ภาพรวมอุตสาหกรรมต่าง ๆ ทั่วโลกในปีนี้ยังคงเป็นการปรับตัวเพื่อให้สามารถรับมือกับสถานการณ์โควิดที่ยังไม่นิ่ง หลังโควิดแผลงฤทธิ์อีกครั้ง กลายพันธุ์เกิดเป็นสายพันธุ์ใหม่โอไมครอน
หนึ่งอุตสาหกรรมที่ผุดโปรเจกต์ลงทุนมากมายคือชิป เพราะย้อนไปช่วงที่โควิดรอบแรกกำลังเล่นงานโลกอย่างหนัก อุตสาหกรรมชิปได้รับผลกระทบพอสมควร
แม้ไม่ถึงขั้นล้มละลายเหมือนสายการบินและค้าปลีก แต่อุตสาหกรรมชิปก็เผชิญปัญหาสัดส่วนการผลิตเสียสมดุล เพราะต้องให้น้ำหนักกับ Mobile Device และโน้ตบุ๊ก ซึ่งช่วงล็อกดาวน์มากกว่าเครื่องใช้ไฟฟ้าและยานยนต์
สถานการณ์ดังกล่าวทำให้บรรดายักษ์ชิปพากันเดินหน้าลงทุนสร้างโรงงานในประเทศต่าง ๆ ทั้งเพื่อเตรียมพร้อมรับวิกฤตในอนาคตและรองรับความต้องการชิปที่จะเพิ่มขึ้นอย่างมาก ตามการขยายตัวของ Internet of Things และระบบ 5G
มาดูว่าแต่ละแบรนด์มีความเคลื่อนไหวอย่างไรบ้าง
TSMC: เบอร์หนึ่งขอประเดิมที่ญี่ปุ่น
จากบริษัทที่แทบไม่มีใครรู้จัก มาวันนี้ TSMC กลายเป็นชื่อที่คุ้นตาและปรากฏตามสถานการณ์โควิดโดยเฉพาะประเด็นทางธุรกิจและเทคโนโลยีอยู่เสมอ เพราะเป็นบริษัทผู้ผลิตชิปอันดับหนึ่งสัญชาติไต้หวันที่ครองส่วนแบ่งมากสุดในตลาดโลก ดังนั้นทุกความเคลื่อนไหวจึงถูกจับตามอง
ทั้งซื้อรถน้ำหลายคันมาใช้ในโรงงานหลังไต้หวันเผชิญภัยแล้ง ตกอยู่ท่ามกลางสถานการณ์การเมือง-การค้าโลกที่จีนกับสหรัฐฯ เริ่มกลับมาห้ำหั่นกันอีกครั้ง และแน่นอนแผนลงทุนสร้างโรงงานในประเทศต่าง ๆ เพราะลำพังแค่โรงงานในประเทศบ้านเกิดคงจะไม่พอรับมือกับสถานการณ์ในอนาคต
ต้นพฤศจิกายนที่ผ่านมา TSMC ประกาศร่วมมือกับ Sony สร้างโรงงานในเมืองคุมาโมโตะของญี่ปุ่น ภายใต้งบลงทุน 7,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 233,000 ล้านบาท) โดยเป็นก้อนแรกจากทั้งหมด 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 3.2 ล้านล้านบาท) ในการผลิตและพัฒนาชิปอีก 3 ปีจากนี้
สำหรับตัวโรงงานจะเริ่มสร้างในปี 2022 แล้วเสร็จในปี 2024 และสร้างงานได้ราว 1,500 ตำแหน่ง
Samsung: เบอร์สองขอเล่นใหญ่ในสหรัฐฯ
เป็นที่รู้กันว่า Samsung เป็นเครือธุรกิจใหญ่ (Chaebol) ใหญ่สุดของเกาหลีใต้ ซึ่งความมหึมาดังกล่าวประกอบขึ้นจากธุรกิจมากมายใต้ชายคา โดยหนึ่งในนั้นคือชิป ที่ Samsung ครองส่วนแบ่งอันดับ 2 ในตลาดโลก
เมื่อวิกฤตโควิดกระทบต่อ Supply Chain ในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีโดยเฉพาะชิป Samsung จึงนิ่งเฉยไม่ได้เช่นกัน โดยปลายพฤศจิกายน Samsung ตกเป็นข่าวใหญ่ ด้วยการทุ่ม 17,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 567,000 ล้านบาท) สร้างโรงงานที่เมือง Taylor รัฐเทกซัส สหรัฐฯ
นี่ถือเป็นการลงทุนครั้งใหญ่สุดในสหรัฐฯ ของ Samsung โดยตัวโรงงานจะแล้วเสร็จในปี 2024 และจะสร้างงาน 2,000 ตำแหน่ง
Intel: แบรนด์เก๋าอเมริกันขอย้ำความสำคัญของมาเลเซีย
หลังแบรนด์เอเชียต่างพากันขยับ Intel แบรนด์เทคโนโลยีอเมริกันก็อยู่เฉยไม่ได้ โดยเมื่อกลางธันวาคม Intel ประกาศสร้างโรงงานแห่งใหม่ในมาเลเซีย ภายใต้งบ 7,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 237,000 ล้านบาท) คาดว่าจะเริ่มผลิตได้ในปี 2024 และสร้างงาน 4,000 ตำแหน่ง
โรงงานแห่งใหม่ของ Intel ยังย้ำความสำคัญของมาเลเซีย ที่เป็นที่ตั้งของโรงงานนอกสหรัฐฯ แห่งแรก และที่สร้างมาตั้งแต่ยุค 70 โดยเมื่อรวมกันจำนวนพนักงานในมาเลเซียจะคิดเป็น 10% ของพนักงาน Intel ทั่วโลก
Global Foundries: แบรนด์รองขอเล็กแต่ล้ำในสิงคโปร์
Global Foundries เป็นอีกแบรนด์ในอุตสาหกรรมชิปสัญชาติอเมริกันที่เคลื่อนไหวเช่นกันในปีนี้ โดยย้อนไปเมื่อช่วงมิถุนายนได้ประกาศเดินหน้าสร้างโรงงานในเขต Woodlands ทางตอนเหนือของสิงคโปร์ ภายใต้งบลงทุน 4,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 127,000 ล้านบาท)
แม้จ้างงานเพียง 1,000 ตำแหน่ง แต่ต้องบอกว่าโรงงานแห่งนี้ที่จะเริ่มเดินเครื่องผลิตได้ในปี 2023 นั้นเล็กพริกขี้หนูเหมือนสิงคโปร์ โดยมีจุดเด่นอยู่ตรงโซนอัตโนมัติเต็มรูปแบบขนาด 250,000 ตารางฟุต ควบคุมด้วยหุ่นยนต์และ AI/cnn, cnbc, sony, ap, fortunebusinessinsights
–
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline



