ทำไม นารายา จากกระเป๋าไร้แบรนด์ส่งนอกตามออเดอร์ ที่นำกระเป๋าที่ทำเกินออเดอร์จำหน่ายในพื้นที่ 2 เมตร ใต้ถุนนารายภัณฑ์ ถนนราชดำริ แหล่งจำหน่ายสินค้าที่เน้นต่างชาติ และแอร์โฮสเตสที่รับหิ้วสินค้าไทยไปขายในต่างประเทศ (ติดกับ โรงแรมอโนมา ปัจจุบันนารายภัณฑ์ ราชดำริได้ถูกบิ๊กซีราชดำริ ซื้อที่ทำห้างสรรพสินค้าบิ๊กซี) เพราะต้องการพาตัวเองหลุดจากหนี้สินที่ประดังเข้ามาในช่วงเวลาเกือบ 30 ปีที่ผ่านมา ถึงกลับกลายเป็นแบรนด์กระเป๋าพันล้าน ที่ต้องตาต้องใจชาวต่างชาติ โดยเฉพาะชาวเอเชีย ถึงกลับมีคนให้คำนิยามว่า ถ้ามาประเทศไทยไม่หิ้วกระเป๋านารายากลับไปถือว่าไปไม่ถึง แบรนด์ไทยอย่างนารายานี้เองได้รับการขนานนามจากสื่อไต้หวันว่าเป็น 1 ใน 10 แบรนด์ผู้ทรงอิทธิพลในเอเชีย ระดับเดียวกับยูนิโคล่ ญี่ปุ่น
เมื่อดูจากรายได้ของนารายาในแต่ละปี มีรายได้เกิน 1.5 พันล้านบาท ในปีที่ผ่านมามีรายได้มากกว่า 1.66 พันล้านบาท เป็นรายได้จากลูกค้า ต่างชาติ 80% แม้จะได้รับผลกระทบจากทัวร์ศูนย์เหรียญที่หายไป และยุบสาขาในเกาหลี 60 สาขาจากพาร์ทเนอร์เกาหลีขยายสาขามากเกินข้อตกลงโดยไม่แจ้งกับ วาสนา รุ่งแสนทอง (ลาทูรัส) เจ้าของนารายาที่ดูแลการดีไซน์ การผลิต และการตลาดแบรนด์นารายาในหลายปีที่ผ่านก็ตาม
แบรนด์นารายาเริ่มต้นในตลาดหลังแรก ปี 2532 ด้วยทุนทะเบียน 1 ล้านบาท ในนามชื่อบริษัท นารายณ์อินเตอร์เทรดกับกรมพาณิชย์ ภายใต้แบรนด์นารายา ที่เป็นภาษาฮินดู แปลว่า พระนารายณ์ เพราะต้องการจดลิขสิทธิ์สินค้าหลังเริ่มมีร้านค้าอื่นๆ ลอกเลียนแบบเพราะกระเป๋าผ้าที่จำหน่ายได้การตอบรับจากลูกค้าต่างชาติ จนปัจจุบันนารายามีทุนจดทะเบียน 90 ล้านบาท
การดำเนินธุรกิจของ นารายา ตั้งแต่ปี 2532 จนปัจจุบันเน้นกลยุทธ์การขายง่ายๆ คือ
1.การตั้งราคาย่อมเยา เพราะเป็นผู้ผลิตเอง ตั้งราคาไหนขายราคานั้น ไม่มีบอกผ่านเพื่อให้ต่อ ให้ลูกค้ารู้สึกซื้อสินค้าในราคาเทียมกัน ซึ่งในอดีตพื้นที่ค้าขายอย่างนารายภัณฑ์ หรือพัฒน์พงศ์ซึ่งเป็นร้านค้าสาขาที่ 2 ของนารายาเน้นการตั้งราคาสินค้าไว้สูงเพื่อให้ลูกค้าได้ประลองฝีมือการต่อรองกับแม่ค้า
2.เน้นเนื้อผ้า การตัดเย็บปราณิต และดีไซน์ที่ตลาดต่างประเทศต้องการ มีโบว์ขนาดใหญ่เป็นเอกลักษณ์ ตรงกับจริตของชาวเอเชีย โดยเฉพาะ จีน ญี่ปุ่น ไต้หวัน เกาหลี โดยวาสนาจะอยู่เบื้องหลังการออกแบบกระเป๋าและสินค้านารายาทั้งหมด
3.ตกแต่งหน้าร้านสวย พื้นที่กว้างขวางน่าเดิน วาสนาเปิดร้านนารายาขนาดใหญ่แห่งแรกอยู่ที่เซ็นทรัลเวิลด์เมื่อ 16 ปีที่ผ่านมา (ก่อนนั้นคือเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ก่อนกลุ่มเซ็นทรัลจะเข้ามาซื้อกิจการ) ตกแต่งสวยงามเพื่อดึงดูดลูกค้าแทนการโฆษณาผ่านสื่อแมส และได้รับการตอบรับดีอย่างน่าตกใจ และนารายาได้ใช้โมเดลนี้กับการเปิดสาขาอื่นๆ ด้วย
3.มีสินค้าให้เลือกหลากหลาย ในปัจจุบันมีมากกว่า 50,000 SKU สำหรับผู้หญิงและผู้ชาย เช่น กระเป๋าใส่เน็คไทด์สำหรับเดินทาง
4.ทำสต๊อกสินค้าจำนวนมาก ให้ลูกค้ารู้สึกว่าอยากได้สินค้าแบบไหน มีพร้อมจำหน่ายเสมอ โดยการทำสต๊อกสินค้าจะวัดจากสินค้า ดีไซน์ และสีที่ลูกค้าส่วนใหญ่นิยม เป็นหลัก
ในอดีตนารายาเคยสั่งปิดสาขาทั้ง 60 สาขาในเกาหลี เพราะพาร์ทเนอร์ไม่แจ้งเรื่องการขยายสาขาตามความเป็นจริง ทั้งๆ ที่เกาหลี นารายา เคยสร้างประวัติการณ์ขายใบจองกระเป๋ามาแล้ว ส่วนญี่ปุ่นเตรียมเปิดต้นปีหน้า
ส่วนในประเทศไทย นารายา เซ็นทรัลเวิลด์ คราคร่ำไปด้วยนักท่องเที่ยวชาวจีน วาสนาใช้วิธีรักษาฐานลูกค้าญี่ปุ่นที่ไม่ชอบความวุ่นวายด้วยการโปรโมทเป็นภาษาญี่ปุ่นให้สามารถเลือกซื้อสินค้านารายาได้ที่สยามพารากอน และสุขุมวิทซึ่งเป็นสาขาที่นักท่องเที่ยวญี่ปุ่นรู้จักดี
วาสนาเป็นผู้สาวชาวจีนที่ครอบครัวประสบปัญหาทางธุรกิจ จนต้องออกจากโรงเรียนหลังจบ ป.4 ช่วยครอบครัวค้าขายในตลาดประตูน้ำ และระหว่างช่วยงานครอบครัวเธอได้เรียนเทียบชั้นจนจบมศ.3 และระหว่างนั้นเธอได้ศึกษาภาษาอังกฤษจาก AUA ก่อนเรียนภาษาอังกฤษจริงจังอีกครั้งเมื่ออายุ 30 กว่า
ธุรกิจแรกของเธอกับสามีชาวกรีก คือการเป็นตัวแทนหาสินค้า เช่นอุปกรณ์อิเลคทรอนิกส์ ชิ้นส่วนรถยนต์ส่งออกต่างประเทศเพื่อแลกกับค่าดำเนินการ 5% ของยอดสั่งซื้อ และส่วนใหญ่จะได้ลูกค้าเพียงครั้งเดียว เพราะหลังจากนั้นลูกค้าของเธอจะติดต่อกับบริษัทผู้ผลิตโดยตรง จากป้ายแบรนด์ที่ติดอยู่ในสินค้า
เธอหันมาทำธุรกิจกระเป๋าผ้าเพราะเพื่อนสามีชาวในต่างประเทศว่าจ้างให้ผลิต ด้วยการลงทุนจักรเย็บผ้า 15 ตัว พนักงาน 15 คน จนปัจจุบันเธอมีโรงงาน ทั้งหมด 4 โรงงาน พนักงาน 3,000 คน และจ้างฝีมือแรงงานชนบท 4,000 คน
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline



