ลักษณะความเป็นสัตว์สังคมของมนุษย์เราสามารถพัฒนาไปให้เกิดผลดีหรือบานปลายกลายเป็นผลเสีย โดยด้านดีจะนำมาสู่ความร่วมมือ ส่วนข้อเสียอาจลามสู่ความขัดแย้ง นี่เองทำให้การเจรจาที่นำไปสู่ข้อตกลงต่าง ๆ เข้ามามีบทบาท
ในการเจรจาตัวย่อที่เห็นกันมากสุดคือ MOU แต่ในความเป็นจริงแล้วมีอีก 2 คือ LOI และ MOA อยู่ด้วย โดยทั้งหมดมีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน
LOI
LOI ย่อมาจาก Letter of Intent และเรียกในภาษาไทยว่า หนังสือแสดงเจตจำนง โดยเป็นการร่างกรอบความร่วมมือคร่าว ๆ หลังการเจรจาเบื้องต้น แต่แสดงให้เห็นว่าคู่เจรจาทุกฝ่าย ยินดีเจรจาเพิ่มเติมหรือพร้อมเตรียมเดินหน้าสู่การทำข้อตกลงต่อไป
LOI มีประโยชน์หลายด้าน ทั้งเป็นการบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร ประหยัดเวลาในการประชุมครั้งต่อไป เพราะเดินหน้าสู่ประเด็นใหม่หรือที่ยังค้างคาอยู่ได้เลย
LOI ใช้กันแพร่หลาย โดยในแวดวงวิชาการสหรัฐฯ คือเอกสารรับรองที่สำคัญทางโรงเรียนของนักกีฬาเพื่อนำไปขอทุนกับมหาวิทยาลัย ส่วนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ LOI คือแสดงความต้องการซื้ออาคารที่จะเปิดทางสู่การเซ็นสัญญาต่อไป
MOU
MOU ย่อมาจาก Memorandum of Understanding และเรียกในภาษาไทยว่า บันทึกความเข้าใจ โดยเกิดขึ้นหลังคู่เจรจาทั้งหมด เข้าใจในประเด็นต่าง ๆ ร่วมกัน ซึ่งต่อด้วยพิธีการลงนาม และนำไปปฏิบัติ
แม้ MOU ไม่มีข้อผูกพันทางกฎหมาย แต่เมื่อได้บันทึกไว้จึงสามารถใช้เป็นหลักฐานยืนยันและผูกมัดคู่เจรจาทั้งหมดเอาไว้ เตือนให้ต้องทำตามข้อตกลง ดังนั้น MOU จึงถูกนำมาใช้อย่างกว้างขวางด้านในแวดวงการเมือง และการปกครอง ทั้งในระดับประเทศและระดับนานาประเทศ
เยอรมนีคือหนึ่งในประเทศต้นแบบที่ใช้ MOU ในการจัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง และปี 2023 “พรรคการเมืองสีส้ม” ที่ได้เสียงมากสุดในการเลือกตั้งของไทยก็นำมาใช้เพื่อการจัดตั้งรัฐบาลเป็นครั้งแรกในประเทศ
MOA
MOA ย่อมาจาก Memorandum of Agreement และเรียกในภาษาไทยว่า บันทึกข้อตกลง มีจุดประสงค์และรูปแบบการใช้ใกล้เคียงกับ MOU แต่ต่างกันตรงที่มีข้อผูกพันทางกฎหมาย หรือบังคับให้ต้องปฏิบัติ
ดังนั้น จึงมีรายละเอียดมากกว่า ซับซ้อนกว่า MOU และคู่เจรจาต้องพิจารณาให้รอบคอบก่อนลงนาม เพราะหากผิดสัญญาจะนำไปสู่การฟ้องร้องได้นั่นเอง/ contractscounsel, wikipedia, global
–
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline



