ร้านขายยาญี่ปุ่นในไทย รายได้เท่าไร ? กรณีศึกษา ร้านซูรูฮะ และ มัทสึโมโตะ คิโยชิ
ก่อนนั้นเราไปญี่ปุ่นทีไร จะต้องแวะร้านขายยา อย่างซูรูฮะ และ มัทสึโมโตะ คิโยชิ ซื้ออาหารเสริม เครื่องสำอาง และอื่น ๆ กลับมาทุกครั้ง
และเราเชื่อว่าคุณ ๆ ก็เป็นอย่างเรา
ความต้องการสินค้าญี่ปุ่นจากร้านขายยา ทำให้นักลงทุนไทยจีบร้านขายยาเข้ามาเปิดในไทยมาเป็นเวลาหลายปี
แต่การเปิดร้านขายยาญี่ปุ่นในไทย มีความท้าทายคือ เมื่อคนไทยไปญี่ปุ่นเหมือนบ้านหลังที่สอง และมีแม่ค้ารับหิ้วอยู่เต็มโซเชียลมีเดีย ที่ในบางครั้งราคาถูกกว่าหน้าร้านในไทยเสียอีก
จนมีคำถามว่าร้านขายยาญี่ปุ่นในไทยจะเติบโตไหม
จนวันนี้ญี่ปุ่นยังคงติดโควิด-19 ในประเทศจำนวนมาก และคนไทยออกเที่ยวไม่ได้ ทำให้เรามองกลับไปว่า คือโอกาสที่น่าสนใจของร้านขายยาญี่ปุ่นในไทยหรือไม่
ในความเป็นจริงแล้ว
เมื่อดูที่ผลประกอบการของสองร้านขายยากับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่า แม้คนไทยจะไปเที่ยวญี่ปุ่นมากขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา และการไปเที่ยวทุกครั้งจะนิยมหยิบสินค้าที่ใช้เป็นประจำจากร้านขายยากลับมาไทยเสมอ
แม้เทรนด์จะเป็นเช่นนี้ แต่เป็นเรื่องที่น่าสนใจคือ รายได้ ร้านขายยาญี่ปุ่นในไทย กลับเติบโตอย่างต่อเนื่องทุกปี
เมื่อดูจากร้านได้ของ ร้านซูรูฮะ ผู้ที่ได้ชื่อว่า ผู้บุกเบิกร้านขายยาญี่ปุ่นในไทย จากการตั้งสาขาแรกในปี 2555 พบว่าในปีปฏิทินของซูรูฮะ ปี 2563 ที่เริ่มตั้งแต่เมษายน 2562-มีนาคม 2563 มีรายได้ 735.46 ล้านบาท กำไร 8.26 ล้านบาท
จากยอดจำหน่าย 21 สาขา และยอดจำหน่ายผ่านออนไลน์
2561 558.81 ล้านบาท ขาดทุน 4.20 ล้านบาท
2562 639.40 ล้านบาท กำไร 0.75 ล้านบาท
2563 735.46 ล้านบาท กำไร 8.26 ล้านบาท
ที่มา: กรมพัฒนาธุรกิจการค้า จาก บริษัท ซูรูฮะ (ประเทศไทย) จำกัด
ส่วน มัทสึโมโตะ คิโยชิ เข้ามาทดลองตลาดในไทยปี 2557 ก่อนที่จะเปิดสาขาแรกในไทยอย่างเป็นทางการ ปี 2558
โดยมัทสึโมโตะ คิโยชิ เป็นการถือหุ้นระหว่างเซ็นทรัลและ มัทสึโมโตะ คิโยชิ ประเทศญี่ปุ่น มีสาขาในไทย 33 สาขา
ในปีที่ผ่านมา มัทสึโมโตะ คิโยชิ มีรายได้ 779.96 ล้านบาท ขาดทุน 60.81 ล้านบาท
2560 506.29 ล้านบาท กำไร 1.7 ล้านบาท
2561 760.86 ล้านบาท ขาดทุน 14.76 ล้านบาท
2562 779.96 ล้านบาท ขาดทุน 60.81 ล้านบาท
ที่มา: กรมพัฒนาธุรกิจการค้า จาก บริษัท เซ็นทรัล และ มัทสึโมโตะ คิโยชิ จำกัด
การเติบโตนี้ส่วนหนึ่งมาจาก
1. ผลพลอยได้ที่คนไทยไปญี่ปุ่น และลองซื้อสินค้าใหม่ ๆ จากร้านขายยาญี่ปุ่นกลับมาใช้ หรือกลับไปฝากคนรู้จัก และเมื่อใช้แล้วรู้สึกชอบ จึงซื้อซ้ำจากร้านขายยาญี่ปุ่นในไทยเพื่อใช้ต่อเนื่อง
2. ร้านขายยาญี่ปุ่นในไทยมีแคมเปญโปรโมชั่นหน้าร้านอยู่เสมอ เพื่อดึงให้กลุ่มลูกค้าเข้าไปส่องสินค้าโปรโมชั่นและซื้อสินค้าอื่น ๆ ที่นอกเหนือจากโปรโมชั่นกลับไป
3. สินค้าที่จำหน่ายในร้านขายยาญี่ปุ่น นอกเหนือจากสินค้าญี่ปุ่นแล้ว ยังมีสินค้าอื่น ๆ ที่มีจำหน่ายในประเทศไทย เข้ามาเสริมเพื่อเป็น One Stop Shopping ให้กับลูกค้ามากขึ้น
4. ในช่วงที่ผ่านมา ร้านขายยาญี่ปุ่นในไทยในบางสาขายังเติบโตจากนักท่องเที่ยวจีนที่นิยมซื้อของฝากต่าง ๆ กลับไปประเทศตัวเอง เพราะการเข้าร้านขายยาญี่ปุ่นในไทยนอกเหนือจะได้สินค้าญี่ปุ่นกลับไปแล้ว ยังได้สินค้าอื่น ๆ ที่เป็นที่นิยมของคนจีน เช่น กอเอี๊ยะตราเสือ ยาหม่องตราเสือ สาหร่ายเถ้าแก่น้อย และอื่น ๆ ที่ร้านขายยาบางสาขาคัดสรรมาจำหน่ายเพื่อตอบโจทย์นักท่องเที่ยวจีนอีกด้วย
5. ขยายช่องทางจำหน่ายผ่านออนไลน์ สร้างฐานลูกค้าใหม่ ๆ เพื่ออุดข้อจำกัดของร้านขายยาญี่ปุ่นที่มีสาขาไม่มากนัก เพราะเป็นช่องทางที่สามารถซื้อสินค้าจากไหนก็ได้โดยไม่จำเป็นต้องไปที่หน้าร้าน
ทั้งนี้ แม้วันนี้ประเทศไทยจะไม่มีนักท่องเที่ยวจีนเข้ามาสร้างพลังการซื้อ แต่ด้วยคนไทยไม่สามารถไปซื้อของที่ร้านขายยาประเทศญี่ปุ่นได้
และข้อจำกัดเหล่านี้จะทำให้ร้านขายยาญี่ปุ่นในไทยมีรายได้ในทิศทางไหน คงต้องดูกันต่อไป
เพราะตลาดนี้แข่งขันกันอย่างรุนแรงมากขึ้น จากการเปิดตัวของร้านเครื่องสำอางญี่ปุ่นที่เข้ามาแย่งชิงยอดจำหน่ายด้านเครื่องสำอางไปจากร้านขายยา
และการมาของดองกี้ ที่เข้ามาแย่งชิงยอดจำหน่ายในด้านอื่น ๆ อีกด้วย
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้
Website : Marketeeronline.co /
ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ