Sizzler เร่งปรับตัวเพื่อความอยู่รอดในวันที่ร้านอาหารมีต้นทุนสูงขึ้น (กรณีศึกษา)
เพราะการสร้าง Social Distancing ทำให้ร้านอาหารต้องจัดโต๊ะแบบเว้นระยะห่างจนทำให้ที่นั่งในร้านน้อยลง และนั่นก็ทำให้รายได้ลดลงตามไปโดยปริยาย
เช่นเดียวกับ Sizzler กับจำนวนที่นั่งในแต่ละสาขา ซึ่งเหลือเพียงแค่ 50% จากช่วงเวลาปกติ
รายได้น้อยลง Fixed Cost ต่าง ๆ ยังคงอยู่ แถมยังมีต้นทุนอย่างเจลล้างมือ, ที่วัดไข้, Face Shield, หน้ากากอนามัย และอะไรอีกหลาย ๆ อย่าง ที่แม้จะดูเหมือนเล็กน้อย แต่เมื่อรวมกันหลาย ๆ สาขาก็กลายเป็นต้นทุนหลักล้านบาท
แล้วSizzler มีการปรับตัวต่อสถานการณ์นี้อย่างไร?
ด้านล่างนี้มีคำตอบ
ก่อนจะไปถึงกลยุทธ์ Marketeer ขอเล่าสถานการณ์ของSizzler ณ ปัจจุบันให้ผู้อ่านทุกคนได้เห็นภาพกันก่อน
การกลับมาเปิดร้านครั้งนี้ Sizzlerเปิดเพียง 80% ของร้านที่มีทั้งหมด จาก 57 สาขาทั่วประเทศ ตอนนี้ก็เปิดได้ประมาณ 40 กว่าสาขา
สำหรับสาขาที่ยังไม่เปิดคือสาขาที่มีกลุ่มลูกค้าเป็นนักท่องเที่ยวเป็นหลักอย่างพัทยาหรือชลบุรี
และกับสาขาที่มีขนาดเล็กจนทำให้ขนาดที่นั่งหลังจัดแบบ Social Distancing เหลือน้อยจนเกินไป หรือกับสาขาที่ตัว Land Lord เองยังไม่เปิดให้บริการพื้นที่ทั้งหมดของห้าง
วิธีการเสิร์ฟอาหารก็เปลี่ยนไปจากเดิม อย่างเมนูที่เป็นซิกเนเจอร์อย่างสลัดบาร์ จากที่เคยให้ลูกค้าเดินไปตัก ก็เปลี่ยนมาเป็นการติ๊กเมนูที่ต้องการลงในกระดาษ แล้วยื่นให้พนักงานเป็นคนไปตักให้
การดูเมนูก็ใช้วิธีสแกนผ่าน QR Code ที่อยู่บนโต๊ะแทน เพื่อลดการสัมผัสกับเมนูที่เป็นเล่มเหมือนอย่างเก่า
และมีการเพิ่มความสะอาด ด้วยการเพิ่มเจลล้างมือตามจุดต่าง ๆ ถุงมือสำหรับตักสลัดบาร์ (บางสาขาให้ลูกค้าตักสลัดบาร์เองได้ โดยจำกัดจำนวน 5 คนต่อรอบ) เครื่องวัดไข้ก่อนเข้าร้าน
โดย กรีฑากร ศิริอัฐ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท เอส แอล อาร์ ที จำกัด หรือSizzler บอกว่ารายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ หากรวมกันหลายสาขาก็เป็นต้นทุนที่เพิ่มมาเป็นล้านบาทเลยทีเดียว
แม้จำนวนลูกค้าที่เข้ามานั่งในร้านจะลดน้อยลงตามมาตรการ Social Distancing แต่การกลับมาเปิดในครั้งนี้ ทำให้ยอดใช้จ่ายของลูกค้าแต่ละคนเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 20 บาท
เมื่อช่องทางหลักของรายได้คือยอดขายจากหน้าร้านลดลง Sizzler จึงหวังเพิ่มรายได้จากการทำ Delivery, ร้านโมเดล To Go และล่าสุดกับโมเดล Cloud Kitchen
Sizzler To Go
นงชนก สถานานนท์ ผู้ช่วยรองประธานบริหาร กลุ่มการตลาดของบริษัทฯ บอกว่าภายในปีนี้Sizzler ยังคงมีแพลนขยายโมเดล To Go ออกไป
จากปัจจุบันมีอยู่ 3 สาขา พร้อมตั้งเป้ามี 5 สาขาภายในเดือนนี้ และ 7 สาขาภายในสิ้นปีนี้
Delivery
แม้รายได้หน้าร้านจะลดลง แต่ยอดขายของSizzler ทาง Delivery กลับเติบโตขึ้นเท่าตัว จาก 5% ก็กลายมาเป็น 10%
โดยการทำ Delivery ของSizzler จะยึดหลัก 3 กิโลเมตร หมายถึงครัวแต่ละที่ของ Sizzler จะสามารถส่งอาหารให้ลูกค้าได้ในระยะ 3 กิโลเมตร
เพราะหากไกลกว่านั้นจะทำให้ลูกค้าได้รับอาหารนานกว่า 1 ชั่วโมง
ซึ่งนั่นคงเป็นสิ่งที่ไม่ค่อยดีเท่าไร เพราะลูกค้าส่วนใหญ่มักจะกดสั่งเวลาหิว แล้วคนที่กำลังหิวก็คงไม่มีใครที่อยากรออาหารนานกว่า 1 ชั่วโมง
Cloud Kitchen
ปฏิเสธไม่ได้ว่า ส่วนหนึ่งที่ทำให้ยอดขายทาง Delivery เติบโตแบบเท่าตัวก็คือ Cloud Kitchen โดยSizzler ได้เริ่มทำสาขาแรกในช่วงปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา
จนตอนนี้ Sizzlerมี Cloud Kitchen ทั้งหมด 3 สาขา อยู่ร่วมกับ 3 แบรนด์ใต้ร่ม Minor Food อย่าง Bonchon และ The Pizza Company
กรีฑากรกล่าวว่าโมเดล Cloud Kitchen นั้นลงทุนน้อยกว่าการทำร้านปกติถึง 10 เท่า ทั้งยังสามารถทำให้ผู้คนเข้าถึงลูกค้าได้มากขึ้น
และแม้จะปรับตัวไปโมเดลอื่นมากเท่าไร แต่ไม่ว่าอย่างไรแล้วSizzler ก็ตั้งเป้าหมายว่ารายได้หลักของแบรนด์ยังคงมาจากการนั่งกินในร้าน 70% ส่วนอีก 30% เป็นรายได้ที่มาจากเดลิเวอรี่และช่องทางอื่น
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้
Website : Marketeeronline.co /
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline



