KTC มีดีอะไร จึงมั่นใจว่า ปี 65 จะทำกำไรนิวไฮ (สัมภาษณ์พิเศษ)
“ผมอยากจะบอกว่าโลกมีไว้เหยียบจะแบกโลกไว้ทำไม ชีวิตนี้ต้องมองโอกาสบ้างอย่ามองแต่ปัญหา ผมมั่นใจว่าโอมิครอนไม่น่ากลัว แต่ยอมรับว่าอาจจะมีสายพันธุ์ใหม่ ๆ เข้ามาอีก”
ระเฑียร ศรีมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTC กล่าวไว้ในวันแถลงข่าวที่เกาะกูด จังหวัดตราด เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา
ท่ามกลางปัญหาของวิกฤตเศรษฐกิจในปีที่ผ่านมาเคทีซีสามารถเอาตัวรอดมาได้และเขายังมั่นใจว่ายังทำกำไรได้นิวไฮ ถึงแม้จะใช้เงินประมาณ 600 ล้านบาทไปลงทุนในเคทีบี ลีสซิ่ง ธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์ จากธนาคารกรุงไทย ก็ตาม

 เช่นเดียวกับปี 2565 นี้ ที่เขายังคาดว่าจะสร้างสถิติใหม่ของการทำกำไรสูงสุดกว่า 6,000 ล้านบาท   

 จะโตได้ต้อง กล้าคิด กล้าเสี่ยง

“ธุรกิจของเราการแข่งขันเยอะ ผมยอมรับ แต่เราอยู่กับสิ่งเหล่านี้มานาน เจออุปสรรคต่าง ๆ มาเยอะ โดนลดดอกเบี้ย ลูกค้าหาย โดนทุกอย่าง แต่เรายังปรับตัวได้ ทำนิวไฮได้”

ปีนี้กำไรเท่าไร เราจะเทลงมาในเรื่องการลงทุนเพื่อขยายฐานลูกค้าก่อน เราต้องโตเพื่อเราจะได้มีลูกค้ามากขึ้น ๆ

เขาบอกว่าการโตในสถานการณ์แบบนี้ไม่ได้คิดแบบประมาท แต่คิดว่ารู้จักชีวิตมามากพอ และปรับตัวเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงมาแล้วมากมาย รวมทั้งมีการเตรียมคนไว้แล้ว ปีนี้อย่างไรก็ต้องทำ

 “ถ้าไม่เจอกับโควิด-19 ผมเชื่อว่ารายได้และกำไรจะโตกว่านี้ในปีที่ผ่านมา แต่จะทำให้ผมพอใจกับตัวเลขนั้น  จนไม่เห็นว่าจริง ๆ แล้วเรายังมีโอกาสโตได้อีกมาก”

โอกาสที่ว่าคือสองโมเดลธุรกิจใหม่ ที่จะเป็นเรือธงขับเคลื่อนธุรกิจเคทีซีให้สามารถสร้าง New S Curve และมีรายได้เติบโตอย่างยั่งยืน คือสินเชื่อมีหลักประกัน “เคทีซี พี่เบิ้ม”  และแพลตฟอร์ม MAAI BY KTC”  รวมทั้งจุดแข็งของโมเดลเก่า คือธุรกิจบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคลเคทีซี ที่ต้องขยายพอร์ตไปในพื้นที่ใหม่ ๆ ด้วย

บนเส้นทางใหม่นี้จะมีพลังของผู้หญิง 3 คน ผู้ร่วมงานกับเคทีซีมานานหลายปีเป็นผู้ขับเคลื่อนที่สำคัญ

ดาวดวงใหม่ของ KTC

เรือนแก้ว เกษมสวัสดิ์ศรี  ผู้อำนวยการ ธุรกิจสินเชื่อ”เคทีซี พี่เบิ้ม” ดูเหมือนเธอจะได้รับภาระที่ท้าทายที่สุดเป็นเป้าหมายของธุรกิจใหม่ที่เป็นอนาคตของเคทีซีเลยทีเดียว

ปีแรก 2564 เธอถูกตั้งเป้าสินเชื่อมีหลักประกัน “เคทีซี พี่เบิ้ม”ไว้ที่ 1,000 ล้าน แต่ต้องเจอกับอุปสรรคจากโควิด-19 รอบ 2 จนไปไม่ถึงเป้า

 ปีนี้เอาใหม่ เดิมเมื่อมั่นใจว่ามาถูกทางเลยขยายเป้าเพิ่มเป็น 2.000 ล้านบาท แต่หลังจากที่ไปพูดคุยแผนธุรกิจกับธนาคารกรุงไทย

เกิดความมั่นใจในการปักเป้าครั้งใหม่กระโดดเป็น 11,500 ล้านบาท

เธอบอกว่า “หนิงทำได้ค่ะ” โดยพกความมั่นใจมาจาก 2 เรื่อง คือช่องทางและผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ  

ในเรื่องช่องทาง  เริ่มตั้งแต่บริการแบบเชิงรุก “พี่เบิ้ม เดลิเวอรี่” ที่ตามไปให้สินเชื่อถึงที่บ้าน รวมทั้งผูกไปกับช่องทางของเครือข่ายธนาคารกรุงไทยทั่วประเทศกว่า 900 สาขา และกรุงไทยธุรกิจ ลีสซิ่ง (KTBL) 11 สาขา ทำให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าหลักในต่างจังหวัดได้เร็วขึ้น

เฟสถัดไปก็จะขยายไปยังช่องทางอื่น ๆ ของแบงก์ ไม่ว่าจะเป็นในช่องทางของโมบายแอปพลิเคชัน รวมทั้งช่องทางออนไลน์อื่น ๆ ที่อยู่ภายใต้เน็ตเวิร์กของธนาคารกรุงไทย

ในเรื่องของผลิตภัณฑ์ มีบัตรกดเงินสด “เคทีซี พี่เบิ้ม” ซึ่งเป็นครั้งแรกของสินเชื่อทะเบียนรถยนต์ และรถมอเตอร์ไซค์ในรูปแบบของบัตรกดเงินสด ที่ลูกค้าสามารถรูด-โอน-กด-ผ่อน ผ่านบัตรได้ทันที

ปีนี้พี่เบิ้มจะโฟกัสไปที่ธุรกิจของสินเชื่อจำนำทะเบียน เพราะตรงนี้เป็นโปรดักต์ที่มีจุดแข็งที่แข็งแรงและแข่งขันในตลาดได้ 

“เราจะขยายพอร์ตไป 80%ของยอดสินเชื่อใหม่ ส่วนอีก 20% ก็จะเป็นเรื่องการเช่าซื้อ ภายใต้ใบอนุญาตของกรุงไทยธุรกิจ ลีสซิ่ง ซึ่งเคทีซีถือหุ้นอยู่ 75.05%”

โดยพี่เบิ้มจะเน้นใน 3 จุดแข็งหลักคือ

  1. วงเงินต้องเบิ้มจากที่เคยให้ไว้สูงสุด 7 แสนบาท ตอนนี้ขยายเป็น 1 ล้านบาท
  2. สามารถอนุมัติได้ภายใน 1 ชั่วโมงครึ่ง-2 ชั่วโมง
  3. เปิดโอกาสให้กับลูกค้าทุกกลุ่มอาชีพเข้าถึงสินเชื่อพี่เบิ้มได้

รอยัลตี้แพลตฟอร์ม “MAAI BY KTC”

ประณยา นิถานานนท์ ผู้ช่วยประธานเจ้าหน้าที่บริหารการตลาดบัตรเครดิต คือผู้ที่เข้ามาเอาจุดแข็งในเรื่องในการทำระบบคะแนนสะสม และความเชี่ยวชาญด้านการตลาดในการบริหารคะแนน KTC FOREVER ที่ตอบโจทย์ และครอบคลุมทุกไลฟ์สไตล์ มาตลอดระยะเวลา 25 ปี มาต่อยอดเป็นรอยัลตี้แพลตฟอร์ม  “MAAI BY KTC” โดยมีกลุ่มพันธมิตรธุรกิจเป็นเป้าหมายหลัก

ในเบื้องต้นสำหรับโซลูชั่นส์ที่  MAAI แพลตฟอร์ม  เตรียมเสนอลูกค้าเพื่อกำจัดเพนพอยต์ที่เกิดขึ้นคือในเรื่องของ 

  1. ระบบบริหารจัดการสมาชิก (Membership Management)
  2. ระบบบริหารจัดการคะแนน (Point System Management)
  3. ระบบบริหารจัดการสิทธิประโยชน์ในรูปแบบคูปองอิเล็กทรอนิกส์ (e-Coupon Management) เพื่อให้การแลกคะแนนมีความหลากหลาย

 “MAAI แพลตฟอร์ม จะเกิดขึ้นได้ เราต้องมีพันธมิตรธุรกิจที่แข็งแกร่ง ปีแรกนี้เราตั้งเป้าไว้ที่ 10 พันธมิตร และทีม MAAI จะต้องมีจำนวนสมาชิกที่ใช้แพลตฟอร์มตัวนี้อยู่ที่ 1 ล้านเมมเบอร์ภายใน 1 ปี”

บนเส้นทางใหม่นี้ ประณยาเชื่อว่าเป็นระบบที่สนับสนุนให้พันธมิตรสามารถบริหารระบบสมาชิกซึ่งเป็นหัวใจของการทำธุรกิจได้ดีขึ้น และเคทีซีก็ไม่ได้ขาดทุน แต่มีโอกาสที่จะทำเงินได้ในอนาคต

และแน่นอนพันธมิตรที่เคทีซีจะไปเชื่อมต่อระบบอีโคซิสเต็มด้วยคงไม่ใช่องค์กรเล็ก ๆ แน่นอน

ธุรกิจหลักเดิม ต้องปัง กว่าเดิม

พิทยา วรปัญญาสกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร-ธุรกิจบัตรเครดิตเคทีซี บอกในส่วนธุรกิจบัตรเครดิต และสินเชื่อบุคคล จะทำในสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อน ทั้งในเรื่องของผลิตภัณฑ์และกระตุ้นการใช้จ่ายคือ

1. จากเดิมที่เราเคยโฟกัสกับกลุ่มที่มีรายได้ 3 หมื่นบาทขึ้นไป แต่ปีนี้จะจับลูกค้ากลุ่มบนมากขึ้น

2. เน้นการขยายฐานบัตรร่วมกับพันธมิตรรายใหม่ จะมีการออกบัตรเครดิตร่วม (Co-Brand)

  “ไม่บ่อยครั้งนักที่เคทีซีจะทำ Co-Brand ดังนั้นปลายไตรมาส 1 นี้ เราจะประกาศแน่นอน แต่กับใครนั้นบอกได้เลยว่าเป็นเรื่องน่าตื่นเต้น”

3. เคทีซีมีลูกค้า 2 ล้านคน มีบัตร 2.5 ล้านบัตร แต่ไม่ได้หมายความว่าทุกคนใช้บัตรเราเป็นบัตรแรก ปีนี้จะเป็นปีที่เราจะศึกษาข้อมูลเพื่อเข้าใจลูกค้าให้มากขึ้น เพื่อจูงใจให้เขามาใช้บัตรเคทีซีมากขึ้น

ส่วนการกระตุ้นการใช้จ่ายบัตรผ่านพันธมิตรที่เพิ่มไปจากเดิม ขยายไปยังร้านค้ากลุ่มพรีเมียมและไลฟ์สไตล์มากขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมายใหม่ซึ่งเป็นกลุ่มบน     

อาวุธสำคัญในการกระตุ้นยังเป็นเรื่องของ KTC FOREVER คะแนนสะสมที่ไม่มีวันหมดอายุ  คะแนนน้อยก็แลกได้ การผ่อนชำระศูนย์เปอร์เซ็นต์

พิทยาบอกว่า ทั้ง 3 กลยุทธ์นี้จะไม่สำเร็จถ้าไม่มี 3 สิ่งนี้ช่วยในการขับเคลื่อนคือ

  1. การสื่อสารการตลาดที่มีประสิทธิภาพ มีของดี ๆ ทำอย่างให้เขารู้จักและตัดสินใจใช้
  2. การนำเทคโนโลยีมาสร้างประสบการณ์ที่ดีให้ลูกค้า
  3. การบริการที่ยอดเยี่ยม

ประณยา ให้ความเห็นเพิ่มเติมกับ Marketeer ว่า

“คุณระเฑียรตั้งเป้าหมายใหญ่มากมาโดยตลอด  ให้โอกาสทุกคนในการที่จะเข้ามารับผิดชอบ เเละสอนให้ทุกคนไม่หยุดนิ่งที่จะเรียนรู้เเละพัฒนาตัวเอง  ทำให้เกิดความมั่นใจเเละที่ผ่านมาทีมงานก็สามารถทำได้ตามเป้าหมายที่วางไว้เกือบทุกเรื่อง ” 

ระเฑียรกล่าวว่า

 “การโตในทั้ง 3 ส่วนข้างบนนั้นอาจจะไม่ยาก ผมเชื่อว่าพวกเธอทำได้ แต่ที่สำคัญคือต้องโตไปพร้อม ๆ กับคุมคุณภาพของพอร์ตให้ได้ด้วย นี่คือเรื่องยากที่สุด

จากโมเดลดังกล่าว ในอนาคตโครงสร้างรายได้ของเคทีซีจะเปลี่ยนแปลงไป

“วันนี้เกินกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ยังมาจากธุรกิจบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคลเคทีซี แต่ต่อไปจะเป็นรายได้ของพี่เบิ้ม เพราะตั้งเป้าโตไว้สูงมาก และในระยะยาวคือ MAAI แพลตฟอร์ม ที่เป็นการเข้าไปในเรื่องของการเชื่อมอีโคซิสเท็ม เป็นความฝันของเราว่าจะต้องทำเงินได้แน่นอน”  

 ดูเหมือนทุกอย่างจะราบรื่นไปหมด เเต่ระเฑียรบอกว่า 

“ผมอาจจะพูดแบบ positive thinking แต่จริง ๆ แล้ว ผมก็ไม่ได้มองอะไรดีไปหมดนะครับ อย่างถ้าดูในเรื่องอนุมัติเราก็ปฏิเสธเยอะมากนะ ผมเชื่อว่าเราดูแลลูกค้าได้ดี แต่เราไม่น่ารักเรื่องเดียว คือเมื่อลูกค้าไม่จ่ายตังค์เรา คนก็ไม่ค่อยชอบเราในเรื่องนี้ แต่นั่นเป็นข้อเดียวที่เราคิดว่า เราจำเป็นต้องทำ”

อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online