ฟินแลนด์ เตรียมพร้อมมาแล้วพักใหญ่ จึงมั่นใจว่าจะสามารถรับมือสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นได้ หากเพื่อนบ้าน ที่ถือเป็นขั้วอำนาจใหญ่ในยุโรปใช้ไม้แข็งตามที่ขู่ไว้

รัฐบาลและกิจการด้านพลังงานของฟินแลนด์ได้ทำตามแผนต่างๆ ที่วางไว้ เพื่อลดผลกระทบหากรัสเซีย ประเทศเพื่อนบ้านที่เป็นแหล่งพลังงานสำคัญมาอย่างยาวนาน ตัดการส่งก๊าซและน้ำมัน เพื่อตอบโต้การเข้าเป็นสมาชิกองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (NATO) ตามที่เคยประกาศเตือนเอาไว้

ฟินแลนด์กับรัสเซียมีพรมแดนติดกันเป็นทางทอดยาวถึง 1,300 กิโลเมตร โดยในอดีตที่ผ่านมาฟินแลนด์ต้องพึ่งพารัสเซียในหลายๆด้าน

ปี 2021 มูลค่าสินค้านำเข้าของฟินแลนด์อยู่ที่ 72,700 ล้านยูโร (ราว 2.6 ล้านล้านบาท) ในจำนวนนี้ 8,600 ล้านยูโร (ราว 312,000 ล้านบาท) หรือคิดเป็น 11.9% มาจากรัสเซีย

แต่ในทางกลับกันฟินแลนด์ทำเงินจากการส่งสินค้าไปยังรัสเซียได้เพียง 3,700 ล้านยูโร (ราว 134,000 ล้านบาท) เท่านั้น คิดเป็นแค่เพียง 5.4% ของมูลค่าส่งออกทั้งหมด 68,800 ล้านยูโร (ราว 2.4 ล้านล้านบาท) ในปี 2021

แต่ประเด็นระหว่างฟินแลนด์กับรัสเซียที่ถูกจับตามองมากสุดขณะนี้ คือเรื่องพลังงาน โดยปี 2021 นั้น 34% พลังงานที่ใช้อยู่ ของฟินแลนด์มาจากรัสเซีย และในส่วนของน้ำมันดิบ 80% ก็นำเข้ามาจากรัสเซีย

นอกจากนี้ฟินแลนด์ยังเป็นประเทศที่มีอัตราการใช้พลังงานต่อสัดส่วนประชากรสูงสุดในสหภาพยุโรป (EU) อีกด้วย

เวลานี้แม้ความสัมพันธ์ระหว่างฟินแลนด์กับรัสเซียตกต่ำอย่างหนัก แต่ฟินแลนด์ที่กังวลว่าจะถูกรัสเซียรุกรานแบบยูเครน ได้สมัครเป็นสมาชิก NATO ร่วมกับสวีเดน กลับไม่กลัวว่าจะถูกรัสเซียตัดการส่งพลังงานไปให้ตามที่รัสเซียเคยขู่ไว้

และดูเหมือนว่าทั้งรัฐบาลกับประชาชนชาวฟินแลนด์ก็เห็นไปในทางเดียวกันว่า ต้องลดการพึ่งพาพลังงานจากรัสเซีย

Sanna Marin นายกรัฐมนตรีหญิงวัยเพียง 36 ปีของฟินแลนด์ เคยกล่าวไว้ว่าต้องยุติการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลจากรัสเซีย

นายกฯ หญิง Sanna Marin 

ขณะที่การสำรวจความคิดเห็นโดยกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม Greenpeace เมื่อไม่นานมานี้ ปรากฏว่า กลุ่มตัวอย่างชาวฟินแลนด์ 78% เห็นด้วยกับนายกรัฐมนตรีว่า ต้องลดการนำเข้าพลังงานจากรัสเซีย แม้ทำให้ราคาพลังงานในประเทศแพงขึ้นก็ตาม

สาเหตุที่ทำให้ชาวฟินแลนด์แทบจะมีฉันทามติในเรื่องนี้ ส่วนหนึ่งมาจากความไม่พอใจที่รัสเซียรุกรานยูเครน จนกลัวว่าประเทศตนจะกลายเป็นเป้าหมายต่อไป

และอีกส่วนมาจากความเชื่อมั่นในการมาตรการของรัฐบาลที่จะลดการพึ่งพารัสเซีย โดยในส่วนของด้านพลังงาน นายกรัฐมนตรีหญิงเก่ง ขวัญใจชาวฟินแลนด์รุ่นใหม่ ได้ทำข้อตกด้านก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) กับเอสโตเนีย และลิธัวเนีย

ขณะเดียวกันก็หันไปนำเข้าน้ำมันจากนอร์เวย์และแหล่ง Brent ในสก็อตแลนด์ มากขึ้น

ข้อมูลจากสื่อยุโรปที่อ้างจากกรมศุลกากรของฟินแลนด์ระบุว่า ฟินแลนด์ลดการนำเข้าน้ำมันดิบจากรัสเซียอย่างมาก โดยมีนาคมที่ผ่านมางบประมาณที่ใช้ซื้อน้ำมันดิบจากรัสเซียลดลงมากถึง 45% จากเดือนเดียวกันของปี 2021

ส่วนในเรื่องของไฟฟ้าก็ได้หันมาผลิตใช้เองมากขึ้น พร้อมเพิ่มการนำเข้าจากสวีเดน

Pasi Kuoppamaki หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ Danske Bank ธนาคารใหญ่ของเดนมาร์ก วิเคราะห์สถานการณ์ระหว่างฟินแลนด์และรัสเซียไว้ว่า เศรษฐกิจฟินแลนด์จะได้รับผลกระทบพอสมควรจากการแตกหักกับรัสเซีย เพราะมีบริษัทมากมายที่ทำธุรกิจกับรัสเซีย

เฉพาะบริษัทฟินแลนด์ที่มีบริษัทลูกอยู่ในรัสเซียก็มีเกือบ 300 แห่ง ดังนั้นเมื่อทั้งสองประเทศร้าวฉาน บริษัทฟินแลนด์จึงต้องกลับประเทศและหาตลาดใหม่ ซึ่งก็เป็นไปได้สูงว่าประเทศส่วนใหญ่ในยุโรปพร้อมเปิดรับ

แต่ขณะเดียวกันจะกระตุ้นให้บางธุรกิจของฟินแลนด์ เช่นป่าไม้และแปรรูปไม้เติบโต ด้วยการหันมาแข่งขันกันเองและไม่ต้องกังวลคู่แข่งจากรัสเซียต่อไป

และในทางกลับกันรัสเซียจะถูกโดดเดี่ยวจากประเทศยุโรปด้วยกัน ในด้านต่างๆ มากขึ้น โดยจากศักยภาพด้านเทคโนโลยีของสวีเดนกับฟินแลนด์ ซึ่งเป็นที่ยอมรับในยุโรปและเวทีโลก การตัดสัมพันธ์กับทั้งสองประเทศนี้จึงอาจทำให้เทคโนโลยีของรัสเซียล้าหลังลงไปบ้าง ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

ส่วนการเข้าเป็นสมาชิก NATO ของฟินแลนด์กับสวีเดนที่ทางตุรกีคัดค้าน เพราะเห็นว่าทั้งสองประเทศสนับสนุนและให้ที่ลี้ภัยกับกลุ่มชาวเคิร์ดที่รัฐบาลมองว่าเป็นกลุ่มก่อการร้ายนั้น มีการวิเคราะห์กันว่าที่สุดนายกรัฐมนตรี Raycep Erdogan ของตุรกีจะยอมอ่อนข้อ

นายกฯ Raycep Erdogan

เพื่อหวังคะแนนในเสียงสำหรับการเลือกตั้งปีหน้า และให้ตัวเองได้อยู่ในอำนาจได้ต่อไป ซึ่งถ้าเป็นไปตามนี้ ฟินแลนด์กับสวีเดนก็จะได้เป็นสมาชิก NATO สมใจ / dw, theguardain



อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline

ติดตาม Marketeer Online ทาง LINE Official


เพิ่มเพื่อน