วิกฤตชิปขาดแคลนจากผลกระทบของวิกฤตโควิด ทำให้ TSMC ยักษ์ใหญ่ของวงการเดินเครื่องเต็มที่เพื่อคลี่คลายสถานการณ์ จน Q1 ปีนี้ทำเงินได้สูงถึง 4 แสนล้านบาท
ย้อนไปช่วงโลกติดล็อกดาวน์เมื่อปีที่แล้ว เกิดปรากฏการณ์บริษัทออนไลน์โตก้าวกระโดด และยอดขายคอมพิวเตอร์ โน้ตบุ๊ก รวมถึง Mobile Device พุ่งพรวด ต่อมาหลังสถานการณ์คลี่คลายโรงงานทั่วโลกเร่งเดินหน้าผลิตให้ทัน กระทบเป็นลูกโซ่ให้ชิปตั้งแต่ Mobile Device ไปจนถึงรถยนต์ขาดแคลน TSMC จึงเป็นอีกบริษัทที่วิกฤตเข้าทาง
นี่ทำให้ยืนหนึ่งวงการอุตสาหกรรมผลิตชิปของโลกสัญชาติไต้หวันทวีความสำคัญ และยังเป็นที่รู้จักในหมู่ผู้บริโภคมากขึ้น เพราะมีชื่อปรากฏในข่าวคลายวิกฤตชิปขาดแคลนอยู่เสมอ แล้วก่อนมาเป็น Hero กู้วิกฤตชิปขาดแคลน บริษัทนี้มีที่มาอย่างไร ด้านล่างนี้มีคำตอบ
บริษัท No Name ในมือคนวัยเกษียณที่คิดต่างจนได้เป็นยักษ์
TSMC ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1987 ตามนโยบายของรัฐบาลไต้หวันที่ต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศด้วยอุตสาหกรรมเทคโนโลยี ผู้ที่ได้รับความวางใจให้เป็นหัวเรือใหญ่ในโครงการนี้คือ Morris Chang กูรูด้านชิปที่ย้ายไปอยู่สหรัฐฯ นาน 25 ปี และอีกไม่กี่ปีก็กำลังจะเกษียณ
Morris Chang
Morris Chang รับงานดังกล่าวด้วยวัย 56 ปี โดยเขาออกสตาร์ทด้วยการคิดต่าง วางบทบาทให้ TSMC เป็นบริษัทผลิตชิปให้บริษัทอื่นแบบตามสั่ง
ตรงข้ามกับบริษัทเทคโนโลยีส่วนใหญ่ขณะนั้น เช่น Intel NEC และ Fujitsu ที่แม้ผลิตชิปเช่นกันแต่ก็ป้อนให้ Gadget ใต้แบรนด์ตัวเองหรือแบรนด์ในเครือ
การคิดต่างดังกล่าวทำให้ TSMC เริ่มเป็นที่รู้จักหมู่แบรนด์เทคโนโลยีที่อยากโยกงบสร้างโรงงานชิปไปพัฒนาเทคโนโลยีด้านอื่น ๆ และทยอยกินส่วนแบ่งตลาดชิปทั่วโลก จากเพียง 7% ในปี 1999 เป็น 29% ในปี 2015
ต่อมาในปี 2016 ก็ได้ Apple บริษัทเทคโนโลยีอเมริกันเจ้าของ iPhone เป็นลูกค้าสำคัญ ครองสัดส่วนรายได้ 17% ของปีนั้น ข้ามมาปี 2020 ช่วงกลางปีที่โควิดระบาดหนัก อดีตประธานาธิบดี Donald Trump ของสหรัฐฯ ติดต่อให้มาสร้างโรงงานแห่งใหม่ในสหรัฐฯ เพื่อตัดบริษัทจีน คู่กรณีในสงครามการค้าออกจากวงจรผลิต
และล่าสุดปีนี้ TSMC ก็เร่งกำลังการผลิตสุดตัวและพยายามขจัดทุกปัญหาที่เข้ามา เช่น สั่งรถขนน้ำเข้ามาหลายคันรถเพื่อให้ยังมีน้ำใช้ในการผลิต ขณะที่ไต้หวันเผชิญภัยแล้งรุนแรงในรอบหลายปี
การทุ่มสุดตัวดังกล่าวทำให้เป็นกำลังสำคัญในการแก้ไขวิกฤตชิปขาดแคลน ที่ระบาดในสายการผลิตมากมาย ตั้งแต่ Smartphone ตู้เย็นไปจนถึงรถยนต์ ถึงขนาดที่ว่ารัฐบาลประเทศใหญ่ ๆ เช่น สหรัฐฯ และเยอรมนี ต้องขอร้องแกมบังคับให้ส่งชิปมาช่วยไม่ให้อุตสาหกรรมเทคโนโลยี
ปัจจุบัน TSMC ยังรั้งตำแหน่งบริษัทอันดับหนึ่งของไต้หวัน ด้วยมูลค่าบริษัทสูงถึง 265,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 8.2 ล้านล้านบาท) และยังยืนหนึ่งในอุตสาหกรรมผลิตชิปทั่วโลก ด้วยสัดส่วน 54% ของตลาด มีลูกค้ามากถึง 449 บริษัท และผลิตภัณฑ์ถึงกว่า 9,000 อย่าง
ที่มีชิปของ TSMC อยู่ภายใน ไล่ตั้งแต่ขนาดเท่าฝ่ามืออย่าง Smartphone ไปถึงอาวุธสงครามขนาดมหึมาอย่างเครื่องบินรบ
ล่าสุด TSMC เพิ่งได้รับข่าวดี ไตรมาสแรกปีนี้ทำเงินได้ 12,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 400,000 ล้านบาท) เพิ่มขึ้น จาก 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 312,000 ล้านบาท) ของไตรมาสแรกปี 2020
แน่นอนว่าความสำเร็จนี้ TSMC ทำให้อดีตบริษัท No Name กลายเป็นเบอร์ใหญ่ในอุตสาหกรรมผลิตเทคโนโลยีปัจจุบัน และทำเงินเข้าไต้หวันอย่างมหาศาลในแต่ละปี
เช่นเดียวกับ Foxconn ยักษ์โรงงานรับจ้างผลิต (OEM) ร่วมชาติ ที่ Apple และ Samsung วางใจให้ผลิต Smartphone มานานหลายปี
ขาขึ้นของ TSMC จากช่วงล็อกดาวน์ ยังทำให้ Morris Chang อดีต CEO และผู้ก่อตั้ง เป็นคนวัย 89 ปีที่ยังร่ำรวย และครองตำแหน่งมหาเศรษฐีอันดับ 15 ของไต้หวัน ด้วยมูลค่าทรัพย์สิน 2,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 87,400 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นถึง 87% จากเมื่อต้นปี 2020/forbes, qz, cnbc, wikipedia, yahoofinance
–
ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ