ศุภลักษณ์ อัมพุช เปิดใจ ทำไมเดอะมอลล์วันนี้จึงถึงเวลาที่ต้องจะเปลี่ยน

เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป จากเดิมในอดีตมีห้าง ศูนย์การค้ามากกว่า 10 ราย แต่หากให้นับตอนนี้เหลือยักษ์ใหญ่ห้างศูนย์การค้าอยู่ 2 เจ้าใหญ่

คือกลุ่มเซ็นทรัลของจิราธิวัฒน์  และกลุ่มเดอะมอลล์ ที่มีแม่ทัพคือหญิงแกร่งอย่าง “แอ๊ว ศุภลักษณ์ อัมพุช”

วันนี้คือมูฟเมนต์ครั้งใหญ่ของห้างเดอะมอลล์ที่ผ่านร้อนผ่านหนาวเปิดบริการมาแล้ว 39 ปี จากสาขาแรกที่ราชดำริ ในปี 2524

ปีหน้าก้าวสู่ปีที่ 40 ที่คุณแอ๊วบอกในวันนี้ว่า เดอะมอลล์ถือเป็นวัยกลางคน และปีหน้าจะเป็น New ERA ของเดอะมอลล์

คุณแอ๊วฉายภาพรวมให้ฟังว่า เดอะมอลล์ผ่านมาแล้วทุกสถานการณ์ทั้งวิกฤตต้มยำกุ้ง ค่าเงิน โรคซาร์ส น้ำท่วม เหตุการณ์ทางการเมืองต่าง ๆ

ยิ่งปีนี้เจอ 2 ดิสรัปชั่นใหญ่อย่าง ดิจิทัลเทคโนโลยี ที่ไม่ได้ทำให้แค่ค้าปลีกแข่งกันเองอีกต่อไป แต่ยังมีคู่แข่งอย่างแพลตฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ ด้วย

และการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ไม่รู้จะจบลงเมื่อไหร่ ซึ่งนับเป็น WWIII ที่รุนแรงที่สุดส่งผลกระทบไปทั่วโลก

สองสิ่งนี้เป็นตัวเร่งให้ผู้บริโภคเปลี่ยนพฤติกรรมจากการช้อปปิ้งที่สาขาหน้าร้าน ผู้บริโภคก็หันไปช้อปปิ้งออนไลน์มากขึ้น

จึงเป็นโจทย์ใหญ่ท้าทายห้างและศูนย์การค้าว่าจะทำอย่างไรให้คนมาใช้บริการและจับจ่ายเหมือนเดิมและมากกว่าเดิม

 

ศุภลักษณ์ อัมพุช ยังบอกว่า

 

ยุคนี้จะไม่ใช่แค่ยุคของปลาใหญ่กินปลาเล็ก ปลาใหญ่อาจจะตายก่อนปลาเล็กด้วยซ้ำ แต่จะเป็นปลาเร็วและสมาร์ทที่ปรับตัวจะอยู่รอด

จากที่เดอะมอลล์เคยเป็นปลาวาฬ ตอนนี้ปรับตัวเป็นปลาฉลามที่ไม่ได้ดุไปไล่กัดคนอื่น แต่เป็นปลาฉลามที่ปรับตัวว่องไว ที่รู้ว่าจะต้องเอาตัวรอดอย่างไร

 

หลังจากนี้ผู้คนจะมาเดินห้างและศูนย์การค้าไม่ใช่มาเพราะแค่ต้องการซื้อของเท่านั้น แต่จะเป็นแหล่งที่ให้ทั้งความบันเทิง และประสบการณ์การที่มากกว่า

นี่จึงเป็นเหตุผลที่มาของการปรับโฉมใหม่ครั้งใหญ่ของเดอะมอลล์ทั้งการรีแบรนดิ้งภาพลักษณ์ใหม่เป็น “THE MALL LIFESTORE” ที่ยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลาง และจับลูกค้าทุกกลุ่ม

จะไม่ได้เรียกหรือเป็นแค่ห้าง หรือศูนย์การค้าอีกต่อไป แต่จะกลายเป็นสถานที่ที่มีความสุขของทุกครอบครัว รวมถึงเปลี่ยนโลโก้จากริบบิ้วม้วนเป็นตั M มาเป็นตัวอักษร M แบบเรียบง่าย แต่แข็งแกร่ง ร่วมสมัยขึ้น

สาขาแรกที่มีการปรับโฉมคือ “เดอะมอลล์ งามวงศ์วาน” ด้วยงบลงทุนกว่า 4,000 ล้านบาท และจะแกรนด์โอเพ่นนิ่งในวันที่ 26 พ.ย. นี้

 

– ต้องสร้างสาขาด้วยคอนเซ็ปต์ที่ยกระดับชีวิตคุณภาพของผู้คน

– เป็นสถานที่ที่มีนวัตกรรมใหม่ ๆ

– สร้างประสบการณ์ใหม่นอกเหนือจากการซื้อของ

– ความเป็นธรรมชาติที่เข้าถึงไลฟ์สไตล์ของผู้คน และการผสานเทคโนโลยี และผู้คนแบบไร้รอยต่อ

ย้อนอดีต พลิกอนาคตเดอะมอลล์กรุ๊ป เมื่อ M จะ Transformation เล็กๆ ทำไม่เป็น

ด้าน อัจฉรา อัมพุช  รองประธานกรรมการบริหาร เดอะมอลล์ กรุ๊ป เล่าให้ฟังถึงรายละเอียดการปรับโฉมเดอะมอลล์ งามวงศ์วานว่า ความจริงแล้วมีแผนที่จะปรับปรุงเดอะมอลล์ตั้งแต่ 2 ปีที่แล้ว ช่วงนั้นที่ยังไม่มีโควิด-19

ดึงเอาเพนพอยต์เสียงจากผู้บริโภคคือเรื่องความล้าสมัย ที่นั่ง ห้องน้ำไม่เพียงพอมาเป็นหนึ่งในโจทย์การปรับปรุง ที่ต้องปรับใหม่และต้องไม่เหมือนเดิม เพราะเรื่องออนไลน์ก็ตามมาติด ๆ

ภาพลักษณ์ของเดอะมอลล์ ไลฟ์สโตร์ งามวงศ์วาน จะทลายภาพลักษณ์ของศูนย์การค้าแบบเดิม เปิดทุกส่วนทะลุถึงกันหมด สร้างบรรยากาศแต่ละชั้นให้ชัดเจน

และบรรยากาศใหม่ ๆ นี้เป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ลูกค้าเดิมและใหม่ทุกช่วงวัยจะต้องกลับมาเดินเพิ่มขึ้นและนานขึ้น

โดยต้องการให้ผู้คนอยู่ในศูนย์การค้านานขึ้นเป็น 1 ชั่วโมง 30 นาที จากเดิมที่ราว 1 ชั่วโมง 15 นาที

ศุภลักษณ์ อัมพุช

สำหรับทราฟฟิกของคนมาใช้บริการอยู่ที่ราว 35,000 คน/วันในช่วงรีโนเวต เพิ่มเป็นวันธรรมดาที่ 50,000 คน/วัน ส่วนวันเสาร์-อาทิตย์ 65,000 คน/วัน และตั้งเป้ามีคนมาใช้บริการ 1 แสนคน/วัน ภายใน 2-3 ปีต่อจากนี้

ส่วนรายได้ของสาขางามวงศ์วานนั้นหลังจากปรับโฉมแล้วตั้งเป้าที่ 5,500 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 20%

หลังจากที่ปรับโฉมสาขางามวงศ์วานแล้วเสร็จ และให้บริการได้อย่างสมบูรณ์ในช่วงเดือน ธ.ค. ก็จะเริ่มรีโนเวตปรับโฉมในสาขาต่อ ๆ ไป ตามแผนโรดแมป 5 ปีที่เคยวางไว้ (2562-2566)

ช่วงต้นปี 2564 จะเป็นเดอะมอลล์ ท่าพระ และเดอะมอลล์ บางแค ถัดไปจะเป็นเดอะมอลล์ รามคำแหง และอีก 2 ปีคือเดอะมอลล์ บางกะปิ ในงบลงทุนกว่า 20,000 ล้านบาท

การพลิกโฉมครั้งใหญ่ของเดอะมอลล์ครั้งนี้จะเป็นการกลับมาเกิดใหม่ในปีที่ 40 ที่จะทำตามที่หวังไว้มากแค่ไหนต้องติดตาม

 



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online