ศุภลักษณ์ อัมพุช เจ้าแม่แห่ง เดอะมอลล์ กรุ๊ป เผยเคล็ดลับสู้ Disruptive World

ก่อนที่จะเป็นอาณาจักร เดอะมอลล์ กรุ๊ป ที่สร้างรายได้ถึง 58,000 ล้านบาท ในวันนี้ Marketeer ขอย้อนกลับไปเมื่อ 38 ปีก่อนโน้น ซึ่งเดอะมอลล์ ราชดำริ ห้างสรรพสินค้าแห่งแรกของตระกูล “อัมพุช” ได้เกิดขึ้น

โดยศุภชัย อัมพุช บิดาของผู้บริหารเดอะมอลล์คนปัจจุบัน (สุรัตน์, ศุภลักษณ์, กฤษณา, สุทธิพงษ์ อัจฉรา บุศราคัม และสันทนา) ได้ลงทุนร่วมกับนงลักษณ์ ภัทรประสิทธิ์ ผู้เป็นญาติสนิท

ศุภชัยเคยทำธุรกิจโรงหนังมือ 2 และธุรกิจบันเทิงย่านถนนเพชรบุรีเป็นหลัก เมื่อคู่แข่งของธุรกิจเดิมรุนแรงขึ้น  ในขณะที่ภาพของห้างสรรพสินค้าในช่วงเวลานั้น เช่น ไดมารู เซ็นทรัล โรบินสัน อนุสาวรีย์ พาต้า อินทรา และสยามเซ็นเตอร์ ที่เต็มไปด้วยผู้คนคับคั่งทั้งวัน

ทำให้เขาตัดสินใจร่วมลงทุนสร้างเดอะมอลล์ ราชดำริ ขึ้นเมื่อปี 2524 แต่ด้วยความจำกัดของที่ดิน เดอะมอลล์สาขาแรกจึงมีขนาดที่เล็กมาก จึงไม่ได้มีผลกระทบอะไรกับห้างอื่นๆ เลย มิหนำซ้ำหลังจากนั้น 4 ปี ในปี 2528 ห้างมาบุญครองมหานครหินอ่อน ก็เปิดตัวในย่านปทุมวัน

ยังไม่พอ ถัดมาในปี 2530 ยักษ์ใหญ่เวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ (ปัจจุบันคือเซ็นทรัลเวิลด์) ก็มายืนจังก้าอยู่บนฝั่งตรงข้ามประมาณว่าข่มกันสุดๆ ในพื้นที่กว่า 450,000 ตารางเมตร

เดอะมอลล์ ยืนงงอยู่ในดงคู่ต่อสู้พักใหญ่ พร้อมๆ กับกัดฟันสู้ แต่สู้ไม่ได้ทั้งในเรื่องการทำโปรโมชั่น ราคาสินค้า และความหลากหลายของการบริการ จนในที่สุดต้องยอมถอยและปิดกิจการไปเมื่อปี 2531 ปล่อยให้บริษัทนารายณ์ภัณฑ์เข้ามาเช่าเป็นศูนย์ศิลปหัตถกรรมอยู่พักหนึ่ง ปัจจุบันคือพื้นที่ส่วนต่อขยายของศูนย์การค้าเกษร

ศุภลักษณ์ อัมพุช “คุณแอ๊ว” ลูกสาวคนที่ 2 ซึ่งเป็นประธานกรรมการบริหาร บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป เคยเล่าให้ผู้เขียนฟังว่า

“ยอมรับว่าเป็นโครงการแรกที่เหนื่อยและหนักที่สุด เพราะครอบครัวเราไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อน แถมยังสร้างเล็กกว่าคนอื่น ก็เลยต้องหาทางสู้ตลอดเวลา บทเรียนของสาขาแรกนี้เจ็บปวดมาก จำไปตลอดชีวิตเลย”

แต่ที่นี่คือมหาวิทยาลัยแห่งการเรียนรู้ธุรกิจศูนย์การค้าเป็นแห่งแรกของเธอ และกลายเป็นรากฐานสำคัญของประสบการณ์ ก่อนที่จะก้าวไปเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ของวงการค้าปลีกในเวลาต่อมา

ศุภลักษณ์จบจากมหาวิทยาลัยมหิดล เกียรตินิยมอันดับ 1 คณะเภสัชศาสตร์ ปริญญาโท สาขาวิชาเภสัชอุตสาหกรรมจากมหาวิทยาลัยเพอร์ดู ประเทศสหรัฐอเมริกา

กลับมาเธอไปเป็นอาจารย์คณะเภสัชศาสตร์ สาขาเภสัชอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยมหิดลอยู่ช่วงหนึ่ง ก่อนตัดสินใจมาช่วยงานคุณพ่อ ซึ่งกำลังเริ่มทำโครงการเดอะมอลล์ ราชดำริ

กลายเป็นกำลังสำคัญของเดอะมอลล์ และเป็นผู้หญิงที่เดอะมอลล์ขาดไม่ได้ ตั้งแต่ช่วงเวลานั้นเป็นต้นมา

แนวทางการทำงานที่ชัดเจนของเดอะมอลล์ ภายใต้การนำของศุภลักษณ์คือ “เล็กๆ ไม่ ใหญ่ๆ ทำ” เพื่อไม่ให้เสียเปรียบคู่แข่งอีกต่อไป

ย้ำกันชัดๆ ที่ทุกวันนี้เดอะมอลล์ไปเปิดที่ไหนศูนย์การค้าในย่านนั้นต้อง “กระเทือน” ตัวเลขแสนตารางเมตรยังน้อยไป “ดิ เอ็มดิสทริค” บนถนนสุขุมวิท รวมกันประมาณ 650,000 ตารางเมตร

ล่าสุดแบงค็อก มอลล์ สมรภูมิเดือดย่านบางนาที่กำหนดแล้วเสร็จทั้งโครงการใน 4-5 ปีข้างหน้า มีขนาดพื้นที่รวมกันกว่า 1,200,000 ตารางเมตร

จากนี้ไป “เล็กๆ ไม่ ใหญ่ๆ เดอะมอลล์ ทำ”

เมื่อไม่สำเร็จจากโครงการในเมือง เดอะมอลล์ไปดักลูกค้าย่านชานเมืองแทน เดอะมอลล์ 2, 3, 4 สาขารามคำแหง เลยทยอยเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2526 คราวนี้ความใหญ่ที่ผนึกพลังรวมตัวกันทั้ง 3 ห้างทำให้ห้าง เวลโก้ ห้างพาต้า แม้แต่เซ็นทรัล รามคำแหง ยังต้องล่าถอย

การที่เซ็นทรัลต้องพลาดท่าเสียแชมป์ให้แก่เดอะมอลล์ในย่านนี้ ทำให้ชื่อเสียงของเดอะมอลล์เริ่มเป็นที่ยอมรับในวงการค้าปลีกมากขึ้น

หลังจากนั้น เดอะมอลล์ กรุ๊ป ก็ได้ใช้นโยบายยึดหัวหาดชานเมืองทั่วกรุงเทพฯ อย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว

ปี 2532 สวนมะพร้าวย่านฝั่งธนบุรีถูกพัฒนาเป็นเดอะมอลล์ ท่าพระ ปี 2534 เปิดเดอะมอลล์ งามวงศ์วาน ปี 2537 เปิดตัวพร้อมกันทั้งสาขาบางแค และเดอะมอลล์ 8 สาขาบางกะปิ

จุดแข็งของเดอะมอลล์ คือการเป็นศูนย์การค้าครบวงจร มีห้างสรรพสินค้า โรงภาพยนตร์ และแหล่งบันเทิงต่างๆ โดยมีแม่เหล็กสำคัญคือสวนน้ำ สวนป่า และเครื่องเล่นต่างๆ มาเป็นตัวดึงดูด กลุ่มเป้าหมายครอบครัวเป็นหลัก

เดอะมอลล์ ขยับไปจับกลุ่มลูกค้าที่มีรายได้สูงขึ้นเป็นครั้งแรกด้วยการเปิดโครงการดิเอ็มโพเรียม ในปี 2540 ซึ่งเกิดวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งพอดี

แบรนด์ดังของโลก เช่น หลุยส์ วิตตอง เวอร์ซาเซ่ เทอรี่ มูลแกลล์ ดีเคเอ็นวาย เวลลี่ เพนดูลัม ที่ไม่เคยมีมาก่อนในเดอะมอลล์ เกิดขึ้นที่ห้างใหม่นี้

วิกฤตการเงินที่เกิดขึ้นสร้างผลกระทบกับคนรายได้ปานกลางลงมา แต่สำหรับผู้มีรายได้สูงไม่ได้มีปัญหา ดิเอ็มโพเรียมยังทำรายได้ดีในปีแรก และยังเป็นช่วงโอกาสทองของนักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาช้อปปิ้งในขณะที่ค่าเงินบาทลดลงด้วย

ดิเอ็มโพเรียมกลายเป็นสปริงบอร์ดสำคัญในการก้าวขึ้นไปทำโครงการใหญ่ระดับโลกด้วยการไปจับมือกับ ชฎาทิพ จูตระกูล จากกลุ่มสยามพิวรรธน์ ร่วมกันทำโครงการ สยามพารากอน

ก่อนที่จะกลับมาพัฒนาแบรนด์ระดับเวิลด์คลาสของเธอที่ดิเอ็มโพเรียม ให้กลายเป็นมหาอาณาจักร “ดิ เอ็มดิสทริค” ประกอบไปด้วย 3 ศูนย์การค้าหลัก คือ ดิเอ็มโพเรียม ดิเอ็มควอเทียร์ ดิเอ็มสเฟียร์

ทั้ง 3 ศูนย์มีพื้นที่รวมกันประมาณ 650,000 ตารางเมตร แบ่งกลุ่มลูกค้าเป้าหมายชัดเจน เอ็มโพเรียมจะเน้นเรื่องการช้อปปิ้ง เอ็มควอเทียร์ จะเป็นเรื่องของไลฟ์สไตล์ ส่วนดิเอ็มสเฟียร์ ที่จะสร้างเสร็จในอีกประมาณ 2 ปีข้างหน้านั้นจะเน้นในเรื่องเอ็นเตอร์เทนเมนต์ โดย AEG ผู้ประกอบการธุรกิจบันเทิงและกีฬาระดับโลก ได้ประกาศความร่วมมือกับเดอะมอลล์ เพื่อสร้าง EM LIVE ด้วยเม็ดเงินลงทุนที่สูงถึง 10,000 ล้านบาท

ความใหญ่ของ “ดิ เอ็มดิสทริค” ย่านสุขุมวิท กำลังรอเผชิญหน้ากับการผนึกพลังร่วมกันจาก 3 โครงการของค่ายเซ็นทรัลย่านราชดำริ ต้นถนนสุขุมวิท ห่างกันไม่กี่สถานีรถไฟฟ้า คือเซ็นทรัลราชดำริ  ดิเอ็มบาสซี และโครงการใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นบนที่ดิน 22 ไร่ ของสถานทูตอังกฤษที่ประมูลมาได้ในราคา 19,000 ล้านบาท เมื่อต้นปี 2561 

ดังนั้น อีกไม่เกิน 5 ปี ถนนเส้นนี้ที่มีรถไฟฟ้าพาดผ่านจะเป็นสมรภูมิเดือดของกลุ่มลูกค้าระดับ ไฮโซ แน่นอน

ในขณะเดียวกัน ศุภลักษณ์ยังไม่ทิ้งฐานที่มั่นย่านชานเมืองแบงค็อก มอลล์ อาณาจักรศูนย์การค้า ที่อยู่อาศัยและออฟฟิศแบบครบวงจร บนถนนบางนา บนพื้นที่ 100 ไร่ ใช้งบลงทุนประมาณ 50,000 ล้านบาท เป็นการลงทุนที่สูงกว่าทุกๆ โครงการที่ผ่านมาของเครือ โดยมีพื้นที่ใช้สอยอาคารรวมทั้งหมดไม่ต่ำกว่า 850,000 ตร.ม.

ตัวเลขรายได้ 5 หมื่นกว่าล้านคือความสำเร็จในทศวรรษที่แล้ว อีก 5 ปีข้างหน้าเธอได้ประกาศว่ารายได้ของเดอะมอลล์ กรุ๊ป ต้องเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว พร้อมกับความเป็น 1 ของอุตสาหกรรมนี้ ในยุคดิจิทัลด้วย

เดอะมอลล์ กรุ๊ป ยุคใหม่ เร่งสร้าง Speed ด้วยพลังคน

จะไปถึงจุดนั้นได้ อย่างแรก เดอะมอลล์ต้องสลัดภาพตัวเองจาก “ธุรกิจครอบครัว” ไปสู่การทำงานร่วมทีมกับมืออาชีพมากขึ้น `

จะว่าไปแล้ว “อัมพุช” เป็นตระกูลที่มีลูกหลานน้อยมาก นอกจากพี่น้องทั้งหมด 6-7 คนแล้ว คนรุ่นหลานก็ยังไม่ถึงเวลาเข้ามาทำงาน

ดังนั้น ตลอดเวลา 38 ปีที่ผ่านมาศุภลักษณ์มีผู้บริหารเก่งๆ ที่เป็นผู้บุกเบิกร่วมทุกข์ ร่วมสุข และอยู่เคียงข้างเดอะมอลล์มาอย่างต่อเนื่องหลายคน เช่น ไพบูลย์ กนกวัฒนาวรรณ, วรรณา เพิ่มสุวรรณ, เกรียงศักดิ์  ตันติพิภพ, ชำนาญ เมธปรีชากุล (บางท่านเพิ่งจะเกษียณอายุไป)

แต่ในโลกดิจิทัล ที่การเปลี่ยนแปลงมาเร็วมาก เธอจำเป็นต้องเสริมทัพ และเพิ่ม “Speed” ในการทำงาน เพื่อสร้างความแข็งแกร่ง และเตรียมก้าวไปสู่การเป็นบริษัท Multinational Company ที่จะสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยด้วย

คนเก่งทางด้านรีเทลในโลกนี้อยู่ที่ไหน เดอะมอลล์ต้องดึงเข้ามาโดยคนกลุ่มนี้ได้ตบเท้าเข้าร่วมทีมมาแล้วประมาณ 1-2 ปี  แต่ละคนล้วนมีประสบการณ์ในสายงานต่างๆ จากองค์กรที่ได้รับการยอมรับในระดับโลก ไม่ว่า เอเชีย ยุโรป และอเมริกา

เป็นการลงทุนในเรื่องคนมากกว่าทุกยุคที่ผ่านมา พร้อมๆ กับมีการกระจายอำนาจการบริหารและตัดสินใจไปให้แต่ละ BU มากขึ้น

ศุภลักษณ์บอกว่า

“ต่อไปอะไรๆ ก็ไม่ต้องวิ่งหาคุณแอ๊วคนเดียวอีกต่อไปเพราะก็ต้องยอมรับว่าในเรื่องเทคโนโลยีต่างๆ เปลี่ยนไปเร็วมาก เรื่องของบิ๊กดาต้า เรื่องฟินเทค ความรู้ความเชี่ยวชาญของเราก็อาจจะไม่มากพอ ต้องอาศัยคนที่รู้จริงเข้ามา”

ในขณะเดียวกันยังได้ลงทุนทางด้านเทคโนโลยี ที่จะเอามาช่วยทำความเข้าใจในพฤติกรรมของลูกค้าที่ซับซ้อนขึ้น เพราะการวางกลยุทธ์การตลาดจำเป็นต้องอาศัยการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก ต้องมีบิ๊กดาต้าที่ถูกต้องและแม่นยำ โดยมีฐานข้อมูลของลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการในทุกห้างของเดอะมอลล์ กรุ๊ป ปีละกว่า 500 ล้านคน

พร้อมๆ กับให้ความสำคัญในเรื่องการขายแบบออนไลน์มากขึ้น และต้องปรับกลยุทธ์การค้าการขายแบบออฟไลน์และออนไลน์มาหลอมรวมให้เป็นเนื้อเดียวกันแบบไร้รอยต่อ SEAMLESS 

นอกจากรายได้ที่เพิ่มขึ้น เธอยังวางแผนลงทุนอีกไม่ต่ำกว่า 8 หมื่นล้านบาทเพื่อใช้ในแบงค็อก มอลล์ เร่งทุบตึกเดอะมอลล์รามคำแหงทิ้ง สร้างเป็น “mixed use complex” บนพื้นที่กว่า 30 ไร่ พื้นที่กว่า 230,000 ตร.ม. และเดินหน้าพลิกโฉมเดอะมอลล์ ท่าพระ, งามวงศ์วาน, บางแค และบางกะปิ  ซึ่งทั้งหมดจะทยอยเปิดในช่วง 2-3 ปีจากนี้

เธอยอมรับว่า การเข้าไประดมทุนในตลาดเป็นอีกทางเลือกหนึ่งเพื่อการเติบโตในอนาคต

“ตอนนี้ก็เริ่มศึกษาบ้างแล้ว ดูไปแต่งตัวไป เตรียมตัวไปเรื่อยๆ  ที่ผ่านมาเราอาจจะยังไม่มีความจำเป็นที่ต้องใช้ แต่ในอนาคตอาจต้องมองหาทุนมาสำรองไว้เหมือนกัน”

 เธอยังกล่าวว่า

“การเป็นผู้บริหารที่ดูแลคนนับหมื่นคน เป็นเรื่องที่ต้องใช้พลังมาก ทำยังไงถึงจะทำให้เขามีความรู้สึกว่าเราให้ความรักกับเขา บางทีค่าตอบแทนอย่างเดียวไม่ใช่คำตอบของทั้งหมด ต้องเป็นเรื่องของความสุขด้วย

“ความรัก” เคล็ดลับการต่อสู้ในยุค Disruptive World

ปรัชญาในการทำงานของศุภลักษณ์ อัมพุช เริ่มจากความรักเป็นสำคัญ และประกอบไปด้วย 5 เรื่องคือ

1. Love conquers all (รักชนะทุกสิ่ง) และ Unconditional Love (รักอย่างไม่มีเงื่อนไข) เมื่อเกิดความรักแล้ว การทำงานแบบให้ใจเกิน 100 ทำได้อย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยก็ตามมา

2. Determination ความตั้งใจ, Dedication ความทุ่มเท และ Commitment ความมุ่งมั่น เมื่อมี 3 อย่างนี้แล้วไม่ว่างานยากแค่ไหนก็จะประสบความสำเร็จ (can make thing happened, make it possible and success)

3. Unity and Team spirit ต้องมีความสามัคคี มีความเป็นทีมสปิริต ไม่มีคนไหนในองค์กรที่จะเป็นซูเปอร์แมนหรือซูเปอร์วูแมน ทุกคนต้องทำงานเป็นทีม

4. Vision & Wisdom วิสัยทัศน์และภูมิปัญญาความรอบรู้ ต้องไปด้วยกัน และต้องมีกลยุทธ์ที่ดี ถึงจะทำให้บริษัทเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืนได้

5. Innovation เรื่องของนวัตกรรม ซึ่งในโลกของการทำธุรกิจทุกวันนี้เรื่องนี้สำคัญมาก เพราะจะเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง สร้างความแตกต่างที่โดดเด่นขึ้นมาในการทำธุรกิจ

ศุภลักษณ์ อัมพุช ยังย้ำว่าไม่ว่าจะทำงานในยุคไหน ทุกอย่างต้องเริ่มจากความรักก่อนเสมอ เมื่อมีความรักแล้ว ความตั้งใจ ความทุ่มเท ความมุ่งมั่นก็จะตามมาเอง และจะกลายเป็นพลังสำคัญ ในการรับมือกับโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป

อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline



อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline

ติดตาม Marketeer Online ทาง LINE Official


เพิ่มเพื่อน