บริษัทเทคโนโลยี คือฟันเฟืองสำคัญที่ขับเคลื่อนและผลักดันให้เศรษฐกิจจีนโตแบบก้าวกระโดดในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา แต่การเติบโตดังกล่าวก็ก่อปัญหากวนใจให้รัฐบาลจีน ทั้งเรื่อง Big Data ของชาวจีนตามแพลตฟอร์มต่าง ๆ และความมั่งคั่งของผู้ก่อตั้ง ซึ่งส่วนใหญ่นั่งเก้าอี้ CEO ด้วย
พอมีทั้งข้อมูลและความมั่งคั่ง บริษัทเหล่านี้ก็เริ่มมีอิทธิพลต่อชีวิตชาวจีน จนกล้าท้าทายอำนาจของรัฐบาล แต่รัฐบาลของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ก็ไม่ปล่อยไว้
เหมือนที่สั่งสอน Jack Ma มหาเศรษฐีผู้ก่อตั้ง Alibaba ให้สงบคำ ด้วยการ ‘อุ้ม’ หายตัวไปนานหลายเดือนและสั่งเบรก IPO คู่ของ Ant Group บริษัทเทคโนโลยีทางการเงินในเครือ Alibana แบบกะทันหัน ภายใต้ข้ออ้างด้านการผูกขาดตลาด แต่ก็เป็นที่รู้กันว่านี่คือแผนลดขนาดและความร้อนแรงของบริษัทเทคโนโลยี
ถัดจากการลดความเหิมเกริมของ Jack Ma เมื่อปลายปี 2020 รัฐบาลจีนก็ใช้ข้ออ้างเดียวกันกับบรรดา ‘ยักษ์เทค’ ในประเทศ ทั้ง Tencent Pinduoduo Meituan และ Tiktok
ในจำนวนนี้ 2 จาก 4 บริษัท Pinduoduo และ Tiktok ถึงกับทำให้ผู้ก่อตั้งที่ควบตำแหน่ง CEO ด้วยขอลดบทบาทเสียดื้อ ๆ โดยมีการวิเคราะห์กันว่าทั้ง 2 คน ทนแรงกดดันจากรัฐบาลจีนและมาตรการเข้มงวด-คุกคามไม่ไหว
สถานการณ์ดังกล่าวทำให้ปีนี้บริษัทเทคโนโลยีจีนเปลี่ยนแผน พากันไป IPO ในสหรัฐฯ ทั้งเพื่อหนีอิทธิพลของรัฐบาลจีน เสริมภาพลักษณ์ความเป็นบริษัทระดับโลก และโอกาสในการระดมทุนที่มากกว่า
แอปเรียกแท็กซี่ Didi เป็นบริษัทในกลุ่มนี้ที่ถูกจับตามองมากสุด เพราะมีฐานผู้ใช้เฉพาะในจีนมากถึงกว่า 300 ล้านคน ท่ามกลางการคาดหมายว่าอาจเป็น IPO ใหญ่สุดของบริษัทจีนในสหรัฐฯ ถัดจาก Alibaba เมื่อปี 2014
ต้นกรกฎาคมที่ผ่านมา Didi ทำ IPO แบบสุดปังตามคาด ระดมทุนได้ถึง 4,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 141,000 ล้านบาท) และราคาหุ้นพุ่งขึ้นมาในอีก 2 วันจากนั้น แต่ก็ได้แค่นั้นเพราะรัฐบาลจีนสั่งลดความร้อนแรงและย้ำให้เห็นถึงอำนาจล้นเหลือข้ามพรมแดน
รัฐบาลจีนสั่งห้ามไม่ให้ Didi เพิ่มผู้ใช้รายใหม่ ตามด้วยดาบสอง ถอดพ้นแพลตฟอร์มดาวน์โหลดของทั้งระบบปฏิบัติการ iOS และ Android ในจีน
ดาบ 3 ตามมาอีก ด้วยการสั่งให้ Alipay และ WeChat ‘แบน’ Didi จากแพลตฟอร์ม โดยทั้งหมดใช้ข้ออ้างด้านความมั่นคงและเก็บข้อมูลผู้ใช้อย่างผิดกฎหมาย
มาตรการสั่งแบนดังกล่าวสร้างแรงสั่นสะเทือนรุนแรงไม่ต่างจากแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ ฉุดหุ้น Didi ร่วงไม่หยุด จนผู้ถือหุ้นในสหรัฐฯ ของ Didi ยื่นฟ้องฐานปกปิดข้อมูล
รัฐบาลจีนดึงดาบออกจากฝักอีกครั้งเพื่อเชือดบริษัทเทคโนโลยีที่หนีไป IPO ในสหรัฐฯ โดยเหยื่อรายต่อมาคือแอปเรียกรถบรรทุก FTA และแอปหางาน Kanzhun ภายใต้ข้ออ้างด้านความมั่นคง แม้คราวนี้ยั้งมือ แค่สั่งห้ามเพิ่มผู้ใช้ใหม่ แต่ก็ฉุดหุ้นทั้ง 2 บริษัทร่วงไม่ต่างจาก Didi
แผนสั่งแบนดังกล่าวกลายเป็นเหมือนแรงสั่นสะเทือนต่อเนื่องหลังแผ่นดินไหว (Aftershock) เพราะฉุดให้ราคาหุ้นของทั้ง Softbank กับ Uber ผู้ถือหุ้นอันดับ 1 และ 2 ของ Didi ในตลาดหลักทรัพย์ญี่ปุ่นและสหรัฐฯ ร่วงตาม
หุ้นของ NIO และ XPeng ค่ายรถ EV ในตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯ เปิดลบเพราะนักลงทุนกังวลอิทธิพลรัฐบาลจีน
ล่าสุดยังทำให้ LinkDoc บริษัทเทคโนโลยีการแพทย์ด้านตรวจมะเร็งของจีน ระงับทำ IPO ในสหรัฐฯ ไปแบบไม่มีกำหนด เพราะหวั่นโดนเหมือน Didi
มาตรการสั่งแบนรอบใหม่ของรัฐบาลมีจุดร่วมอยู่ 2 ประการ คือเป็นบริษัทที่มี Big Data ของชาวจีนจำนวนมาก และเพิ่งทำ IPO ในสหรัฐฯ เพื่อหนีมาตรการคุมเข้มในบ้านเกิด
ทางฝั่งรัฐบาลจีนใช้มาตรการนี้ไม่ใช่แค่ปราม ลดความร้อนแรงและควบคุมข้อมูลเท่านั้น แต่เพื่อสกัดไม่ให้ข้อมูลเหล่านี้รั่วไหลไปยังรัฐบาลสหรัฐฯ คู่ปรับอันดับ 1 ในสงครามการค้าด้วยนั่นเอง/cnn, cnbc, bbc, bloomberg
–
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline



