Ransomware แฮกเกอร์ ที่กำลังสร้างวิกฤตให้แบรนด์ใหญ่ทั่วโลก (รายงานพิเศษ)

ปีครึ่งที่ผ่านมาแบรนด์ใหญ่ ๆ ทั่วโลกต่างก็ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด ส่วนจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับว่าเป็นแบรนด์ไหน ธุรกิจไหน แต่ไม่ทันที่วิกฤตโรคระบาดครั้งนี้จะหายสนิทก็เกิดปัญหาใหม่ขึ้น โดยบรรดาแฮกเกอร์ฉวยโอกาสจากเทรนด์ Work from Home ที่ฝ่าย IT ต้องทำงานจากบ้าน เจาะระบบแล้วปล่อยไวรัสเรียกค่าไถ่ ( Ransomware )

Ransomware กลายเป็นข่าวครึกโครมไปทั่วโลกหลังท่อส่งน้ำมันใหญ่ของ Colonial Pipeline โดนแฮกเมื่อต้นพฤษภาคม ใช้การไม่ได้เกือบสัปดาห์ จนเกิดภาวะขาดแคลนน้ำมันทางรัฐชายฝั่งภาคตะวันออกของสหรัฐฯ แต่เรื่องไม่จบแค่นั้นเพราะถัดมาแฮกเกอร์ยังป่วนไม่เลิก

 

ภัยเงียบจากช่องโหว่และการฉวยโอกาส ที่ความเสียหายมากเกินคาด

เกือบ 1 สัปดาห์ที่การส่งน้ำมันทางภาคตะวันออกของสหรัฐฯ เป็นอัมพาต ชาวอเมริกันในพื้นที่ดังกล่าวจำนวนมากต้องต่อคิวเติมน้ำมันหรือขับรถหาน้ำมันหลายปั๊ม แถมเมื่อไปถึงยังต้องยอมจ่ายแพงและลุ้นว่าจะมีน้ำมันเติมหรือไม่

colonail Pipeline แฮกเกอร์

นี่คือผลกระทบจากRansomware ซึ่งเกิดกับระบบสาธารณูปโภคของชาติมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ โดยที่สุด Colonial Pipeline ก็จำใจจ่ายเป็น Bitcoin มูลค่า 4.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 136 ล้านบาท) ตามที่กลุ่มแฮกเกอร์ Darkside ได้ขู่มา เรื่องนี้สร้างความไม่พอใจให้ประธานาธิบดี Joe Biden อย่างมาก

ประธานาธิบดี Joe Biden กระตุ้นให้หน่วยงานที่ดูแลความมั่นคงทางไซเบอร์ทั้งหมดตื่นตัวมากกว่านี้ และกำหนดให้ภัยไซเบอร์รูปแบบต่าง ๆ เป็นภัยคุกคามแบบเดียวกับการก่อการร้าย

FBI แฮกเกอร์

จากนั้นไม่นานคณะทำงานปราบการขู่กรรโชกทางดิจิทัลที่เพิ่งตั้งขึ้นหมาด ๆ เพื่อจัดการภัยRansomwareโดยเฉพาะ จากการสนธิกำลังกันระหว่างสำนักสอบสวนกลาง (FBI) และกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ ก็กู้หน้าได้ ด้วยการเอาเงินค่าไถ่คืนมาได้เกินครึ่ง

ทว่ากลุ่มแฮกเกอร์ที่สหรัฐฯ คาดว่ามีฐานอยู่ในรัสเซีย ยังคงเหิมเกริม โจมตีบริษัทใหญ่ในธุรกิจอื่น ๆ อีกหลายครั้ง ทั้งยิงRansomwareใส่ระบบ IT ของ JBS บริษัทแปรรูปเนื้อข้ามชาติที่มีสาขาในสหรัฐฯ พร้อมเรียกค่าไถ่ 11 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 342 ล้านบาท) โดยที่สุด แฮกเกอร์ก็ได้ค่าไถ่ไปอีก

JBS แฮกเกอร์

ตามด้วยแฮก Source Code จากเกมดังของค่าย Electronics Art ในสหรัฐฯ ไป แฮกเอาข้อมูลเจ้าของรถ Volkswagen ในสหรัฐฯ และแคนาดากว่า 3 ล้านคนไป และล่าสุดแฮกเอาที่อยู่กับเบอร์โทรศัพท์ลูกค้า McDonald’s ในเกาหลีใต้กับไต้หวันไป

mcdonald south korea แฮกเกอร์

ไม่ใช่ในสหรัฐฯ และประเทศในเอเชียตะวันออกเท่านั้นที่เจอภัยแฮกเกอร์เล่นงาน โดยสหภาพยุโรป (EU) เผยว่าปีที่แล้วหน่วยงานกว่า 300 แห่งถูกแฮกเกอร์โจมตีด้วยรูปแบบต่าง ๆ และปีนี้ค่าไถ่เฉลี่ยที่มิจฉาชีพไซเบอร์เหล่านี้ขูดรีดจากเหยื่อยังมีแนวโน้มสูงขึ้นอีกด้วย

EU แฮกเกอร์

แฮกเกอร์ตัวแสบยังทำให้รัฐบาลแทบทุกประเทศมอง Bitcoin แง่ร้าย จนเป็นเหตุให้ราคา Bitcoin ตกอีกด้วย

ปัญหาทั้งหมดเกิดจากหลายสาเหตุประกอบกัน เริ่มด้วยความหละหลวมของบริษัทเอง ประมาทว่า Ransomwareเป็นเรื่องไกลตัว ตามด้วยระบบหลังบ้านที่มีช่องโหว่มากมาย เช่น ตั้งรหัสให้คาดเดาง่าย และฝ่าย IT ที่ต้องดูแลระบบจากบ้านเพราะวิกฤตโควิด

ทางรับมือกับภัยแฮกเกอร์ดีที่สุดคือต้องมีฝ่าย IT หรือผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยไซเบอร์เก่ง ๆ อยู่ในองค์กร โดยองค์กรไหนอยากได้คนดูแลระบบฝีมือดีอาจต้องเงินหนาและรีบหน่อย เพราะปัจจุบันคนทำงานด้านนี้ยังคงขาดแคลน

ในสหรัฐฯ ต้องการ 879,000 คน แต่มีคนทำงานด้านนี้อยู่เพียง 359,000 คน ส่วนทั่วโลกหนักกว่านั้น เพราะยังขาดแคลนผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยไซเบอร์มากถึง 3.12 ล้านคน

Cyber-Security

ส่วนในกรณีที่ภัยแฮกเกอร์ไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง จะบานปลายกลายเป็นปัญหาเชิงระบบและเปิดโอกาสให้มิจฉาชีพเหล่านี้ขยายตลาดขาย Ransomware ให้กับมิจฉาชีพด้วยกัน

โดยหากถึงขึ้นนั้นก็จะไม่มีระบบสาธารณูปโภคประเทศไหนในยุคที่โลกเชื่อมต่อกันอย่างมาก (Super Connect) ปลอดภัยอีกต่อไป/cnn, ap, wikiepdia, bbc, theguardian, cnbc

 

อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online