ธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ เกิดอีก 10 ชาติ จะไม่ทำธุรกิจสายการบินอีกแล้ว (สัมภาษณ์พิเศษ)
ย้อนกลับไปเมื่อปี 2546 ธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มบริษัทไทยแอร์เอเชีย ในวัย 37 ปี ลาออกจากผู้บริหารบริษัทวอร์เนอร์ มิวสิค ประเทศไทย มารับตำแหน่ง ซีอีโอ บริษัทไทยแอร์เอเชีย เมื่อปี 2546
แล้วเริ่มปฏิวัติวงการบิน ด้วยการทำ “Low Cost Airline” สายการบินราคาถูกเป็นครั้งแรกของเมืองไทย ภายใต้สโลแกน “Everyone can fly” ใคร ๆ ก็บินได้
แอร์เอเชียทะยานขึ้นฟ้าครั้งแรกเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2547 ในเส้นทางกรุงเทพ-ภูเก็ต, กรุงเทพ-หาดใหญ่ และ กรุงเทพ-เชียงใหม่
ปี 2550 ธรรศพลฐ์เปลี่ยนสภาพจากลูกจ้างมาเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารและเจ้าของสายการบินไทยแอร์เอเชีย โดยร่วมกับผู้บริหาร 6 คนซื้อหุ้นจากผู้ถือหุ้นเดิมและดันเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อปี 2555
เขาพาฝูงบินของไทยแอร์เอเชียฝ่ามรสุมลูกแล้วลูกเล่าตลอด 16 ปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นไข้หวัดนก น้ำท่วมใหญ่ การเมืองในประเทศ สนามบินถูกปิด
แต่ทุกวิกฤตใช้เวลาไม่นานก็สามารถกลับมาสร้างรายได้เท่าจุดเดิม
หรือแม้แต่วิกฤตต่อเนื่องอย่างสงครามราคาที่สาดแข่งกันอย่างรุนแรงระหว่าง Low Cost Airline ด้วยกัน จนเขาเคยบอกว่ากำไรจากการขายตั๋วเหลือเพียง 2-3%
แต่ทุกสายการบินก็ยังบินต่อกันได้
ก่อนถูกกระหน่ำด้วยวิกฤตโควิด-19 นั้น ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมานั้นภาวะเศรษฐกิจผันผวน เงินบาทแข็งค่าขึ้น ส่งผลกระทบถึงการท่องเที่ยว เป็นช่วงเวลาที่เลวร้ายอยู่แล้วสำหรับธุรกิจสายการบิน
ตอกย้ำด้วยภาพของปี 2562 ที่ผ่านมา Low Cost Airline มีผลประกอบการที่ขาดทุนกันถ้วนหน้า แอร์เอเชียเองก็ขาดทุนไป 474 ล้านบาท
พิษของโควิดทำให้แอร์ เอเชียเริ่มทยอยหยุดบินมาตั้งแต่สัปดาห์ที่ 2 ของเดือนกุมภาพันธ์ และประกาศหยุดบินชั่วคราวทุกเส้นทางบินระหว่างประเทศ ตั้งแต่วันที่ 22 มีนาคม และมาเปิดบินได้บางเส้นทางเมื่อ 1 พฤษภาคม 2563
สิ้นปี 2562 แอร์เอเชียมีฝูงบินทั้งหมด 62 ลำ ให้บริการเที่ยวบิน 1,331 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ไปยัง 65 จุดหมายปลายทางทั้งในและระหว่างประเทศ
เส้นทางหลัก ๆ อยู่ในเอเชีย เช่น กรุงเทพ-อู่ฮั่น 14 เที่ยวบินไปกลับต่อสัปดาห์ กรุงเทพ-สิงคโปร์ 35 เที่ยวบิน กรุงเทพ-มาเก๊า 28 เที่ยวบิน
แต่จนถึงกลางเดือนกรกฎาคมแอร์เอเชียเพิ่งบินไปแค่ 30% จากที่เคยบินได้ก่อนหน้าวิกฤตโควิด
“เก็บตัว งอเข่า”และทำตัวให้เล็กที่สุด
สิ่งที่ธรรศพลฐ์จำเป็นต้องทำคือ “เก็บตัว งอเข่า” และทำตัวให้เล็กที่สุด เพราะกำลังอยู่ในช่วงวิกฤตสุด ๆ
อย่างแรก คือหั่นต้นทุนให้เหลือน้อยที่สุด ต้นทุนสำคัญคือน้ำมัน เรื่องนี้อาจจะไม่มีปัญหาเพราะเมื่อบินน้อยก็ใช้น้ำมันน้อย ค่าเช่าเครื่องบินก็มีการเจรจาขอยืดเวลาการจ่าย งบมาร์เก็ตติ้ง เมื่อเครื่องบินบินได้ไม่กี่เส้นทางก็ตัดหมด
แต่ยังบุกหนักเรื่องข่าวพีอาร์ผ่านช่องทางออนไลน์ แบบฟรีมาร์เก็ตติ้ง
ปัญหาหนักสุดคือต้นทุนเรื่องคน แอร์เอเชียมีกำลังคนทั้งหมดประมาณ 8 พันคน จำเป็นต้องลดเงินเดือนลงโดยผู้บริหารระดับสูงอย่างเขายอมลดไป 75% จากนั้นก็ลดหลั่นกันไปจนถึง 15% และไม่ลดเลย
รวมทั้งให้หยุดพักงานโดยไม่จ่ายเงินเดือน และสลับวันกันทำงาน โดยไม่รับค่าจ้าง
จนกระทั่งวันที่ 16 ก.ค. ที่ผ่านมา เขายืนยันในรายการ Prachachat live Forum ว่าถึงวันนี้ไม่เคยเอาพนักงานออกเพราะโควิดพ่นพิษเลยแม้แต่คนเดียว
เมนูที่ทุกคนรู้ แฟนคลับแอร์เอเชียรู้ “ชานมไข่มุกบุก”
ทำทุกอย่างเพื่อให้ได้เงินสดเข้ามา เช่น เมื่อขายอาหารบนเครื่องไม่ได้ ต้องเอาของ “บนฟ้า” ลงมาขาย “บนดิน”
เมนูที่ทุกคนรู้ แฟนคลับแอร์เอเชียรู้ อยู่บ้านไม่ต้องบินก็สั่งรับประทานได้คือ เครื่องดื่มยอดฮิต “ชานมไข่มุกบุก” รวมทั้งเมนูอาหารอื่น ๆ ที่เคยมีขายบนเครื่องด้วย
ล่าสุดกับโปรโมชั่น “ตั๋วบินบุฟเฟต์แอร์เอเชีย” บินทั่วไทยไม่อั้น ดีลพิเศษในราคา 2,999 บาท บินภายในประเทศได้ไม่จำกัดจำนวนครั้ง โดยเปิดขายจำนวน 1 แสนสิทธิ์ และเปิดให้จองตั้งแต่ 29 มิ.ย.-5 ก.ค. 63
เป็นโปรโมชั่นที่จัดหนัก จัดเต็ม อย่างที่ไม่เคยทำมาก่อน
แน่นอน เงินสดที่เข้ามาส่วนใหญ่เป็นค่าใช้จ่ายเรื่องเงินเดือน จ่ายค่าเช่าเครื่องบิน และที่สำคัญต้องเอามาทยอยจ่ายคืนคนอีกหลายแสนคนที่ขอเงินคืนเข้ามาจากช่วงที่บริษัทประกาศหยุดบิน ซึ่งคนกลุ่มนี้ยังปฏิบัติการทวงคืนอย่างต่อเนื่องผ่านช่องทางออนไลน์ตลอดเวลา
ธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ กับความหวังสุดขอบฟ้า
วันนี้ ความหวังในการบินต่อของ ธรรศพลฐ์ น่าจะมาจาก 3 เรื่องหลัก ๆ คือ
1. รอเงินจากมาตรการเยียวยาจากภาครัฐบาล โดยสายการบินในประเทศ 8 สายเคยยื่นหนังสือถึงกระทรวงการคลังขอกู้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ในวงเงิน 2.5 หมื่นล้านบาท เพื่อเอามาประคองธุรกิจ และช่วยพนักงานรวมเกือบ 3 หมื่นคน
2. หวังว่าต้นปีหน้า น่านฟ้าน่าจะเปิดเต็มที่ โอกาสที่ได้กลับมาบินในต่างประเทศจะทำให้แอร์เอเชียเริ่มมีรายได้เข้ามามากขึ้น
3. น้ำมันที่ทำสัญญาซื้อล่วงหน้าในช่วงเวลาที่น้ำมันถูกในปีนี้ จะทำให้ต้นทุนน้ำมันปีหน้าต่ำลง
เมื่อรวมกับพนักงานที่ยังไม่หายไปไหน เครื่องบินยังอยู่ครบ ในขณะที่คู่แข่งบางรายก็หายไปแล้ว การกลับมาครั้งใหม่ของแอร์เอเชียก็น่าจะไปต่อได้รวดเร็วขึ้น
กว่าจะถึงวันนั้น วันนี้ ธรรศพลฐ์คงต้องประคองปีกบินด้วยใจที่เข้มแข็งที่สุด ถึงแม้จะประกาศไปแล้วว่า
“เกิดมาอีก 10 ชาติ ก็จะไม่ทำอีกแล้วกับธุรกิจสายการบิน” ก็ตาม
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้
Website : Marketeeronline.co /
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline



