ZEN ทำไมจึงอยากขายอาหารผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ (วิเคราะห์)

เป็นครั้งแรกที่ร้านอาหารในเครือเซ็น กรุ๊ป ขยายช่องทางไปยังอีมาร์เก็ตเพลส อย่างลาซาด้าและช้อปปี้ ด้วยการเปิดขาย Gift Voucher Zen Corporation Group ในราคาประหยัดผ่านมหกรรม 11.11 ตั้งแต่วันที่ 11 พฤศจิกายนไปจนถึง 31 ธันวาคม 2564

บุญยง ตันสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือเซ็น กล่าวว่า การพาธุรกิจร้านในเครือเซ็น กรุ๊ป สู่อีมาร์เก็ตเพลส ไม่ใช่ทางเลือกแต่เป็นทางรอดในการกระจายความเสี่ยงให้กับธุรกิจ

 

เพราะบุญยงมองว่าธุรกิจอาหารต้องมองให้เป็นรีเทลมากที่สุด  

และการมองธุรกิจอาหารเป็นรีเทลของเซ็น คือการขยายไปยังช่องทางใหม่ ๆ ที่นอกเหนือจากช่องทางเดิมที่มีอยู่

 

และทำไมร้านอาหารในเครือเซ็น กรุ๊ป ถึงมองอีมาร์เก็ตเพลสเป็นช่องทางที่น่าสนใจถึงกับจัดตั้งหน่วยงานดิจิทัลมาร์เก็ตติ้งขึ้นมาโดยเฉพาะ เพื่อผลักดันยอดจำหน่ายที่มาจากช่องทางนี้ให้มีสัดส่วน 10-15% จากรายได้ทั้งหมดในช่วงแคมเปญ 11.11

1. ขยายฐานลูกค้ามากกว่าคนเดินห้าง
การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไปสู่การซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ พฤติกรรมเหล่านี้ทำให้คนเดินห้างน้อยลง

ซึ่งการเดินห้างน้อยลงโอกาสในการเข้ามารับประทานอาหารที่ร้านอาหารในเครือเซ็น กรุ๊ป ก็มีน้อยลงเช่นกัน

แม้ในไตรมาส 3/2563 ร้านอาหารในเครือเซ็น กรุ๊ป จะมีอัตราการเติบโตของลูกค้าที่กลับมาใช้บริการเฉลี่ย 80-85% ก็ตาม แต่การเข้ามาใช้บริการของลูกค้าจะมีความถี่ที่ต่ำกว่าในอดีต และมีการใช้จ่ายต่อบิลที่ลดลง ตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจและพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป

ที่ผ่านมาร้านอาหารในเครือเซ็น กรุ๊ป จะเคยนำร่องจำหน่าย Gift Voucher Zen Corporation Group ในราคาประหยัดที่ช่องทางหน้าร้านเพื่อกระตุ้นให้เกิดการใช้บริการมากขึ้น

แต่ปัญหาของการขายในรูปแบบนี้ ลูกค้าที่ซื้อ Gift Voucher จะเป็นลูกค้าที่ซื้อหลังจากเข้ามารับประทานอาหารในร้านแล้ว เท่ากับว่าลูกค้าที่ซื้อ Gift Voucher เป็นลูกค้าในกลุ่มเดิมที่เป็นลูกค้าประจำของร้าน

และทำให้ร้านอาหารในเครือเซ็น กรุ๊ป ไม่สามารถขยายฐานลูกค้าไปยังลูกค้ากลุ่มใหม่ ๆ ได้

การขยายการจำหน่าย Gift Voucher ผ่านอีมาร์เก็ตเพลสจึงเป็นกลยุทธ์ที่ทำให้ร้านอาหารในเครือเซ็น กรุ๊ป สามารถขายฐานลูกค้าใหม่ ๆ โดยเฉพาะลูกค้าที่ชอบซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ลองซื้อ Gift Voucher ที่เครือเซ็น กรุ๊ป ได้ลดราคาต่ำกว่าราคาที่สามารถใช้ได้จริงเพราะมองเห็นความคุ้มค่าเป็นหลักให้เข้ามาเป็นลูกค้าประจำในอนาคตเมื่อนำ Gift Voucher ที่ซื้อเข้ามาใช้บริการและติดใจในรสชาติอาหาร

นอกจากนี้ การขาย Gift Voucher ในช่วงมหกรรม 11.11 ยังสามารถดึงลูกค้าที่ต้องการนำรายจ่ายที่เกิดขึ้นไปลดหย่อนภาษีได้อีกทางหนึ่งด้วย

2. ฟู้ดเดลิเวอรี่ไม่ตอบโจทย์อาหารทุกแบรนด์ในเครือ ZEN

แม้ในวันนี้ร้านอาหารในเครือเซ็น กรุ๊ป จะมีสาขารวมกันมากถึง 340 สาขา แต่การจำหน่ายอาหารผ่านหน้าร้านและต่อยอดธุรกิจด้วยฟู้ดเดลิเวอรี่อาจจะไม่สามารถตอบโจทย์ธุรกิจอาหารได้ทุกแบรนด์

เพราะอาหารบางประเภท เช่น ปิ้งย่าง อาจจะไม่เหมาะกับช่องทางฟู้ดเดลิเวอรี่เท่าไรนัก เช่น อาหารประเภทปิ้งย่าง ที่เหมาะกับการรับประทานหน้าร้าน และอาจจะทำให้รายได้จากการขายผ่านเดลิเวอรี่ของแบรนด์บางแบรนด์ไม่สามารถสร้างรายได้ที่เด่นชัดนัก

และการลงเล่นในช่องทางฟู้ดเดลิเวอรี่ ยังมี Pain Point อีก 3 ประการ คือ

– มีต้นทุนจากค่า GP ที่แพลตฟอร์มเรียกเก็บ

– การแข่งขันในธุรกิจเดลิเวอรี่ส่วนใหญ่แล้วจะแข่งขันกันรุนแรงที่โปรโมชั่นส่วนลดต่าง ๆ เพราะลูกค้าที่ตัดสินใจสั่งอาหารผ่านช่องทางนี้ ส่วนใหญ่จะไม่ Brand Loyalty แต่สั่งอาหารเพราะโปรโมชั่นที่ถูกกว่า

ซึ่งบุญยงยอมรับว่าในช่วงที่ร้านอาหารในเครือเซ็น กรุ๊ป ไม่มีการจัดโปรโมชั่นในแพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรี่ทำให้ยอดจำหน่ายผ่านช่องทางนี้ตกถึง 25% เมื่อเทียบกับช่วงที่มีโปรโมชั่น

– ร้านอาหารในเครือเซ็น กรุ๊ป ส่วนใหญ่อยู่ตามห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้าและไรเดอร์บางคนไม่นิยมกดรับซื้ออาหารในห้างเพราะมองว่าเสียเวลาในการวิ่งรอบส่งอาหารโดยเฉพาะในช่วงพีคไทม์ เพราะต้องจอดรถในที่จอดของห้างและเดินไปซื้ออาหาร เป็นต้น

 

3. รู้จักลูกค้าผ่านดาต้าเบสอีมาร์เก็ตเพลส

การเข้าไปขาย Gift Voucher ในอีมาร์เก็ตเพลสเป็นหนึ่งในกลวิธีที่ทำให้ร้านอาหารในเครือเซ็น กรุ๊ป รู้จักลูกค้าตัวเองในมิติที่เพิ่มขึ้น เพื่อนำดาต้าเบสที่เก็บได้ในทุกช่องทางที่ร้านอาหารในเครือเซ็น กรุ๊ป ที่มีอยู่มารวมกันเพื่อนำมาวิเคราะห์เป็นเมนูอาหาร แคมเปญโปรโมชั่นต่าง ๆ เพื่อโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้ตรงจุดมากขึ้น

 

4. Brake Even ธุรกิจที่ขาดทุน

9 เดือนที่ผ่านมาปี 2563 ของเซ็น อยู่ในภาวะขาดทุนถึง 79.6 ล้านบาท จากการเสียรายได้จากธุรกิจอาหารที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการล็อกดาวน์เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19

โดยเฉพาะไตรมาสสองปี 2563 เซ็นอยู่ในภาวะขาดทุนถึง 81.0 ล้านบาท

ส่วนไตรมาสสี่ บุญยงมีความต้องการ Brake Even ธุรกิจให้กลับมาเติบโตอีกครั้งในปี 2564 และการจำหน่าย Gift Voucher ในอีมาร์เก็ตเพลสจึงเป็นหนึ่งในการระดมรายได้จากการที่ลูกค้าจ่ายล่วงหน้าเพื่อซื้อ Gift Voucher ไปใช้รับประทานอาหารในอนาคต

 

เพราะบุญยงเชื่อว่าในช่วงธันวาคม ซึ่งเป็นหน้าขายหนึ่งในธุรกิจร้านอาหาร จากเทศกาลปีใหม่และการพาครอบครัวไปรับประทานอาหารในวันพ่อแห่งชาติ ที่สามารถดึงลูกค้าเข้าร้านอาหารได้ 90-100% ของพื้นที่ในร้านทั้งหมด

อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online