยโปรโมชั่น ราคา และบริการ รวมทั้งการรีวิว กลยุทธ์ของคลินิกความงามเหล่านี้ส่วนใหญ่จึงใช้เหล่าอินฟลูเอนเซอร์ หรือทำโปรโมชั่นเคสรีวิวแล้วจ่ายค่าบริการในราคาถูก

และเพราะคนเรายังต้องการความสวย ธุรกิจศัลยกรรมนี้จึงยังโตขึ้นเรื่อย ๆ

 

อ่าน: ตลาดศัลยกรรมไทยเติบโตไปไวกว่าที่คิด

อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online