เงิน Yen อ่อนค่า ส่งผลกระทบอะไรกับเศรษฐกิจญี่ปุ่น และธนาคารกลางใช้วิธีไหนแทรกแซงค่าเงินเพื่อไม่ให้เศรษฐกิจทรุดหนัก
เดือนเมษายนที่ผ่านมาเงิน Yen ของญี่ปุ่นอ่อนค่าลง 6% เมื่อเทียบกับดอลลาร์ ทำให้อัตราแลกเปลี่ยนในช่วงนั้นอยู่ที่ 113 เยนต่อดอลลาร์ ซึ่งถือได้ว่าอ่อนค่ามากที่สุดในช่วง 20 ปี
ความต้องการในสกุลเงินดอลลาร์พุ่งสูงขึ้นมากเป็นเวลา 13 วันติดต่อกัน อ้างอิงจากองค์การความร่วมมือทางเศรษฐกิจระบุว่า เงินเยนในตอนนี้นั้นอ่อนค่าลงมากเกินไปเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์
ในขณะที่เงิน Yen อ่อนค่ามากเป็นประวัติการณ์ ความแตกต่างของนโยบายทางการเงินของทั้ง 2 ประเทศระหว่างญี่ปุ่นและสหรัฐฯ ก็ต่างกันแบบสุดขั้ว
สหรัฐอเมริกาพยายามอย่างหนักที่จะลดปริมาณเงินในระบบลงด้วยการลดการซื้อพันธบัตรและปล่อยให้พันธบัตรหมดอายุเพื่อดึงเงินออกจากระบบให้ได้มากที่สุด ในขณะที่ญี่ปุ่นใช้นโยบายให้เงินไหลเข้ามาในระบบเพื่อให้เกิดเงินเฟ้อและทำให้ค่าเงินอ่อน
ทำไมเงิน Yen ถึงอ่อนค่า
ถ้าจะให้สรุปสั้น ๆ กับเหตุผลที่ว่าทำไมค่าเงิน Yen ถึงอ่อนค่าลงเรื่อย ๆ
ประการแรกคือ เงินเฟ้อในญี่ปุ่นยังคงต่ำอยู่และจะต่ำต่อไปเรื่อย ๆ
ประการที่ 2 จ้างงานมากขึ้นไม่ได้หมายถึงค่าแรงจะเพิ่มตามไปด้วย
ประการสุดท้าย กิจกรรมทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นยังฟื้นตัวได้น้อย การลงทุนภาครัฐก็ยังไม่มาก และนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจก็ยังไม่ออกมาให้เห็นเป็นรูปเป็นร่าง
มาขยายความกันสักหน่อยกับประเด็นการอ่อนค่าของเงิน Yen นักวิเคราะห์มองถึงประเด็นของระดับอัตราเงินเฟ้อของญี่ปุ่นยังอยู่ในระดับต่ำ ตีคู่มากับการที่ประชาชนชาวญี่ปุ่นเองก็ไม่ค่อยจับจ่ายใช้สอยหรือใช้เงินกันมากนัก
ในเดือนพฤษภาคมมีการประเมินกันว่าอัตราเงินเฟ้อของญี่ปุ่นอยู่ที่ระดับเพียง 0.5% เท่านั้นซึ่งต่ำกว่าเดือนเมษายนที่อยู่ที่ระดับ 0.6%
ในขณะที่อัตราการเติบโตของ GDP ของญี่ปุ่นธนาคารกลางของญี่ปุ่นคาดการณ์ไว้อยู่ที่ 2.0% เท่านั้น
ยิ่งไปกว่านั้น ในส่วนของการจ้างงานมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น แต่นี่ไม่ได้หมายความว่าปัจจัยนี้จะไปกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจ ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ตัวเลขการจ้างงานออกมาที่ระดับทรง ๆ ที่ 0.56% ต่ำกว่าเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ 0.59%
โดยตั้งแต่ปี 2010 อัตราการจ้างงานของประเทศญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจากระดับ -1.6% ไต่มาเรื่อย ๆ จนมาอยู่ในระดับปัจจุบัน
สำนักข่าว Nikkei ของญี่ปุ่นรายงานว่า “ค่าจ้างรายเดือนของแรงงานในประเทศญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า (2021) หลังจากที่ก่อนหน้านี้ไป 2 ปีตัวเลขนี้ดรอปลงไปซึ่งเป็นผลมาจากเงินเฟ้อ”
การเพิ่มขึ้นของตัวเลขค่าจ้างจุดประกายความหวังที่ว่าเมื่อค่าจ้างสูงขึ้น การใช้จ่ายภาคครัวเรือนก็น่าจะสูงตามไปด้วย ซึ่งการบริโภคภายในประเทศถือเป็นหัวใจหลักของเศรษฐกิจญี่ปุ่นเลยก็ว่าได้ แต่ผลปรากฏว่า เอาเข้าจริงตัวเลขนี้ก็เพิ่มสูงขึ้นเพียง 0.1% เท่านั้น
ทำให้เกิดเครื่องหมายคำถามว่าแท้ที่จริงแล้วการเพิ่มขึ้นของค่าแรงนั้นจะทำให้กราฟการบริโภคภายในประเทศเพิ่มความชันไปได้อีกนานเท่าไรและจะยั่งยืนหรือไม่
ประเด็นสุดท้าย การใช้จ่ายของชาวญี่ปุ่นยังคงอยู่ในระดับที่ต่ำ ในช่วงที่ผ่านมาตัวเลขค้าปลีกของญี่ปุ่นออกมาอยู่ที่ -3.91% ซึ่งถือว่าหดตัวลงพอสมควร และทำสถิติต่ำกว่าเดือนเมษายนที่ผ่านมาที่อยู่ที่ -2.14%
หลังจากที่ผ่านจุดสูงสุดที่เคยทำได้อยู่ที่ 2% ในช่วงต้นปี 2014 การใช้จ่ายภายในประเทศก็ลดลงเรื่อย ๆ นักวิเคราะห์มองว่าในอนาคตการบริโภคของครัวเรือนญี่ปุ่นจะเป็นตัวกำหนดว่า Policy Maker นั้นจะเทคแอคชั่นอย่างไรกับเรื่องนี้
นอกจากนี้ ญี่ปุ่นยังต้องเผชิญกับเรื่องของภาวะเศรษฐกิจที่อ่อนแอ ทั้งยังมีเรื่องของภาวะเงินเฟ้อต่ำทำให้ดัชนีราคาผู้บริโภคอยู่ห่างไกลจากที่รัฐบาลตั้งเป้าหมายไว้ และรวมถึงปัญหาค่าแรงที่เติบโตในอัตราที่ต่ำ แม้จะมีการจ้างงานที่สูงขึ้นก็ตาม เหล่านี้ล้วนกระทบต่อการใช้จ่ายของประชาชนทั้งสิ้น
Yen ไม่ได้เพิ่งมาอ่อนปีสองปีนี้
ก่อนอื่นเราต้องรู้ก่อนว่า ไม่ใช่เงิน Yen เพิ่งมาอ่อนค่าเพียงไม่กี่เดือน แต่รู้หรือไม่ว่าเงิน Yen นั้นอ่อนค่ามาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2012 หลังจากที่นาย Shizo Abe นายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่นในขณะนั้น แถลงว่า ธนาคารกลางญี่ปุ่น หรือ Bank of Japan ควรที่จะพิมพ์เงินในจำนวนที่ไม่จำกัดเพื่อยกระดับเงินเฟ้อให้สูงขึ้น
หลังจากนั้นมาตั้งแต่เดือนฤศจิกายน 2012 ถึงเดือนมีนาคม 2022 ค่าเงิน Yen ญี่ปุ่นเมื่อเทียบกับเงินสกุล USD ก็ค่อย ๆ อ่อนค่าลงเรื่อย ๆ จนแตะระดับ 40%
จากประวัติศาสตร์ที่ผ่านจะเห็นได้ว่าการอ่อนค่าของเงิน Yen ไม่ใช่สิ่งที่รัฐบาลและแบงก์ชาติญี่ปุ่นไม่รู้ พวกเขารู้มาตลอดและเต็มใจที่จะให้เป็นเช่นนี้ เหตุผลก็เพราะว่ารัฐบาลต้องการช่วยเหลือผู้ส่งออกสินค้า ไม่ว่าจะเป็นผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ ที่มีทั้ง Toyota Honda Nissan และรายอื่น ๆ ทำให้เมื่อบริษัทเหล่านั้นทำเงินได้ก็ส่งเงินกลับประเทศ
หลายปีก่อน อดีตนายกรัฐมนตรี Shizo Abe เป็นผู้นำญี่ปุ่นคนแรกที่ ‘ตั้งใจ’ จะทำให้ค่าเงิน Yen อ่อนค่า เพื่อเปิดทางให้ต่างชาติหันมาทำการค้ากับญี่ปุ่นมากยิ่งขึ้น แต่ในสถานการณ์ปัจจุบันนั้นเปลี่ยนไปเพราะราคาสินค้าโภคภัณฑ์และปัจจัยการผลิตนั้นมีราคาสูงขึ้นกว่าในอดีตมาก
และดูเหมือนว่าปัญหานี้ธนาคารกลางของญี่ปุ่นจะไม่พยายามทำอะไรเพื่อให้สถานการณ์ดีขึ้น จึงไม่พ้นนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันของญี่ปุ่นอย่างนาย Fumio Kishida ที่พยายามหาทางบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนผ่านการใช้จ่ายของภาครัฐอย่างเช่นการอุดหนุนค่าน้ำมันบางส่วน
มูลค่าสินค้าส่งออกที่เพิ่มขึ้นตามการอ่อนค่าของค่าเงิน Yen ทำให้การต่อสู้ในเวทีการค้าโลกขึ้นญี่ปุ่นมีความได้เปรียบมากยิ่งขึ้น ซึ่งสิ่งนี้จะทำให้ผู้ส่งออกสินค้าของญี่ปุ่นสามารถที่จะคงราคาสินค้าในสกุลเงินต่างประเทศเอาไว้ในระดับเดิมได้ แทนที่จะไปลดราคาสินค้าสู้
ผลกระทบต่อเศรษฐกิจเมื่อเงินอ่อนค่า
การอ่อนค่าของเงิน Yen ไม่เพียงแต่ซ้ำเติมเศรษฐกิจที่กำลังบอบช้ำจากผลกระทบของโควิด 19 และรวมไปถึงนโยบายที่รัฐบาลออกมาเพื่อต่อสู้กับโควิด ถ้ายิ่งพูดถึงผลกระทบจากภาวะเงินเฟ้อแล้วด้วยล่ะก็การแข็งค่าของเงินสกุลประจำชาติของญี่ปุ่นก็ไม่ต่างอะไรกับมีดอีกเล่มที่ทิ่มแทงเข้าไปในแผลที่เลือดกำลังไหลอยู่โดยที่ยังไม่ทันได้ปฐมพยาบาลเลยด้วยซ้ำ เรามาดูกันว่าผลกระทบจากการอ่อนค่าของเงิน Yen แบบชัดในแต่ละหมวดนั้นเป็นอย่างไร
ผลกระทบต่อราคาสินค้านำเข้าและส่งออก
หนึ่งในสิ่งที่เห็นได้ชัดที่สุดของการอ่อนค่าของเงิน Yen นั้นมีผลกระทบค่อนข้างมากก็คือ ผลกระทบในด้านสินค้าเพื่อการส่งออก ตามตำรามักจะกล่าวถึงผลกระทบโดยตั้งสมมุติฐานในเรื่องราคาสินค้าส่งออกที่ราคาใดราคาหนึ่งที่ประเทศปลายทางการส่งออกสักประเทศ และผลกระทบของอัตราแลกเปลี่ยนที่ผันผวนไปมา โดยพื้นฐานแล้วจะไปกระทบกับราคาของสินค้าส่งออก ที่ประเทศปลายทาง (ราคาสินค้านำเข้าของประเทศนั้น ๆ)
ยกตัวอย่างในเคสของการอ่อนค่าของเงิน Yen นั้นภาครัฐก็คาดหวังว่าปริมาณการส่งออกจะเพิ่มมากขึ้นตามราคาที่ประเทศปลายทางที่ใช้เงินน้อยลงแต่ซื้อสินค้าได้มากขึ้นกว่าเดิม
อย่างไรก็ตาม ในเคสของประเทศญี่ปุ่น อาจจะไม่ได้เป็นไปตามทฤษฎีที่กล่าวไปข้างต้น ข้อแรก ราคาสินค้าส่งออกในบริบทอ้างอิงค่าเงิน Yen ห่างไกลจากคำว่า “มีเสถียรภาพ” เพราะค่าเงิน Yen นั้นผันผวนมาก ๆ ซึ่งตรงกันข้ามกับประเทศอื่น ๆ ที่ค่าเงินในส่วนของการส่งออกสินค้านั้นมีความเสถียรมากกว่า
สิ่งนี้สื่อว่า อย่างน้อยในระยะสั้นผลกระทบจากการอ่อนค่าของเงิน Yen จะทำให้ผู้ส่งออกของญี่ปุ่นมีความได้เปรียบ แต่ไม่ได้มาจากปริมาณการส่งออกที่เพิ่มมากขึ้นอย่างที่หลายคนเข้าใจ แต่มาจากการเพิ่มขึ้นของ “มูลค่า” การส่งออกสาเหตุมาจากการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าส่งออกเมื่อแลกเงินสกุลปลายทางกลับมาเป็นเงิน Yen ก็จะได้เงินเพิ่มมากขึ้น ในขณะที่ส่งออกสินค้าในปริมาณเท่าเดิม
ในทางตรงกันข้าม สัดส่วนของคู่สกุลเงิน Yen ในสัญญาซื้อขายล่วงหน้านั้นมีความเกี่ยวข้องกับราคาสินค้าส่งออกเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เพราะส่วนใหญ่บริษัทเหล่านี้ได้มีการทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่ “อัตราแลกเปลี่ยนคงที่” เอาไว้แล้ว โดยเฉพาะกับค่าเงินดอลลาร์
ดังนั้นการอ่อนค่าของเงิน Yen จะส่งผลกระทบอย่างมากต่อราคาสินค้านำเข้าเมื่อเอาเงินเยนไปแลกเป็นเงินดอลลาร์ก็ต้องใช้เงินมากขึ้น และเมื่อเป็นเช่นนี้ก็จะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการที่ต้องมีการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศก็จะได้รับผลกระทบทางด้านยอดขายเนื่องจากเมื่อนำเข้าสินค้าราคาแพงขึ้นก็จำเป็นจะต้องปรับราคาขายให้สูงตามไปด้วย
จากสาเหตุที่ได้กล่าวไปจะเห็นได้ว่าเรื่องของการอ่อนค่าของเงินนั้นสร้างภาระให้กับอุตสาหกรรมการนำเข้าของญี่ปุ่นเป็นอย่างมาก เนื่องจากตอนนี้เศรษฐกิจของญี่ปุ่นอยู่ในภาวะซบเซามาอย่างยาวนาน และการที่จะผลักภาระด้านต้นทุนสินค้าให้กับผู้บริโภคผ่านราคาขายปลีกที่เพิ่มขึ้นนั้นก็เป็นเรื่องที่ไม่ใช่นึกอยากจะทำก็ทำได้เลย เพราะด้วยปัจจุบันที่ความต้องการบริโภคของประชาชนชาวญี่ปุ่นนั้นอยู่ในระดับที่ต่ำทำให้อาจเกิดความเสี่ยงที่พอเพิ่มราคาสินค้าแล้วสินค้ากลับขายไม่ได้สถานการณ์ก็จะยิ่งแย่ไปกว่าเดิม
ผลกระทบต่อภาคท่องเที่ยวและบริการ
เมื่อเงิน Yen อ่อนค่านักท่องเที่ยวจากต่างประเทศจะถูกกระตุ้นให้เข้ามาท่องเที่ยวในประเทศญี่ปุ่น ในขณะที่นักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่นที่ต้องการจะออกไปท่องเที่ยวยังต่างประเทศจะรู้สึกว่าเงิน Yen แลกเป็นเงินต่างประเทศได้น้อยลง และต้องใช้เงินมากขึ้นในการจะแลกให้ได้จำนวนเท่าเดิมเหมือนกับในอดีต
ดังนั้นการถดถอยของการท่องเที่ยวหากมองในพาร์ตของการออกไปท่องเที่ยวต่างประเทศของชาวญี่ปุ่น และการเพิ่มขึ้นของจำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่จะเดินทางมายังประเทศญี่ปุ่น ก็น่าจะมองภาพนี้เป็นไปในเชิงบวกต่อเศรษฐกิจ
ผลกระทบต่อรายได้จากต่างประเทศ
ในทางตรงกันข้าม รายได้จากการค้าจากต่างประเทศนั้นเกินดุลมาอย่างยาวนาน เนื่องจากสินทรัพย์ในสกุลเงินตราต่างประเทศที่ญี่ปุ่นมีอยู่เป็นจำนวนมาก
เกินกว่าครึ่งของสินทรัพย์ในสกุลเงินต่างประเทศและหนี้ในสกุลเงินต่างประเทศของญี่ปุ่น คือ ดอลลาร์ (46.2% และ 43.5% ตามลำดับ) พูดง่าย ๆ ว่าเจ้าหนี้ของญี่ปุ่น คือ อเมริกานั่นเอง
อย่างไรก็ตาม การที่ญี่ปุ่นมีสินทรัพย์ในสกุลเงินตราต่างประเทศมากกว่าหนี้ในสกุลเงินต่างประเทศ ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการอ่อนค่าของเงินจึงไปกระทบกับฝั่งสินทรัพย์มากกว่าฝั่งหนี้สิน
ดังนั้น เมื่อเงิน Yen อ่อนค่า ท้ายบิลของดอกเบี้ยและปันผลมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นเมื่อดูเป็นสกุลเงิน Yen ซึ่งการเพิ่มขึ้นของรายได้ประเภทนี้ก็ถือเป็นผลกระทบในเชิงบวกก็ว่าได้
ใครได้ ใครเสีย
การอ่อนค่าลงของเงิน Yen มีผลกระทบกับสัดส่วนการนำเข้าสินค้าของญี่ปุ่นหลังปี 2012 ซึ่งทำให้สินค้าหลายประเภทมีสัดส่วนลดลงถึง 34% อย่างเช่น เครื่องจักรก็มีสัดส่วนลดลงถึง 33% เครื่องใช้ไฟฟ้าลดลง 24% วัตถุดิบเพื่อการผลิตลดลง 18% และสารกึ่งตัวนำ (Semiconductor) ลดลง 16%
ในทางตรงกันข้ามปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบไม่ได้รับผลกระทบจากค่าเงิน Yen อ่อนค่า เนื่องจากราคาน้ำมันที่อิงกับค่าเงิน Yen นั้นไม่ได้มีความผันผวนมากในระดับที่ต้องเป็นกังวล และที่สำคัญน้ำมันยังเป็นสิ่งที่จำเป็นและไม่มีทางที่ญี่ปุ่นจะลดการนำเข้าน้ำมันแน่นอนแม้เงิน Yen จะอ่อนค่าแค่ไหนและนี่คือภาระที่ญี่ปุ่นต้องแบกรับ
ในส่วนของการนำเข้าอาหารนั้นมีแนวโน้มว่าจะลดลงเมื่อเงิน Yen อ่อนค่า ซึ่งก็ตรงกันข้ามกับการนำเข้ายารักษาโรคที่ไม่สามารถลดปริมาณการนำเข้าได้ ซ้ำยังเพิ่มสัดส่วนการนำเข้าสูงถึง 27% นั่นแน่นอนว่าย่อมกระทบกับกำไรของบริษัทผู้นำเข้ายารักษาโรค
ในส่วนของ Sector ที่ได้ประโยชน์จากการอ่อนค่าของเงิน Yen คือ อุตสาหกรรมยานยนต์ แม้ว่าการอ่อนค่าของเงิน Yen จะไม่ได้กระตุ้นปริมาณการส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์ก็ตาม แต่ฝั่งผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติญี่ปุ่นยังคงได้รับประโยชน์ในแง่ของมูลค่าการส่งออกที่เพิ่มขึ้นจากอัตราแลกเปลี่ยน
การอ่อนค่าลงเรื่อย ๆ ของเงิน Yen อาจทำให้อำนาจในการซื้อของประชาชนและบริษัทลดลง และรวมไปถึงทำให้ไม่สามารถนำเข้าสินค้าที่จำเป็นในบางรายการได้ ยกตัวอย่างเช่น สินค้าประเภทยารักษาโรค และน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งเป็นที่รู้กันว่าแม้ว่าเงินจะอ่อนค่าแค่ไหนก็ต้องนำเข้าอยู่ดี และเมื่อราคาสินค้าโภคภัณฑ์สูงขึ้นนั่นหมายถึงญี่ปุ่นก็จะขาดดุลการค้ามากขึ้นตามไปด้วย
BOJ รับมือกับเรื่องนี้อย่างไร
สิ่งที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น หรือ Bank of Japan (BOJ) พยายามทำในตอนนี้คือการเข้าแทรกแซงตลาดเงิน การเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลเพื่อรักษาอัตราผลตอบแทนให้อยู่ในระดับที่ไม่ต่ำจนเกินไป ซึ่งในส่วนนี้แบงก์ชาติของญี่ปุ่นยังคงแสดงความต้องการซื้อพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีที่ดอกเบี้ยคงที่ อยู่อย่างต่อเนื่อง
ข้อมูลจาก Bloomberg ระบุว่า BOJ มีแผนที่จะซื้อพันธบัตรรัฐบาลระยาวอย่างต่อเนื่องทุก ๆ 3 เดือน โดยก่อนหน้านี้ก็ได้มีการซื้อพันธบัตรมาก่อนหน้านี้แล้วหลายต่อหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการซื้อพันธบัตรมูลค่ากว่า 13,000 ดอลลาร์ (1.6 ล้านล้านเยน) ในวันที่ 30 กรกฎาคม 2018
และถึงแม้ BOJ จะทุ่มซื้อพันธบัตรด้วยจำนวนเงินที่มากระดับหมื่นล้านดอลลาร์แต่ก็ยังคงไม่เพียงพอที่จะรักษาเสถียรภาพในตลาดเงินไว้ได้อยู่ดี และจากข้อมูลวันที่ 30 มีนาคม 2022 ที่ผ่านมา ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นอายุ 10 ปี ให้ผลตอบแทนเพียงแค่ 0.21% เท่านั้น
อนาคตของเงิน Yen จะเป็นอย่างไรต่อไปในอนาคต
เป็นที่เข้าใจกันดีว่าสงครามรัสเซีย-ยูเครนนั้นส่งผลกระทบต่อเรื่องของซัปพลายประเภทปัจจัยการผลิตประเภทต่าง ๆ อาทิ น้ำมันเชื้อเพลิง ก๊าซธรรมชาติ เหล็ก และรวมไปถึงการขาดแคลนอาหารอย่างข้าวสาลี น้ำตาล เราจะเห็นการเพิ่มขึ้นของสินค้าโภคภัณฑ์ต่าง ๆ รวมไปถึงการแข็งค่าของสกุลเงินของประเทศที่เป็นต้นทางการผลิตสินค้าประเภทนั้น ๆ อย่างเช่นออสเตรเลียและแคนาดาดอลลาร์
นอกจากนี้ สถานการณ์โควิดในจีนรวมไปถึงวิธีการที่รัฐบาลจีนใช้รับมือกับโควิดกลายเป็นข้อกังวลระลอกใหม่ที่กำลังจะปะทุขึ้นในไม่ช้า ซึ่งผลกระทบที่ร้ายแรงที่สุดคือ Supply Shock หรือการขาดแคลนปัจจัยการผลิตและสินค้าประเภทอาหารอย่างรุนแรง เพราะจีนได้ชื่อว่าเป็น The World’s Factory
ความไม่สอดคล้องกันของนโยบายการเงินของหลายประเทศโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่นดูจะถ่างช่องว่างออกไปเรื่อย ๆ รวมไปถึงเรื่องการรับมือเงินเฟ้อของแต่ละประเทศก็ดูจะไปคนละทิศคนละทาง ดัชนีผู้บริโภคของสหรัฐอเมริกาพุ่งขึ้นไปแตะระดับ 8.5% ในขณะที่ระดับ CPI ของญี่ปุ่นยังอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 2%
ว่ากันถึงเรื่องระดับเงินเฟ้อ ยกตัวอย่างเช่น อเมริกาเงินเฟ้อขึ้นไปแตะระดับสูงสุดในรอบ 40 ปี ในขณะที่ญี่ปุ่นเพิ่งขึ้นมาแค่ 1.9% จากปีที่แล้ว (2021) ดังนั้นรัฐบาลจึงใช้นโยบายการลดค่าเงินเพื่อให้เกิดเงินเฟ้อ อย่างไรก็ตาม ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น นาย Haruhiko Kuroda แย้งรัฐบาลว่า การใช้วิธีนี้เพื่อเพิ่มระดับเงินเฟ้อเป็นสิ่งที่ไม่ยั่งยืน และสุดท้ายก็ต้องเอาเงินไปอุดหนุนทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวกลับมาอยู่ดี
มีบางคนคิดว่าถ้า BOJ ทิ้งความคิดเรื่องการควบคุม Yield-Curve ไป เงิน Yen อาจจะกลับมาแข็งค่าขึ้นบ้างก็ได้ แล้วอนาคตของเงิน Yen จะเป็นอย่างไรก็ยังคงเป็นเครื่องหมายคำถาม เพราะปัจจุบันพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นอายุ 30 ปีให้ผลตอบแทนน้อยกว่า 1% ซึ่งว่ากันตามความเป็นจริง อัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงิน Yen นั้นวิ่งตามผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปีมากกว่าจะวิ่งตามผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นอายุ 10 ปีเสียอีก
อ้างอิง
https://www.fxempire.com/forecasts/article/why-is-the-yen-so-weak-fxtm-academy-975425
–
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline



