Pfizer ทำความรู้จักกับบริษัทยาสู้พยาธิ สู่สงครามยาต้านโควิด-19
ความสำเร็จจากบริษัทยาดังจุดประกายความหวังในการรับมือกับวิกฤตโควิด โดย Albert Bourla–CEO ของPfizerเผย การพัฒนาวัคซีนต้านไวรัสโควิดคืบหน้าไปมาก ผลทดสอบล่าสุดชี้ว่าวัคซีนมีประสิทธิภาพเกิน 90% และตัวเองพร้อมเป็นคนแรกที่รับฉีดวัคซีนตัวนี้
การระบาดอย่างรุนแรงของโควิด-19 ที่คร่าชีวิตผู้คนทั่วโลกไปแล้วนับล้าน เป็นตัวกระตุ้นให้บริษัทยาใหญ่ ๆ ต่างเร่งพัฒนาวัคซีนเพื่อจัดการกับไวรัสตัวนี้ โดยPfizerบริษัทยาสัญชาติอเมริกันจับมือกับ BioTech บริษัทในธุรกิจเดียวกันสัญชาติเยอรมัน พัฒนาวัคซีนมาหลายเดือนและมีข่าวความคืบหน้าออกมาอย่างต่อเนื่อง
ล่าสุด CEO ของPfizerเผยว่า เหมือนพบแสงสว่างปลายอุโมงค์ หลังวัคซีนที่ทดสอบผ่านกลุ่มตัวอย่างราว 43,000 คนใน 6 ประเทศคือ สหรัฐฯ บราซิล อาร์เจนตินา เยอรมนี ตุรกี และแอฟริกาใต้ มีประสิทธิภาพเกิน 90% มากกว่าเกณฑ์ 50% ที่สำนักงานอาหารและยาของสหรัฐฯ (FDA) ตั้งไว้ และเตรียมขอจดทะเบียนในสัปดาห์นี้เพื่อเข้าสู่กระบวนการผลิตให้เร็วที่สุด
เบื้องต้นPfizerและ BioTech คาดว่า ภายในสิ้นปีนี้จะสามารถผลิตได้ 50 ล้านโดส และปี 2021 จะเพิ่มขึ้นเป็น 1,300 โดส โดยสหรัฐฯ คือประเทศแรก ๆ จะได้รับวัคซีนก่อน เพราะรัฐบาลของประธานาธิบดี Donald Trump ได้ทุ่มงบ 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 61,000 ล้านบาท) ซื้อวัคซีน 100 ล้านโดสมาตั้งแต่เมื่อเดือนกรกฎาคม
ข่าวความคืบหน้าในการพัฒนาวัคซีนต้านโควิดของPfizerดันหุ้นของPfizerและ BioTech ในการซื้อขายในตลาดสหรัฐฯ วานนี้ (9 พ.ย.) ขึ้นมา 10% พร้อมพาหุ้นของบริษัทร่วมธุรกิจที่พัฒนาวัคซีนต้านไวรัสอยู่เช่นกันอย่าง Johnson & Johnson และ Moderna ก็ปรับขึ้นด้วย
ท่ามกลางการประเมินว่าความต้องการจากทั่วโลกจะดันให้มูลค่าตลาดวัคซีนต้านโควิด สูงถึงปีละ 25,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 761,000 ล้านบาท)
เปิดประวัติแบรนด์ยาร้อยปีที่จะโกยอีกหลายหมื่นล้านจากวิกฤตโควิด
ขาขึ้นของบริษัทยาจากวิกฤตโควิดทำให้Pfizerได้รับความสนใจ สำหรับPfizerก่อตั้งเมื่อปี 1849 โดย Charles Pfizerกับ Charles F. Erhart คู่นักธุรกิจชาวเยอรมันซึ่งเป็นญาติกัน และย้ายมาอยู่ในสหรัฐฯ
ทั้งคู่ตั้งต้นธุรกิจด้วยเงิน 2,500 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 76,000 บาทตามค่าเงินปัจจุบัน) ที่ฝ่าย Charles Pfizerยืมพ่อมาเพื่อซื้ออาคารในนครนิวยอร์ก และผลิตยาถ่ายพยาธิออกมาขายก่อนยาตัวแรก
อีก 30 ปีถัดมา Pfizerต่อยอดธุรกิจไปสู่กรดซิตริกที่จำเป็นต่อการผลิตน้ำหวานและลูกอม พอถึงปี 1906 ก็ขยายจนเป็นบริษัทยายักษ์ใหญ่ด้วยยอดขาย 3,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 103,000 ล้านบาท ตามค่าเงินปัจจุบัน)
Pfizerยังโตไม่หยุดแม้โลกตกอยู่ภายใต้ไฟสงคราม โดยความสำเร็จของนักเคมีในการผลิตกรดซิตริกจากวัตถุดิบในสหรัฐฯ เพื่อลดการนำเข้าทำให้Pfizerครองตลาดกรดซิตริกในสหรัฐฯ ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ส่วนสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็ทำเงินได้อีกเป็นกอบเป็นกำจากการผลิตยาปฏิชีวนะให้กองกำลังฝ่ายสัมพันธมิตร
ถัดจากนั้น Pfizer ก็พัฒนาและขยับขยายจนเป็นแบรนด์ยาระดับโลก ปี 2020 มูลค่าแบรนด์อยู่ที่ 3,814 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 116,000 ล้านบาท) มากเป็นอันดับ 6 ของโลก โดยแม้ไตรมาส 3 ปีนี้ทำยอดขายได้ 2,529 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 77,000 ล้านบาท) ลดลง 3% จากไตรมาส 3 ปีที่แล้ว
สถานการณ์ของPfizerในไตรมาสสุดท้ายปีนี้คงจะดีขึ้นแน่นอน ด้วยยอดสั่งซื้อวัคซีนล็อตใหญ่จากรัฐบาลหลายประเทศทั่วโลก ไม่ใช่เฉพาะแค่สหรัฐฯ ที่ทุ่มงบซื้อวัคซีนเบื้องต้น เทียบเป็นไทยไปแล้ว 61,000 ล้านบาท/cnn, cnbc, bbc, wikipedia, pfizer, theguardian
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้
Website : Marketeeronline.co /
ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ