ชื่อของ ธนา เธียรอัจฉริยะ เป็นที่รู้จักอย่างดีในวงการธุรกิจ-การตลาด
ไม่ใช่เพียงเพราะระยะเวลาที่คร่ำหวอดอยู่ในวงการนี้มานาน แต่ยังรวมไปถึงผลงานที่เขาคือคนสำคัญผู้อยู่เบื้องหลังโปรเจกต์ดังมากมาย
ตั้งแต่ Happy ของ DTAC
แม่มณี และ Robinhood ของ SCB
รวมถึงหลักสูตร ABC
เมื่อก่อนเราอาจจะเรียกเขาว่า ธนา DTAC, ธนา Grammy, ธนา SCB หรืออะไรก็ตามแต่ที่เขาโยกย้ายไป
แต่ตอนนี้ชื่อของธนาปรากฏอยู่ในหลาย ๆ องค์กรและกระจายไปในหลากหลายอุตสาหกรรม ทั้งธุรกิจธนาคาร ประกันภัย การศึกษา รวมไปถึงเทคโนโลยี
เห็นแบบนี้จึงอดสงสัยไม่ได้ว่า สรุปแล้วตอนนี้ธนาทำอะไรอยู่บ้าง
และอีกประเด็นที่มนุษย์เงินเดือนทั่วไปอย่างเราสนใจก็คือ การเปลี่ยนงานในฐานะ ‘เจ้าหน้าที่ระดับสูง’ ของเขานั้นเป็นยังไง
ความรู้สึกในการตัดสินใจออกจากคอมฟอร์ทโซนในแต่ละครั้งที่รั้งด้วยตำแหน่ง CMO หรือประธานเจ้าหน้าที่บริหารนั้น เป็นแบบไหน?
และบทสัมภาษณ์ด้านล่างนี้คือคำตอบของธนา
ตอนนี้ทำอะไรอยู่บ้าง?
DTAC คือองค์กรแจ้งเกิดที่ทำให้ชื่อของธนาเป็นรู้จัก
แต่หลายคนอาจจะยังไม่รู้ว่าอาชีพแรกของธนา คือสจ๊วตของสายการบินแห่งหนึ่งในต่างประเทศ
ส่วนถ้าจะให้พูดถึง Milestone ใหญ่ ๆ ในการโยกย้ายของธนา ก็คงต้องเริ่มที่ DTAC ซึ่งอยู่มานานเกือบ 15 ปี จากนั้นเขาก็ได้ลาออกมา แม้ตอนนั้นจะนั่งอยู่ในตำแหน่ง รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เพื่อโยกย้ายไปอยู่แม็คยีนส์ในตำแหน่ง ประธานกรรมการบริหาร
และอีกการโยกย้ายที่สร้างความฮือฮาไม่แพ้กับตอนที่เขาออกมาจาก DTAC ก็คือการลุกจากเก้าอี้ CMO ของ SCB
เมื่อถามว่าการตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งใหญ่ ๆ แต่ละครั้ง ความคิดความรู้สึกนั้นเป็นยังไง?
สิ่งที่ธนาตอบกลับเรามาก็คือ
“ตอนอยู่ DTAC ผมตัดสินใจลาออกก็เพราะเราอยากจะออกจาก Comfort Zone ที่อยู่มา 10 กว่าปี
เอาจริง ๆ ตอนนั้นคิดว่าตัวเองเก่งแล้วทำอะไรก็ได้ ก็ไปแม็คยีน
แต่ทีนี้ด้วยความที่ไม่ได้ถนัดการคุมโรงงานขนาดนั้น แค่ 6 เดือนก็เลยออกมา จ๋อยเหมือนกัน คิดว่าจะมีใครจ้างเราไหม ตอนนั้นเราดูล้มเหลวเหลือเกิน
ส่วนเหตุผลที่ลาออกจากแกรมมี่เป็นเพราะลูกสาวล้วน ๆ เพราะรูทีนชีวิตผมคือตื่นตีห้าครึ่งแล้วปลุกลูกสาวไปส่งที่โรงเรียน จากโรงเรียนแถวสยามก็เลยขับไปแกรมมี่ที่อยู่แถวอโศกต่อเลย
ตอนเราไปถึงก็ยังไม่มีใครเขามากัน ส่วนใหญ่จะเริ่มงานจริง ๆ ก็ตอนเที่ยงวัน แล้วไปเลิกงานอีกทีคือเที่ยงคืน
ซึ่งมันตื่นเช้าแล้วเลิกดึก มีวันหนึ่งขับรถกลับบ้านมือสั่น ก็คิดขึ้นมาว่าถ้าเราเป็นอะไรไปแล้วลูกจะทำยังไงวะ
เลยตัดสินใจลาออกมาจาก Grammy แล้วก็ไปทำ Telenor ก็ไหล ๆ มาเรื่อยจนได้ทำหลักสูตร ABC
ส่วน SCB ที่ตัดสินใจลาออกมาก็เพราะรู้สึกว่าอายุเยอะแล้ว อาจจะฟังดูแปลก แต่มุมหนึ่งคือผมเป็นพวกสุขนิยม อยากทำอะไรอิสระมากกว่า ก็เลยขอออกจากตำแหน่งมานั่งเป็นแค่ที่ปรึกษาแทน
สรุปแล้วสิ่งที่ทำอยู่ตอนนี้คือ เป็นผู้รับจ้างทั่วไป นอกจากที่ปรึกษาให้กับ SCB แบบที่บอกไปเมื่อครู่นี้ ก็มีไปเป็นประธานกรรมการของแอป Robinhood, หลักสูตร ABC, เป็นกรรมการที่ TQM แล้วก็เป็นประธานที่ Bluebik
ก็ประมาณนี้แหละ”
อาชีพของคนเป็นที่ปรึกษา เขาทำอะไรกันบ้าง?
เรามักได้ยินคำว่า ‘ตำแหน่งที่ปรึกษา’ กันอยู่บ่อย ๆ แต่เคยสงสัยไหมว่าคนที่เขาทำอาชีพที่ปรึกษาจริง ๆ แล้วทำงานยังไงบ้าง?
ในฐานะที่เป็นที่ปรึกษามาหลายที่ ธนาจึงอธิบายให้เราฟังว่า
“ที่ปรึกษาทั่วไปก็คือให้คำปรึกษาเวลาเขามาถาม ถ้าเขาไม่เชื่อก็แล้วแต่เขา อันนี้ก็คือเบสิกทั่วไป
เช่น ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย ก็คือคนที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเรื่องกฎหมาย ให้คำปรึกษาเรื่องกฎหมาย แต่ไม่มีอำนาจในการเซ็นหรือตัดสินใจอะไร
เหมือนอย่างผมเป็นที่ปรึกษาให้แบงก์ ก็ให้คำปรึกษาในสิ่งที่เรารู้ แต่ไม่ได้มีอำนาจในการเซ็นอะไรประมาณนี้”
ทำหลายอย่างแบบนี้ แสดงว่าเป็นเป็ดที่รู้กว้างมากกว่ารู้ลึก?
“ถ้าโดยนิสัยส่วนตัวคือเป็นแบบนั้นอยู่แล้ว ด้วยความที่อยู่มาหลายอุตสาหกรรม เราอาจจะไม่ได้เป็นคนที่เก่งที่สุด
แต่เรารู้จักคนเก่งในหลาย ๆ วงการ แล้วถ้าเอาคนเหล่านี้มารู้จักกัน เช่นสมมุติแบงก์อยากทำคอนเทนต์ เราเอาคนทำคอนเทนต์เก่ง ๆ จาก Grammy มาเจอกับแบงก์ได้มันก็จะเป็นอะไรที่เก่งทวีคูณขึ้นไปอีก”
ทำหลายอย่างในหลายอุตสาหกรรม แล้วงานแบบไหน ท้าทายที่สุด?
“ที่โคตรท้าทายเลยก็คือแอป Robinhood เพราะตอนที่ทำคืออายุเยอะมากแล้ว แต่เราต้องมาทำอะไรแบบที่ไม่เคยทำมาก่อน
แล้ว Grab Food Panda Lineman เขาตัวเบ้อเริ่มเลย มาก่อนเรา ทุนหนากว่า งบเขาเป็นพัน ๆ ล้าน แต่ของเรามีแค่ร้อยกว่าล้าน
แพลตฟอร์มเขาพัฒนาระบบกันมาเป็นปี ๆ แต่ของผมมีเวลาแค่ 3 เดือน
เอาจริง ๆ 3 เดือนจดบริษัทยังไม่รู้จะเสร็จหรือเปล่าเลย เนี่ย…ท้าทายไหมล่ะ!
แต่ก็เซอร์ไพรส์นะ สุดท้ายมันก็รอดมาได้ Robinhood ก็ตั้งไข่ขึ้นมาได้”
ที่ทำ Robinhood ได้ ก็เพราะรู้ว่า เราทำทุกอย่างเองไม่ได้
ธนาเล่าให้เราฟังว่าหัวใจสำคัญที่ทำให้ Robinhood เป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาได้ก็คือทีม
“คือตอนรู้ว่าจะต้องทำ Robinhood สิ่งแรกที่ผมตระหนักกับตัวเองขึ้นมาก่อน คือเราทำทุกอย่างเองไม่ได้
มันต้องเริ่มประกอบทีม ภาพลักษณ์ของ Robinhood ดูเป็นสตาร์ทอัพ ทีมงานส่วนใหญ่ก็เลยเป็นเด็ก ๆ อายุ 20 กว่า ๆ กันทั้งนั้น
ผมรู้ว่าทำเองทุกอย่างไม่ได้ ก็เลยพยายามเบลนด์ตัวเองไปกับน้อง ๆ ในทีม
หลัก ๆ คือช่วยประสาน โอเคน้องเก่งเทคนิคนู่นนี่นั่น แต่พี่มีคนรู้จักที่จะช่วยประสานให้ คนที่อายุเยอะหน่อย เก๋าหน่อย ไปติดต่อกับร้านราดหน้าร้อยปี ร้านอาเฮีย อาแปะต่าง ๆ ให้เข้ามาอยู่ในแอปได้
การทำงานกับเด็กในมุมของผม หลัก ๆ คือต้องตั้งอุดมการณ์กับ KPI ให้ชัดเจน ที่เหลือไม่ต้องไปจุกจิกหรือบังคับอะไรเขามาก
หรืออย่างงานที่ผ่าน ๆ มา ทั้ง Happy ของ DTAC, แม่มณี SCB หัวใจความสำคัญที่ทำให้มันสำเร็จ ก็คือทีมนี่แหละ
ถามว่าทีมที่ดีมันเป็นยังไง? หลัก ๆ มันก็ขึ้นอยู่กับ Leader
แล้ว Leader ที่ดีทำยังไง?
เอาจริง ๆ ผมว่าหน้าที่หลักของ Leader ไม่ใช่ไปจ้ำจี้จ้ำไชแต่ละคน
แต่มีหน้าที่สร้างบรรยากาศมากกว่า ถ้า Leader ทำบรรยากาศให้ดี ให้สนุก ไม่ฆ่าไอเดียคนในทีม ให้เขาฟุ้งมาเลยแล้วเราค่อยมาตบให้เข้าร่องเข้ารอย
ทำแบบนี้คนในทีมก็จะแฮปปี้ แล้วตัว Leader เองก็ไม่ต้องเหนื่อยมากด้วย
หรืออย่างตอนแม่มณี มันก็เป็นไอเดียที่เกิดมาจากตอนที่เราคุยเล่นกัน คุยสนุก ๆ
คือเราไปเดินสำรวจตลาดกัน แล้วก็เห็นอินไซต์ว่าร้านค้าส่วนใหญ่มักจะมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์หน้าร้าน
ก็เลยเอาตรงนี้มาเป็นไอเดียหลัก แล้วก็หาชื่อกันว่าจะใช้ชื่ออะไรดี พอดีลูกสาวผมชื่อเมนี่ แต่เพื่อนชอบล้อว่ามณี ก็เลยพูดออกมากันเล่น ๆ ว่าเมนี่ – มณี พูดไปพูดมามันดันไปคล้องกับคำว่า Money
สุดท้ายก็เลยกลายเป็นแม่มณีแบบที่หลาย ๆ คนเห็นกัน
ซึ่งผมเชื่อว่าไอเดียเหล่านี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย ถ้ามันไม่ได้อยู่ในบรรยากาศที่สนุก
ยิ่งมีวินัย ยิ่งมีอิสระ
อีกสิ่งที่น่าสนใจ คือเมื่อทำหลายอย่างขนาดนี้เขามีวิธีจัดการกับเวลาในชีวิติยังไง?
สิ่งที่ธนาตอบกลับเรามา เป็นคำพูดที่ไม่คิดว่าจะมาจากคนที่มีตำแหน่งอยู่ใน 5 บริษัท
“เอาจริง ๆ ตอนนี้ยังมีเวลาเหลืออยู่เลย เมื่อเช้าเพิ่งไปวิ่งมา แล้วก็ส่งลูก เสร็จแล้วก็ค่อยมาทำงาน อาจเป็นเพราะแต่ละงานมันไม่ใช่ Full time ด้วยแหละมั้ง
ที่ดูมีอิสระมากขนาดนี้ มันอาจจะดูชิลล์นะ แต่อิสระที่ว่ามันเกิดมาจากวินัย เคยได้ยินไหม ยิ่งมีวินัย ยิ่งมีอิสระ
เช่น อยากมีอิสระทางการเงิน ก็ต้องรู้จักมีวินัยทางการเงินมาก่อน รู้จักเก็บออม รู้จักลงทุน
ส่วนของผม อยากมีอิสระไปไหนก็ได้ตอนแก่ อายุ 70-80 ก็ยังไปเที่ยวได้ เดินเหินเองได้ไม่เป็นภาระใคร ก็เลยต้องมีวินัยที่ตอนนี้ตื่นมาวิ่งเกือบทุกเช้า วันละ 5 กิโล
อีกเรื่องคือวินัยเรื่องงาน ก่อนจะเป็นคนที่ดูมีอิสระในการทำงานแบบทุกวันนี้ ผมทำงานหนักมากมาก่อน
ตอนเริ่มทำงาน 5-10 ปีแรก ใครให้อะไรมาทำ ทั้งงานที่เกลียด งานที่ชอบ คือทำหมดทุกอย่าง”
The Calculated Risk ความเสี่ยงที่ถูกคำนวณเอาไว้ ในการลาออกแต่ละครั้ง
แม้เส้นทางการทำงานของธนาจะดูโลดโผน ไม่ใช่แค่ย้ายบริษัท แต่คือการข้ามสายธุรกิจที่เคยทำ
เราจึงถามว่าแล้วการตัดสินใจโยกย้ายของเขาในแต่ละครั้ง ที่ล้วนแต่เป็นตำแหน่งระดับสูงนั้นคืออะไร?
สิ่งที่เขาตอบกลับมาก็คือ
“มันคือ Calculated Risk หรือความเสี่ยงที่คำนวณเอาไว้แล้ว ว่าถ้าออกจากที่นี่จะต้องเจออะไร รับความเสี่ยงนั้นได้ไหม
ของผมคือมีเงินเก็บประมาณหนึ่งที่พอเอาไว้เลี้ยงตัวเอง เลี้ยงลูก เลี้ยงตัวเองได้ ออกมาแล้วมีอะไรให้ไปต่อ เมื่อคิดว่ารับความเสี่ยงได้ ก็เลยตัดสินใจลาออกมา
หลายคนถามว่าทำไมถึงลาออกจากตำแหน่งใหญ่ ๆ เรื่องนี้ผมว่ามันแล้วแต่การลำดับความสำคัญในชีวิตของแต่ละคนมากกว่า
สำหรับผมไม่รู้เพราะว่าอาจจะเป็นคนสุขนิยม หรือเคยทำงานหนัก ๆ มามากแล้วหรือเปล่า ลำดับความสำคัญในชีวิตของผมตอนนี้ มันจึงเป็นเรื่องลูกสาว ความสุข และก็สุขภาพ
ที่สำคัญคือผมชอบอิสระ มันได้ทำนู่นทำนี่ ได้เรียนรู้อะไรใหม่ ๆ อย่างไปนั่ง Bluebik ก็อยากรู้ว่าโลกของเทคโนโลยีมันเป็นยังไง เด็ก ๆ เขาทำยังไงกัน
‘พอรู้ว่าอะไรสำคัญกับชีวิตแล้ว มันก็ตัดสินใจอะไรได้ง่ายขึ้น’
แล้วก็คิดนะว่าดีแล้วที่ตัดสินใจออกมาล้มเหลว ตัดสินใจออกมาลองผิดลองถูก
เพราะถ้ายังคิดอยู่แต่แบบเดิม ๆ นั่งอยู่ในที่เดิม ๆ ตอนนี้ผมอาจจะเป็นตาแก่ที่โดน Layoff ก็เป็นได้”
ทำมาเยอะขนาดนี้ ฝันอยากจะทำอะไรอีกไหม
“ก็ทำไปเรื่อย ๆ แล้วแต่โอกาสจะอำนวย
แต่ความฝันจริง ๆ ตอนนี้ มีแค่ว่าขอให้แข็งแรง แบบอายุ 70-80 ยังเดินเหินเองได้ ไปไหนก็ได้ที่อยากไป”
–
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline



