ตลาดฟู้ดเดลิเวอรี่ ระอุ กรณีศึกษา เมื่อธนาคารไทยพาณิชย์ผุด แอป Robinhood ลงแข่ง (วิเคราะห์)
อาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ ประกาศเปิดตัวแพลตฟอร์ม โรบินฮู้ด แพลตฟอร์มเดลิเวอรี่ ฟรีค่าธรรมเนียม ไม่เก็บค่า GP (Gross Profit) ที่ไทยพาณิชย์คาดการณ์ให้บริการในปลายเดือนกรกฎาคม 2563 เพื่อมาเป็นทางเลือกหนึ่งในตลาดเดลิเวอรี่ไทย ด้วยงบลงทุน 100 กว่าล้านบาท
โดยแพลตฟอร์มโรบินฮู้ด ดำเนินการภายใต้บริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด (Purple Ventures) บริษัทใหม่ในเครือเอสซีบี เท็นเอกซ์ มีธนา เธียรอัจฉริยะ เป็นประธานกรรมการบริหาร และ สีหนาท ล่ำซำ เป็นกรรมการผู้จัดการ บริษัท พร้อมทีมพนักงานเริ่มต้น 40 คนในบริษัท ซึ่งตำแหน่งในเพอร์เพิล เวนเจอร์ส เป็นตำแหน่งที่ ธนา และสีหนาท รับการแต่งตั้งเพิ่มเติมจากตำแหน่งเดิมในไทยพาณิชย์
แพลตฟอร์มโรบินฮู้ดเริ่มต้นให้บริการจากธุรกิจฟู้ดเดลิเวอรี่ ก่อนต่อยอดไปยังเดลิเวอรี่อื่น ๆ ผ่านจุดขายคือ
- ฟรีค่าธรรมเนียม ไม่เก็บค่า GP กับร้านค้าและไรเดอร์
- คิดค่าส่งตามจริง
- ลูกค้าจ่ายค่าอาหารและบริการผ่านออนไลน์โดยไม่ใช้เงินสด
- ร้านค้าและไรเดอร์ได้รับค่าอาหารและค่าบริการภายใน 1 ชั่วโมง หลังลูกค้าชำระค่าอาหารและบริการ
ในช่วงแรกของการเปิดตัวมีร้านค้า 20,000 ร้านค้าเข้ามาอยู่ในแพลตฟอร์มเพื่อให้บริการ ซึ่งร้านค้าที่กล่าวมาเป็นร้านค้าที่เป็นลูกค้าของธนาคารไทยพาณิชย์ และร้านค้าที่ปักหมุดร้านอยู่ใน Google Business พาร์ตเนอร์ธนาคารที่เคยจับมือมาก่อนหน้านั้น ก่อนเพิ่มจำนวนร้านค้าอย่างต่อเนื่องในอนาคต
ส่วนไรเดอร์ที่ให้บริการในระยะแรกใช้บริการผ่านไรเดอร์ที่สังกัดอยู่กับ สกู๊ตตาร์ ที่มีมอเตอร์ไซค์มากถึง 10,000 กว่ารายเป็นหลัก
แม้อาทิตย์กล่าวว่า แอปโรบินฮู้ดไม่ได้มีวัตถุประสงค์แข่งขันกับคู่แข่งใน ตลาดฟู้ดเดลิเวอรี่ อย่างไลน์แมน แกร๊บ ฟู้ดแพนด้า หรือ Strategic Partner อย่างเก็ต เพราะวัตถุประสงค์หลัก ของแอปโรบินฮู้ด ไม่ใช่การสร้างรายได้จากบริการ แต่เพื่อวัตถุประสงค์หลัก 3 ประการคือ
1. เริ่มต้นเป็น CSR ด้วยการไม่คิดค่าธรรมเนียมค่าบริการกับร้านค้าและไรเดอร์ เพื่อให้ร้านค้า ไรเดอร์ และผู้สั่งอาหารได้รับประโยชน์สูงสุด เพราะอาทิตย์มองว่าเมื่อร้านค้าไม่เสียค่า GP สามารถขายอาหารในราคาเท่ากับหน้าร้าน และไม่ต้องลดปริมาณอาหารเพื่อผลกำไรจากการขายผ่านช่องทางนี้ ซึ่งทำให้ลูกค้าได้รับอาหารในราคาหรือปริมาณที่คุ้มค่ามากขึ้น พร้อมกับการจ่ายค่าส่งตามจริง
2. ต้องการสร้างแพลตฟอร์มที่มี Engagement สูง เพื่อต่อยอดไปยังบริการอื่น ๆ ที่เป็นบริการหลักของไทยพาณิชย์ เช่น บริการสินเชื่อเอสเอ็มอีให้กับร้านค้า
3. เมื่อแพลตฟอร์มมีลูกค้าร้านค้ามากตามที่ต้องการ แพลตฟอร์มโรบินฮู้ดจะแยกตัวออกไปสู่สตาร์ทอัพ ที่เตรียมพร้อมสร้างรายได้ในรูปแบบอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ค่าธรรมเนียมในการให้บริการเหมือนแอปสั่งอาหารออนไลน์อื่น ๆ เช่น การให้สินเชื่อกับร้านค้าในแพลตฟอร์ม
และ Marketeer มองว่า อีกเหตุผลหลักคือดาต้าเบสของร้านค้า ไรเดอร์ และผู้ใช้บริการ ที่เป็นข้อมูลชั้นดีให้กับธนาคารในการให้บริการอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นดาต้าเบสที่เข้ามาช่วยประกอบการอนุมัติสินเชื่อส่วนบุคคลโดยไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน, การพัฒนาบริการใหม่ ๆ ที่สอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภค และอื่นๆ
แต่การเข้ามาเปิดตลาดของแพลตฟอร์มโรบินฮู้ด Marketeer เชื่อว่า ทำให้เกิดปรากฏการณ์การแข่งขันของธุรกิจฟู้ดเดลิเวอรี่ ที่สนุกขึ้น จากผู้เล่นหน้าใหม่ที่เพิ่มเข้ามา
เพราะอย่างน้อยในตลาดฟู้ดเดลิเวอรี่ ร้านค้า ไรเดอร์ และลูกค้า ต้องฉุกคิดว่า ควรเทน้ำหนักไปที่แอปไหนมากกว่ากัน
โดยเฉพาะไรเดอร์ ซึ่งเป็นจิ๊กซอว์ที่สำคัญในการให้บริการ เพราะถ้าแอปใดมีไรเดอร์กดรับงานน้อย โอกาสที่ลูกค้าจะต้องรอให้เกิดไรเดอร์กดรับอาหารจะมีมากขึ้น และเป็นไปได้ว่าจะยกเลิกบริการและหันไปสั่งในแพลตฟอร์มอื่น
รวมถึงเกิดการเปรียบเทียบราคาอาหาร ค่าส่ง และโปรโมชั่นของแต่ละแพลตฟอร์มก่อนการตัดสินใจสั่งมากขึ้น และทำให้แพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรี่ต้องยอมเผาเงินเล่นอีกครั้ง แข่งขันกันที่โปรโมชั่น ส่วนลด ส่งฟรี และอื่น ๆ เพื่อดึงลูกค้าให้เข้ามาใช้บริการในระบบตัวเองแทนคู่แข่ง โดยเฉพาะคู่แข่งรายใหม่อย่างโรบินฮู้ด
เพราะอย่างน้อย Marketeer เชื่อว่า แต่ละแพลตฟอร์มต้องการที่จะ ขยี้โรบินฮู้ดไม่ให้แจ้งเกิดในตลาดอย่างง่ายดายมากนัก และถ้าแพลตฟอร์มโรบินฮู้ดมีลูกค้าใช้บริการน้อย โอกาสในการประสบความสำเร็จก็น้อยตามมา
Marketeer FYI
ทำไมต้องโรบินฮู้ด
โรบินฮู้ดเกิดจากความคิดของอาทิตย์ นันทวิทยา ในช่วงกักตัวอยู่บ้าน ที่ใช้บริการฟู้ดเดลิเวอรี่อยู่เสมอ และมองว่าการสั่งอาหารมีต้นทุนที่สูง
โดยชื่อแอปโรบินฮู้ดมาจากชื่อแอปต่างประเทศที่ให้บริการในรูปแบบเดียวกัน
GET ผู้เป็น Strategic Partner ไทยพาณิชย์
กรกฎาคม 2562 ธนาคารไทยพาณิชย์ ประกาศลงทุนใน GO-JET ผู้ให้บริการเรียกรถออนดีมานด์จากอินโดนีเซีย การลงทุนในครั้งนั้นธนาคารไทยพาณิชย์ยังได้จับมือกับ GET แอปเรียกรถออนดีมานด์ในไทยที่ได้รับเงินลงทุนจาก GO JET เป็น Strategic Partner ร่วมกัน เพื่อพัฒนา Digital Lifestyle Ecosystem ในกลุ่มร้านค้า ไรเดอร์ และลูกค้าร่วมกัน
การร่วมมือผลักดัน Digital Lifestyle Ecosystem ในครั้งนี้ประกอบด้วย 3 รูปแบบ ได้แก่
1. กลุ่มคนขับ–ให้สินเชื่อดิจิทัล การเปิดบัญชี, การเติมเงินในกระเป๋าอิเล็กทรอนิกส์ GET PAY ผ่าน SCB EASY, การนำเงินออกจาก GET PAY เพื่อเข้าบัญชีไทยพาณิชย์แบบฟรีค่าธรรมเนียม และบริการด้านประกันในรูปแบบต่าง ๆ อาทิ ประกันชีวิต ประกันสุขภาพ และประกันอุบัติเหตุ เป็นต้น
2. กลุ่มร้านค้า–สินเชื่อดิจิทัลสำหรับลูกค้าผู้ประกอบการรายย่อย, การนำเงินออกจาก GET PAY เพื่อเข้าบัญชีไทยพาณิชย์แบบฟรีค่าธรรมเนียม
3. กลุ่มลูกค้า ผู้ใช้งานแอปพลิเคชัน–โซลูชันด้านการชำระเงินต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการเติมเงินในกระเป๋าอิเล็กทรอนิกส์ GET PAY ผ่าน SCB EASY, การตัดบัญชีออมทรัพย์ การผูกบัตรเดบิต/บัตรเครดิต รวมถึงโปรโมชันพิเศษที่เหนือกว่าเพื่อลูกค้าธนาคารไทยพาณิชย์โดยเฉพาะ
ทั้งนี้ การร่วมมือกับ GET ในฐานะ Strategic Partner เป็นหนึ่งในกลยุทธ์ที่ทำให้ไทยพาณิชย์ขยายฐานลูกค้า โดยเฉพาะลูกค้าด้านสินเชื่อไปยังกลุ่มลูกค้าใหม่ ๆ ทั้งลูกค้าที่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน และไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน พร้อมความสามารถในการวิเคราะห์พฤติกรรมลูกค้าและความสามารถในการชำระหนี้ เพื่อลดอัตราหนี้เสียที่เกิดขึ้นในระบบ
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้
Website : Marketeeronline.co /
ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ