อรอุมา ฤกษ์พัฒนาพิพัฒน์ คุยเรื่อง ESG กับ “ดีแทค” เชื่อมต่อสิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับคุณ
Marketeer มีโอกาสพูดคุยกับคุณ อรอุมา ฤกษ์พัฒนาพิพัฒน์ ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานสื่อสารองค์กรและการพัฒนาอย่างยั่งยืน บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค อีกครั้ง ถึงแผนการดำเนินธุรกิจแบบ ESG ซึ่งสอดคล้องกับคอนเซ็ปต์ “แบรนด์ดีประเทศไทย: พันธกิจเพื่อสร้างสังคมดียั่งยืน” ในวาระก้าวสู่ปีที่ 23 ของ Marketeer
ที่ผ่านมา เราได้เห็นดีแทคขับเคลื่อนแผนงานด้านนี้อย่างจริงจัง ซึ่งในบทบาทของหนึ่งในผู้นำด้านโทรคมนาคมของประเทศไทย ดีแทคได้พัฒนาเทคโนโลยีและกำลังคนเพื่อรักษาความสามารถทางการแข่งขัน พร้อมสร้างคุณค่าสูงสุดแก่ผู้บริโภคและสังคมอย่างเป็นรูปธรรม
และกับบทบาทการเชื่อมต่อสิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับทุกคน เพื่อสร้างสังคมไทยให้แข็งแกร่งนั้น มีกรอบความรับผิดชอบมากมายที่ดีแทคตั้งเป็นโจทย์ให้กับตัวเอง ซึ่งวันนี้เรามาเจาะถึงประเด็นสำคัญผ่านวิสัยทัศน์ของผู้บริหารคนเก่งไปพร้อมกัน
แผนความยั่งยืน กับ 2 ความเสี่ยงที่ต้องแก้ไข
“เราเป็นธุรกิจที่อยู่ในอุตสาหกรรมโทรคมนาคม ซึ่งมีบทบาทอย่างมากในช่วงวิกฤตโควิด-19 จากการที่ผู้คนใช้ชีวิตออนไลน์อยู่ที่บ้าน ทั้งการทำงานและพักผ่อน การสั่งอาหารเดลิเวอรี่ต่าง ๆ รวมถึงการเติบโตของธุรกิจ Live Streaming ซึ่งทุกอย่างขึ้นอยู่กับการใช้ออนไลน์ทั้งหมด ทำให้ปริมาณการใช้ Data ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งหมดทำให้ดีแทคหันกลับมามองว่า ถ้าธุรกิจของเราต้องการที่จะเติบโตด้วย พร้อม ๆ กับยั่งยืนและอยู่ได้อย่างยาวนานนั้น จะต้องคำนึงถึงความเสี่ยงเรื่องอะไรบ้าง”
คุณอรอุมา สรุปให้ฟังว่าจากการวิเคราะห์ได้ความเสี่ยงแยกเป็น 2 ข้อหลัก ได้แก่ 1. ความเสี่ยงที่มีผลต่อความยั่งยืนขององค์กร 2. ความเสี่ยงที่ส่งผลกระทบต่อสังคม พร้อมขยายความให้ฟังว่า
“ด้านแรกนั้นชัดเจนอยู่แล้วคือ ถ้าเราไม่จัดการกับความเสี่ยงนี้จะมีผลโดยตรงกับความยั่งยืนของดีแทคเอง ส่วนด้านหนึ่งนั้น เรามองออกไปข้างนอก มองถึงบุคคลสำคัญมาก ๆ ต่อธุรกิจ ซึ่งเรามองไปไกลกว่าลูกค้า แต่เรากำลังพูดถึง Multi-Stakeholder หรือเครือข่ายของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ซึ่งเป็นภาพรวมของสังคมใหญ่ ซึ่งหากเราบริหารจัดการไม่ดีจะสร้างให้เกิดสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจของเราเอง”
การรักษาข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้า และความมั่นคงทางไซเบอร์
ในการที่จะจัดการ “ความเสี่ยงที่มีผลต่อความยั่งยืนขององค์กร” ดีแทคได้มีการหยิบยกประเด็น “การรักษาข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้า และความมั่นคงทางไซเบอร์” มาเป็นประเด็นหลักที่ต้องใส่ใจ ซึ่งในเรื่องนี้เองคุณอรอุมามองว่ามีผลกระทบโดยตรงต่อธุรกิจในหลาย ๆ ด้าน
“เราทำการสำรวจทั้งจากนักลงทุน ผู้บริโภค พนักงานดีแทค และในสังคมทั่วไป ประเด็นเรื่องของ Privacy หรือการรักษาข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้า และประเด็นเรื่องความมั่นคงทางไซเบอร์ ได้รับการโหวตให้เป็นเรื่องที่มีความกังวลและเป็นความเสี่ยงต่อองค์กรมากที่สุด
ซึ่งทุกภาคส่วนคาดหวังว่า ดีแทคจะต้องมีระบบการจัดการเรื่องนี้ให้ดีที่สุด ดังนั้น ในฐานะของผู้ประกอบการเองเรายืนยันว่า การจัดการรักษาข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้าเป็นประเด็นสำคัญที่เราใส่ใจมากที่สุด เพื่อให้ลูกค้ารู้สึกไว้ใจที่เลือกใช้บริการกับดีแทค”
ความปลอดภัยของผู้ใช้งานที่เป็นเด็กและเยาวชน
นอกจากเรื่องของ Privacy แล้ว อีกประเด็นหนึ่งที่ดีแทคให้ความสำคัญอย่างมากคือเรื่องของ “Child Online Safety” หรือ ความปลอดภัยของผู้ใช้งานที่เป็นเด็กและเยาวชน ที่กำลังเป็นกลุ่มผู้ใช้งานส่วนใหญ่ในปัจจุบัน เพื่อตอบสนองไลฟ์สไตล์ยุคดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ
“ทุกวันนี้เด็กและเยาวชนเป็นกลุ่มผู้ใช้งานหลักและเป็นกลุ่มใหญ่ ซึ่งเป็นวัยที่เริ่มเข้ามาใช้ออนไลน์อย่างจริงจัง ซึ่งเรามองจุดนี้เป็นความเสี่ยงที่ดีแทคต้องเข้าไปช่วยบริหารจัดการ จึงได้จัดทำโครงการที่ชื่อว่า ‘dtac Safe Internet’ ซึ่งดำเนินโครงการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 โดยมีเป้าหมายสูงสุดคือ สร้างทักษะและภูมิคุ้มกันแก่เด็กและเยาวชนให้สามารถท่องโลกออนไลน์ได้อย่างปลอดภัย เหมาะสม เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันในการบริหารจัดการกับภัยเสี่ยงบนโลกออนไลน์ให้กับเด็กและเยาวชน”
อรอุมา ฤกษ์พัฒนาพิพัฒน์ เล่าให้ฟังว่า ประเด็นที่ได้รับการพูดถึงมากที่สุดตลอดการดำเนินโครงการคือ “Cyberbullying” หรือการถูกกลั่นแกล้งรังแกบนโลกไซเบอร์
“เรามีแคมเปญ #ให้ไซเบอร์บูลลี่จบที่รุ่นเรา ที่เราฟังเสียงของคนรุ่นใหม่ และรู้ว่าเขามองว่า Cyber Bully เป็นปัญหาที่เขาอยากแก้ ซึ่งเรามีแพลตฟอร์มที่ให้เขาลุกขึ้นมาแล้วแก้ปัญหาด้วยตัวเอง จุดนี้น้อง ๆ ให้ความคิดเห็นกันเยอะมากว่า เพื่อที่จะหยุด Cyber Bully ต้องทำอย่างไรบ้าง ซึ่งเราก็ดีใจมาก ๆ ที่น้อง ๆ หลายคนตั้งคำถามกับค่านิยมของสังคมปัจจุบันที่ยังให้คุณค่ากับ Beauty Standard และเพื่อที่จะหยุด Cyber Bully เราควรที่จะเคารพในความแตกต่าง เคารพในสิทธิมนุษยชน ถ้าเราต่างเคารพสิทธิของกันและกันแล้ว เราจะไม่มองความแตกต่างของอีกคนเนี่ยเป็นเรื่องตลก”
รวมไปถึงอีกประเด็นหนึ่ง ซึ่งเป็นเสมือนภัยเงียบที่น้อง ๆ เยาวชนยังมีการรับรู้น้อยคือ “การล่วงละเมิดทางเพศบนโลกออนไลน์”
“ประเด็นนี้เป็นเรื่องที่ผู้ใหญ่ที่คลุกคลีอยู่ในวงการเห็นถึงปัญหานี้และถูกหยิบยกมาพูดถึงตลอด ขณะเดียวกันตัวน้อง ๆ เองกลับรับรู้ มีการรับรู้ เข้าถึง และเข้าใจน้อยมาก ซึ่งนี่เป็นอีกปัญหาสำคัญที่ดีแทคอยากจะเข้ามาจัดการ โดยการเข้าไปให้ความรู้กับเด็กนักเรียนและคุณครู
โดยดีแทคมีการทำการวิจัยและศึกษาหาข้อมูลในมุมต่าง ๆ เพื่อให้เข้าใจว่า วันนี้เด็กและเยาวชนของเราต้องเผชิญกับภัยเสี่ยงบนโลกออนไลน์อะไรบ้าง รวมไปถึงในประเด็นปัญหาเรื่อง Cyber Bully ด้วย และได้ผลักดันเรื่องดังกล่าวเป็นนโยบายสำคัญขององค์กรด้วย”
อย่างไรก็ดี คุณอรอุมา กล่าวว่า ปัญหาเรื่องความปลอดภัยบนพื้นที่ออนไลน์ของเด็กและเยาวชนเป็นปัญหาใหญ่มากของวันนี้ ที่หน่วยงานภาครัฐอาจจะยังให้ความสำคัญในเรื่องนี้น้อยเกินไป เพราะส่วนใหญ่จะเน้นกระตุ้นให้เกิดการใช้งานทางด้านดิจิทัลมากกว่า
“Social Media มีส่วนสำคัญในชีวิตของเรา ซึ่งจากสถิติเด็กและเยาวชนใช้ไปกับโซเชียลมีเดียมากกว่า 11 ชั่วโมงต่อวัน แปลว่า น้อง ๆ กำลังเผชิญกับภัยออนไลน์มากกว่าผู้ใหญ่ เรื่องนี้เราต้องช่วยกันเตรียมความพร้อมให้กับเด็กและเยาวชนในการรับมือกับภัยเสี่ยงบนโลกออนไลน์
หน่วยงานทุกภาคส่วนต้องเข้ามาตั้งคำถามแล้วว่า ตอนนี้สังคมไทยควรสร้างวัฒนธรรมออนไลน์ชุดใหม่ที่เด็ก ๆ เข้าใจ อาจจะลองพิจารณาเพิ่มบทเรียนเรื่องของ ‘การสร้างพลเมืองดิจิทัล’ เพื่อให้เข้าใจและรับรู้ในปัญหาออนไลน์ ขณะเดียวกัน ยังช่วยกันสร้างสังคมออนไลน์ที่เขาต้องการได้อีกทางหนึ่งด้วย”
การจัดการเรื่องสภาวะอากาศและสิ่งแวดล้อม
อีกประเด็นสำคัญที่ไม่พูดถึงไม่ได้คือเรื่องของ การจัดการกับสภาวะอากาศและสิ่งแวดล้อม เราได้เห็นดีแทคขับเคลื่อนเรื่องนี้มาอย่างจริงจัง ผ่านหลากหลายโครงการที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง
“ตอนนี้เราได้เห็นหลากหลายอุตสาหกรรมต่างลุกขึ้นมาทำในบทบาทของตัวเอง ซึ่งเราคิดว่าในเรื่องนี้เราลุกขึ้นมาก่อนใคร เพราะเรามองว่าโทรคมนาคมเป็นอุตสาหกรรมที่มีการใช้พลังงานค่อนข้างมาก ทั้งเรื่องของเสาสัญญาณที่เราให้บริการอยู่ทั่วประเทศ ซึ่ง 97% ของการใช้พลังงานไฟฟ้าทั้งหมดของดีแทคใช้ไปกับสัญญาณโทรศัพท์ เพราะฉะนั้นเราเลยต้องจัดการกับเรื่องนี้ก่อน”
ในการดำเนินการนั้นดีแทคได้นำเอาเทคโนโลยีเพื่อสร้างประสิทธิภาพในเรื่องของพลังงานเข้ามาใช้ ไม่ว่าจะเป็นการใช้พลังงานทางเลือก อย่าง “Solar Cell” หรือพลังงานแสงอาทิตย์เข้าไปติดตั้งตามเสาสัญญาณต่าง ๆ ทั่วประเทศ
นอกจากนี้ อีกบทบาทหนึ่งที่ดีแทคทำอย่างจริงจังคือเรื่อง “การจัดการ E-Waste หรือขยะอิเล็กทรอนิกส์” ซึ่งดีแทคนับเป็นผู้จุดกระแสให้คนมาใส่ใจกับเรื่องนี้ ผ่านโครงการ “ทิ้งให้ดี” ของดีแทค เพื่อเชิญชวนให้คนไทยทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ดีแทค และดีแทคจะนำขยะเหล่านี้ไปกำจัดให้อย่างถูกวิธี โดยโครงการนี้เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2555 สามารถกำจัดขยะได้ถูกวิธีได้มากกว่า 2 ล้านชิ้น
“ขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ได้จากโครงการ ‘ทิ้งให้ดี’ จะถูกนำไปจัดการอย่างถูกวิธี เริ่มตั้งแต่ทำลายหน่วยความจำ และแยกชิ้นส่วนต่าง ๆ เพื่อให้สามารถนำขยะอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมดไปรีไซเคิลใช้งานและกลับสู่กิจกรรมทางเศรษฐกิจได้อีกครั้ง ซึ่งที่ผ่านมาสามารถจัดการได้ถึง 97% ของขยะอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด และนับว่าเรามีบทบาทสำคัญในการช่วยบริหารจัดการผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงทางสภาวะอากาศได้เป็นอย่างดี”
นำเทคโนโลยีดิจิทัลและการเชื่อมต่อ ลดความเหลื่อมล้ำและช่องว่างทางสังคม
ขณะที่ในเรื่องของ “ความเสี่ยงที่ส่งผลกระทบต่อสังคม” นั้น จุดแรกที่ผู้บริหารดีแทคมองเห็นคือ เรื่องของ “ช่องว่างและความเหลื่อมล้ำทางสังคม” ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ที่หากไม่รีบจัดการจะกลายเป็นปัญหาของสังคมในระยะยาวได้
“เราเห็นปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยมีช่องว่างกว้างออกไปเรื่อย ๆ จากความก้าวหน้าในการใช้เทคโนโลยี อย่างไรก็ดี ดีแทคเชื่อว่า Digital Technology และการเชื่อมต่อจะเป็นตัวที่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำได้ ถ้าเราใช้มันอย่างถูกต้อง”
โดย ดีแทคได้มุ่งเน้นในการดำเนินใน 3 เรื่องหลัก ได้แก่
- เร่งปูพื้นที่สัญญาณอินเทอร์เน็ตให้ครอบคลุมทั่วประเทศอย่างต่อเนื่อง
- ทำให้บริการทางด้านอินเทอร์เน็ตอยู่ในราคาที่สอดรับกับสัดส่วนค่าครองชีพ
- การสร้างทักษะทางด้านดิจิทัล
“คนไทยทุกวันนี้เข้าถึงอินเทอร์เน็ตแล้วประมาณเกือบ 80% แต่ปัญหาอยู่ที่ความสามารถในการจ่ายค่าบริการที่อาจไม่สอดรับกับค่าครองชีพที่ทุกอย่างรอบตัวขึ้นราคาไปหมด
ในขณะที่ทักษะทางด้านดิจิทัลเป็นอีกจุดหนึ่งที่คนไทยยังขาดไป โดยเฉพาะผู้สูงวัย ที่เราพยายามจะติดอาวุธดิจิทัลให้กับผู้สูงวัย ให้สามารถใช้อินเทอร์เน็ตให้เกิดประโยชน์ โดยเรามีโครงการ “เน็ตทำกิน” ที่เข้าไปสอนผู้ประกอบการอายุเกิน 50 ปี เพื่อเตรียมเกษียณอย่างมีคุณภาพ และมีเป้าหมายชีวิตใหม่ ๆ โดยมี #คนจะรวยเน็ตช่วยได้ มาเป็นแคมเปญในการดำเนินโครงการ
อีกกลุ่มหนึ่ง ที่เราทำงานกับหน่วยงานภาครัฐคือในการเตรียมความพร้อมให้กับผู้ก้าวพลาดให้ได้ออกมาใช้ชีวิตในสังคมอีกครั้งหนึ่ง และสามารถมีอาชีพทำอย่างสุจริต โดยไม่ต้องกลับไปกระทำความผิดซ้ำอีก
นอกจากนี้ เรายังทำงานกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในการเข้าไปช่วยผู้ประกอบการกลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูงที่มีจำนวนมากในประเทศไทย เพื่อให้มีทักษะด้านดิจิทัลในการประกอบอาชีพ
ซึ่งที่กล่าวมานั้นเป็นแค่ตัวอย่างคร่าว ๆ ที่ดีแทคเข้าไปช่วยในการแก้ปัญหาใหญ่มากของสังคม คือเรื่องของช่องว่าทางดิจิทัลนั่นเอง”
คุณอรอุมา มองว่าทักษะทางด้านดิจิทัลนั้นเป็นปัญหาใหญ่ระดับประเทศ เนื่องจากยังมีประชากรจำนวนมากอยู่ในช่องว่างทางด้านดิจิทัล โดยเชื่อว่า “อินเทอร์เน็ตคือโอกาสที่ดีมาก โดยเฉพาะกับคนตัวเล็กในสังคม” ดังนั้นดีแทคจึงจัดให้เรื่องนี้เป็นอีกภารกิจสำคัญที่ต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วนและต้องขยายเครือข่ายให้ทั่วถึงทุกสังคมอย่างต่อเนื่อง
โดยทิ้งท้ายว่า ปัญหาทั้งหมดที่กล่าวมานั้นเป็นความท้าทายที่ดีแทคสามารถที่จะจัดการได้ อย่างไรก็ดี ต้องอาศัยความร่วมมือกันของหลายภาคี ซึ่งดีแทคพร้อมเปิดรับการสร้างความร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการทำงานด้านความยั่งยืนอย่างจริงจัง เพื่อเชื่อมต่อสิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับทุกคน และสร้างสังคมไทยให้แข็งแกร่งต่อไป
–
Website : Marketeeronline.co /
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline



