แม้จะผ่านมาแล้ว 1 ปี กับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19  แต่ก็ดูว่าทีท่าของการแพร่ระบาดจะไม่ได้ลดน้อยลง

กลับมีการระบาดครั้งใหม่ ๆ เกิดขึ้นมาเป็นระลอก ที่ส่งผลต่อการใช้ชีวิต ธุรกิจ เศรษฐกิจของคนทั้งโลก

รวมทั้งของคนไทยเองต้องหยุดชะงัก ตั้งแต่ครั้งแรกช่วงต้นปีที่ผ่านมา ระลอกสองช่วงปลายปีที่แม้ผู้คนจะไม่ตกใจเท่ากับเมื่อเกิดการระบาดครั้งแรกก็ตาม

แม้เปิดปีมาจะมีความหวังกับวัคซีน ภาคธุรกิจค่อย ๆ เริ่มฟื้นตัว แต่ก็ดันมาเจอระลอกใหม่ที่กำลังเกิดขึ้น ทำให้ปีนี้แทบจะไม่มีปัจจัยบวกอะไรที่จะทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัว

แล้วที่ผ่านมาทั้งปีผู้คนทั้งไทยและอาเซียนต้องเจอกับการเปลี่ยนแปลงอะไร พฤติกรรมการใช้ชีวิต และเงินในกระเป๋าลดลงแค่ไหน ตามมาดูผลวิจัยผลเรื่อง  “วิถีชีวิตท่ามกลางวิกฤตโรคระบาดใหญ่ ความคิดเห็น และพฤติกรรมของประชากรทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”  ที่จัดทำโดย อิปซอสส์

โดยอิปซอปส์สำรวจผลวิจัยมาแล้ว 3 ครั้ง ครั้งแรกเดือน พ.ค. 63 ครั้งที่ 2 เดือน ก.ย. 63 และครั้งที่ 3 ก.พ. 64 ซึ่งเป็นผลวิจัยครั้งล่าสุด

ทำการสำรวจประชากรตั้งแต่อายุ 18 ปีขึ้นไปใน 6 ประเทศ คือ สิงคโปร์  มาเลเซีย  อินโดนีเซีย ประเทศไทย  ฟิลิปปินส์  และเวียดนาม ประเทศละ 500 คน รวมทั้งสิ้น 3,000 คน

ความกังวลไม่ได้ลดลง

จากผลสำรวจครั้งล่าสุดพบว่าผู้คนในอาเซียนยังคงมีความกังวลในระดับสูง 49% เมื่อเทียบกับการสำรวจ 2 ครั้งแรกจะอยู่ที่ 45% และ 50% ตามลำดับ

สะท้อนให้เห็นว่าแม้ประชาชนจะเจอกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 มานานร่วมปี ปรับการใช้ชีวิตในสถานการณ์แบบนี้แล้ว แต่ก็ยังคงกังวลทุกครั้งเมื่อมีการระบาดระลอกใหม่ ๆ

สำหรับคนไทยเองมีความกังวลในระดับสูงที่ 78%

รายได้-เงินออมลดลงเพราะโควิด

แน่นอนว่าเมื่อการใช้ชีวิต การทำงาน ธุรกิจ เศรษฐกิจไม่ได้ทำได้เหมือนเดิม ประเด็นที่ผู้คนกังวลเป็นอันดับต้น ๆ คงหนีไม่พ้นเรื่องรายได้ครัว และเงินออม ที่ลดลง

พบว่าค่าเฉลี่ยคนอาเซียน 70% มีรายได้ลดลง โดยไทยและอินโดนีเซีย เป็น 2 ประเทศที่มีสัดส่วนเกินค่าเฉลี่ยที่ 80% และ 82% ตามลำดับ

ในด้านของเงินออม ไทย ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย เป็น 3 ประเทศที่ผู้คนมีเงินออมลดลงมากกว่า 50% เกินค่าเฉลี่ยทั้งหมดของชาวอาเซียน

โดยสัดส่วนชาวอาเซียน 16% มีเงินออมลดลงมากกว่า 50% ขณะที่ไทย ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซียมีสัดส่วนอยู่ที่ 20%,19% และ 25% ตามลำดับ

คนเปลี่ยนพฤติกรรม

เมื่อรายได้ และเงินออมลดลง ย่อมส่งผลกับพฤติกกรมการใช้จ่าย โดยคนจะให้ความสำคัญเป็นอย่างมากกับจำนวนเงินที่ใช้ และไม่ใช้จ่ายกับของชิ้นใหญ่ ๆ หรือแม้แต่การลองใช้สินค้าใหม่ ๆ

พบว่า 85% ของคนอาเซียนระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น

79% ของคนอาเซียนออกไปเดินห้างน้อยลง

51% ของคนอาเซียนมีการกักตุนสินค้าและของใช้ส่วนตัว

32% ของคนอาเซียนมีการลองซื้อสินค้าแบรนด์ใหม่

19% ของคนอาเซียนซื้อสินค้าในครัวเรือนที่มีราคาแพงกว่าปกติที่เคยซื้อ

 

67% ของคนอาเซียนยังไม่มั่นใจที่จะซื้อของชิ้นใหญ่ อย่างบ้านหรือรถ ผู้คนเลือกใช้จ่ายในสิ่งที่จำเป็นก่อน

 

ขณะที่ด้านพฤติกรรมการใช้ชีวิตของผู้คนก็เปลี่ยนไปด้วย อีคอมเมิร์ซและออนไลน์ได้ประโยชน์จากการเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้คนที่ไม่เดินทางออกไปไหน รวมถึงการใช้จ่ายแบบไร้สัมผัสก็มีมากขึ้นด้วยเช่นกัน

กลายเป็นว่ากิจกรรมบางอย่างมีการทำมากขึ้นกว่าช่วงปกติก่อนเกิดโรคระบาดอย่างเด่นชัด ได้แก่ การใช้เวลากับครอบครัวมากขึ้น ใช้เวลาบนโซเชียลมีเดีย ซื้อของออนไลน์ ใช้จ่ายแบบไม่ใช้เงินสดเมื่อไปซื้อของในห้าง รับชมสตรีมมิ่ง และคอนเทนต์ เช่น Netflix ฯลฯ เป็นสัดส่วนที่สูงขึ้น

เศรษฐกิจยังไม่ดี

เมื่อถามถึงแนวโน้มภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศในอีก 6 เดือนข้างหน้า พบว่าผู้คนในภูมิภาค 42% มองว่าเศรษฐกิจของประเทศตนจะดีขึ้น

โดยเมื่อมองลงไปในแต่ละประเทศพบว่า อินโดนีเซีย นำมาเป็นอันดับ 1-76%  อันดับ 2 ฟิลิปปินส์  49% สิงคโปร์ อันดับ 3-37% อันดับ 4 เวียดนาม  35% และไทย อันดับ 5 รองสุดท้าย ในอัตรา  30% ส่วนอันดับสุดท้าย อันดับ 6 ประเทศมาเลเซีย 24%



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online