ใครที่เคยอยู่ต่างประเทศคงคุ้นเคยและรู้จักแบรนด์ Campbell’s (แคมป์เบลล์) เป็นอย่างดี เพราะ Campbell’s เป็นหนึ่งในแบรนด์ซุปกระป๋องที่ฮิตมาก ๆ ในต่างประเทศ โดยเฉพาะรสชาติ Campbell’s Chicken Noodle Soup (ซุปบะหมี่ไก่ข้นกระป๋อง) ด้วยรสชาติที่กลมกล่อมทำให้ผู้คนตกหลุมรักจนเป็นสินค้าขายดีได้ไม่ยาก
จึงเป็นที่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ถ้าพูดถึงซุปกระป๋องที่โด่งดังและมีชื่อเสียงมากที่สุดในโลก คงไม่มีใครเกินหน้าซุปกระป๋อง Campbell’s อีกแล้ว เพราะเอกลักษณ์เด่นด้วยฉลากสีแดงและสีขาวที่ทุกคนเห็นจนชินตา จนเชื่อได้ว่าแม้บางคนจะไม่เคยได้ลอง แต่รับรองได้ว่าคงเคยเห็นผ่านตามาบ้างแน่นอน
ถ้ากล่าวถึงความยิ่งใหญ่ของ Campbell’s แบรนด์ผู้สร้างตำนานซุปกระป๋องแล้วละก็คงนึกถึงบริษัทยักษ์ใหญ่ที่ผลิตซุปแน่นอน แต่นอกจากซุปแล้ว Campbell’s ยังดำเนินธุรกิจด้านการผลิตและการตลาดผลิตภัณฑ์อาหารสะดวกซื้ออย่าง ขนมขบเคี้ยวและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพอีกด้วย
นอกจากนี้ Campbell’s ยังได้รับการจัดอันดับจาก Forbes Global 2000 ซึ่งเป็นการจัดอันดับบริษัทที่ใหญ่ที่สุดในโลกโดยวัดจากยอดขาย กำไร สินทรัพย์ และมูลค่าตลาด โดย Campbell’s อยู่อันดับที่ 1,328
โดยในปี 2022 มีรายได้ 8.3 พันล้านดอลลาร์ กำไร 921 ล้านดอลลาร์
ในปี 2021 มีรายได้ 8.5 พันล้านดอลลาร์ กำไร 1.6 พันล้านดอลลาร์
ในปี 2020 มีรายได้ 8.3 พันล้านดอลลาร์ กำไร 508 ล้านดอลลาร์
ในปี 2019 มีรายได้ 9.8 พันล้านดอลลาร์ ขาดทุน 164 ล้านดอลลาร์
และในปี 2018 มีรายได้ 7.9 พันล้านดอลลาร์ กำไร 1.1 พันล้านดอลลาร์
แต่รู้หรือไม่ว่าเบื้องหลังของแบรนด์ซุปกระป๋องระดับตำนาน Campbell’s ที่มีอายุเก่าแก่ถึง 154 ปี มีจุดเริ่มต้นมาจากอะไร แล้ว Campbell’s ทำอย่างไรถึงกลายเป็นยักษ์ใหญ่ผู้ผลิตซุปกระป๋องยอดนิยม จนสามารถครองใจผู้คนใน 120 ประเทศทั่วโลก และสร้างยอดขายได้มากกว่า 2 พันล้านกระป๋องต่อปี
มารู้จักกับ Campbell’s แบรนด์ซุปกระป๋องในตำนานกันเลย
จุดเริ่มต้นของ Campbell’s เริ่มต้นขึ้นในปี 1869 โดย Joseph Albert Campbell (โจเซฟ อัลเบิร์ต แคมป์เบลล์) ผู้ค้าส่งผักและผลไม้ และ Abraham Anderson (อับราฮัม แอนเดอร์สัน) ผู้ผลิตกล่องน้ำแข็ง ได้ร่วมมือกันก่อตั้งบริษัท Anderson & Campbell ขึ้นมาในเมืองแคมเดน รัฐนิวเจอร์ซีย์ สหรัฐอเมริกา โดยทำธุรกิจเกี่ยวกับการผลิตมะเขือเทศ ผักกระป๋อง เยลลี่ เครื่องปรุงรส เนื้อสับ รวมถึงอาหารอื่น ๆ
ต่อมา Abraham Anderson เพื่อนร่วมก่อตั้งกลับถอนตัวออกจากการเป็นหุ้นส่วนธุรกิจ จนทำให้ Joseph A. Campbell รู้สึกลังเลว่าจะทำธุรกิจต่อไปดีหรือไม่ แต่เขาก็ตัดสินใจที่จะทำธุรกิจต่อไป จึงได้ปรับโครงสร้างบริษัทใหม่
หลังจากนั้นไม่นาน Joseph A. Campbell ก็ได้เกษียณและส่งต่อตำแหน่งให้ Arthur Dorrance (อาเธอร์ ดอร์เรนซ์) ผู้จัดการโรงงานที่ช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์ ขึ้นเป็นประธานบริษัท และเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น Joseph Campbell Preserve Co.
และในปี 1897 Arthur Dorrance ได้จ้าง John T. Dorrance (จอห์น ที. ดอร์เรนซ์) นักเคมีที่จบจาก MIT และ Göttingen University ผู้เป็นหลานชายของเขา และนั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ Campbell’s เป็นที่รู้จักในฐานะผู้ผลิตซุปกระป๋องหลากรสชาติที่อัดแน่นไปด้วยส่วนผสมจำนวนมาก จนกลายเป็นสินค้ายอดนิยมติดตลาดและเป็นขวัญใจผู้คนมาจนถึงปัจจุบัน
John T. Dorrance มีบทบาทสำคัญในการช่วยแบรนด์ Campbell’s เติบโตอย่างแข็งแกร่ง เพราะเขาได้คิดค้นกระบวนการกลั่นซุป โดยลดปริมาณน้ำ ซึ่งเป็นส่วนผสมที่มีจำนวนมากที่สุดออกไป เพื่อให้เป็นซุปข้นที่ยังสามารถคงคุณภาพของส่วนผสมทั้งหมดไว้ได้อย่างไม่ผิดเพี้ยน
ซึ่งนวัตกรรมการลดน้ำในซุปกระป๋องนี้เป็นการช่วยลดต้นทุนทั้งในด้านบรรจุภัณฑ์ การขนส่ง และการเก็บรักษา ส่งผลให้ Campbell’s สามารถจัดจำหน่ายซุปกระป๋องได้ในราคาถูกกว่าท้องตลาด สิ่งนี้ได้กลายเป็นจุดเด่นที่ทำให้ Campbell’s สร้างยอดขายได้เพิ่มขึ้น เข้าถึงผู้คนได้มากขึ้น จนสามารถขยายบริษัทได้อย่างรวดเร็ว
ในปี 1914 John T. Dorrance ได้ซื้อกิจการ Campbell’s มาเป็นของตัวเองและขึ้นเป็นประธานบริษัท ก่อนเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น Campbell Soup Company ในปี 1922 เพื่อเน้นย้ำความนิยมของซุปข้นของ Campbell’s ในขณะนั้น
รสชาติของ Campbell’s ซุปที่ถูกใจผู้คนทั่วโลก
ตั้งแต่ Campbell’s ก่อตั้งมาก็ได้ผลิตซุปรสชาติต่าง ๆ มากกว่า 100 รสชาติ ซึ่งรสชาติแรกที่ผลิตออกมาคือ ซุปมะเขือเทศ (Campbell’s Tomato Soup) โดยผลิตขึ้นมาครั้งแรกในปี 1895 และหลังจากเปิดตัวจนมาถึงตอนนี้ซุปมะเขือเทศก็เป็นที่นิยมตลอดมา มียอดขายอยู่ใน 5 อันดับแรก
โดยรสชาติที่ได้รับความนิยมสูงสุดคือ ซุปบะหมี่ไก่ข้น (Campbell’s Chicken Noodle Soup) ซุปมะเขือเทศ ซุปครีมไก่ (Campbell’s Cream of Chicken) ซุปครีมเห็ด (Campbell’s Cream of Mushroom) และซุปไก่และข้าว (Campbell’s Chicken With Rice)
ทั้ง 5 รสชาตินี้เป็นรสชาติฮอตฮิตที่ขายดีตลอดกาล ประกอบกับรสชาติอื่น ๆ ของ Campbell’s ทำให้ Campbell’s สามารถทำยอดขายถล่มทลายได้ถึง 2.1 พันล้านกระป๋องต่อปี ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการอุดหนุนของผู้คนชาวอเมริกันที่มียอดซื้อเฉลี่ยกว่า 440 ล้านกระป๋อง หรือนับเป็น 1 ใน 5 ของยอดขายทั้งหมดนั่นเอง
ภาพจำที่เป็นเอกลักษณ์ของ Campbell’s
เชื่อได้เลยว่าหลายคนคงรู้จัก Campbell’s จากสีบรรจุภัณฑ์ที่เป็นสีแดงและสีขาว ซึ่งเป็นสีประจำทีมฟุตบอลของ Cornell University (มหาวิทยาลัยคอร์เนลล์) ที่เป็นทีมฟุตบอลที่ผู้บริหารของบริษัทในสมัยนั้นชื่นชอบจึงได้นำโทนสีนี้มาใช้ในบรรจุภัณฑ์
บวกกับภาพบนฉลากซุปกระป๋องของ Campbell’s ที่ได้ Andy Warhol (แอนดี้ วอร์ฮอล) ศิลปินชาวอเมริกันชื่อดังระดับโลกผู้บุกเบิกศิลปะแนวป๊อปอาร์ต ที่ปัจจุบันภาพนี้มีราคาประมูลสูงกว่า 666 ล้านบาท เรียกได้ว่าฉลากของ Campbell’s ได้กลายเป็นหนึ่งในงานศิลปะสุดโด่งดังเลยทีเดียว
โดยภาพบนฉลากของ Campbell’s ได้เริ่มต้นขึ้นในปี 1962 ซึ่ง Andy Warhol ได้วาดภาพนี้ขึ้น เพราะเขาเป็นแฟนพันธุ์แท้ของ Campbell’s เขาได้รับประทานซุปกระป๋องของ Campbell’s เป็นอาหารกลางวันติดต่อกันทุกวันมาเกือบ 20 ปี และเมื่อเขาได้เปิดตัวผลงานนี้ ภาพวาดของเขาก็ได้โด่งดังและกลายเป็นที่จดจำ จนสามารถสร้างชื่อเสียงให้แบรนด์ Campbell’s ได้ไปในตัว
Campbell’s จึงได้ส่งซุปมะเขือเทศกระป๋องที่เป็นต้นแบบของภาพวาดให้ Andy Warhol เพื่อแทนคำขอบคุณ และจ้างให้เขาวาดภาพซุปกระป๋องในเวอร์ชันอื่น ๆ เพิ่มเติมอีกด้วย เขาจึงได้วาดภาพชุดฉลากซุป Campbell’s จำนวน 32 ภาพบนผืนผ้าใบขนาด 20 × 16 นิ้ว โดยทั้งหมดจะเป็นกระป๋องสีแดงขาวคาดข้างบน และมีตัวอักษรบอกชื่อรสชาติที่แตกต่างกัน
และล่าสุดในปี 2012 Campbell’s ได้เปิดตัวซีรีส์กระป๋องซุปมะเขือเทศรุ่นลิมิเต็ดอิดิชัน พร้อมฉลากที่ได้รับแรงบันดาลใจจาก Andy Warhol ในโอกาสครบรอบ 50 ปีที่เขาได้สร้างผลงานชุดโด่งดังนี้อีกด้วย
กลยุทธ์ที่ Campbell’s ใช้ในการโปรโมตแบรนด์
นอกจากเรื่องรสชาติและบรรจุภัณฑ์ที่ขึ้นชื่อแล้ว Campbell’s ยังได้ใช้กลยุทธ์และแคมเปญส่งเสริมการตลาดมากมาย อย่างในปี 1904 ที่บริษัทได้เปิดตัว Campbell Kids แคมเปญที่มีภาพวาดเด็ก ๆ มาโปรโมต เพื่อดึงดูดความสนใจของกลุ่มคุณแม่ แน่นอนว่าผลลัพธ์ก็ออกมาอย่างเป็นที่น่าพอใจ เนื่องจากยอดขายของ Campbell’s พุ่งสูงขึ้นเป็นเท่าตัวในทันที
หรือในปี 1931 ที่ Campbell’s ได้เริ่มใช้กลยุทธ์ Music Marketing ผ่านการโฆษณาทางวิทยุด้วยเสียงจิงเกิล “M’m! M’m! Good!” จนทำให้เพลงโฆษณานี้ฮิตติดหูผู้คนชาวอเมริกันกันเลยทีเดียว ส่งผลให้ “M’m! M’m! Good!” ได้กลายเป็นสโลแกนที่ติดปากของ Campbell’s เพราะในช่วงเวลานี้ Campbell’s ได้ขยายการผลิตไปยังแคนาดาและเกาะบริเตนใหญ่ รวมถึงเปิดตัวรสชาติใหม่ ๆ ทำให้บริษัทจำเป็นต้องยกระดับการตลาด จึงได้มีการสร้างสโลแกนขึ้นมานั่นเอง
และเมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป Campbell’s ก็ได้ปรับเปลี่ยนให้เข้ายุคสมัยด้วยเช่นกัน โดยในปี 2021 Campbell’s ก็ได้มีการออกแบบฉลากใหม่ในรอบ 50 ปี โดยที่ยังคงความรู้สึกโดยรวมของฉลากซุปรุ่นแรกตั้งแต่ปี 1898 ไว้ตามเดิม
นอกจากนี้ Campbell’s ยังได้เข้าสู่ตลาด NFT (Non-Fungible Token) ที่กำลังมาแรงในขณะนั้น โดยการลงคอลเลกชัน NFT จำนวน 100 ชิ้น เพื่อเฉลิมฉลองการปรับปรุงฉลากใหม่ และยังได้สร้างการมีส่วนร่วมระหว่างแบรนด์กับผู้บริโภคได้อีกด้วย
Campbell’s ยังได้กลับมาใช้กลยุทธ์ Music Marketing อีกครั้งในรูปแบบที่ทันสมัยขึ้น ซึ่งเป็นการร่วมมือกับ Universal Music Group ค่ายเพลงใหญ่ โดย Campbell’s ได้เพิ่มคิวอาร์โค้ดลงไปบนฉลากของบรรจุภัณฑ์ และในคิวอาร์โค้ดจะเป็นการแนะนำสูตรอาหารพร้อมเพลย์ลิสต์เพลงที่มีการอัดใหม่จากศิลปินค่าย UMG ซึ่งกลยุทธ์นี้ทำให้ Campbell’s ได้มีส่วนร่วมกับผู้บริโภคมากยิ่งขึ้นนั่นเอง
บทสรุป
Campbell’s เป็นหนึ่งในผู้ผลิตซุปรายใหญ่ที่สุดของโลก รวมไปถึงผลิตภัณฑ์พาสต้ากระป๋อง ขนมขบเคี้ยว เครื่องดื่ม และผักและผลไม้กระป๋อง โดยผลิตภัณฑ์ของบริษัทนั้นจัดจำหน่ายใน 120 ประเทศทั่วโลก แบรนด์ Campbell’s อยู่ในอันดับที่ 190 ในรายชื่อ Global Top 1,000 Brands ซึ่งจัดอันดับโดยกลุ่มลูกค้าและผู้บริโภค
ด้วยการควบรวมและซื้อกิจการ บริษัทจึงได้เติบโตขึ้นจนกลายเป็นหนึ่งในบริษัทอาหารแปรรูปที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐอเมริกา โดยมีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายภายใต้แบรนด์หลักอย่าง Campbell’s ซึ่งความนิยมของ Campbell’s ในสหรัฐอเมริกานั้นได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก
เห็นได้จากการสำรวจที่พบว่ากว่า 95 เปอร์เซ็นต์ของชาวอเมริกันชอบซุป Campbell’s โดยคนในกลุ่มนี้กว่าครึ่งหรือร้อยละ 48 เคยนำซุปกระป๋อง Campbell’s เสิร์ฟแขกที่มากินข้าวที่บ้านโดยโกหกว่าเป็นซุปที่พวกเขาทำเอง จนกล่าวได้ว่า Campbell’s กลายเป็นอาหารที่ชาวอเมริกันต่างหลงรักในความง่าย และเป็นของโปรดที่พวกเขากินยามรีบเร่งได้อีกด้วย
ที่มา:
https://www.forbes.com/companies/campbell-soup/?sh=414467345b6b
https://www.britannica.com/topic/Campbell-Soup-Company
https://en.wikipedia.org/wiki/Campbell_Soup_Company
–
ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ