ตลาดฟู้ดเดลิเวอรี่ 68,000 ล้านบาท ในปีที่ผ่านมา และคาดการณ์ปีนี้จะเติบโตมากถึง 74,000 ล้านบาท ยังคงขับเคี่ยวและขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่องจากผู้ให้บริการหลัก 4 ราย ได้แก่ ไลน์แมน แกร็บ โกเจ็ก ฟู้ดแพนด้า และน้องใหม่ในวงการโรบินฮู้ด เพื่อสร้างรายได้จากการให้บริการในรูปแบบตัวเองมากที่สุด

เพราะตลาดนี้ยังมีโอกาสเติบโตอีกยาวไกล

 

จากข้อมูลของ  Euromonitor คาดการณ์ว่าตลาดฟู้ดเดลิเวอรี่ในปี

2565 จะมีมูลค่า 82,000 ล้านบาท

2566 มูลค่า 90,000 ล้านบาท

2567 มูลค่า 99,000 ล้านบาท

เมื่อตลาดยังเป็นโอกาสอันหอมหวน

ในวันนี้โรบินฮู้ด แอปน้องใหม่ในตลาดจึงมีการขยับตัวครั้งใหญ่อีกครั้ง

โดยการขยับตัวครั้งนี้เป็นการขยับตัวเพื่อสร้างโอกาสทางการตลาดใหม่ ๆ ในฝั่งไรเดอร์ ซึ่งถือเป็นฟันเฟืองที่สำคัญในการขับเคลื่อนบริการส่งมอบอาหารให้กับลูกค้า

ธนา เธียรอัจฉริยะ ประธานกรรมการ บริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด ผู้พัฒนาและให้บริการ โรบินฮู้ด กล่าวว่าตลอด 7 เดือนที่ผ่านมาในการให้บริการโรบินฮู้ด ส่วนใหญ่พูดถึงร้านค้าเล็กเป็นหลัก

แต่จุดประสงค์หลักคือเพื่อคนตัวเล็กทั้งหมด

และไรเดอร์คือหนึ่งในคนตัวเล็ก และที่ผ่านมาไรเดอร์คือจุดแข็งที่สุดของโรบินฮู้ด จากการอบรม และให้มากกว่าการส่งมอบอาหาร แต่ส่งความสุขไปที่ลูกค้าด้วย

การขยับตัวในฝั่งไรเดอร์ของโรบินฮู้ดในครั้งนี้ มีการขยับตัวอยู่ 4 เรื่องใหญ่ ได้แก่

1.เปิดบริการเช่ารถมอเตอร์ไซค์ EV ในราคาวันละ 120 บาท

ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ธนา เคยเล่าให้ฟังว่าโรบินฮู้ดมีโครงการ Robinhood EV Bike นำรถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า หรือรถ EV ให้ไรเดอร์เช่าในราคาวันละร้อยกว่าบาท เพื่อแบ่งเบาภาระไรเดอร์ด้านต้นทุนในการให้รับงานให้บริการในแต่ละวัน และเป็นการดึงดูดผู้ที่สนใจเข้ามาเป็นไรเดอร์แต่ไม่มีรถมอเตอร์ไซค์เป็นของตัวเองเข้ามาสมัครให้บริการด้วย

จากแนวคิดนี้โรบินฮู้ดจึงจับมือกับพาร์ตเนอร์ 2 ราย ได้แก่ ETRAN และ H SEM ให้บริการเช่ารถมอเตอร์ไซค์ EV ในราคาเช่าวันละ 120 บาท โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายด้านอื่น ๆ เพิ่ม

ซึ่ง สีหนาท ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด เล่าให้ฟังว่ามอเตอร์ไซค์ EV ในโครงการ Robinhood EV Bike จะช่วยให้ไรเดอร์ประหยัดต้นทุนในการรับออเดอร์ลูกค้าได้ เพราะการมีรถมอเตอร์ไซค์ของตัวเอง จะมีต้นทุนค่าน้ำมันและค่าบำรุงรักษาเฉลี่ยเดือนละ 8,000 บาท

และเมื่อเช่าไปใช้สามารถรับงานของฟู้ดเดลิเวอรี่คู่แข่งได้

รถมอเตอร์ไซค์ EV ที่โรบินฮู้ดเปิดให้เช่ามีจุดเด่นเรื่องคันเล็ก ออกแบบมาให้มีพื้นที่วางกล่องและใส่ของจำนวนมาก ขับเคลื่อนได้สูงสุด 90-100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และแบตเตอรี่เมื่อชาร์จเต็มวิ่งได้สูงสุด 140-180 กิโลเมตรรถมอเตอร์ไซค์ EV ของพาร์ตเนอร์มีสเปกดังนี้

ของบริษัท ETRAN ทำความเร็วได้สูงสุด100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เมื่อแบตเตอรี่เต็มสามารถใช้งานได้สูงสุด 180 กิโลเมตร

ของบริษัท H SEM ทำความเร็วได้สูงสุด 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เมื่อแบตเตอรี่เต็มสามารถใช้งานได้สูงสุด 140 กิโลเมตร

โดยไรเดอร์สามารถเช่าทดลองขับได้ และถ้าเช่าต่อเนื่องรวมกันครบ 900-1,000 วัน สามารถซื้อเป็นของตัวเองได้ในราคาคันละ 1,000 บาท

รถมอเตอร์ไซค์ในโครงการ Robinhood EV Bike เริ่มต้นให้บริการ 200 คัน พร้อมจุดเปลี่ยนแบตเตอรี่ 18 จุด ทั่วกรุงเทพฯ

และจะขยายเป็น 1,500-2,000 คัน พร้อมจุดเปลี่ยนแบตเตอรี่ 100 จุดในกรุงเทพฯ และปริมณฑล

การที่โรบินฮู้ดใช้วิธีการเปิดจุดเปลี่ยนแบตเตอรี่ในรถมอเตอร์ไซค์ EV แทนจุดชาร์จแบตเตอรี่มาจากการมองเห็นความรวดเร็วที่ไรเดอร์สามารถเข้ามาเปลี่ยนแบตเตอรี่ด้วยตัวเองได้ในเวลาไม่เกิน 10 นาที โดยไม่ต้องรอชาร์จให้แบตเตอรี่เต็มซึ่งใช้ระยะเวลานานกว่า

การที่โรบินฮู้ดเปิดโครงการ Robinhood EV Bike ให้เช่ารถมอเตอร์ไซค์ EV ในราคาค่าเช่าต่อวันที่ถูก เรามองว่าเป็นกลยุทธ์ในการดึงดูดไรเดอร์ให้เข้ามาสมัครเป็นพาร์ตเนอร์ให้บริการกับโรบินฮู้ดมากขึ้น เพราะสามารถขยายฐานไรเดอร์เข้าถึงผู้สนใจที่ไม่มีมอเตอร์ไซค์เป็นของตัวเองได้

และเป็นการสร้างความรักให้กับแบรนด์โรบินฮู้ด เพราะเมื่อไรเดอร์จะรับงานจะเลือกรับงานของโรบินฮู้ดก่อน จากการมองว่าเป็นแพลตฟอร์มที่ทำเพื่อพวกเขา และยังส่งผลให้รักในแบรนด์ไทยพาณิชย์ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของบริการโรบินฮู้ดได้ด้วยเช่นกัน

 

2. เปลี่ยนสีเครื่องแบบไรเดอร์

โรบินฮู้ดมีการดีไซน์เสื้อแจ็กเก็ต และกล่องใส่อาหารใหม่

สุธีพันธุ์ สักรวัตร ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานการตลาด ธนาคารไทยพาณิชย์ เล่าว่าเครื่องแบบใหม่ของไรเดอร์โรบินฮู้ดใช้สีเหลือง ส้ม ม่วง เป็นสามสี่หลัก

การใช้สามสีหลักนี้มาจาก

สีม่วงลิงก์ถึงไทยพาณิชย์ซึ่งเป็นบริษัทแม่

ส่วนสีเหลืองมาจากสีขนนกในโลโก้โลบินฮู้ด

สีส้มที่มีความเสี่ยงจากอุบัติเหตุต่ำสุด จากการมองเห็นได้ชัดเจนรองจากสีขาว และมีความปลอดภัยในช่วง เช้า กลางวัน กลางคืน

และจิตวิทยาในการสร้างแบรนด์ สีส้มและเหลืองเป็นสีที่เป็นมิตร คิดบวก โปร่งใส ตรงไปตรงมา

ทำให้ใช้สีทั้งสามมาเป็นสีของไรเดอร์ เพื่อสื่อถึงความปลอดภัย เป็นเอกลักษณ์ และมงคล

ส่วนดีไซน์ของเสื้อสุธีพันธุ์เล่าว่าได้แรงบันดาลใจจากเสื้อนักแข่งรถมอเตอร์ไซค์มาร์ก มาร์เกซ และใช้ผ้าที่ใส่ไม่ร้อน เพื่อให้ไรเดอร์รู้สึกสวยให้รู้สึกอยากใส่และภูมิใจว่านี่คือเครื่องแบบที่น่าภาคภูมิใจ

เรามองว่าการที่ไรเดอร์หยิบเสื้อของโรบินฮู้ดมาใส่อยู่เสมอ เป็นเหมือนเครื่องแบบที่โฆษณาแบรนด์โรบินฮู้ดตามท้องถนน จากการที่ไรเดอร์เป็นผู้ใส่ และขับขี่เพื่อซื้ออาหารส่งมอบให้กับลูกค้าอีกทางหนึ่ง

 

3. เปิดแอปสำหรับไรเดอร์เป็นของตัวเอง

ที่ผ่านมา โรบินฮู้ดใช้แพลตฟอร์มของสกู๊ตตาร์เป็นแพลตฟอร์มหลังบ้านให้กับไรเดอร์รับงานลูกค้าเพื่อการเปิดให้บริการอย่างรวดเร็ว

ส่วนปัจจุบันมีจำนวนมากถึง 15,000 ราย จากจุดเริ่มต้น 1,500 ราย และวิ่งรับงานเฉลี่ยวันละ 5,000 -6,000 ราย

การใช้ระบบของสกู๊ตตาร์จึงมีต้นทุนที่สูงขึ้นตามมา และปรับเปลี่ยน UX / UI ได้ตามต้องการ

ทำให้โรบินฮู้ดพัฒนาแอปรับงานของไรเดอร์ขึ้นมาเอง นอกเหนือจากประหยัดต้นทุนแล้ว ยังคาดหวังว่า Timeout ในการให้บริการลูกค้าลดลงจากเดิมเฉลี่ย 9 วินาที ต่อการรับงาน 1 งาน เรามองว่าการรับงานที่รวดเร็ว ทำให้ประสบการณ์ของลูกค้าที่เข้ามาสั่งอาหารผ่านแพลตฟอร์มดีขึ้นด้วย

และแอปนี้ยังสามารถต่อยอดไปยังบริการอื่น ๆ ที่โรบินฮู้ดจะขยายบริการในอนาคตได้ เช่น การขยายบริการสู่ธุรกิจรับ-ส่งของ (Express Services) และบริการด้านสั่งซื้อสินค้าจากซูเปอร์มาร์เก็ต (Mart Service) เป็นต้น

รวมถึงยังเป็นการวางพื้นฐานระบบหลังบ้านในกลุ่มไรเดอร์ เพื่อต่อยอดบริการของโรบินฮู้ดสู่มินิซูเปอร์แอป ที่ให้บริการทั้ง กิน เที่ยว ซื้อ ส่ง ที่จะเปิดให้บริการในไตรมาสสี่

 

4. เพิ่มค่ารอบใหม่ จาก 2 กิโลเมตรแรก 40 บาท เป็น 43 บาท และมีระบบให้ทิปจากลูกค้า

การที่โรบินฮู้ดทำแอปไรเดอร์เองเกิดการประหยัดต้นทุนที่ต้องเสียค่าบริการให้กับสกู๊ตตาร์ ทำให้โรบินฮู้ดนำเงินส่วนต่างนี้มาปรับค่ารอบบริการให้กับไรเดอร์จากเดิม 2 กิโลเมตรแรก 40 บาท และกิโลเมตรต่อไปกิโลเมตรละ 6-7 บาท

เป็น 2 กิโลเมตรแรก 43 บาท และกิโลเมตรต่อไปกิโลเมตรละ 6-7 บาทเช่นเดิม ซึ่งธนาบอกว่าเป็นค่ารอบเริ่มต้นที่สูงกว่าคู่แข่งเล็กน้อย

และยังมีการพัฒนาระบบทิปสำหรับลูกค้าที่ประทับใจในบริการของไรเดอร์สามารถให้ทิปไรเดอร์ผ่านระบบที่จะเปิดให้บริการในอนาคตอีกด้วย

เรามองว่าการที่โรบินฮู้ดให้ค่ารอบที่เพิ่มขึ้น และมีระบบทิปนั่นหมายถึงแรงจูงใจให้กับไรเดอร์ในการรับงานโรบินฮู้ดมากกว่าคู่แข่ง และพยายามให้บริการที่ดีที่สุดอย่างต่อเนื่องเพื่อลูกค้าประทับใจ

และยังเป็นการเชิญชวนไรเดอร์หน้าใหม่ ๆ เข้ามาสมัครเป็นพาร์ตเนอร์วิ่งส่งอาหารเพิ่มขึ้นอีกด้วย

จากข้อมูลของโรบินฮู้ดพบว่า ในปัจจุบันไรเดอร์เคยรับงานสูงสุดถึง 44 งาน ได้ค่ารอบสูงสุด 2,500 บาทต่อวัน และค่ารอบสูงสุดต่อเดือน 35,000 บาท

การที่มีทั้งทิป และค่ารอบที่เพิ่มขึ้น อาจทำให้ไรเดอร์มีรายได้ที่เพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน

 

และทั้งหมดนี้เป็นหนึ่งในการวางระบบหลังบ้านของไรเดอร์โรบินฮู้ด เพื่อจุดประสงค์การบริการที่ดีขึ้น และเพื่อช่วยคนตัวเล็กทั้งร้านค้าและไรเดอร์แล้ว

ธนาบอกว่าวัตถุประสงค์หลักอีกอย่างหนึ่งคือถ้าคนตัวเล็กแข็งแรงจะนึกถึงไทยพาณิชย์เมื่อทำธุรกรรมเป็นธนาคารแรก

 

(อ่านเพิ่ม ตลาดฟู้ดเดลิเวอรี่ ยิ่งกดสั่ง ยิ่งแข่งกันสนุกกว่าเดิม)



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online