ต้องยอมรับว่าทุกวันนี้ “ตลาดนมพร้อมดื่ม” ในบ้านเรายังสามารถเติบโตได้ดีกว่านี้อีก ในปีที่ผ่านมามีมูลค่า 60,000 ล้านบาท เติบโตเพียง 2% ส่วนปีนี้ถูกประเมินว่าตลาดจะปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อย เติบโตอยู่ที่ 3%

นม = ของว่างดื่มคั่นเวลา

เหตุผลหลักๆที่ยังเติบโตได้น้อย มาจากการที่คนไทยดื่มนมน้อยเพียง 18 ลิตร/คน/ปี เพิ่มขึ้น 4 ลิตรในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ด้านฝั่งยุโรปหรืออเมริกานั้น บริโภคไม่น้อยกว่าคนละ 100 ลิตรต่อปี ยังถือว่าห่างกันอีกมากเมื่อเทียบกับบ้านเรา

ในขณะที่เมืองไทยผู้บริโภคนมหลักๆยังเป็นกลุ่มเด็ก แม้ที่ผ่านมาหลายๆแบรนด์จะพยายามบิ้วให้ผู้ใหญ่หันมาดื่มนมกันเพิ่มขึ้น ด้วยการออกสินค้าในเซกเมนต์พรีเมี่ยมชูคุณประโยชน์ที่แตกต่าง โดยใช้เทรนด์สุขภาพเป็นอีกหนึ่งปัจจัยกระตุ้น แต่ก็ไม่ค่อยได้ผลเท่าที่ควร เพราะอย่างไรก็ตามผู้ใหญ่หลายๆคนยังมองว่า “กาแฟ” ให้ผลดีกว่านมเมื่อต้องการความสดชื่นในการทำงาน หรือไม่ก็มองเป็นของทานเล่น ดื่มเพื่อคั่นเวลา มากกว่าจะมองเป็นอาหารเหมือนคนในฝั่งยุโรป ที่ดื่มนมกันอย่างจริงจัง

แน่นอนเมื่อผู้ใหญ่ไม่ค่อยดื่มนม ฐานลูกค้าหลักที่เป็นกลุ่มเด็กมีแนวโน้มเกิดลดลง แล้วจะตลาดพร้อมดื่มจะเติบโตได้อย่างไร ? นี่คือโจทย์ที่ต้องตีให้แตก

เขตการค้าเสรี” คำตอบของปัญหา

ทางออกของปัญหานี้ ดร. โอฬาร โชว์วิวัฒนา ผู้อำนวยการฝ่ายองค์กรสัมพันธ์ บริษัท ฟรีสแลนด์คัมพิน่า (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์นมโฟร์โมสต์ มองว่า โจทย์นี้ “เขตการค้าเสรี” คือคำตอบ

เพราะเมื่อดูจากภาพรวมอุตสาหกรรมนมทั่วโลกปี 2016 มีการเติบโตที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยวัดจากปริมาณความต้องการบริโภคน้ำนมทั่วโลกที่มีสูงถึง 182.29 ล้านตัน หรือคิดเป็นการเติบโต 1.6% จากปีก่อนหน้า ในขณะที่ภาพรวมการผลิตน้ำนมดิบพบว่า ในปีที่ผ่านมาทั่วโลกสามารถผลิตน้ำนมดิบได้ถึง 499 ล้านตัน โดยสหภาพยุโรปสามารถผลิตน้ำนมดิบได้มากที่สุด รองลงมาคือประเทศสหรัฐอเมริกา ตามด้วยประเทศอินเดีย โดยในภูมิภาคอาเซียน ประเทศไทยสามารถผลิตน้ำนมดิบได้มากที่สุด รองมาคือเวียดนาม และ อินโดนีเซีย

ด้วยความที่ไทยผลิตน้ำนมได้มากที่สุดในอาเซียน ดังนั้นเมื่อมีการเปิดเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) ในปี 2010 “นมพร้อมดื่ม” ถือเป็นหนึ่งในสินค้าที่ถูกกำหนดให้มีภาษีนำเข้าและส่งออกเป็น 0% ทำให้เราได้เปรียบเพราะมีศักยภาพด้านการผลิตมากกว่าประเทศอื่นๆ รวมถึงเป็นศูนย์กลางของอาเซียนซึ่งมีประโยชน์ในด้านการขนส่ง

ขณะที่ในปี 2025 หรืออีก 8 ปีข้างหน้า องค์การการค้าโลก (WTO) ต้องการให้ประเทศสมาชิกที่กำลังพัฒนาเปิดเสรีทางการค้าขึ้น นอกจากนี้ผลิตภัณฑ์นมยังเป็นสินค้าภายใต้ความตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย และไทย-นิวซีแลนด์ ซึ่งจะปลอดภาษีนำเข้าและส่งออกโดยสมบูรณ์ในปี 2025 เช่นกัน จากที่ต้องจ่ายภาษี 84% สำหรับนมพร้อมดื่ม และ 216% สำหรับนมผง ซึ่งนับว่าสูงเอาการก็ไม่ต้องจ่ายอีกต่อไป

แต่นี่จะสร้างโอกาสให้กับตลาดนมพร้อมดื่มในไทยได้จริงๆหรอ ?

จะแข่งได้ก็ต้องเร่งปรับตัว

เพราะเมื่อดูจากตัวเลขนำเข้านมของไทยในปี 2016 มีมูลค่า 16,472 ล้านบาท ส่งออก 6,995 ล้านบาท ขาดดุลเกือบ 10,000 ล้านบาท และที่สำคัญอย่าลืมว่าการจะเปิดเขตการค้าเสรีกับ ออสเตรเลีย และ นิวซีแลนด์ ที่เป็นประเทศผู้ส่งออกรายใหญ่ มีสัดส่วนรวมกันถึง 30.5% ฉะนั้นจะแข่งได้เราก็ต้องเร่งปรับตัวและเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ

ไม่ว่าจะเป็นการปรับกลไกการบริหารจัดการนมภายในประเทศให้เป็นไปตามกลไกของตลาดโลก โดยยึดคุณภาพน้ำนมเป็นมาตรฐานหลักในการกำหนดหรือให้ราคา เพื่อขยายตลาดส่งออกของนมไทยไปยังตลาดโลก ในส่วนภาคเกษตรกรโคนมไทยจะต้องพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตให้มีศักยภาพเพื่อเพิ่มโอกาสของนมไทยในการแข่งขันเสรีในตลาดโลก

ภาคอุตสาหกรรมต้องมีการปรับมาตรฐานในการผลิต การขนส่ง การจัดจำหน่าย รวมถึงการทำการตลาด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและปรับปรุงคุณภาพของผลิตภัณฑ์ ในส่วนภาครัฐควรสนับสนุนให้เริ่มปรับกลไก รวมถึงระเบียบข้อกฎหมายในเรื่องการควบคุม เพื่อมุ่งสู่กลไกของตลาดการค้าเสรีและส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันของภาคการเกษตร ผู้ประกอบการ และภาคอุตสาหกรรมในเชิงบูรณาการ

ทั้งนี้ทั้งนั้น “เขตการค้าเสรี” อาจจะไม่ได้หอมหวานอย่างที่คิด อย่าลืมว่าภาษี 0% ไทยเราได้ แต่คนอื่นก็ได้เช่นเดียวกัน

โฟร์โมสต์ ขอมีส่วนร่วม

ดังนั้นเพื่อเป็นการรับมือ โฟร์โมสต์ จึงจัดทำโครงการพัฒนาฟาร์มไทยก้าวไกลสู่มาตรฐานโลก (Dairy Development Program) เพื่อยกระดับคุณภาพของน้ำนมดิบอย่างยั่งยืนผ่านการหลักการอบรม 7 แนวทางสำคัญ (7 Diamonds) ประกอบด้วย การจัดการอาหารและน้ำ การเลี้ยงลูกโค การรีดนม ความสมบูรณ์พันธุ์ การดูแลกีบ การออกแบบโรงเรือน และการบันทึกข้อมูล

ส่วนในปี 2017 ได้เตรียมงบกว่า 15 ล้านบาท ในการทำโครงการ โฟร์โมสต์สานพลังประชารัฐพัฒนาเกษตรกรโคนมไทย โดยมีเป้าหมายเพิ่มปริมาณน้ำนมดิบคุณภาพเฉลี่ยจาก 13 กิโลกรัม/ตัว/วัน เป็น 18 กิโลกรัม/ตัว/วัน ซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรโคนมในโครงการฯ มีรายได้เพิ่มขึ้นกว่า 45 ล้านบาท/ปี



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online