ผยง ศรีวณิช กับภารกิจพา KTB ไต่เขา 3 ลูก (สัมภาษณ์พิเศษ)

แผนทุกอย่างต้องเร็วขึ้น ภายใต้ความท้าทายใหม่ๆ

ผยง ศรีวณิช กรรมการ และกรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)  กล่าวว่า

“ยุทธศาสตร์เดิมที่ถูกวางไว้สมัยคุณวรภัค
เป็นสิ่งที่ดีอยู่แล้ว ผมยังไม่จำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลง แต่จะมีการโฟกัสในจุดที่ต้องทำ และมีทิศทางชัดเจนขึ้น โดยเป้าหมายเดิมยังอยู่ต่อไป แต่ต้องย่นระยะ ให้สั้นจากแผนเดิม”

 เขายอมรับว่า ความท้าทายยังมีในหลายๆ มิติ จากกการปรับเปลี่ยนของอุตสาหกรรมการเงิน การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภค และสิ่งที่ต้องเร่งทำคือการลงทุนทางด้านไอที

“ต้องยอมรับว่าเราอาจจะลงทุนช้ากว่าคนอื่นในเรื่องไอที แต่การลงทุนที่ช้ากว่าไม่ได้ หมายความว่า ต้องเสียเปรียบธนาคารอื่นเสมอไป ขึ้นอยู่กับว่าสามารถที่จะนำระบบเทคโนโลยีไปต่อยอดเพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ได้หรือไม่ แต่ ยอมรับว่าเรื่องนี้เราช้าอีกต่อไปไม่ได้เหมือนกัน”

สำหรับยุทธศาสตร์หลักที่เพิ่มขึ้นมาในปีนี้ ธนาคารต้องกลับมาดูว่าจุดแข็งของตัวเองว่า คืออะไร ลูกค้าในกลุ่มธุรกิจหลักคือใคร

ธนาคาร ต้องตอบโจทย์ภารกิจต่างๆ ในบริบทความเป็นไฮบริดแบงก์ (HyBrid Bank) คือ การเป็นพันธมิตรของรัฐบาลในการขับเคลื่อนตลาดเงิน ซึ่งเป็นความได้เปรียบอย่างที่ธนาคารอื่นไม่มี ซึ่งธนาคารจะต่อยอดความได้เปรียบในเรื่องความแข็งแรงโดยได้แบ่งออกเป็น 2 สายหลักคือ1. ด้าน Payment หรือระบบการชำระเงิน 2. การเติบโตทางด้านสินเชื่อ

ในส่วนของ Payment ทางกรุงไทยก็เป็นตัวหลักในการปรับเปลี่ยนรูปแบบ เพื่อนำไปสู่ภารกิจยุทธศาสตร์หลักของประเทศ ในเรื่อง National
ePayment และในเรื่องของ Cashless Society สังคมไร้เงินสดอย่างเต็มรูปแบบ

ทางด้านสินเชื่อธนาคารยังมุ่งเน้นการให้สินเชื่อในโครงการต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนเหมือนที่ผ่านมา แต่ต่อไปจะโฟกัสเป็นพิเศษในเรื่องของการค้าชายแดน และการ เข้าไปสู่ CLMV เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้สะดวกยิ่งขึ้น

กำหนด CLMV Strategy 

“ยุทธศาสตร์เราไม่ได้เปลี่ยน แต่จะกระชับกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจนขึ้น ในจุดของ เขตเศรษฐกิจพิเศษ และ 18 จังหวัดตามตะเข็บใน แนวชายแดน ซึ่งแต่ละจังหวัดเรามีประมาณ 15 สาขา รวมแล้วเกือบ 300 สาขา”

เป็นอีกบริบทหนึ่งที่เป็นจุดแข็งของกรุงไทยซึ่งต้องเติบโตและต่อยอดไปให้ได้

“เราต้องเข้าใจพื้นที่แต่ละจุดว่าเป็นการค้าประเภทไหน เราจะเอาระบบชำระเงินไปช่วยลูกค้า เพื่อให้เปลี่ยนเงินจากมือหนึ่งไปสู่มือหนึ่งได้ง่ายขึ้น หรือสนับสนุนผู้ประกอบการให้ทำธุรกิจข้ามชายแดนได้อย่างมีประสิทธิภาพ หรือถ้าลูกค้ามั่งคั่งแล้ว เราก็เป็นแหล่งให้ลูกค้านำเงินมาให้เราบริหาร รวมถึงพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษด้วย ส่วนการค้าชายแดน เน้นการค้าที่สามารถวิ่งสู่CLMV และจาก CLMV กลับมาสู่ไทยได้สะดวกยิ่งขึ้น”

ทั้งหมดนี้จะเน้นการผสมผสานในทุกภาคส่วนของกรุงไทย ให้ได้ประโยชน์สูงสุด ให้สอดคล้องกับ แนวคิด “One KTB รวมพลังเป็นหนึ่งเดียว มุ่งสู่ความเป็นหนึ่ง” 

ดิจิทัลแบงก์กิ้งต้องชัดเจน

การเป็น ดิจิทัลแบงก์กิ้งอย่างเต็มรูปแบบนั้น ส่วนภายในจะ เน้นประสิทธิภาพในการทำงานโดยให้ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี ได้อย่างมีประสิทธฺภาพสูงสุด เพื่อการลดต้นทุน แต่ทำงานได้ดีขึ้น เพื่อเพิ่มประสบการณ์ที่พึงพอใจให้กับลูกค้า

ส่วนภายนอกต้องคิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่ต่างไปจากเดิม อาจจะเป็นผลิตภัณฑ์เดิม ในรูปแบบใหม่ หรือเป็นกลุ่มของผลิตภัณฑ์ที่เรียกว่า Product packaging ใหม่เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าของสังคม ที่เปลี่ยนไปโดยมีตัว ฟินเทค หรือเทคโนโลยี ไฟแนนเชียล เป็นหนึ่งในเครื่องมือที่จะทำให้เข้าสู่การปรับตัวสู่ดิจิทัล แบงกิ้ง ได้อย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ธนาคารจำเป็นต้องมีความเข้าใจวัตถุ
ประสงค์การนำฟินเทคมาปรับใช้ เพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุดกับลูกค้า และทำองค์กรให้พร้อมจะเชื่อมต่อฟินเทคอื่นๆ ในโลก ไม่เพียงแต่เชื่อมแต่คนอื่น แต่ตัวเองต้องพร้อมเพื่อให้คนอื่นมาเชื่อมต่อแบงก์ ซึ่งเป็นเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน
ในการนำข้อมูลมาใช้

“การนำข้อมูลมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญมากในการที่จะ ยังคงความเป็นธนาคารผู้นำไว้ ใน 3-5 ปีข้างหน้า วันนี้ทุกคนแข่งขันด้วยข้อมูล การใช้ทรัพยากรอย่างมีคุณค่าก็ต้องอยู่บนฐานของการมีข้อมูลที่ทำให้เราเข้าใจไม่เพียงแต่ตัวเราเอง แต่รวมถึงลูกค้า ด้วย นี่เป็นยุทธศาสตร์หลักที่อยากเน้นไว้”

 

“จุดที่ท้าทายมากๆ ของกรุงไทยวันนี้คือ ในเรื่องของ payment อาจจะ เราแข็งแรงในส่วนของภาครัฐ แต่ในภาคเอกชนอาจจะ ธนาคารคู่เทียบคนอื่นอาจจะเหนือกว่าเรา แต่บนความเปลี่ยนแปลงเรื่องกฎระเบียบและเทคโนโลยี
จะทำให้ข้อได้เปรียบที่เคยมีมาในอดีตเปลี่ยนแปลงไปอย่างน่าตกใจ เป็นจุดที่ต้องดูกันต่อไปครับ” 

เรื่อง : อรวรรณ บัณฑิตกุล

 

อ่านเพิ่ม Marketeer Magazine ฉบับ 205

อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online