Chilindo จิ๊กซอว์เสริมทัพบุกตลาดอีคอมเมิร์ซของ CP (วิเคราะห์)

จากการรายงานข่าวของรอยเตอร์ในกรณีเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ CP เข้าซื้อ Chilindo อีคอมเมิร์ซแพลตฟอร์มจากนักลงทุนฮ่องกง เป็นจำนวนเงิน 18 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 561.42 ล้านบาท เพื่อเข้ามาเสริมความแข็งแกร่งให้กับ We Mall แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ชสัญชาติไทยที่อยู่ภายใต้การดูแลของบริษัท แอสเซนด์ คอมเมิร์ซ บริษัทลูกในเครือ CP เพื่อแข่งขันกับคู่แข่งอีคอมเมิร์ซข้ามชาติยักษ์อย่างลาซาด้า ช้อปปิ้ง เจดีเซ็นทรัล และอื่น ๆ อย่างมีชั้นเชิงขึ้น

การซื้อกิจการ Chilindo ของ CP ในครั้งนี้ ในมุมมองของ Marketeer วิเคราะห์ว่ามาจากเหตุผลที่สำคัญ 4 ประการคือ

1. Chilindo แม้จะเป็นอีคอมเมิร์ซเหมือนกัน แต่แพลตฟอร์มการขายไม่เหมือนกัน

Chilindo ถือว่าเป็นแพลตฟอร์มที่มีความแตกต่างจากแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซอื่น ๆ ในประเทศไทย จากบิสซิเนสแพลตฟอร์มของ Chilindo เป็นการขายสินค้าจากการประมูลเริ่มต้นที่ 1 บาท เพื่อให้ผู้สนใจเข้ามาบิดราคาแข่งขัน และผู้ที่ให้ราคาสูงสุดเป็นผู้ได้สินค้าไป

การที่เปิดประมูลสินค้าแทนการตั้งราคาจำหน่ายมองในข้อดีคือ

– สามารถสร้าง Engagement ระหว่างลูกค้ากับ Chilindo อยู่เสมอ เพราะเมื่อราคาประมูลที่ลูกค้าใส่ไป มีคนบิดราคาที่สูงกว่า ลูกค้าจะต้องเข้ามาบิดเพิ่ม หรือหาสินค้าอื่นที่เหมือน ๆ กันและมีราคาที่ต่ำกว่าบิดแทน ซึ่งการเข้ามาในแพลตฟอร์มอยู่เสมอ เป็นหนึ่งในกุศโลบายในการสร้าง Engagement โดยไม่รู้ตัว

– สร้างดีมานด์เทียมจากการประมูลทำให้เกิดการขายสินค้าได้อย่างสม่ำเสมอแม้ลูกค้าอาจจะไม่อยากได้สินค้าเท่าไรนัก เพราะการเข้าไปดูสินค้าของลูกค้าบางครั้งมองว่าสินค้าที่ร่วมประมูลมีราคาถูกกว่าท้องตลาด จึงลองใส่ราคาประมูลไปเล่น ๆ และชนะการประมูลไป ทำให้ลูกค้าไม่อยากเสียสิทธิ์และซื้อสินค้านั้นไปแบบเสียมิได้ ซึ่งการสร้างดีมานด์เทียมจากการประมูลทำให้เกิดการขายสินค้าออก

– สินค้าบางชิ้นอาจจะขายได้ราคาสูงกว่าราคาปกติ จากจิตวิทยาการอยากเอาชนะ เพราะการประมูลในบางครั้งผู้ร่วมประมูลอาจจะเผลอกดบิดเพิ่มขึ้นไปเรื่อย ๆ เพียงแค่อยากจะเอาชนะคู่แข่งอีกคนเท่านั้น และสุดท้ายเมื่อจบการประมูลลูกค้าอาจจะซื้อของแพงขึ้นโดยไม่รู้ตัว และหมายถึงรายได้ที่เพิ่มขึ้นของแพลตฟอร์ม

ส่วนข้อเสียคือ

– แม้สินค้าส่วนใหญ่ที่เข้ามาประมูลจะเป็นสินค้าจากประเทศจีน ที่มีต้นทุนการผลิตที่ต่ำ ทำให้การเล่นราคากับการเริ่มต้นบิดสินค้าเพียง 1 บาท สามารถทำให้เกิดกำไรจากการขายสินค้าจากการประมูลโดยง่าย แต่ก็มีไม่น้อยที่สินค้าที่ลงจำหน่ายให้ลูกค้าเข้ามาบิด ราคาที่ลูกค้าบิดได้ต่ำกว่าต้นทุน ทำให้เกิดการขายสินค้าที่ขาดทุน

– ลูกค้าบางคนไม่อยากรอเวลาปิดประมูล และต้องการอยากได้สินค้าทันทีจะไม่ให้ความสนใจกับแพลตฟอร์มขายสินค้าในรูปแบบนี้ และไปหาซื้อสินค้าในแพลตฟอร์มอื่น ๆ แทน

 

2. ขยายสู่ฐานลูกค้าและรายได้ใหม่ ครอบคลุมทุกรูปแบบการขาย

จากที่กล่าวมาChilindoเป็นแพลตฟอร์มขายสินค้าจากการประมูล การซื้อChilindo เข้ามาอยู่ในพอร์ตของแอสเซนด์ คอมเมิร์ซ บริษัทลูกในเครือ CP ที่ทำธุรกิจอีคอมเมิร์ซผ่านแพลตฟอร์ม We Mall และ We Love Shopping ให้แข็งแกร่งขึ้น

โดย We Mall เป็นแพลตฟอร์มที่รีแบรนดิ้งมาจากแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซที่ชื่อ iTrueMart จัดจำหน่านสินค้าในรูปแบบห้างสรรพสินค้าออนไลน์ สินค้าที่มาจำหน่ายจะจำหน่ายโดย We Mall และแบรนด์ในเครือ CP ทั้งหมด

การที่Chilindoเข้ามาเสริมธุรกิจ We Mall ทำให้ลูกเล่นในแพลตฟอร์ม We Mall มีความน่าสนใจและดึงดูดลูกค้ามากขึ้น

ส่วน We Love Shopping เป็นเหมือนอีมาร์เก็ตเพลสที่ให้ร้านค้าเข้ามาเปิดร้านจำหน่ายสินค้าเหมือนกับลาซาด้า และช้อปปี้

การที่มีChilindoซึ่งเป็นแพลตฟอร์มประมูล ทำให้แอสเซนด์ คอมเมิร์ซ มีความหลากหลายในรูปแบบการเสนอสินค้าถึงลูกค้าแต่ละเซกเมนต์มากยิ่งขึ้น

 

3. ดาต้าเบสชั้นดี

Chilindoทำธุรกิจในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2556 การเข้ามาทำตลาดเป็นเวลานาน และมียอดจำหน่ายจากลูกค้าจำนวนมาก ทำให้Chilindoเป็นแพลตฟอร์มที่มีดาต้าเบสของลูกค้าที่เครือ CP รู้จักลูกค้ามากขึ้น และสามารถนำมาต่อยอด พัฒนาเป็นสินค้าและบริการอื่น ๆ เพื่อนำเสนอถึงกลุ่มลูกค้าได้ตรงความต้องการได้เป็นอย่างดี

 

4. เสริมรายได้สร้างการเติบโต

ในปีที่ผ่านมา แอสเซนด์ คอมเมิร์ซ มีรายได้จากการประกอบการ 519.13 ล้านบาท แม้ถือเป็นรายได้ที่ไม่สูงมากนักเมื่อเทียบกับอีคอมเมิร์ซแพลตฟอร์มอื่น ๆ แต่ก็ถือเป็นรายได้ที่มีการเติบโตอย่างก้าวกระโดดเมื่อเทียบกับปี 2561

รายได้ของแอสเซนด์ คอมเมิร์ซ

2560       146.18 ล้านบาท   ขาดทุน 357.16 ล้านบาท

2561       191.11 ล้านบาท   ขาดทุน 133.98 ล้านบาท

2562       519.13 ล้านบาท   ขาดทุน 57.02 ล้านบาท

 

ส่วน Chilindo ในปี 2561 ซึ่งเป็นรายได้ปีล่าสุดที่บริษัทChilindo รายงานกับกระทรวงพาณิชย์พบว่ามีรายได้ 2,634.70 ล้านบาท

รายได้ของ Chilindo

2559      1,102.93 ล้านบาท              ขาดทุน 4.48 ล้านบาท

2560       2,539.95 ล้านบาท              กำไร 2.88 ล้านบาท

2561       2,634.70 ล้านบาท              ขาดทุน 38.11 ล้านบาท      

ซึ่งการซื้อChilindoเข้ามาอยู่ในพอร์ตจะเป็นหนึ่งในแนวทางที่ทำให้รายได้ของแอสเซนด์ คอมเมิร์ซมีการเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

ส่วนเรื่องกำไรและขาดทุน ในเกมของธุรกิจอีคอมเมิร์ซถือเป็นเรื่องปกติ เพราะการขาดทุนนี้เป็นหนึ่งในการทำตลาดที่สร้างพฤติกรรมการใช้งานในการสร้าง Brand Awareness และสร้างประสบการณ์ใช้งานให้ลูกค้ารู้สึกคุ้นเคย จนติดเป็นนิสัยจนเห็นหนึ่งในแพลตฟอร์มหลักเมื่อคิดจะซื้อสินค้า และในวันนั้นโอกาสการสร้างกำไรจะตามมา

ทั้งนี้การซื้อChilindoเป็นหนึ่งในปฐมบทการเตรียมความพร้อมในธุรกิจอีคอมเมิร์ซในเครือ CP ที่จะรอวันการเติบโตอย่างก้าวกระโดดการช่องทางจำหน่ายในแพลตฟอร์มนี้ ในวันที่ผู้บริโภคถูกโควิด-19 เร่งให้เกิดพฤติกรรมให้พวกเขาพาตัวเองไปอยู่บนโลกออนไลน์อย่างรวดเร็วโดยไม่รู้ตัว จนเกิดความคุ้นเคยในการใช้งาน และมองว่าการซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์สามารถอำนวยความสะดวกในแง่ของการเดินทางการซื้อสินค้าได้เป็นอย่างดี

และจากนี้ต่อไป เกม อีคอมเมิร์ซฉบับไทย ๆ จากแพลตฟอร์มของคนไทยอย่าง We Mall จะมีความน่าสนใจมากขึ้นแค่ไหน เราต้องดูกันยาว ๆ

 

Marketeer FYI

Chilindo จดทะเบียนโดยใคร

ข้อมูลอัปเดตวันที่ 10 สิงหาคม 2563 บริษัทChilindoจำกัด จดทะเบียนในชื่อคณะกรรมการ 8 คน ภายใต้ทุนจดทะเบียน 100 ล้านบาท ประกอบด้วย

แคสปาร์ โบ เนียร์การ์ด เจนเซ่น

อติรุฒม์ โตทวีแสนสุข

เมธี วินิชบุตร

สืบสกล สกลสัตยาทร

นพปฎล เดชอุดม

ชาติวุฒิ ตันจันทร์พงศ์

วนิกุล จึงประเสริฐ

อชิรา เตาลานนท์

อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online