Pizza Hut ปิด 300 สาขาในสหรัฐฯ กู้วิกฤตล้มละลาย (วิเคราะห์)
บริษัทใหญ่ ๆ จำเป็นต้องลดขนาดเพื่อฝ่าวิกฤตไวรัส โดย NPC International บริษัทบริหารร้านแฟรนไชส์ (Franchisee) รายใหญ่สุดของ Pizza Hut ในสหรัฐฯ ปิด 300 สาขา ตามแผนฟื้นฟูกิจการ หลังยื่นขอพิทักษ์ทรัพย์จากการล้มละลายไปเมื่อต้นกรกฎาคมที่ผ่านมา
สาขาที่ต้องปิดเหล่านี้เป็นสาขาแบบที่ให้ลูกค้าเข้าไปสั่งอาหารและรับประทานในร้าน (Dine-in) ซึ่งยอดขายลดฮวบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 จนไม่สามารถดำเนินกิจการต่อได้ โดยคิดเป็น 1 ใน 4 จากกว่า 1,200 สาขาที่ NPC International บริหารอยู่
วิกฤตไวรัสครั้งนี้ส่งผลกระทบอย่างเป็นระบบต่อธุรกิจของ NPC International และไม่ได้แค่ฉุุดยอดขายร่วงเท่านั้น แต่ยังทำให้เกิดปัญหาสภาพคล่องจนเกิดหนี้สะสมสูงถึง 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (31,000 ล้านบาท) โดยเพื่อคลี่คลายสถานการณ์ NPC International จึงต้องเตรียมขายสาขาPizza Hutที่เหลืออยู่บางส่วนออกไป
พิซซ่าถาดเล็กลง แต่อาหารเช้า ‘อร่อย’ ขึ้น
NPC International เป็นพันธมิตรทางธุรกิจกับPizza Hutมานาน เริ่มจากการซื้อแฟรนไชส์Pizza Hutสาขาแรกในปี 1962 จากนั้นก็มีความก้าวหน้าตามลำดับ นำไปสู่ IPO ในปี 1984 จนขึ้นมาเป็นแฟรนไชส์เบอร์ใหญ่สุดของPizza Hutในสหรัฐฯ มีจำนวนสาขาที่บริหารอยู่คิดเป็นเกือบ 1 ใน 5 จากสาขาของPizza Hutทั้งหมดในสหรัฐฯ
แม้ Pizza Hut ทำเงินก้อนใหญ่ให้ NPC International แต่เมื่อเกิดวิกฤตไวรัสก็เป็นธุรกิจที่ ‘ป่วยหนัก’ สุดเช่นกัน ทว่านอกจากPizza Hut แล้ว NPC International ยังมี Wendy’s อีกราว 400 สาขาในสหรัฐฯ อยู่ในมือ และอาจขึ้นมามีบทบาทในการช่วยฟื้นฟูกิจการ
ช่วงที่สหรัฐฯ ยังอยู่ภายใต้มาตรการล็อกดาวน์ Wendy’s ทั้งในส่วนที่เป็นของบริษัทและแฟรนไชส์ เปิดตัวเมนูอาหารเช้าใหม่ ๆ มากมาย
ปรากฏกว่าชาวอเมริกันติดใจในความหลากหลายและแปลกใหม่ กลับมาซื้ออีกหลังรัฐบาลคลายมาตรการล็อกดาวน์แล้ว จนทำให้ในไตรมาสล่าสุดยอดขายเมนูอาหารเช้าของ Wendy’s แซงหน้าแบรนด์ฟาสต์ฟู้ดอื่น ๆ
หากจากนี้เมนูอาหารเช้าของ Wendy’s ยังทำยอดขายดีขึ้นอีกก็อาจช่วยให้ NPC International ฟื้นจากวิกฤตไวรัสและหลุดจากการเป็นบริษัทล้มละลายได้เร็วขึ้น/cnbc, cnn, businessinsider
Website : Marketeeronline.co /
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline



