คอนเสิร์ตออนไลน์ ทางรอดของ เอนเตอร์เทนเมนต์อีเวนต์ ในยุค New Normal (วิเคราะห์)
ภาพรวมธุรกิจอีเวนต์ในปีนี้น่าจะเป็นกลุ่มที่เจ็บหนักมากที่สุดอีกธุรกิจหนึ่งจากการถูกเบรกชั่วคราวเพราะพิษโควิด-19
แม้จะมีการเปิด ‘คลายล็อกดาวน์’ แล้ว ธุรกิจอีเวนต์ก็ยังฟื้นตัวกลับมายาก เพราะสิ่งที่ต้องทำอยู่ตอนนี้คือ การเว้นระยะห่างทางสังคม หรือ Social Distancing
ทีเส็บเคยออกมาประเมินภาพรวมว่า มูลค่ารวมของตลาดอีเวนต์ทั้งหมด (ธุรกิจไมซ์) ไม่ต่ำกว่า 2.3 แสนล้านบาท ปีนี้คาดว่าจะติดลบไม่ต่ำกว่า 80%
แม้บางเซกเมนต์ของธุรกิจอีเวนต์อย่างการจัดสัมมนา การจัดอีเวนต์ต่าง ๆ จะสามารถทำได้ และบางอีเวนต์เองก็ปรับตัวไปเป็น Virtual Event, สัมมนาผ่านออนไลน์แล้ว
แต่ที่ดูน่าหนักใจคือ เอนเตอร์เทนเมนต์อีเวนต์ อย่างคอนเสิร์ต และแฟนมีตติ้ง ที่จะต้องคิดหนัก แม้จะผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ แล้ว จะจัดดีหรือไม่จัดดี แม้ผู้จัดจะปรับตัวหันมาทำ Virtual Concert, Virtual Fanmeeting แล้วก็ตาม
จัดงานอีเวนต์ต้องนั่งหรือยืนห่าง 1 เมตร
งานแสดงดนตรี คอนเสิร์ต ลดความหนาแน่น เว้นระยะ 5 ตร.ม. ต่อคน
กทม. เพิ่มมาตรการจัดคอนเสิร์ต แสดงดนตรี จะต้องขายตั๋วนั่งเท่านั้น
ที่ผ่านมาเราเห็นศิลปินต่าง ๆ ออกมาจัดคอนเสิร์ตไลฟ์สดเองแบบทั้งชมฟรี และเสียเงิน หรือกรณีของ “แสตมป์-อภิวัชร” ที่จัดไลฟ์คอนเสิร์ต “Stamp แอบดู Birthday Live” ขายบัตรใบละ 380 บาท และสามารถขายหมดเกลี้ยง
หรือการจัดแฟนมีตติ้งออนไลน์ที่จะเกิดขึ้นเร็ว ๆ นี้ของผู้จัดอย่าง 411ent ของกึ้ง-เฉลิมชัย มหากิจศิริ ที่เตรียมจัดแฟนมีตติ้งครั้งแรกของ “แอลลี่-อชิรญา นิติพน” ใน “1st Online Fan Meeting : ALLY’s PARTY”
รวมถึงยักษ์ใหญ่อย่างค่ายแกรมมี่ที่จับมือกับ “VLIVE” แอปพลิเคชันยักษ์ใหญ่จากเกาหลีจัด “Global Live Fan Meeting” กับ 8 นักแสดงสุดฮอต ที่ทยอยจัดมาตั้งแต่ปลายเดือน พ.ค.
และล่าสุดออกมาประกาศจัด Virtual Concert เต็มรูปแบบในวันที่ 4-5 ก.ค. นี้
ภาวิต จิตรกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายธุรกิจ จีเอ็มเอ็มมิวสิค บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) ระบุว่า แกรมมี่หยุดจัดกิจกรรมในเรื่องของอีเวนต์มาราว 2-3 เดือน
ตอนนี้ผู้บริโภคยังรอการจัดอีเวนต์ คอนเสิร์ตแบบออนกราวด์อยู่ แต่ด้วยปัจจุบันกิจกรรมต่าง ๆ แยกเส้นอย่างชัดเจน และไม่สามารถมาแทนกันได้ สิ่งที่แกรมมี่ทำคือการเรียนรู้สิ่งใหม่ และดูแลกลุ่มอุตสาหกรรมโชว์บิซทั้งคนเบื้องหน้า และเบื้องหลังให้เดินต่อไปได้
สำหรับคอนเสิร์ตออนไลน์เต็มรูปแบบในครั้งนี้ของแกรมมี่ ภาวิตระบุว่า จะเปิดให้ชมไม่จำกัด และรับชมได้กว่า 200 ประเทศทั่วโลก สามารถซื้อบัตรได้ผ่านในแอปพลิเคชัน VLIVE
ราคาบัตรอยู่ที่ 600 วีคอยน์ หรือ 350 บาท สามารถชมได้ทั้ง 2 วัน มีศิลปินเข้าร่วมกว่า 20 ชีวิต ไม่ว่าจะเป็นเป๊ก ผลิตโชค ,Cocktail , getsunova ,MEYOU,THREE MAN DOWN,KLEAR ฯลฯ
ไฮไลท์คือการแสดงในแต่ละวันจะมีทั้งหมดวันละ 7 ชั่วโมง โดยผู้ชมสามารถคอมเมนต์ พูดคุยกับศิลปินได้ผ่านหน้าจอแบบเรียลไทม์ นอกจกานี้แกรมมี่ยังนำเทคโนโลยีเสมือนจริงเข้ามาใช้สร้าง interact ระหว่างกัน
Marketeer มองว่า New Normal ของการจัดคอนเสิร์ต และแฟนมีตติ้ง ที่หันมาจัดในรูปแบบออนไลน์, คอนเสิร์ตไลฟ์สด, Virtual Concert เป็นเรื่องใหม่ที่ต้องเรียนรู้
แต่ถามว่า คอนเสิร์ตออนไลน์ สามารถจะมาแทนที่รูปแบบดั้งเดิมได้หรือไม่ ตอบได้เลยว่า “ไม่” เพราะในแง่คนดู อาจจะตอบโจทย์แฟนคลับตัวยงของศิลปินนั้น ๆ ที่ไม่ว่าศิลปินจะทำอะไร แฟนคลับอย่างเรา ๆ ก็อยากจะช่วยซัปพอร์ต และอาจจะตอบโจทย์ในช่วงระยะสั้นที่คนกำลังโหยหาอีเวนต์ความบันเทิง
แต่ในมุมมองทั่วไปและในระยะยาว “คอนเสิร์ต” เป็นกิจกรรมที่ดูคนเดียวไม่ได้ และเสน่ห์ของการดูคอนเสิร์ตคือความสดของโชว์ ประสบการณ์ของจริงที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในฮอลล์ร่วมกัน
แม้บางคงอาจจะไม่ได้มีกำลังซื้อบัตรแถวหน้า และต้องอยู่แถวหลังสุด แต่การเข้าไปนั่งเป็นส่วนหนึ่งในคอนเสิร์ตนั้น ๆ ก็ทำให้ได้รับประสบการณ์ที่หาไม่ได้จากที่ไหน ศิลปินจัดงานแสดงหลายรอบ การดูแต่ละรอบอรรถรสก็ไม่เหมือนเดิม
ส่วนในมุมของผู้จัด หากจะให้กลับมาจัดคอนเสิร์ตแบบออนกราวด์เต็มรูปแบบตอนนี้ก็ไม่สามารถทำได้ งานแสดงที่เคยวางแพลนจะจัดก็ต้องเลื่อนออกไปปลายปี หรือไม่ก็ต้องจัดในปีหน้า
เพราะการจัดคอนเสิร์ตแต่ละครั้งมีต้นทุนมากไม่ใช่แค่เฉพาะตัวศิลปิน แต่ต้องขับเคลื่อนทั้งลูปตั้งแต่คนเบื้องหลัง และเบื้องหน้าที่ต้องมีไปร่วมกัน
ตอนนี้จำเป็นต้องเว้นระยะห่าง และขายได้เฉพาะตั๋วแบบนั่งเท่านั้น จากที่ฮอลล์หนึ่งบรรจุผู้ชมได้หลักหมื่นคน กลายมาเหลือหลักพันคน บัตรค่าชมที่เคยขายได้เต็มอัตรา ก็เหลือไม่กี่สิบเปอร์เซ็นต์ ต้นทุนต่าง ๆ มีเท่าเดิม แต่รายได้มีน้อยลง คำนวณบวกลบคูณหารแล้วยังไงก็ไม่คุ้มอยู่ดี
การจัด Virtual Concert, แฟนมีทติ้งออนไลน์ ก็เลยเป็นอีกหนึ่งทางรอดของอุตสาหกรรมในตอนนี้ที่ตอบโจทย์ได้ดีทีเดียว
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้
Website : Marketeeronline.co /
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline



