ในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมาใครที่เป็นนักลงทุนในหุ้นสามัญคงจะต้องยินข่าวคราวเกี่ยวกับบริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น อย่างแน่นอน จากเหตุการณ์ที่มีข่าวคราวว่าบริษัทได้นำเงินที่ได้จากการเพิ่มทุนไปใช้ผิดวัตถุประสงค์และเลื่อนการส่งงบการออกออกไปหลายรอบ จนส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนอย่างหนักถึงขั้นที่หุ้น STARK มูลค่าร่วงจาก 3 หมื่นกว่าล้านเหลือเพียง 2 พันกว่าล้านบาทเท่านั้น

เหตุการณ์ทั้งหมดเกิดอะไรขึ้น และอะไรคือชนวนที่ทำให้เรื่องนี้ลุกลามบานปลายติดตามได้จากบทความนี้

 

ที่มาที่ไปก่อนจะมาเป็น Stark Corporation

 STARK หรือ บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เข้าตลาดหุ้นในปี 2562 โดยวิธีการที่เรียกว่า Backdoor Listing* ผ่าน บริษัท สยามอินเตอร์มัลติมีเดีย จำกัด (มหาชน) หรือ SMM ที่ทำธุรกิจสื่อและสิ่งพิมพ์

แน่นอนว่าเมื่อเข้าสู่ยุคสมัยนี้ที่ทุกคนเข้าถึงเทคโนโลยี ข้อมูลข่าวสารเป็นเรื่องที่ง่ายต่อการรับรู้ SMM จึงได้รับผลกระทบจากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปเต็ม ๆ และทำให้ผลประกอบการของ SMM ขาดทุนเรื่อยมา

หลังจากเห็นท่าว่าน่าจะลำบากหากยังดำเนินธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ซึ่งเป็นธุรกิจตะวันตกดิน ที่ประชุมคณะกรรมของ SMM จึงมีมติให้ปรับโครงสร้างบริษัทและเปลี่ยนลักษณะการประกอบธุรกิจ ณ จุดนั้น SMM ปรับตัวเองเป็น Holding Company โดยได้มีการจัดสรรหุ้นตอบแทนการซื้อและรับโอนกิจการทั้งหมด ให้กับนายวนรัชต์ ตั้งคารวคุณ และ Stark Investment Corporation Limited ของนายวนรัชต์

เมื่อดีลเรียบร้อยก็มีการนำบริษัทเข้าไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ อีกครั้งในชื่อหุ้นว่า STARK (บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)) และนิยามตัวเองว่าเป็น Holding Company หรือบริษัทที่ลงทุนในบริษัทอื่นอีกที โดยธุรกิจหลักที่ STARK นำเงินเข้าไปลงทุน คือบริษัท เฟ้ลปส์ ดอด์จอินเตอร์เนชั่นแนล (ไทยแลนด์) จำกัด ผู้เป็นผลิตสายไฟและสายเคเบิล สัญชาติอเมริกา

 *Backdoor Listing เป็นการที่บริษัท (ในที่นี้คือ Stark) เข้าตลาดหุ้นโดยทางอ้อม ซึ่งโดยถ้าเป็นบริษัทปกติก็จะมีการเสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ของบริษัทมหาชนจำกัดต่อประชาชนในครั้งแรก หรือที่เรารู้จักกันในวิธีการ IPO (Initial Public Offering) โดยการ Backdoor นี้จะให้อีกบริษัทหนึ่งที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหุ้นอยู่แล้ว (ในที่นี้คือ SMM) เข้าซื้อสินทรัพย์หรือหุ้นของบริษัทที่ต้องการจะเข้าตลาด (Stark)

  

กลิ่นของความโกลาหล

 สัญญาณของความไม่ชอบมาพากลนั้นเริ่มต้นขึ้นในเดือนมีนาคมปี 65 เมื่อ Stark ขอเพิ่มวงเงินในการออกหุ้นกู้จาก 150 ล้านดอลลาร์ เป็น 450 ล้านดอลลาร์ และขอไม่จ่ายปันผล ในส่วนของเหตุผลในการขอเพิ่มทุนนั้นคณะกรรมการบริษัท แจ้งว่า Stark จะนำเงินที่ได้จากการเพิ่มทุนไปเข้าซื้อหุ้นของบริษัท LEONI Kable GmbH ซึ่งเป็นบริษัทที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับสายเคเบิลยานยนต์ สัญชาติเยอรมัน โดยมีเป้าหมายที่จะซื้อ 100% ของหุ้นสามัญทั้งหมดของบริษัท

วิธีการที่ STARK ใช้นั้นหาใช่การไปกู้ยืมธนาคารให้เสียดอกเบี้ยไม่ แต่เป็นการ “ออกหุ้นเพิ่มทุน”โดยการเพิ่มทุนนั้นเป็นการจัดสรรหุ้นเพิ่มทุนให้แก่บุคคลในวงจำกัด หรือที่นักลงทุนรู้จักกันในชื่อของ PP หรือ Private Placement โดยทราบต่อมาว่าเป็นบรรดากองทุนใหญ่ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ได้แก่

*Credit Suisse (Singapore) Limited 74,399,900 หุ้น

*The Hongkong and Shanghai Banking Corporation 353,000,000 หุ้น

*UOB Kay Hian Private Limited 58,500,000 หุ้น

*บริษัท หลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมบัวหลวง จำกัด 320,000,000 หุ้น

*บริษัท หลักทรัพย์จัดการกองทุน กสิกรไทย จำกัด 268,817,200 หุ้น

*บริษัทเอสซีบี แอสเซ็ท แมเนจเม้นท์ จำกัด 182,000,000 หุ้น

*บริษัท หลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร จำกัด 53,763,000 หุ้น

*บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) 51,000,000 หุ้น

*บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน วรรณ จำกัด 47,029,800 หุ้น

*บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) 30,000,000 หุ้น

*บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงไทย จำกัด 29,000,000 หุ้น

*บริษัท หลักทรัพย์จัดการกองทุน อเบอร์ดีน 32,490,100 หุ้น

 

รวม 150,000,000 หุ้น  ที่มา

 

พอระดมทุนได้แล้วบรรดาเจ้าของทุนเองก็คาดหวังว่า Stark จะนำเงินไปซื้อหุ้นของบริษัทที่เยอรมัน และขยายขอบเขตการเติบโตออกไปอีก แต่ทว่าเรื่องทั้งหมดกลับไม่ได้เป็นเช่นนั้น

ไฮไลต์อยู่ที่วันที่ 13 ธันวาคม ปี 2565 ทาง Stark ประกาศถอนสมอไม่นำเงินที่ได้ไปลงทุนหุ้นของบริษัท LEONI Kable โดยให้เหตุผลว่ามีการเปลี่ยนแปลงในปัจจัยทางลบเกิดขึ้นและกระทบกับสถานะทางการเงินของบริษัท LEONI โดย ณ ขณะนั้นทาง Stark ก็ยังไม่สามารถชี้แจงกับนักลงทุนได้ว่า แล้วจะนำเงินที่ได้จากการเพิ่มทุนไปทำอะไรต่อ

จนเวลาล่วงเลยผ่านไปเกือบ  2 เดือน Stark แจ้งว่าจะนำเงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ไปใช้หนี้เงินกู้ธนาคารและเก็บไว้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในบริษัท ทั้งยังแจ้งขอส่งงบการเงินล่าช้า ซึ่งนับเป็นครั้งที่ 1 จนกระทั่ง ตลาดหลักทรัพย์ฯ ขึ้นเครื่องหมาย SP (Trading Suspension) หรือห้ามซื้อขายเป็นการชั่วคราว เหตุมาจากการไม่ส่งงบการเงิน

ช่วงเดือนเมษายน เหตุการณ์เริ่มส่อแววไม่ชอบมาพากลเมื่อกรรมการบริหารบริษัท 7 คนพร้อมใจกันลาออกพร้อมกับการขอเลื่อนส่งงบการเงินเป็นครั้งที่ 3 (เป็นเดือน พ.ค.-มิ.ย. ปี 2566) โดยเมื่อวันที่ 26 เม.ย. ทาง STARK ออกมาเปิดเผยว่ามีหุ้นกู้ที่กำลังจะผิดนัดชำระหนี้ถึง 5 ชุด รวมมูลค่ากว่า 9,000 ล้านบาท

ล่าสุดเดือนพฤษภาคม 2566 ทาง STARK  ก็ยังไม่มีวี่แววว่าจะส่งงบการเงินแต่อย่างใด จนกระทั่งตลาดหลักทรัพย์ฯ ต้องขึ้นเครื่องหมาย C เพื่อเตือนนักลงทุนให้ระวังการซื้อขายเนื่องจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอาจส่งผลกระทบต่อฐานะทางการเงินและการดำเนินธุรกิจ

ความคืบหน้าล่าสุด ณ วันที่เขียนต้นฉบับนี้ ก.ล.ต. ได้มีการสั่งให้ STARK ออกมาชี้แจงประเด็นที่เกิดขึ้น โดยบริษัทเองก็ได้แจ้งต่อตลาดฯ และนักลงทุนว่าจะออกมาชี้แจงและส่งงบการเงินภายในวันที่ 16 มิถุนายน 2566

 

จากสวรรค์สู่นรก

 ณ วันที่ 3 มิถุนายน 2566 จำนวนหุ้นจดทะเบียนของ Stark อยู่ที่ 13,406,404,956 ณ ราคาซื้อขายที่ 0.22 และเคยลงไปทำราคาต่ำสุดอยู่ที่ 0.14 บาท หรือคิดเป็นมูลค่าอยู่ที่  1,876,896,693 บาท จากที่เคยทำสถิติราคาสูงสุดตลอดกาลอยู่ที่เกือบ 7 บาท หรือคิดเป็นมูลค่ากิจการประมาณ 90,000 ล้านบาท(ในช่วงปี 2019)

เราไม่อาจทราบได้ว่านักลงทุนรายย่อยที่มองว่า STARK กำลังไปได้สวยในช่วงที่มีข่าวว่าจะไปเทกโอเวอร์บริษัทเยอรมันนั้นจะได้รับความเสียหายมากเท่าไร แต่สิ่งหนึ่งที่รับรู้ได้แน่นอนคือในสังเวียนการลงทุนเราจำเป็นจะต้องดูแลตัวเองเนื่องจากเงินลงทุนที่เรานำไปลงทุนเป็นเงินของเราถ้าเราวิเคราะห์ตีแตกราคาหุ้นอาจไปสวรรค์ แต่ถ้าไม่ก็จะเหมือนกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้

 

ความหวังอันเลือนรางกับบทเรียนราคาแพง

 ในตอนนี้นิติบุคคลที่น่าจะเจ็บหนักที่สุดคงหนี้ไม่พ้นบรรดาเจ้าหนี้ทั้งที่เป็นเจ้าหนี้จริงๆ นั่นก็คือธนาคารและเป็นเจ้าหนี้ตามสิทธิ์การถือใบแสดงสิทธิความเป็นเจ้าหนี้อย่างคนที่ซื้อหุ้นกู้

โดยเจ้าหนี้ที่เป็นธนาคารที่มีความเกี่ยวข้องกับมหากาพย์นี้คือธนาคารใหญ่ 2 เจ้านั่นก็คือ ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) และธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ซึ่งปล่อยสินเชื่อให้กับ Stark รวมกันมากถึง 8,000 ล้านบาท

นักลงทุนหลายคนกังวลว่าถ้าธนาคารถูกเบี้ยวหนี้ขึ้นมาจะทำอย่างไร จะส่งผลกระทบให้เกิดการตั้งสำรองเพิ่มมากขึ้นหรือไม่ เรื่องนี้ส่งผลต่อความเชื่อมั่นนักลงทุนแน่นอนอย่างไม่ต้องสงสัย ซึ่งก็คงต้องติดตามต่อไปว่าแล้วมหากาพย์เรื่องนี้จะจบลงอย่างไร Stark จะหาเงินมาคืนเจ้าหนี้ได้หรือไม่ 16 มิถุนายน นี้ถ้าไม่เกิดการเลื่อนขอส่งงบการเงินอีก คงได้รู้กันว่าเบื้องหลังตัวเลขทางการเงินทั้งหมดมี “ที่ไป” อย่างไรและผู้บริหารจะออกมารับผิดชอบต่อความเสียหายที่ยากจะประเมินนี้อย่างไร

หรือสุดท้ายแล้วบทเรียนนี้จะมีราคาแสนแพงให้นักลงทุนรุ่นหลัง ๆ ได้เก็บไว้เป็นกรณีศึกษา

 

อ้างอิง

https://www.set.or.th/th/market/news-and-alert/newsdetails?id=16653590211491&symbol=STARK

https://www.settrade.com/th/equities/quote/STARK/historical-trading

https://www.starkcorporation.com/web/th/homepage-2/

https://www.moneybuffalo.in.th/

https://stock2morrow.com/

https://www.investerest.co/business/backdoor-listing-2/

https://www.set.or.th/th/market/information/trading-procedure/trading-signs



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online