SME Think Tank/ดร. เกษม พิพัฒน์เสรีธรรม

ในระยะเวลา 5-6 ปีที่ผ่านมาธุรกิจส่งอาหารที่เราเรียกกันติดปากว่า Food Delivery เติบโตต่อเนื่องมาทุกปีไม่ต่ำกว่า 10% ทั้งนี้ เพราะเทคโนโลยี ทำให้ผู้บริโภคสามารถหยิบโทรศัพท์มือถือมากดสั่งอาหารผ่านแอปพลิเคชันต่าง ๆ ได้อย่างสะดวก รวดเร็ว

Covid-19 ทำให้ภาครัฐต้องใช้มาตรการล็อกดาวน์ ปิดศูนย์อาหาร ร้านอาหาร ไม่ให้บริการนั่งรับประทานอาหารในร้าน บริการได้เฉพาะซื้อกลับบ้าน หรือสั่งอาหารมารับประทานที่บ้าน การต้องเว้นระยะห่างและมาตรการเหล่านี้ยิ่งเป็นตัวเร่งให้ธุรกิจส่งอาหารเติบโต ปังสุด ๆ

ข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2563 จำนวนครั้งของการจัดส่งอาหารไปยังที่พักเติบโตกว่า 150% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน โรคระบาด Covid-19 ทำให้ร้านอาหารต้องปรับตัวมาใช้บริการของบริษัทส่งอาหารที่เพิ่มขึ้นทั้งจำนวนและการแข่งขัน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ว่า ธุรกิจส่งอาหารในปี 2564 จะมีมูลค่าตลาดรวมถึง 74,000 ล้านบาท และในปี 2565 จะมีมูลค่าตลาดรวมสูงถึง 82,000 ล้านบาท

ไม่ว่าเจ้าโรคระบาดร้าย Covid-19 จะอยู่กับเรานานเท่าไร (ทั้งที่ชาวโลกเบื่อเต็มทน อยากให้ไปเร็ว ๆ) ธุรกิจส่งอาหารคงปังต่อเนื่องเพราะพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไปแล้ว เคยชินกับความสะดวก และร้านอาหารต่าง ๆ มีบริการส่งอาหารถึงบ้านกันมากขึ้น

ผู้ประกอบการธุรกิจส่งอาหาร อย่างฟู้ดแพนด้า ไลน์แมน โรบินฮู้ด แกร็บฟู้ด ฟู้ดบายโฟน และอื่น ๆ ต่างเร่งพัฒนาระบบ ปรับปรุงให้ใช้งานง่าย มีรายการอาหารที่หลากหลาย และโปรโมชั่นต่อเนื่อง ทำให้ตลาดที่หอมหวานนี้โตต่อเนื่อง

การเข้ามาของผู้เล่นรายใหญ่อย่างสายการบินต้นทุนต่ำ แอร์เอเชียที่เข้าตลาดด้วย แอปพลิเคชันแอร์เอเชียฟู้ด ที่วางตำแหน่งตัวเองเป็น ซูเปอร์แอป (Airasia Super App) ชั้นนำของอาเซียนที่คาดหวังเพิ่มรายได้เสริมจากธุรกิจการบินที่ตกต่ำอย่างมากช่วง Covid-19 ระบาด

แอร์เอเชียฟู้ดประสบความสำเร็จอย่างงดงามในประเทศมาเลเชียและสิงคโปร์ ทำให้ผู้บริหารในประเทศไทยมั่นใจว่าแอร์เอเชียฟู้ดจะประสบความสำเร็จ แจ้งเกิดและอยู่ในความนิยมระดับต้น ๆ ของผู้บริโภคชาวไทยได้อย่างแน่นอน

แอร์เอเชียตั้งบริษัทขึ้นมาทำธุรกิจด้านนี้โดยเฉพาะชื่อ แอร์เอเชียดิจิทัล (Airasia Digital) ที่จะเปลี่ยนแอร์เอเชียให้เป็นบริษัทดิจิทัลเต็มรูปแบบ ตอบสนองทุกไลฟ์สไตล์ ตอบรับธุรกิจท่องเที่ยวและไลฟ์สไตล์ที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง

แอร์เอเชียดิจิทัลประกอบด้วยธุรกิจหลักคือ

  1. แอร์เอเชีย ซูเปอร์แอป ที่ครอบคลุมบริการหลากหลายทั้งการท่องเที่ยว เดินทาง ไลฟ์สไตล์ เช่น การจองเที่ยวบิน ที่พัก ส่งอาหาร ฯลฯ ทั้ง แอร์เอเชียฟาร์ม แอร์เอเชียฟู้ด แอร์เอเชียเฟรช แอร์เอเชียบิวตี้ สถาบันแอร์เอเชีย และธุรกิจต่อเนื่องที่จะพัฒนาตามฐานลูกค้าที่มากขึ้น
  1. แอร์เอเชีย โลจิสติกส์ ที่ให้บริการโลจิสติกส์ข้ามพรมแดน ครอบคลุมการจัดส่งสินค้าอีคอมเมิร์ช ฯลฯ ด้วยจุดแข็งที่มีเครือข่ายกว้างขวางครอบคลุมทั้งของแอร์เอเชียและพันธมิตร
  1. แอร์เอเชีย บิ๊กเพย์ บริษัท Fintech ที่ให้บริการ การชำระเงิน โอนเงิน การกู้ยืม ฯลฯ เสนอบริการทางการเงินที่คุ้มค่า รวดเร็วทั่วอาเซียน ธุรกิจส่งอาหารอาจเป็นเพียงธุรกิจเปิดทางต่อยอดให้ทำธุรกิจอื่น ๆ ที่กำไรเพิ่มขึ้น เมื่อสามารถสร้างฐานลูกค้าได้ใหญ่พอสมควร

เรามาดูว่าเจ้าตลาดในไทยอย่างแกร็บ (Grab) เจ้าของธุรกิจส่งอาหาร GrabFood เตรียมการรับมือตลาดและการแข่งขันที่มากขึ้นอย่างไร

GrabFood พยายามหลีกเลี่ยงการแข่งขันด้านราคาด้วยการสร้างแบรนด์และเครือข่ายให้เข้มแข็ง

การพัฒนาระบบให้สามารถรวบรัดกระบวนการสมัครของร้านค้า ร้านอาหารให้เร็วขึ้นภายใน 7 วันจากเดิมที่ต้องใช้เวลา 2-3 สัปดาห์ เร่งขยายจำนวนผู้ส่งสินค้าและอาหารด้วยการเปิดโอกาสให้คนขับรถยนต์และรถจักรยานยนต์ที่ปกติให้บริการส่งผู้โดยสารมาลงทะเบียนส่งอาหารในช่วงที่ได้ผลกระทบจากโรคระบาด Covid-19

นอกจากนี้ ยังเปิดบริการ GrabMart ที่ให้บริการสั่งซื้อสินค้าจากซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้ออย่างรวดเร็ว และจัดส่งภายใน 25 นาที เป็นการเพิ่มรายได้ให้บริษัทและเครือข่ายคนขับรถส่งอาหาร

เสริมด้วยการจัดสรรเมนูที่หลากหลายเพิ่มอิสรภาพในการกินให้ผู้บริโภคและมีเมนูที่มีขายเฉพาะ GrabFood เท่านั้น นอกจากนี้ ยังมีการอบรมเพิ่มทักษะการทำตลาดออนไลน์ ภาษาและพื้นฐานการบริหารธุรกิจแก่ร้านค้า คนขับรถส่งอาหาร รวมทั้งสนับสนุนด้านโซลูชั่นทางการตลาด

GrabFood เป็นแพลตฟอร์มออนไลน์ที่ทำตลาดในทุกระดับ ทั้งแมส เซกเมนต์ และส่วนบุคคลด้วยการนำฐานข้อมูล Big Data มาใช้เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าทุกระดับที่หลากหลายให้โดนใจ

ทางด้านพฤติกรรมผู้บริโภคชาวไทย มีผลสำรวจของไลน์แมนและวงใน สองแอปพลิเคชันชื่อดัง ที่สำรวจพฤติกรรมของผู้บริโภคใน กทม. และจังหวัดรอบ ๆ รวม 6 จังหวัดในช่วง พ.ค.-มิ.ย. 2564 พบว่า

ผู้บริโภคในจังหวัดรอบ ๆ กทม. เช่น สมุทรปราการ นนทบุรี ปทุมธานี สั่งอาหารผ่านแอปพลิชันมากกว่า คน กทม. (อาจจะเป็นเพราะทำงานที่บ้านมากขึ้น ไม่ต้องเดินทางมาทำงานใน กทม.) และวันอาทิตย์ เสาร์ ศุกร์ เป็นวันที่คนสั่งอาหารมากที่สุดตามลำดับ ส่วนช่วงเวลาที่คนนิยมสั่งอาหารคือ 11.00-14.00 น. เรียกว่ามื้อกลางวันเป็นมื้อหลักที่นิยมสั่งอาหารผ่านแอปพลิชัน

คงไม่น่าแปลกใจที่ผู้บริโภคช่วงอายุ 20-24 ปี นิยมสั่งอาหารด้วยวิธีนี้มากที่สุดตามด้วยช่วงอายุ 30-34 ปี มนุษย์ใน Gen Z และ Millennials นั่นเอง

ส่วนอาหารและเครื่องดื่มที่นิยมกันมากที่สุด คือ กาแฟ ชา โกโก้ ส้มตำ คอหมูย่าง ข้าวมันไก่ ส่วนใหญ่เป็นอาหารจานเดียว และมีราคาประมาณ 60-70 บาท

ธุรกิจส่งอาหารยังคงเติบโตต่อเนื่อง แต่จะประสบความสำเร็จมากน้อยแค่ไหน มีปัจจัยที่ต้องพิจารณาตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคให้โดนใจ ดังนี้

  1. ความสะดวกในการใช้แอปพลิชัน ทั้งการสั่งอาหาร การชำระเงิน และบริการอื่นๆ
  2. เครือข่ายที่ครอบคลุมทั้งประเภทและจำนวนร้านอาหาร จำนวนผู้ส่งอาหาร และเครือข่ายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อลดเวลาการรอของลูกค้า
  3. การสื่อสารที่ชัดเจน ตรงไปตรงมา
  4. เมนูที่หลากหลาย โปรโมชั่นที่โดนใจ ความต่อเนื่องและการสร้างฐานสมาชิก
  5. การปรับรูปแบบธุรกิจที่เหมาะสมกับการแข่งขันและสร้างผลประโยชน์ให้ทุกคนที่อยู่ในห่วงโซ่ธุรกิจ (Supply Chain)
  6. การพัฒนาการใช้งานแอปพลิชันให้ครอบคลุมไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคเพื่อสร้างรายได้เพิ่มในระยะยาว

อย่างไรก็ตาม แม้ธุรกิจส่งอาหารยังปังต่อเนื่อง แต่ก็มีปัจจัยที่ผู้ประกอบการในธุรกิจนี้ต้องเตรียมปรับตัวเพื่อเผชิญกับแรงกดดันและรักษาการเติบโตต่อเนื่อง เช่น การเติบโตที่เร่งตัวอย่างรวดเร็วในช่วงโรคระบาด Covid-19 อาจจะเป็นการเร่งให้ธุรกิจเริ่มเข้าสู่ภาวะอิ่มตัวเร็วขึ้น รวมทั้งการแข่งขันด้านราคาและโปรโมชั่นที่รุนแรงอาจทำให้ผู้ประกอบการที่ไม่แข็งแกร่งพอไม่สามารถแข่งขันได้ หรือถูกควบรวมกิจการ

ภาครัฐเพิ่มการเข้ามาควบคุมด้วยกฎ ระเบียบ เช่น ควบคุมค่าจัดส่งอาหารใน พ.ร.บ. สินค้าและบริการควบคุม พ.ศ. 2563

พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไปแล้ว ติดยึดความสะดวก ความง่าย เบื่อการจราจรที่ติดขัด และฉลาดขึ้นในการเลือกซื้อสินค้าและบริการ ไม่ว่าโรคระบาดจะอยู่หรือไปแต่ธุรกิจส่งอาหารยังคงอยู่แน่นอน



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online