วิกฤตการณ์รัสเซีย-ยูเครน ยังคงร้อนแรงขึ้นตามลำดับ โดยล่าสุดฝั่งที่ต้องตั้งรับมาตลอดเริ่มเคลื่อนไหว และประกาศพร้อมสู้เพื่อปกป้องประเทศ

ประธานาธิบดี Volodymyr Zelenskiy ของยูเครน สั่งกำลังทหารสำรองเข้าประจำการในกรมกองเพื่อเตรียมพร้อมปกป้องประเทศจากการโจมตีของรัสเซีย ที่เพิ่งประกาศรองรับดินแดนในปกครองของกลุ่มแบ่งแยกดินแดนทางภาคตะวันออกที่แยกตัวไปเป็นรัฐอิสระ พร้อมเคลื่อนกำลังทหารเข้ามา

แม้สหรัฐฯ สหภาพยุโรป (EU) และบรรดาชาติสมาชิกองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (NATO) ได้ออกมาเตือนรัสเซียว่าจะเผชิญมาตรการแทรกแซง ลงโทษหรือคว่ำบาตร หากยังคุกคามยูเครน

แต่รัสเซียกลับไม่สน ได้มีการเพิ่มกำลังทหารบริเวณพรมแดนติดกับยูเครน พร้อมปิดล้อมยูเครนยิ่งขึ้น ด้วยการซ้อมรบและกระชับความสัมพันธ์กับเบลารุส

ประธานาธิบดี Vladimir Putin

วานนี้ (22 กุมภาพันธ์) สถานการณ์ตึงเครียดยิ่งขึ้น โดยประธานาธิบดี Vladimir Putin ของรัสเซียประกาศยอมรับครึ่งหนึ่งของเมือง Donetsk และ Luhansk ทางภาคตะวันออกในยูเครนที่ประกาศตัวเป็นรัฐอิสระ พร้อมระบุว่าเป็นบ้านพี่เมืองน้อง จากนั้นก็สั่งให้ทหารเข้าไปยังพื้นที่ดังกล่าว โดยอ้างเพื่อปกป้องคนใต้อาณัติของรัสเซีย และปฏิบัติภารกิจสันติภาพ

สถานการณ์ดังกล่าว ทำให้ยูเครนไม่สามารถนิ่งเฉยได้อีกต่อไป โดยวันนี้ (23 กุมภาพันธ์) ประธานาธิบดี Volodymyr Zelenskiy ของยูเครนสั่งกำลังทหารสำรองเข้าประจำการในกรมกองเพื่อเตรียมพร้อมรบกับรัสเซีย

ประธานาธิบดี Volodymyr Zelenskiy วัย 44 ปี ปลุกขวัญกำลังทหารหาญอีกว่า “ถ้าวันนี้เรานิ่งเงียบ พรุ่งนี้ประเทศของเราอาจถูกลบหาย ทุกวันจากนี้มีภารกิจหนักหนาสาหัส ยากลำบากรออยู่เบื้องหน้า แต่เราจะประเมินสถานการณ์ด้วยความมั่นใจและเชื่อมั่น เพื่อนำพาประเทศสู่ชัยชนะ” 

ประธานาธิบดี Volodymyr Zelenskiy

ประธานาธิบดี Volodymyr Zelenskiy ยังประกาศให้ความช่วยเหลือด้านต่าง ๆ กับทหารที่พร้อมปกป้องประเทศ เช่น การลดภาษีและขึ้นเงินเดือน เพื่อเป็นขวัญกำลังใจอีกด้วย

ส่วนความเคลื่อนไหวอื่น ๆ สหรัฐฯ และชาติยุโรปเริ่มดำเนินมาตรการลงโทษรัสเซียแล้ว โดยนายกรัฐมนตรี Olaf Scholz ของเยอรมนี สั่งระงับโครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติ Nord Stream 2 กับรัสเซีย

ฝ่าย EU ได้ส่งผู้เชี่ยวชาญด้านการต่อต้านแฮกเกอร์มือดีไปยูเครนเพื่อช่วยยูเครนรับมือการโจมตีทางไซเบอร์จากรัสเซีย ที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วจนทำให้ไฟฟ้าหลายเมืองในยูเครนดับมาแล้ว และจากนี้อาจเกิดขึ้นอีกหรือรุนแรงขึ้น 

ด้านกาตาร์ หนึ่งในชาติสมาชิกกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (OPEC) รับปากพร้อมช่วยยุโรป หากเกิดวิกฤตพลังงานถ้ารัสเซียที่เป็นทั้งแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติสำคัญของยุโรป สั่งระงับการส่งทรัพยากรพลังงานสำคัญทั้งสองเข้าไปยังยุโรป แต่ก็ยอมว่าอาจต้องให้สมาชิก OPEC ประเทศอื่นร่วมมือด้วย

ส่วนในกรณีที่วิกฤตการณ์รัสเซีย-ยูเครน รุนแรงขึ้น ราคาน้ำมันในตลาดโลกซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 95 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 3,000 บาท) ต่อบาร์เรล อาจแพงขึ้นอีก 5 ถึง 20 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 162 ถึง 648 บาท)   

ขณะเดียวกันอาจทำให้ราคาข้าวสาลีในตลาดโลก แพงขึ้นเพราะหากนำปริมาณส่งออกข้าวสาลีของรัสเซียกับยูเครนรวมกัน จะคิดเป็น 1 ใน 5 ของตลาดโลก และหากสถานการณ์ยืดเยื้อจะยิ่งทำให้ปัญหาความอดอยากในประเทศแถบแอฟริกาเลวร้ายลง/theguardian, bbc, cna, cnn



อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline

ติดตาม Marketeer Online ทาง LINE Official


เพิ่มเพื่อน