Plant-based ทำความรู้จักเนื้อสัตว์เทียมที่มีราคาสูงกว่าเนื้อสัตว์แท้

ท่ามกลางกระแสของราคาเนื้อสัตว์ที่แพงขึ้นอย่างต่อเนื่องในประเทศไทย คำถามคือ เนื้อสัตว์สังเคราะห์จากพืช (Plant based meat) จะเป็นทางเลือกทดแทนได้ไหม แต่อุปสรรคสำคัญคือ เนื้อ Plant-based นั้นแพงยิ่งกว่าเนื้อจริงมากนัก

ราคาเนื้อหมูบดล่าสุด (12 มกราคม) อยู่ที่ 140-150 บาท/กก. ในขณะที่เนื้อบดPlant-based เจ้าหนึ่ง ราคา 79 บาท/220 กรัม ซึ่งหากต้องการซื้อเนื้อบด plant based ปริมาณใกล้เคียง 1 กก. ก็จะต้องจ่ายเงินราว  79×5 = 395 บาท

Plant-based food คืออะไร?

คืออาหารที่สังเคราะห์จากพืช มีส่วนประกอบหลัก ๆ เป็น ถั่ว เห็ด สาหร่าย ธัญพืช ฯลฯ ซึ่งเป็นอาหารในกลุ่มโปรตีนทางเลือก นิยมในหมู่วีแกน และผู้ที่กำลังมองหาทางเลือกเพื่อสุขภาพPlant-based food มีการสร้างให้กลิ่น รสชาติ เนื้อสัมผัสคล้ายกับเนื้อสัตว์จริงมากที่สุด ซึ่งต่างจากโปรตีนเกษตรที่เราคุ้นเคยกันมานาน ที่เน้นเรื่องรูปร่างหน้าตามากกว่ารสชาติ และยังมีราคาแพงกว่า มีตลาดที่เล็กกว่า ผู้ผลิตไม่เยอะนักหากเทียบกับอาหารประเภทอื่น

ทำไมเนื้อจากพืชถึงแพง

ในการผลิตเนื้อสัตว์ปกติ ต้องมีทั้งต้นทุนในการเลี้ยงสัตว์ ค่าอาหาร พื้นที่การเลี้ยง และค่าใช้จ่ายในการแปรรูปปศุสัตว์สู่เนื้อพร้อมรับประทาน ทว่ากลับมีราคาขายที่ถูกกว่าเนื้อสัตว์สังเคราะห์จากพืชที่ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเหล่านี้ นั่นก็เพราะฐานการผลิตเนื้อสัตว์ทดแทนมีขนาดที่เล็กกว่า และเนื้อสัตว์ปกติได้รับเงินอุดหนุนเพื่อให้อยู่ในราคาที่ผู้บริโภคส่วนใหญ่จ่ายไหว

เดบร้า โฮลสเตน ผู้บริหาร Edible Future ผู้ให้คำปรึกษาด้านนวัตกรรมและงานวิจัยที่ทำงานร่วมกับบริษัทยูนิลิเวอร์ กล่าวว่า “บริษัทเนื้อจากพืช จำนวนมากเพิ่งก่อตั้งได้ไม่นานพอจะมีอำนาจเท่ากับผู้ผลิตเนื้อสัตว์ เมื่อใดก็ตามที่คุณขายของเฉพาะทาง นั่นหมายความว่าคุณมีกลุ่มลูกค้าที่เล็กกว่า มีนวัตกรรมที่ต้องใช้มากกว่า คุณกำลังสร้างเทรนด์ และไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของผู้ผลิตรายใหญ่ นั่นทำให้ค่าใช้จ่ายของคุณจะสูงขึ้นและราคาขายก็จะสูงขึ้นตาม มันเหมือนเป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้” 

อีกทั้งการพยายามทำให้เนื้อสัตว์จากพืชมีความเหมือนกับเนื้อสัตว์จริง ๆ ก็ยิ่งเพิ่มต้นทุนในการผลิตเข้าไปอีก  ตัวอย่างเช่น Beyond Meat และ Impossibles Food แบรนด์อาหารPlant-basedในต่างประเทศ ที่แม้กิจการจะไปได้สวย แต่ก็มีช่วงที่ปริมาณการผลิตและต้นทุนส่วนผสมที่พุ่งสูงก็ทำให้ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายมาก 

ทางแก้ Plant-based แพงเกินไป 

“หากสินค้าของคุณไม่ได้รับความต้องการมากพออย่างมีนัยสำคัญ คุณจะผลิตได้ไม่มากพอที่จะลดราคา” เดบร้า โฮลสเตนเสริม ซึ่งหมายถึงบริษัทผู้ผลิตควรสร้างความต้องการผลิตภัณฑ์ของตนเองให้เกิดขึ้นในตลาด และผลิตสินค้าออกมาในปริมาณที่มากขึ้น

มีเคสตัวอย่างคือแบรนด์ผู้ผลิตไข่มังสวิรัติอย่าง Just Egg ก็เคยขายสินค้าในราคาที่สูงมาก่อน ทว่าเมื่ออุปสงค์กับอุปทานเพิ่มขึ้นอย่างเพียงพอ ราคาขายก็ถูกลงเกือบครึ่งหนึ่ง นั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้ผู้ผลิตเนื้อPlant-Basedรายใหม่ ๆ พยายามทำให้เนื้อจากพืชมีความนิยมมากขึ้น เพื่อลดราคาขายลง และเพิ่มปริมาณการผลิตด้วยเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพมากพอเท่าที่จะเป็นไปได้

อีกทางหนึ่งคือถ้าหากผู้ผลิตเนื้อเข้าร่วมสังเวียนเนื้อสัตว์จากพืชบ้าง ก็อาจทำให้ราคาPlant-based meat ถูกลงได้

“เหมือนอย่างที่ GM หันมาผลิตรถยนต์ไฟฟ้า พวกเขาไม่ได้ทำรถยนต์ไฟฟ้าแต่แรก แต่เพราะมันเป็นกระแสเลยต้องเข้ามาร่วมด้วย พวกเขาแค่ไม่อยากเห็น Tesla ได้ยอดขายในตลาดนี้ไปทั้งหมด” โฮลสเตนกล่าวเพิ่ม

คำแนะนำดังกล่าว หากย้อนกลับมาที่ไทยแล้วก็อาจเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ 

ศูนย์วิจัยกรุงไทยระบุว่า ตลาดอาหารPlant-basedในไทยได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง จากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยน เน้นอาหารที่กินสะดวกรวดเร็วมากขึ้น แต่ต้องดีต่อสุขภาพด้วย โดยงานวิจัยในปี 2563 ยังระบุอีกว่า 53% ของผู้บริโภคชาวไทยต้องการลดเนื้อสัตว์ลง และยังมีอีก 45% ที่อยากปรับวิถีชีวิตเป็นวีแกนเต็มตัว  ทำให้ตลาดPlant-based food เติบโตอย่างรวดเร็ว 10-35% ต่อปี ไปจนถึงปี 2567 เป็นมูลค่ากว่า 4.5 หมื่นล้านบาท ทำให้ในอนาคตอันใกล้ เราอาจได้เห็นผู้ผลิตอาหารประเภทนี้มากขึ้น และราคาสินค้าถูกลงมากหากเทียบกับปัจจุบัน

อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online