GULF ประกาศตั้งโต๊ะซื้อหุ้น INTUCH เป็นเรื่องของระดับผู้ถือหุ้น
และตามประกาศของ GULF ในตลาดหลักทรัพย์ฯ จะไม่กระทบกับการบริหารของเอไอเอส ซึ่งผมไม่มีความคิดเห็นมากกว่านั้น
สมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารเอไอเอส กล่าวผ่าน Online Group Interview หลังข่าวประกาศ Tender Offer หุ้น INTUCH เพียง 2 วัน
เพราะธุรกิจยังคงต้องเดินต่อไป ท่ามกลางการระบาดของโควิด-19 ระบาดระลอกใหม่ ความท้าทายของเอไอเอสในวันนี้ในสายตาของสมชัยคือ
ถ้าโควิด-19 เกิดเหตุการณ์รุนแรงถึงขั้น Crisis กระทบกับเศรษฐกิจรวม ธุรกิจโทรคมนาคมแม้จะเป็นธุรกิจที่ได้รับผลกระทบหลังสุด เมื่อเทียบกับธุรกิจอื่น ๆ แต่จะเป็นผลกระทบที่รุนแรง
“ปัจจัยที่น่าห่วงที่สุดในธุรกิจโทรคมนาคมคือผู้บริโภคที่ไม่มีกำลังซื้อ แม้จะมีความต้องการด้านดิจิทัลแค่ไหนก็ตาม
เพราะธุรกิจโทรคมนาคมมีการใช้เม็ดเงินลงทุนจำนวนมาก และการลงทุนต้องตามมาซึ่งรายได้”
ซึ่งภาพนี้เห็นได้จากในปีที่ผ่านมาการแพร่ระบาดของโควิด-19 สร้างการเติบโตให้อุตสาหกรรมโทรคมนาคมทั้งมือถือและอินเทอร์เน็ตบ้านรวมกันมากถึง 30% เพราะการเติบโตของ Digitalization อย่างมหาศาล และเกิดการลงทุนด้านเครือข่ายรองรับการใช้งานจำนวนมหาศาล
เหมือนจะดูว่าดี แต่อุตสาหกรรมรวมไม่ได้เติบโต 30% ตามนั้น
กำลังซื้อของคนในประเทศไม่ได้เติบโตตาม
ตามปกติแล้วอุตสาหกรรมโทรคมนาคมจะมีการเติบโตสูงกว่า GDP ของประเทศประมาณ 1-3%
ปีที่ผ่านมา GDP ของประเทศติดลบ 6.1%
รายได้อุตสาหกรรมโทรคมนาคมรวมลดลง 4% แต่สมชัยมองว่าดีกว่าอุตสาหกรรมอื่น ที่มีการติดลบอย่างมีนัยสำคัญ
ในปีนี้คาดการณ์ GDP เติบโต 2-3% และอุตสาหกรรมโทรคมนาคมจะโต 3-4%
ถ้าไม่มีสถานการณ์ Crisis เข้ามามากกว่านี้
“แม้วันนี้ทุกภาคส่วนจะได้รับผลกระทบจากโควิด-19 รอบที่ 3 อยู่ แต่ซีอีโอทุกอุตสาหกรรมมองว่าถึงเวลาที่ต้องมาจับมือฝ่าวิกฤตไปให้ได้”
สำหรับเอไอเอส ซีอีโออย่างสมชัยมองว่าการร่วมมือฝ่าวิกฤตโควิด-19 ฟื้นฟูการเติบโตของประเทศจะต้องมาจาก 3 ประสานทั้ง 3 ภาคส่วนหลัก ได้แก่
หนึ่ง-ภาครัฐ ที่มีความพร้อมด้านวัคซีน ซึ่งวัคซีนเป็นคำตอบที่ดีที่สุดในการเปิดประเทศ จากการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้เกิดขึ้น ถ้าคนไทยสามารถฉีดวัคซีนในสัดส่วนมากถึง 70% ของประชากรทั้งประเทศ
และการเตรียมความพร้อมของมาตรการเยียวยาในการฟื้นฟูกิจการขนาดเล็กให้กลับมา ที่ไม่ใช่การหว่านแจกเงินระยะสั้นเพียงอย่างเดียว
สอง-ภาคเอกชนที่แข็งแรง และมีความร่วมมือในการช่วยเหลือประชาชนแทนการแข่งขันสร้างภาพ และไม่เข้าไปช่วยเหลือที่ทับซ้อนกับภาคเอกชนอื่น ๆ
สาม-ประชาชน ที่ร่วมมืออย่างจริงจังเพื่อต่อสู้กับภัยโควิด-19
สำหรับภาคเอกชนอย่างเอไอเอส สมชัยเล่าว่าปีที่ผ่านมาเอไอเอสรับไลเซนส์ 5G จาก กสทช. เมื่อ กุมภาพันธ์ และเป็นวันที่สมชัยมีความสุขมาก จากการมีคลื่นมากที่สุด และมีความพร้อมในการให้บริการ
ปลายมีนาคม โควิด-19 ระบาดในประเทศไทย เอไอเอสนำ 5G ที่ได้รับไลเซนส์มาให้บริการสนับสนุนทางการแพทย์ด้านต่าง ๆ ผ่านแคมเปญ 5G สู้ภัยโควิด-19
ระลอกสองนำ 5G มาปรับใช้กับการระบาดของโควิดในระลอกสองที่ช่วยสนับสนุนวงการแพทย์และการท่องเที่ยว
และสมชัยบอกว่าไม่นึกว่าจะเกิดระลอกสามได้อย่างง่ายดายในวันนี้
ในครั้งนี้เอไอเอสนำ 5G มาช่วยเหลือผ่านสี่แกนตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ประกอบด้วย
1. การขยายเครือข่ายอินเทอร์เน็ตไปยังโรงพยาบาลสนาม 31 โรงพยาบาล เชื่อมต่อโครงข่ายในการให้บริการ เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์ เนื่องจากการเตรียมความพร้อมในโรงพยาบาลสนามมีความสำคัญกับการระบาดครั้งนี้มาก จากการติดเชื้อเพิ่มขึ้นวันละพันกว่ารายทุกวัน
2. Telamedicine นำความสามารถของพาร์ตเนอร์ Me More มาช่วยลดการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ในการติดต่อสื่อสารกับผู้ป่วยแบบไม่ต้องเจอตัว
3. ขยายความร่วมมือกับโรงพยาบาลในการใช้ AI CT Scan ปอดมาช่วยตรวจ และวิเคราะห์ผู้ติดเชื้อ
4. ส่งเสริมการใช้งานแอป อสม. เอไอเอส อย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันแอป อสม. เอไอเอส มี อสม. เข้ามาใช้บริการ 5 แสนคน จาก อสม. 1 ล้านคนทั้งประเทศ โดยแอปนี้เอไอเอสพัฒนาลงทุนมากว่า 4 ปี และฟีเจอร์ต่าง ๆ ที่กระทรวงสาธารณสุขอยากให้ทำ เพื่อช่วย อสม. ในการรายงาน คัดกรอง เฝ้าระวัง และติดตามผลในกลุ่มเสี่ยง
ทั้งนี้ สมชัยมีความหวังว่าการร่วมมือของภาคเอกชนทำให้โควิด-19 สามารถจบลงได้ในไตรมาสสอง และฟื้นฟูประเทศต่อไปในไตรมาสสาม
ถ้าไม่มี Crisis มากไปกว่านี้
–
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline



