Hawell’s ทำความรู้จักไอศกรีมสัญชาติไทย ที่หลายคนเข้าใจว่าเป็นของต่างชาติ
ตั้งแต่เกิดมาเราไม่เคยเจอใครที่มี Passion กับไอศกรีม มากเท่ากับชายคนที่อยู่ตรงหน้ามาก่อน
ชายคนที่เราพูดถึงอยู่นี้คือ ษิริพงศ์ อัครศรียุกต์ เจ้าของแบรนด์ไอศกรีมสัญชาติไทยที่หลาย คนเข้าใจว่าเป็นของต่างชาติอย่าง Hawell’s
หากคุณมีอายุ 20 ปลาย ๆ ขึ้นไป คงจะรู้จักชื่อ Hawell’s เป็นอย่างดี เพราะนี่คือซอฟต์ครีมที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในยุคนั้น
แม้จะเป็นแบรนด์ที่ได้รับความนิยมแต่ด้วยเหตุผลหลาย ๆ อย่างที่เรากำลังจะเล่าต่อในด้านล่างนี้ ทำให้ชื่อของ Hawell’s ค่อย ๆ หายไป พร้อมกับสาขาสุดท้ายของแบรนด์ที่เซ็นทรัลปิ่นเกล้าเมื่อราว 6 ปีก่อน
จนเมื่อช่วงหนึ่งเดือนก่อนหน้าที่ Hawell’s ได้กลับมา Active หน้าเพจ Facebook ของตัวเองอีกครั้ง หลายคนพูดถึงการกลับมาในครั้งนี้และแชร์ต่อ ๆ กัน
ในฐานะที่เคยมีความทรงจำกับไอศกรีม Hawell’s เมื่อครั้งยังตั้งอยู่ในเซ็นทรัลปิ่นเกล้า บนชั้นที่มีรูปปั้นและเสาโรมัน
เราจึงเกิดคำถามมากมายเกี่ยวกับการกลับมาในครั้งนี้
รสชาติจะยังเหมือนเดิมไหม?
แล้วทำไมครั้งก่อนถึงหายไป?
และอีกหลาย ๆ คำถาม ที่แน่นอนว่าคงจะไม่มีใครตอบคำถามได้ดีไปกว่าชายคนที่นั่งอยู่ตรงหน้าเรา
ผ่านมา 52 ปี ความรักในไอศกรีมก็ยังไม่เคยละลายหายไป
อย่างที่บอกไปในตอนต้น ว่าเราไม่เคยเจอใครที่มี Passion กับไอศกรีมมากเท่ากับษิริพงศ์มาก่อน
สะท้อนจากสิ่งที่เขาเล่าให้ฟังว่า
อายุ 1 ขวบ :
“ถึงยังจำความไม่ได้ พูดไม่ได้ แต่แม่ของผมก็เล่าให้ฟังว่าตอนเด็กจะต้องกินไอศกรีมวันละ 1 แท่ง
หากวันไหนที่ไม่ได้กินจะร้องไห้ไม่หยุด ร้องจนชาวบ้านต้องเดินมาดูว่าเป็นอะไร
แต่เมื่อได้กินไอศกรีมเข้าไป เสียงร้องนั้นก็จะเงียบหายไปทันที”
อายุ 10 ขวบ :
“เพราะชอบไอศกรีมมาก บวกกับอยากจะหาเงิน ผมเลยไปยืมเงินป้าข้างบ้านมา 100 บาท เอาไปเช่ากระติกแช่เย็นใส่ไอศกรีมแล้วเดินขาย
แม้ระยะทางที่เดินจะไกลเป็นสิบกิโลเมตร แต่ผมไม่รู้สึกเหนื่อยเลย คือมันได้ทั้งเงิน แล้วก็ได้อยู่กับสิ่งที่เราชอบทั้งวัน”
อายุ 18 :
“ครอบครัวผมมีฐานะยากจน ผมเลยต้องเรียนไปด้วยทำงานไปด้วยตลอด ตอน ม.6 ก็เลยไปสมัครทำงานที่ Pizza Hut ซึ่งตอนนั้นยังเป็นของ Minor Group อยู่
ทำไปได้สักพัก Minor เขาก็เอา Swensen’s เข้ามา จำได้ความรู้สึกตอนนั้นมันเป็นอะไรที่ว้าวมาก ตื่นเต้นมาก เพราะเป็นไอศกรีมจากต่างประเทศแบรนด์แรก ๆ ที่เข้ามา คือตอนนั้นในบ้านเราดัง ๆ มันก็ยังมีแค่ศาลาโฟร์โมสต์
พอเห็น Swensen’s ปุ๊บ เราตื่นตาตื่นใจมาก คิดว่ายังไงก็ต้องไปทำงานที่ Swensen’s ให้ได้ เลยตัดสินใจเขียนจดหมายไปบอกผู้จัดการ บรรยายว่าเราชอบไอศกรีมมากขนาดไหน อยากทำงานที่นี่มากขนาดไหน
สุดท้ายเหมือนฝันเป็นจริง เขารับเราเข้าทำงาน จำได้ว่าตื่นเต้นจนนอนแทบไม่หลับเลย
ผมไปทำในส่วนของโรงงาน คือเราชอบไอศกรีมเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว แล้วพอมาเจอการทำไอศกรีมที่เป็นอุตสาหกรรมแบบนี้ มันเลยเป็นอะไรที่ตื่นตาตื่นใจมาก”
จากพนักงานในส่วนการผลิตของ Swensen’s ด้วยความชอบไอศกรีมทำให้เขายิ่งลงลึกและศึกษามากขึ้นไปอีก นั่นก็ทำให้เขาได้เติบโตขึ้นมาอยู่ในระดับ Supervisor ของแบรนด์
จนเมื่อเก็บเกี่ยวประสบการณ์ไปได้สักระยะ ษิริพงศ์มีโอกาสได้โยกย้ายไปยังไอศกรีมชื่อดังอีกแบรนด์ในสมัยก่อนอย่าง Uncle Ray กับตำแหน่งผู้จัดการโรงงาน ที่ทำงานหนักจนแทบไม่ได้กลับบ้าน
แม้จะเหนื่อยแต่ความรู้สึกของเขาก็ไม่ต่างจากตอนอายุ 10 ขวบที่เดินเร่ขายไอศกรีม คือได้ทั้งเงินและได้อยู่กับสิ่งที่ชอบทั้งวัน
หลังจาก Uncle Ray ษิริพงศ์ก็ได้มีโอกาสโยกย้ายอีกครั้ง โดยครั้งนี้เขามาอยู่กับ Dairy Queen ในตำแหน่งผู้ช่วย GM
เรียกได้ว่าเส้นทางชีวิตของเขาในตอนนั้นหอมหวานเหมือนกับรสชาติไอศกรีมไม่มีผิด
เพราะตำแหน่งทั้งหมดที่เล่ามานี้ เขาได้มันมาตอนมีอายุเพียง 24 เท่านั้น …..
เปลี่ยนจากขายไอศกรีมให้คนอื่น มาขายไอศกรีมของตัวเอง
จาก Dairy Queen ษิริพงศ์ได้เข้าไปเป็นทหารสองปี ซึ่งสองปีนั้นก็ไม่ได้ทำให้ Passion ที่เขามีต่อไอศกรีมหายไปแต่อย่างใด
“สองปีที่เป็นทหาร ก็ยังคิดเรื่องไอศกรีมอยู่ตลอด คิดว่าถ้าออกมาเราคงไม่ไปเป็นลูกน้องใครอีกแล้ว อยากจะทำแบรนด์ของตัวเองมากกว่า
พอออกมาก็เลยทำเป็นเค้กไอศกรีมขาย คือย้อนกลับไปในตอนนั้นมันเป็นอะไรที่ใหม่มากนะ แล้วก็ตั้งชื่อว่า Is It Ice Cream
ในเมื่อคนชอบสับสนว่านี่มันเค้กหรือไอศกรีม ก็เลยตั้งชื่อนี้เลย แล้วนี่ก็เป็นไอศกรีมแบรนด์แรกในชีวิตของผม
ตอนนั้นเรายังไม่ได้มีโรงงานอะไรใหญ่โต เงินทุนก็น้อย วิธีทำก็คือไปซื้อไอศกรีมวอลล์มา แล้วมาตัดให้มันเป็นเค้ก ไปฝากขายตามสวนอาหารชื่อดังต่าง ๆ ทั้งจวนทอง ขนาบน้ำ เอาเป็นว่าสวนอาหารที่ไหนดัง คือมีเค้กไอศกรีมของเราขายอยู่หมด”
“พอทำไปสักพัก รู้สึกว่ามันเป็นอะไรที่พึ่งจมูกคนอื่นหายใจมากไปหน่อย เวลาจะไปขายก็ต้องไปอ้อนวอนสวนอาหาร เขาอยากได้อะไรเราก็ต้องตอบครับ ๆ อย่างเดียว ไม่งั้นเดี๋ยวไม่มีที่ขาย
ก็เลยคิดหาช่องทางที่ทำให้เค้กไอศกรีมของเราไปถึงมือลูกค้าโดยตรง เลยตัดสินใจทำแบรนด์ใหม่ขึ้นมา ใช้ชื่อว่า Donald Rabbit เน้นขายแบบส่งตรงถึงบ้านลูกค้า ทำโบรชัวร์โปรโมตร้านอะไรยังงี้
สุดท้ายก็ไปได้สวยนะ ลูกค้าให้การตอบรับดี แล้วมันก็สะดวกกับเขาด้วยเพราะเราส่งถึงหน้าบ้านเลย”
วิกฤต 40 จุดเปลี่ยนของหลายธุรกิจ ….. ไม่เว้นแม้แต่เค้กไอศกรีม Donald Rabbit
แม้จะเป็นธุรกิจเล็ก ๆ แต่เหตุผลที่ทำให้เค้กไอศกรีม Donal Rabbit ได้รับผลกระทบจากวิกฤตต้มยำกุ้งปี 40 นั่นก็เพราะด้วยราคาของเค้กไอศกรีมที่ราว ๆ 500 บาท ซึ่งถือเป็นราคาที่ค่อนข้างสูง
กลุ่มลูกค้าหลักของ Donal Rabbit จึงเป็นคนกลุ่มกลาง-บน ที่เป็นเจ้าของธุรกิจซึ่งได้รับแรงกระแทกจากวิกฤตเศรษฐกิจ จนทำให้ไม่เหลือเงินจะมาใช้จ่ายกับของที่ในเวลานั้นถือเป็นสินค้าฟุ่มเฟือยอย่างเค้กไอศกรีม
“ตอนนั้นยอดขายเหลือแค่ 10% คือมันแทบไม่มีคนซื้อเลย แต่ผมก็ตัดสินใจกัดฟันสู้ต่อ ยอมควักเนื้อจ่ายค่าใช้จ่ายต่าง ๆ คิดว่าเอาว่ะ ! อดทนอีกหน่อย เดี๋ยวก็ปีใหม่แล้ว คนน่าจะกลับมาซื้อเค้กไอศกรีม ค่อยมาหากำไรจากช่วงนั้น
แต่สุดท้ายมันทนต่อไปไม่ได้ไง ลูกน้องก็ลาออก เหลือแค่ผมกับแฟนสองคน ทีนี้มันก็ทำไม่ได้สิ ก็เลยต้องปิดตัวลงไป”
“จำได้ว่าช่วงนั้นเป็นอะไรที่ลำบากมาก ต้องหาอย่างอื่นทำ ถึงจะไม่ได้ทำในสิ่งที่เรารักมากที่สุดอย่างไอศกรีมก็ต้องทำไปก่อนเพื่อให้มันอยู่รอด ไปปั้นหุ่นนักบอล ปั้นเรซิ่นขาย
สุดท้ายพอใกล้ช่วงปีใหม่ ผมก็เลยเข้าไปคุยกับโดมิโน่พิซซ่า อยากจะกลับมาทำเค้กไอศกรีมอีกครั้ง บอกทางโดมิโน่ผมมีพร้อมทุกอย่าง อุปกรณ์ ฐานลูกค้า ส่วนโดมิโน่มีเงินทุน มีระบบจัดการที่แข็งแรง มีคนส่งให้ถึงบ้าน
และนั่นก็ถือเป็นการกลับมาทำไอศกรีมอีกครั้งของผม มันเหมือนเป็นการจุดไฟการทำไอศกรีมขึ้นมาใหม่อีกครั้ง
หลังจากขายเค้กไอศกรีมให้โดมิโน่เสร็จ ก็เลยตัดสินใจไปเช่าที่ตรงเซ็นทรัลปิ่นเกล้า เอาประสบการณ์ที่เรามีทั้งหมด มาทำแบรนด์ของตัวเอง
ตอนนั้นคิดกับแฟนว่าจะตั้งชื่อแบรนด์ว่าอะไรดี คุยกันเล่น ๆ ว่าตอนได้กลับมาทำไอศกรีมก็มีความสุขดีนะ มันคือ Happy กับ Well แล้วก็รวมคำให้มันจำง่ายขึ้น จนเป็นชื่อ Hawell’s ในเวลาต่อมา”
2542 จุดเริ่มต้นของ Hawell’s
ด้วยความที่ษิริพงศ์ทำงานอยู่ในองค์กรของต่างชาติมาโดยตลอด ดีไซน์และไอเดียต่าง ๆ ของ Hawell’s จึงทำให้หลายคนคิดว่านี่คือแบรนด์ของต่างประเทศเข้ามาเปิด
ทำให้ในขณะนั้น Hawell’sได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก มีคนต่อแถวยาวเหยียดไม่ต่างจากตอนที่ Krispy Kreme มาเปิดใหม่ ๆ หรือครัวซองต์ James Boulangeries ในตอนนี้
ษิริพงศ์จับกระแสที่กำลังจุดติดในหมู่วัยรุ่นด้วยการขยายสาขาHawell’sไปอีก 6-7 แห่ง แต่พอ 16 ปีให้หลังจากนั้น Hawell’sก็ได้เริ่มหายไปจากตลาด
อาจด้วยเหตุผลของการจัดการ โดยส่วนใหญ่แล้วร้านHawell’sจะมีสัญญาเช่าแบบปีต่อปี แต่การลงทุนร้านนั้นใช้เงินร่วมแสน ษิริพงศ์เล่าว่าบางสาขายังไม่ทันคืนทุนค่าตกแต่งหน้าร้าน ตัวพื้นที่ก็หมดสัญญากับห้างเสียแล้ว
สุดท้ายก็เหลือเพียงแค่สาขาที่เซ็นทรัลปิ่นเกล้า ซึ่งเป็นสาขาแรกของแบรนด์ ที่มีสัญญาเช่านาน 20 ปี
กระทั่งพอหมดสัญญาที่เซ็นทรัลปิ่นเกล้า นั่นจึงทำให้Hawell’sหายไปจากตลาด จนกลายเป็นตำนานซอฟต์ครีมที่หลายคนนึกถึง
2564 การกลับมาอีกครั้ง หลังจากหายไป 6 ปี
ษิริพงศ์เล่าให้ฟังว่า 6 ปีที่หายไป ก็ไม่ได้ทำให้ความชอบไอศกรีมของเขาลดลงแต่อย่างใด
“จริง ๆ ไอศกรีมก็มีความคิดที่จะทำอยู่ตลอด เพียงแต่ที่ผ่านมาผมไปหาเงินเพื่อจะกลับมาทำมันอีกครั้งนี่แหละ
ผมไปทำโครงการเปลี่ยนพลาสติกเป็นน้ำมันดีเซล ทำโรงกลั่นน้ำมัน พอเริ่มเก็บหอมรอมริบได้ ผมก็เลยกลับมาทำอย่างที่ทุกคนเห็นกัน
การกลับมาคราวนี้จะกลับมาทำแบบสแตนด์อะโลน คือเราเข็ดจากการไปเช่าที่คนอื่นอยู่แล้ว ค่าเช่ามันเพิ่มขึ้นทุกปี แล้วก็อะไรอีกหลาย ๆ อย่าง
แล้วก็จะทำแฟรนไชส์ขายด้วยเช่นกัน ถ้าเป็นไปได้ ก็อยากให้คนที่มาซื้อแฟรนไชส์ของเราคือคนที่เป็นลูกค้า Hawell’s มันคงจะเป็นอะไรที่ดีมาก ที่สิ่งที่เรารักได้ไปอยู่ในมือของคนที่รักมัน
คือเราเป็นคนทำงานมาตั้งแต่เด็ก ผมเลยทำงานได้หลายอย่าง
แต่ที่สิ่งที่รักมากที่สุดจริง ๆ ก็คงไอศกรีมแหละ เพราะหายไปกี่รอบ ก็ต้องกลับมาหามันอยู่ดี
แต่การกลับมาครั้งนี้ Hawell’sจะไม่หายไปไหนอีกแล้ว”
ขอบคุณภาพ: Hawell’s
–
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้
Website : Marketeeronline.co /
ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ