รัสเซีย จะขายน้ำมันได้อย่างไรในวันที่ยังถูกบอยคอต (วิเคราะห์)

สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนยังไม่มีทีท่าว่าจะจบลงง่าย ๆ ข้อเรียกร้อง การตอบโต้ การคว่ำบาตรและการปะทะยังมีให้เห็นอยู่เป็นระยะ สิ่งนี้เองทำให้ปัจจัยสำคัญด้านราคาพลังงานอย่างน้ำมันอยู่ในสภาวะที่ผันผวน รัสเซียเองในฐานะผู้ที่ผลิตและส่งออกน้ำมันทอป 3 ของโลกได้รับผลกระทบชัดเจนจากการถูกบอยคอต ไม่ใช้น้ำมันรัสเซีย

บริษัทวิจัยด้านข้อมูล Kayrros ประมาณการว่า ปริมาณน้ำมันดิบที่มาจากรัสเซียที่บรรทุกอยู่บนเรือขนส่งน้ำมันที่ลอยเคว้งอยู่บนมหาสมุทรนั้นมีปริมาณเพิ่มขึ้นกว่า 13% ในช่วงที่ 2 อาทิตย์แรกที่มีการบุกยูเครน ในตอนนี้รัสเซียเองในฐานะคนเคยรวยจากการค้าขายน้ำมันกำลังอยู่ในสถานะไม่สู้ดีนักจากการ “ถูกแบน” และแน่นอนว่า รัสเซียเองก็ต้องหาทางระบายน้ำมันที่อยู่ในสต๊อกให้หมดโดยเร็วก่อนที่ราคาน้ำมันจะร่วงจนนำไปสู่การขาดทุน

24 มีนาคม 2022 ปริมาณการส่งออกน้ำมันทางทะเลของรัสเซียอยู่ที่ 2.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งลดต่ำลงใกล้กับปริมาณ 2 ล้านบาร์เรล ใกล้เคียงกับช่วงต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา และเนื่องจากมีน้ำมันดิบของรัสเซียค้างสต๊อกเป็นจำนวนมากประกอบกับราคาน้ำมันดิบ Brent ของอเมริกามีราคาแตะ 115 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ทำให้มีหลายประเทศที่พร้อมยอมเสี่ยงถูกประณาม ด้วยการเข้าซื้อน้ำมันดิบจากรัสเซียในราคาถูกแสนถูก และนี่เป็นจุดที่ทำให้น้ำมันดิบของรัสเซียถูกต่อราคาลงมาอย่างมากเพื่อแลกกับการไม่สูญเสียรายได้หลักส่วนนี้ไป

 

ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย

การสั่งห้ามเรือขนน้ำมันของรัสเซียเข้าออกท่าเทียบเรือของนานาชาติในตอนนี้ คล้ายกับเหตุการณ์ในปี 2018 ที่อิหร่านถูกกระทำเช่นเดียวกันกับรัสเซียโดยชาติตะวันตกเช่นเดียวกัน เหตุการณ์ในตอนนั้นทำให้รัฐที่นับถือศาสนาอิสลามลุกฮือรวมตัวกันลักลอบขายน้ำมันแบบที่ไม่มีใครจะมาทัดทานได้ พฤษภาคม 2018 อเมริกาประกาศมาตรการคว่ำบาตรขั้นสูงสุดต่อวิธีการของรัฐอิสลามส่วนหนึ่งเพื่อหยุดยั้งการกระส่งออกน้ำมันของอิหร่านซึ่งมีสถานะผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่อันดับ 5 ของโลก

อิหร่านนั้นส่งออกน้ำมันไปขายด้วยวิธีการอยู่ 2 ช่องทาง ช่องทางแรก คือ การขายอย่างเป็นทางการแต่จำกัดจำนวนการซื้อ เนื่องจากมาตรการการคว่ำบาตรของอเมริกานั้นได้จำกัดให้อิหร่านสามารถขายน้ำมันได้เพียงกับ 8 ประเทศเท่านั้น โดยมีเงื่อนไขว่าอิหร่านจะต้องรับชำระค่าน้ำมันด้วยสกุลของผู้สั่งซื้อเท่านั้น หรือมิเช่นนั้นก็จะต้องเก็บเงินหรือทรัพย์สินไว้ที่บุคคลที่สาม (ธนาคารในประเทศผู้ซื้อ) จนกว่าจะบรรลุตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้แล้ว หรือไม่ อิหร่านก็ต้องขายน้ำมันแบบ “ยื่นหมูยื่นแมว” ความหมายก็คือ ถ้าอิหร่านขายน้ำมันให้ประเทศใดประเทศหนึ่ง ประเทศผู้สั่งซื้ออาจไม่ต้องชำระเป็นเงินก็ได้ แต่อาจจะชำระเป็นสินค้าส่งออกหลักของประเทศ โดยให้อิหร่านเลือกว่าจะเอาอะไรเพื่อแลกกับการขายน้ำมันให้กับประเทศนั้น

สิ่งนี้ทำให้อิหร่านหัวเสียเป็นอย่างมากเพราะเมื่อเดือนธันวาคมปี 2021 อิหร่านถูกบีบให้รับชำระค่าน้ำมันเป็น “ชา” ซึ่งถือเป็นสินค้าส่งออกหลักของประเทศ ศรีลังกา เนื่องจากเศรษฐกิจของศรีลังกากำลังอยู่ในภาวะเข้าใกล้คำว่า ล้มละลาย โดยมูลค่าของน้ำมันที่อิหร่านส่งออกไปให้ศรีลังกา แลกกับชา นั้นคิดเป็นมูลค่ามากถึง 251 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

 

ลักลอบค้าน้ำมัน

เพื่อเป็นการหลบเลี่ยงข้อจำกัดในการส่งออกน้ำมันซึ่งถือเป็นรายได้หลักของอิหร่าน อิหร่านจึงทำการลักลอบขายน้ำมันเป็นจำนวนมาก ซึ่งการลักลอบขายน้ำมันนี้คือ 1 ใน 2 ช่องทางการขายน้ำมันของอิหร่าน โดยวิธีการที่อิหร่านใช้ในปัจจุบันคือให้เรือขนน้ำมันของอิหร่าน แล่นเรือแบบปิดสัญญาณเรดาร์ไปยังประเทศผู้ซื้อปลายทางอย่าง เวเนซุเอลา (ซึ่งเป็นศัตรูของอเมริกา) เรือบางลำถึงกับทาสีเรือใหม่เพื่อปิดบังแหล่งที่มาและหลบเลี่ยงการถูกจับกุมจากเจ้าหน้าที่

น้ำมันถูกยักย้ายถ่ายเทจากพรมแดนประเทศหนึ่งสู่อีกประเทศหนึ่งโดยแก๊งลักลอบค้าน้ำมัน อิหร่านนั้นมีสัมพันธ์ที่ดีกับจีน ตุรกี และสหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ โดยอิหร่านมีการแลกเปลี่ยนน้ำมันของตนเองกับทองคำ ยาฆ่าแมลงหรือแม้กระทั่งโครงการบ้านจัดสรรที่กำลังก่อสร้างในกรุงเตหะราน ประเทศตุรกี และเมื่อพูดถึงเรื่องเกรดของน้ำมัน ผู้ค้าน้ำมันที่กรุงดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ ได้ทำการผสมน้ำมันจากรัฐอิสลามหลาย ๆ ประเทศเข้าด้วยกัน และรีแบรนด์ใหม่ว่าเป็นน้ำมันเกรดคุณภาพเยี่ยมจากคูเวต

 

รัสเซียไม่เหมือนอิหร่าน

แต่รัสเซียนั้นใช้วิธีที่แตกต่างจากอิหร่าน หลัก ๆ เลยเพราะรัสเซียไม่จำเป็นต้องทำขนาดอิหร่านที่ต้องลักลอบขายน้ำมัน เพราะบทลงโทษที่มีต่ออิหรานนั้นอาจร้ายแรงไปถึงขั้นการเพิ่มระดับความรุนแรงของการคว่ำบาตรได้เลย ซึ่งอาจจะลุกลามบานปลายไปกระทบเรื่องการทำธุรกรรมของธนาคารที่เป็นตัวกลางการชำระเงิน ซึ่งบทลงโทษที่เจอจะเป็นค่าปรับมหาศาล นั่นทำให้การติดต่อซื้อขายน้ำมันยิ่งเป็นเรื่องที่ยากและเสี่ยงมากขึ้นไปอีก ในทางตรงกันข้าม รัสเซียเองก็ไม่ได้เจออุปสรรคในการค้าขายน้ำมันกับชาติอื่น ๆ เท่ากับอิหร่าน จะมีก็แค่อเมริกาเท่านั้นที่แบนการซื้อน้ำมันจากรัสเซียแบบจริงจัง

นอกจากการส่งออกน้ำมันของรัสเซียจะได้รับผลกระทบจากการที่ชาติมหาอำนาจพากันขู่ว่าไม่ซื้อน้ำมันจากรัสเซียเนื่องจากกลัวว่าจะถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงการกระทำที่เป็นการสนับสนุนแล้ว รัสเซียยังต้องเผชิญกับเรื่องปวดหัวจากการที่ธนาคารต่าง ๆ พากันลดเครดิตความน่าเชื่อถือลง ซึ่งก็เหมือนกับการที่บริษัทแห่งหนึ่งถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือทำให้คนที่จะมาทำการค้าด้วยไม่ไว้วางใจเรื่องการชำระหนี้ นอกจากนี้ เจ้าของเรือขนส่งน้ำมันยังต้องเจอกับค่าประกันภัยและค่าระวางเรือที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ

Antonio Tzinova เจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมายประจำสำนักงานกฎหมาย Holland & Knight บอกว่า ในแต่ละครั้งที่มีการคว่ำบาตร เจ้าหน้าที่ฝ่ายคอมพลายแอน (กำกับดูแลข้อปฏิบัติ) ต้องศึกษากฎหมายที่เกี่ยวข้องเป็นร้อย ๆ หน้า และการคว่ำบาตรแต่ละครั้งยังทำให้ดีลการค้าของรัสเซียทวีความยุ่งยากมากขึ้นไปอีก

ท้ายที่สุดน้ำมันดิบยูรอล (Urals Crude Oil) ซึ่งเป็นน้ำมันดิบที่ถูกขุดเจาะและผลิตโดยรัสเซียมีการซื้อขายกันในราคาลดกระหน่ำอยู่ที่ 31 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล

 

จีนและอินเดีย

เป็น 2 ประเทศ ที่ไม่ได้ร่วมวงคว่ำบาตรรัสเซียกับชาติมหาอำนาจจากตะวันตก ก็เริ่มได้กลิ่นของดีราคาถูก โดยเฉพาะอินเดีย ที่ออกตัวแรงเลยว่าต้องการคว้าโอกาสทองนี้

เรือบรรทุกน้ำมันขนาดใหญ่ออกเดินทางสู่ชมพูทวีป มาพร้อมกับน้ำมันดิบปริมาณกว่า 230,000 บาร์เรลต่อวันและน่าจะเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต ซึ่งถือว่าเยอะมากถ้าเทียบกับเมื่อก่อนที่อินเดียแทบจะไม่ได้นำเข้าน้ำมันดิบจากรัสเซียโดยตรง โดยปกติแล้วปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบกว่าครึ่งหนึ่งของอินเดียมาจากตะวันออกกลาง โดยเฉพาะจากบริษัท Caspian Pipeline Consortium (CPC) ของคาซัคสถาน เพราะต้นทุนในการขนส่งจากตะวันออกกลางนั้นถูกกว่าขนส่งมาจากรัสเซีย และการซื้อน้ำมันจากรัสเซียนั้นรัสเซียก็ไม่รับชำระเป็นสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐเสียด้วย นี่จึงทำให้อินเดียต้องชำระค่าน้ำมันเป็นสกุลเงินรูปีแทน

Adi Imsirovic อดีตหัวหน้าทีมซื้อขายน้ำมันของ Gazprom (บริษัทน้ำมันสัญชาติรัสเซีย) ซึ่งปัจจุบันเป็นนักวิจัยของสถาบันวิจัยพลังงานแห่งออกซ์ฟอร์ด มองว่า เป็นเรื่องที่ยากมากจบแทบจะเป็นไปไม่ได้ที่อินเดียจะซื้อน้ำมันจากรัสเซียเดือนละ 10 ล้านบาร์เรล นาย Imsirovic บอกว่าปริมาณน้ำมันดิบที่อินเดียซื้อจากรัสเซีย( 230,000 บาร์เรลต่อวัน) นั้นเล็กน้อยมาก ๆ เมื่อดูจากปริมาณน้ำมันดิบสำรองของรัสเซียที่ยังคงค้างสต๊อกจากการที่ไม่มีประเทศไหนซื้อ

และมีเพียงประเทศเดียวเท่านั้นที่จะสามารถช่วยกู้วิกฤตการณ์ขายน้ำมันไม่ออกของรัสเซียได้ก็คือ “จีน” เพราะปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบของจีนอยู่ที่วันละ 10.5 ล้านบาร์เรล (ซึ่งคิดเป็น 11% ของปริมาณน้ำมันดิบที่ทุกประเทศในโลกสามารถผลิตได้ต่อวัน) Adi คิดว่า จีนน่าจะใช้โอกาสนี้เพิ่มปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบให้ได้เท่ากับ 12 ล้านบาร์เรลต่อวัน นี่อาจจะทำให้จีนสามารถซื้อน้ำมันดิบมาตุนไว้ในคลังที่ยังมีพื้นที่ให้เก็บได้อีกว่า 60 ล้านบาร์เรลในช่วงระยะเวลาอันสั้น

ทั้งหมดที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ยังไม่เกิดขึ้น แม้แต่จีนเองที่เป็นตัวเต็งที่จะซื้อน้ำมันดิบราคาถูกจากรัสเซียก็ดูจะไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะว่า การขนส่งจากรัสเซียไปยังยุโรปปกติจะใช้เวลา 3-4 วัน แต่การขนส่งมายังทวีปเอชียใช้เวลาถึง 40 วัน และน้ำมันดิบจะต้องถูกโหลดลงในถังเก็บขนาดใหญ่ ซึ่งทำให้เรือแล่นได้ช้าและมีค่าใช้จ่ายมาก นอกจากนี้ ธนาคารของจีนก็ดูจะไม่เต็มใจให้กู้ยืมเงินมาซื้อน้ำมันจากรัสเซียอีกด้วย

 

ปัญหาเรื่องการจ่ายเงิน

บริษัทไฟแนนซ์ในฮ่องกงขนาดใหญ่…ซึ่งเคยช่วยเหลือเกาหลีเหนือรับชำระราคาด้วยสกุลเงินที่มีปัญหามาแล้วในอดีต แต่กับเคสดีลการซื้อขายน้ำมันระหว่างจีนกับรัสเซียนั้นดูจะเป็นเรื่องที่ใหญ่เกินกว่าจะปิดบังธุรกรรมนี้ให้พ้นจากสายตาประชาชน

นอกจากนี้ ผู้เจ้าหน้าที่ที่กำกับดูแลเรื่องนี้ก็ไม่สามารถจะเอาหูไปนาเอาตาไปไร่กับดีลการซื้อขายที่ผิดปกติแบบนี้ ด้วยกลัวว่าจะทำให้อเมริกาสั่งระงับไม่ให้ฮ่องกงใช้สกุลเงินดอลลาร์ในการชำระราคา ซึ่งถ้าหากให้เปรียบเทียบแล้วฮ่องกงเปรียบเสมือนหัวใจทางเศรษฐกิจของจีนไม่ต่างจากปักกิ่งและเซี่ยงไฮ้

แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีทางออกเสียทีเดียว ถ้ารัสเซียยอมที่จะใช้บัญชีสำหรับรับชำระค่าน้ำมันโดยการเปิดบัญชีในจีนเพื่อที่จะรับชำระเป็นสกุลเงินหยวน ซึ่งบัญชีเหล่านี้จะถูกมองว่าเป็นบัญชีสำหรับการชำระค่าสินค้านำเข้าจำเป็น และเลี่ยงการถูกตีความว่าเป็นบัญชีการค้าระหว่างประเทศ

 

จีนดึงเวลาเพื่อให้ได้ดีลที่ดีที่สุดจาก รัสเซีย

สำนักข่าว The Economist มองว่าตอนนี้จีนในฐานะผู้ที่กุมความได้เปรียบกำลังดึงเวลาเพื่อซื้อน้ำมันจากรัสเซียในราคาถูกกว่าราคาที่รัสเซียขายให้อินเดีย และพ่อค้าหัวใสอย่างจีนคงจะไม่ปล่อยให้โอกาสนี้หลุดลอยไปเป็นแน่

ถามว่าทำไมจีนถึงรู้ว่ามีโอกาส ก็เพราะในช่วงเกิดวิกฤตโควิด-19 ใหม่ ๆ ทุกประเทศในโลกสั่งปิดน่านฟ้า ห้ามบินเข้าออก แถมล็อกดาวน์เมืองกันเป็นว่าเล่น แน่นอนว่าเมื่อคนไม่ได้ออกไปไหน รถก็ไม่ได้ขับ น้ำมันย่อมขายไม่ออกเป็นธรรมดา ในตอนน้ันราคาน้ำมันถึงกับร่วงลงมาเกือบเหลือหลักเดียว ในช่วงเวลานั้นจีนได้ชิงความได้เปรียบโดยการซื้อน้ำมันมาเก็บไว้ในสต๊อกเป็นจำนวนมาก

และเมื่อรัสเซียในฐานะที่เสียเปรียบจากการถูกแซงก์ชั่นจากประเทศตะวันตก ก็เหลือเพียงมหามิตรจากทวีปเอเชียรายนี้ที่กำลังรอจังหวะได้ของดีราคาถูก ยิ่งนานวันเข้าก็ยิ่งเป็นการบีบรัสเซียทางอ้อมต้องลดราคาขายน้ำมันให้จีนลงไปมากกว่านี้อีก มิเช่นนั้นรัสเซียก็จะเผชิญกับสถานการณ์เลวร้ายไม่มีที่จัดเก็บน้ำมันแถมค่าใช้จ่ายในการจัดเก็บก็สูงขึ้นเป็นเงาตามตัว

 

การกลั่นคืออุปสรรค

ใช่ว่าเมื่อจีนอยากจะซื้อน้ำมันดิบของรัสเซียมาสำรองไว้เยอะ ๆ จะเป็นผลดีเสียทั้งหมด เพราะโรงกลั่นน้ำมันส่วนใหญ่ในจีนถูกออกแบบมาให้กลั่นน้ำมันดิบจำเพาะประเภท ซึ่งจีนมีสัดส่วนการนำเข้าน้ำมันดิบจากซาอุดีอารเบียมากเป็นอันดับ 1

และการปรับเปลี่ยนระบบการกลั่นจากน้ำมันซัลเฟอร์ต่ำ (น้ำมันดิบจากซาอุฯ)  ให้สามารถกลั่นน้ำดิบซัลเฟอร์สูง  (Ural จากรัสเซีย) เป็นเรื่องที่เสียทั้งเวลาและเสียทั้งเงินเป็นจำนวนมาก เรื่องนี้ทำให้การแย่งชิงซัปพลายน้ำมันดิบระหว่างเอเชียและยุโรปดุเดือดขึ้นมากซึ่งจะส่งผลต่อทิศทางการค้าน้ำมันในตลาดโลก

ปกติแล้วน้ำมันดิบส่วนมากที่ขุดเจาะได้จากทะเลทางตอนเหนือของโลกจะถูกนำไปขายให้กับประเทศตะวันตก (โดยเฉพาะทวีปยุโรป) ซึ่งหลังจากนี้ยุโรปเองอาจจะหันไปซื้อน้ำมันจากประเทศในแถบแอฟริกาตะวันออกและอเมริกาแทน

และประเทศอื่น ๆ ในโลกนี้รวมถึงประเทศในทวีปเอเชียก็อาจจะต้องทำในสิ่งที่บรรดาประเทศในแถบยุโรปไม่ต้องการที่จะเห็น โดยการนำเข้าน้ำมันจากรัสเซียมากขึ้น ก็ในเมื่อน้ำมันจากรัสเซียไปยุโรปไม่ได้ก็ย่อมต้องไหลเข้ามาที่เอเชียแทน

ผลลัพธ์ของเรื่องนี้เหมือนยิ่งเป็นการแบ่งข้างแบ่งขั้วการซื้อขายน้ำมันในโลกนี้มากยิ่งขึ้นไปอีก ซึ่งแน่นอนว่าเมื่อซัปพลายน้ำมันของโลกนี้มีเรื่องการเมืองเข้าไปเกี่ยวข้อง ราคาก็ย่อมผันผวน บางครั้งราคาที่สูงก็ทำให้ประเทศที่ต้องนำเข้าน้ำมันนั้นมีภาระค่าใช้จ่ายที่สูง อย่างน้อยก็จนกว่าสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนจะสงบลง

 

https://www.economist.com/finance-and-economics/what-can-russia-do-to-sell-its-unwanted-oil/21808447

https://www.bbc.com/news/business-59753873

อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline



อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline

ติดตาม Marketeer Online ทาง LINE Official


เพิ่มเพื่อน