ปัจจุบัน The Washington Post คือสื่อออนไลน์ใหญ่ในมือของ Jeff Bezos ด้วยยอด Subscribe 3 ล้านคนและยังคงทำกำไร แต่ในอดีตเคยเป็นสื่อตกยุคพ่ายพิษ Digital Disruption
ไม่กี่วันมานี้ The Washington Post มีความเคลื่อนไหวสำคัญ โดยบอร์ดบริหารเลือก Sally Buzbee เป็น บก. ใหญ่หญิงคนแรก แต่ด้วยผ่านร้อนผ่านหนาวมากว่า 140 ปี ทำให้หนังสือพิมพ์ฉบับนี้เจอขาขึ้นลงมาหลายครั้ง รวมถึงการทรุดหนักจาก Digital Disruption รอบแรก ที่หนักถึงขนาดขายกิจการ
ทว่าคดีพลิก เพราะ Jeff Bezos ที่เข้ามาซื้อกิจการ ชุบชีวิต The Washington Post และพัฒนาจนเป็นสื่อออนไลน์เบอร์ใหญ่ ยืนยันได้จากยอด Subscribe สูงถึง 3 ล้านคน แถมยังทำกำไรอีกด้วย
ตำนานหนังสือพิมพ์ ‘ข่าวซีฟ’ อเมริกัน ที่แกร่งกว่าเก่าในมือมหาเศรษฐีเบอร์หนึ่ง
The Washington Post ก่อตั้งโดย Stilson Hutchins นักข่าวชาวอเมริกันที่พัฒนาตนเองจนขึ้นมาเป็น บรรณาธิการ และเจ้าของหนังสือพิมพ์ โดยยุคก่อตั้งเป็นที่จดจำในฐานะหนังสือพิมพ์รายวันแรกฉบับแรกของเมือง Washington
Stilson Hutchins
แม้วางตัวเป็นสื่อสายการเมืองจากวันแรก แต่ The Washington Post ก็ไม่เคยตกข่าวใหญ่ โดยได้รายงานข่าวสงครามสหรัฐฯ-สเปน ปี 1898 พร้อมภาพวาดสมจริงร่วมสร้างกระแสรักชาติในหมู่ชาวอเมริกัน
และยังมีข่าวแนวสีสัน ลงภาพวาดการ์ตูนของอดีตประธานาธิบดี Theodor Roosevelt ขอให้ผู้ติดตามไว้ชีวิตหมีที่ล่าได้ในปี 1902 ซึ่งต่อมามีพ่อค้าหัวใสนำไปทำตุ๊กตาหมี Teddy ออกมาขาย อันเป็นที่มาของ Teddy Bear ตามชื่อเล่นของ Roosevelt นั่นเอง
อีกหลายสิบปีต่อมา The Washington Post ประสบปัญหาทางการเงิน และยิ่งแย่ลงไปอีกหลังทั่วโลกติดอยู่ในภาวะเศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่
ที่สุดก็ยื้อต่อไปไม่ไหว ปี 1933 ต้องล้มละลาย โดยผู้ที่ยื่นมือเข้ามาช่วยคือ Eugene Mayer เศรษฐีและหนึ่งในบอร์ดของธนาคารกลางสหรัฐฯ ขณะนั้น (ต่อมาได้เป็นประธานธนาคารโลกคนแรก)
Eugene Mayer ซื้อกิจการ The Washington Post จากศาลล้มละลายด้วยเงิน 825,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 25 ล้านบาทตามค่าเงินปัจจุบัน) แม้เขาต้องใช้เวลาอีกหลายปีในการทำให้ The Washington Post มีกำไร แต่ก็มุ่งพัฒนาสื่อฉบับนี้ให้เด่นด้วยคุณภาพและข่าวเชิงวิเคราะห์
ขณะเดียวกันก็ใช้เส้นสายคว้าตัวคนดังมาสัมภาษณ์เป็นพิเศษฉบับเดียว หรือที่เรียกในวงการสื่อว่า ‘ข่าวซีฟ’
พอถึงช่วงยุค 50 Eugene Mayer ก็พา The Washington Post ทำกำไรพร้อมทำสกู๊ป เจ้าชาย Edward แห่งราชวงศ์อังกฤษ และ Wallis Simpson ไฮโซสาวอเมริกัน ที่ชาวอเมริกันยุคนั้นกำลังสนใจ (ต่อมาทั้งคู่เป็นที่โด่งดังจากการสละบัลลังก์อังกฤษ)
นี่ถือเป็นหนึ่งใน ‘ข่าวซีฟ’ ใหญ่ของยุคนั้น โดย The Washington Post ทำข่าวนี้ได้จากการที่ Eugene Mayer รู้จักกับทูตอังกฤษประจำสหรัฐฯ ในขณะนั้น
หลัง Eugene Mayer เสียชีวิต Katherine กับ Phil Graham ลูกสาวและลูกเขยก็รับช่วงต่อ และพา The Washington Post ดังไปทั่วโลก ด้วยข่าวโกงเลือกตั้งที่รู้จักกันในชื่อ Watergate ของคู่นักข่าว Bob Woodward กับ Carl Bernstein ในปี 1974 ที่สะเทือนรัฐบาลสหรัฐฯ จน Richard Nixon ต้องลาออกจากตำแหน่งประธานาธิบดี
ข่าว Watergate ยังสร้างตำนานรักษาความความลับระหว่างแหล่งข่าวในชื่อ Deep Throat ซึ่งอีกหลายสิบปีต่อมาเผยตัวว่าคือ Mark Felt รองผู้อำนวยการ FBI ในสมัย Nixon นั่นเอง
ปี 2013 การครอบครอง The Washington Post ของตระกูล Mayer-Graham ถึงคราวสิ้นสุด จากที่ผู้คนหันไปเสพข่าวผ่านสื่อออนไลน์กันมากขึ้น
ฉุดยอดพิมพ์ The Washington Post เหลือราว 4 แสนฉบับ ร่วงไปเป็นอันดับ 7 ของสหรัฐฯ ซ้ำร้ายยังตามหลัง The New York Times ที่เคยขับเคี่ยวกันมาตลอดแบบไม่เห็นฝุ่น
Donald Graham ลูกชายของ Katherine กับ Phil ที่รับช่วงต่อการบริหารมา เห็นว่าสู้ต่อไปไม่ไหวและเริ่มเสนอขาย The Washington Post ให้มหาเศรษฐีเทคโนโลยีชาวอเมริกันหลายคน ทั้ง Bill Gates, Steve Jobs, Larry Page, Sergey Brin, Mark Zuckerberg และ Jeff Bezos
ที่สุด Donald Graham ก็เห็นว่า Jeff Bezos ที่สร้างตัวมาจาก Amazon ค่าย E-commerce อันดับ 1 ของโลก น่าจะเหมาะสมในการมาเป็นเจ้าของ The Washington Post
เพราะเข้าใจเทคโนโลยี มองการณ์ไกล เข้าใจผู้อ่าน (Amazon เริ่มจากร้านหนังสือออนไลน์) มีความสำเร็จในการบริหาร และแน่นอนมีเงินมหาศาล
หลังตกลงกันได้ Donald Graham ก็เก็บเรื่องการซื้อกิจการของ Jeff Bezos เป็นความลับจนถึงวันที่ประกาศออกมา โดยพนักงานส่วนใหญ่ยอมรับว่ารู้เรื่องแทบจะวันเดียวกับวันที่ข่าวออกมา และคัดค้านการซื้อกิจการครั้งนี้
ต่อมา Jeff Bezos ก็ทยอยพิสูจน์ให้เห็นว่า ไม่ได้ทุ่มเงิน 250 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 7,800 ล้านบาท) ซื้อ The Washington Post มาไว้เป็นแค่ของเล่นคนรวยหรือประดับบารมี
Jeff Bezos คืนชีพให้ The Washington Post ด้วยการเปลี่ยนเป็นสื่อออนไลน์ โดยในส่วนของระบบหลังบ้านช่วงแรกจับมือกับ Google เพื่อให้โหลดอ่านรวดเร็วทันใจในทุกแพลตฟอร์ม และสร้างระบบใหม่ให้นักข่าวโพสต์ตามตารางเวลาก่อนเลยเส้นตาย
ขณะที่ในเรื่องกำลังคนก็เสริมทัพด้วย 4 มือดี โดยนอกจาก 2 ‘คนข่าว’ ประสบการณ์สูงอย่าง Martin Baron บก. Boston Globe มานั่งเก้าอี้ บก. ใหญ่ และ Fred Ryan จาก Politico เว็บไซต์ข่าวการเมืองดัง มาเป็น บก. บริหารแล้ว
Jeff Bezos ยังคว้าตัว Shailesh Prakash ที่เคยผ่านงานใน Microsoft กับ Netscape มาเป็นประธานฝ่ายข้อมูล และให้ Joey Marburger มาเป็นผอ. ฝ่ายผลิตภัณฑ์เพื่อ ‘ปรับลุค’ ข่าวให้น่าอ่าน น่าสนใจและกระชับบนหน้าจอ Gadget
การยกเครื่องของ Jeff Bezos ไม่หยุดแค่นั้น โดยฝ่ายข่าวของ The Washington Post มีทีมงานเพิ่มเป็น 900 คน ซึ่งในจำนวนนี้ 250 คนเป็นคนรุ่นใหม่ที่เข้าใจเทคโนโลยี
ขณะเดียวกันยังนำระบบบริหารจัดการเนื้อหาข่าว ระบบเก็บค่าลิขสิทธิ์ กระจายข่าวไปยังแพลตฟอร์มออนไลน์ที่ได้รับความนิยมในหมู่คนรุ่นใหม่ เช่น Reddit กับ Tiktok และแน่นอนในแพลตฟอร์มของ Amazon ที่มีผู้ใช้มหาศาลด้วย
แผนยกเครื่อง The Washington Post ของ Jeff Bezos เห็นผลในเวลาไม่นานเมื่อวัดกับคู่ปรับตลอดกาลอย่าง The New York Times โดยปี 2013 The Washington Post มียอดผู้เข้าชมเว็บไซต์ (Visitor) 25.8 ล้านคน ตามหลัง 34 ล้านคนของ The New York Times
แต่พอถึงปี 2015 The Washington Post มียอด Visitor เพิ่มเป็น 66.9 ล้านคน ทิ้งคู่ปรับให้ตกเป็นฝ่ายตามหลังบ้างด้วยยอด Visitor 65.8 ล้านคน
แม้ต่อมาในปี 2017 The Washington Post ตกไปเป็นรอง The New York Times แต่ The Washington Post ก็สร้างรายได้ก้อนใหญ่จากยอดสมาชิก (Subscribe) ที่เพิ่มเป็น 1 ล้านคน
นี่ถือเป็นข่าวดีต่อเนื่องจากการกลับมาทำกำไรในปี 2016 และปัจจุบัน The Washington Post ก็ยังยิ้มกว้างขึ้นอีกด้วยยอด Subscribe เพิ่มเป็น 3 ล้านคน
ความสำเร็จเหล่านี้เป็นการยืนยันว่า Donald Graham ตัดสินใจถูกที่ขาย The Washington Post ให้ Jeff Bezos ซึ่งเขาชมว่าเป็นคนมองเห็นอนาคต
ขณะที่ตัว Jeff Bezos เองเคยกล่าวไว้ว่า The Washington Post เป็นหนึ่งในความสำเร็จสำคัญในชีวิต เพราะเป็นการคืนชีพให้สื่อเก่าแก่ของสหรัฐฯ ที่ตนยังภูมิใจได้แน่นอนหากมองย้อนกลับยามแก่ตัว/cnn, bbc, nbc, cjr, wikipedia, forbes
–
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline



