หลังจากชาวดัตช์นำกาแฟเข้ามาในประเทศญี่ปุ่นเมื่อปลายศตวรรษที่ 18 การบริโภคกาแฟค่อย ๆ เพิ่มขึ้นในทศวรรษต่อมา จนมาถึงปัจจุบันกาแฟได้เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของคนญี่ปุ่นที่หาซื้อได้ง่ายตามร้านกาแฟ ร้านสะดวกซื้อ หรือแม้แต่จากตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ
จากการสำรวจทุก ๆ 2 ปีของสมาคมกาแฟญี่ปุ่นทั้งหมด (AJCA) พบว่าคนญี่ปุ่นโดยเฉลี่ยดื่มกาแฟ 11.09 ถ้วยต่อสัปดาห์ ซึ่งตัวเลขนี้ไม่ได้ผันผวนมากนักในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา อีกทั้งตลาดกาแฟในญี่ปุ่นมีมูลค่าโดยรวมกว่า 29.9 ล้านดอลลาร์ในปี 2020 และคาดว่าภาคส่วนนี้จะมีการเติบโต 3.5% เมื่อเทียบเป็นรายปีระหว่างปี 2020-2025
ร้านกาแฟทั่วประเทศญี่ปุ่นเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างมูลค่าที่มากขึ้นในตลาดกาแฟ ซึ่งแต่ละร้านนั้นจะมีเอกลักษณ์ที่แตกต่างกันออกไป อย่างเช่น Starbucks Japan จะให้ความสำคัญกับเมล็ดกาแฟพรีเมียม หรือ Tully’s จะให้ลูกค้าเลือกเมล็ดกาแฟด้วยตนเอง คั่วเมล็ดกาแฟ และเพลิดเพลินไปกับความแตกต่างที่ละเอียดอ่อนในด้านรสชาติและกลิ่นหอม
แต่สำหรับแบรนด์ร้านกาแฟชั้นนำที่แข่งขันกันในตลาดกาแฟญี่ปุ่นอย่างดุเดือดด้วยกัน มีทั้งหมด 4 แบรนด์ คือ Starbucks ซึ่งมีสาขากว่า 1,600 สาขา Doutor ซึ่งมีสาขากว่า 1,000 สาขา Komeda ซึ่งมีสาขากว่า 890 สาขา และ Tully’s ซึ่งมีสาขากว่า 770 สาขา
มาดูกันเลยว่าทั้ง 4 แบรนด์ร้านกาแฟชั้นนำในตลาดญี่ปุ่นมีอะไรที่น่าสนใจและแตกต่างกันอย่างไรบ้าง
Starbucks ร้านกาแฟแบรนด์ดังอันเป็นที่รักของคนญี่ปุ่น
เรียกได้ว่าในปัจจุบันแทบไม่มีใครไม่รู้จัก Starbucks (สตาร์บัคส์) แบรนด์ร้านกาแฟจากอเมริกาที่ก่อตั้งในปี 1971 โดย Jerry Baldwin (เจอร์รี บัลด์วิน) Zev Siegl (เซฟ ซีเกิล) และ Gordon Bowker (กอร์ดอน โบว์เกอร์)
หลายปีต่อมา Starbucks ได้เปิดร้านสาขาแรกในประเทศญี่ปุ่นที่ย่านกินซ่า โตเกียว ในเดือนสิงหาคม 1996 ซึ่งญี่ปุ่นถือเป็นสาขานอกประเทศอเมริกาประเทศแรก และเป็นตลาดที่ใหญ่เป็นอันดับ 4 ของ Starbucks ทั่วโลก
หลังจากนั้น Starbucks ได้เติบโตอย่างรวดเร็วจนมีหลายสาขาตั้งอยู่ทั่วประเทศญี่ปุ่น ทั้งตามท้องถนนในเมือง สถานที่ในชนบท จุดแวะพัก และที่อื่น ๆ ที่ลูกค้าสามารถเข้าไปใช้บริการได้อย่างสะดวก ทำให้ในปี 2013 สามารถทำเงินได้ 125.66 พันล้านเยน
ปัจจุบัน Starbucks ได้กลายเป็นเครือข่ายกาแฟที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่นด้วยส่วนแบ่งการตลาด 48% และร้านกาแฟโดยรวมเติบโตขึ้นโดยเฉลี่ย 7.3% ต่อปี
ความนิยม Starbucks ในประเทศญี่ปุ่นเริ่มมาตั้งแต่เปิดร้านในสาขาแรก เนื่องจาก Starbucks ถือเป็นร้านกาแฟที่คำสั่งซื้อสามารถปรับแต่งได้ ขนาดเครื่องดื่มที่แตกต่างกัน นมที่เลือกสรรต่างกัน รวมทั้งเครื่องดื่มพิเศษที่จำหน่ายนอกเหนือจากปกติ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนแปลกใหม่ในยุคนั้น
ที่สำคัญความพิเศษของ Starbucks ที่ไม่เหมือนใคร ก็คือเครื่องดื่มพิเศษที่มีเฉพาะในญี่ปุ่นเท่านั้น โดยส่วนใหญ่จะปรับเปลี่ยนเชื่อมโยงไปตามฤดูกาลและภูมิภาคต่าง ๆ เช่น ฤดูใบไม้ผลิ เครื่องดื่มก็มีรสหวานสีชมพูปราศจากเอสเปรสโซต้อนรับดอกซากุระบาน เป็นต้น
นอกจากนี้ Starbucks ยังเป็นบริษัทที่รักษาวัฒนธรรมดั้งเดิมและพัฒนาก้าวหน้าอยู่เสมอ อย่างเมื่อเร็ว ๆ นี้ในเดือนกรกฎาคม 2020 Starbucks ก็ได้เปิดร้านสำหรับคนหูหนวกแห่งที่ห้าในโลกที่เมืองคุนิทาจิ โตเกียว หรือร้าน Starbucks ในแต่ละสาขาที่มีเอกลักษณ์และน่าสนใจหลายแห่ง เช่น สาขา Ninenzaka Yasaka Chaya ในเกียวโต ซึ่งเป็นทาวน์เฮาส์ดัดแปลงอายุ 100 ปี สาขา Kitano Ijinkan ในโกเบ ซึ่งเป็นอาคารสไตล์ตะวันตก หรือสาขา Kawagoe Kanetsuki Doribranch ในไซตามะ ซึ่งมีหน้าร้านแบบเปิดโล่งและสวยงามแบบยุคเอโดะ
Doutor ร้านกาแฟแบรนด์ญี่ปุ่นแบบยืนสไตล์ยุโรป
Doutor (โดะโทรุ) เป็นบริษัทค้าปลีกของญี่ปุ่นที่เชี่ยวชาญด้านการคั่วกาแฟและแฟรนไชส์ร้านกาแฟ ก่อตั้งเมื่อปี 1976 โดย Toriba Hiromichi (โทริบะ ฮิโรมิจิ)
แรงบันดาลใจเบื้องหลัง Doutor มาจากในปี 1950 เมื่อ Toriba Hiromichi ได้เริ่มทำงานที่ร้านอาหารเพื่อหารายได้ ในฐานะที่เป็นพ่อครัวฝึกหัด เขามักจะเตรียมอาหารและชงกาแฟให้แก่หัวหน้าเชฟ แต่ในตอนแรกเขาไม่ได้สนใจในกาแฟมากนัก จนกระทั่งเขาเริ่มทำงานเป็นบาร์เทนเดอร์เขาจึงเริ่มสนใจในการชงกาแฟให้มีรสชาติอร่อยถูกปากทุกคน
ต่อมา Toriba Hiromichi ได้ทำงานเป็นผู้จัดการร้านกาแฟ เขาจึงเริ่มคิดที่จะเปิดร้านกาแฟที่สามารถให้ความผ่อนคลายและความสงบแก่ผู้คน และเป็นสถานที่ที่ฟื้นฟูจิตใจผู้คนผ่านการดื่มกาแฟสักถ้วย
เขาจึงเดินทางไปเรียนรู้และทำงานในฟาร์มเมล็ดกาแฟในบราซิลเป็นเวลา 3 ปี ก่อนที่เขาจะกลับบ้านเกิดมาเปิดร้านกาแฟของเขาเอง และในปี 1980 Doutor ก็ได้เปิดให้บริการร้านกาแฟแบบยืนสไตล์ยุโรปแห่งแรกในญี่ปุ่นที่ฮาราจูกุ โตเกียว ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นแบรนด์ร้านกาแฟชั้นนำ
ปัจจุบัน Doutor ประสบความสำเร็จจนขยายไปร้านกาแฟไปทั่วประเทศญี่ปุ่น และได้ขยายสาขาไปในต่างประเทศอย่างไต้หวัน เกาหลีใต้ มาเลเซีย และสิงคโปร์
เริ่มแรก Doutor ตั้งราคากาแฟไว้เพียง 150 เยนเท่านั้น ด้วยแนวคิดที่ว่าจะนำเสนอเมล็ดกาแฟที่มีคุณภาพในราคาที่ไม่เป็นภาระให้คนที่ดื่มกาแฟในทุกวัน ซึ่งราคานี้เป็นราคาที่ถูกที่สุดในญี่ปุ่นในยุคนั้น
สำหรับการคั่วกาแฟของ Doutor นั้นใช้วิธีไม่เหมือนร้านกาแฟทั่วไปที่นิยมใช้ลมร้อน แต่เป็นการคั่วด้วยไฟแบบเปิด เนื่องจาก Doutor พบว่าการคั่วกาแฟแบบนี้เป็นการรักษารสชาติดั้งเดิมของกาแฟ จึงลงทุนในการวิจัยและพัฒนาเครื่องคั่วแบบใช้ไฟในเชิงอุตสาหกรรมของตนเองเพื่อคั่วกาแฟ
เมื่อธุรกิจเติบโตขึ้น Doutor ได้ซื้อพื้นที่เพาะปลูกกาแฟของตัวเอง เพื่อให้มั่นใจในคุณภาพของเมล็ดกาแฟ ในปี 1991 Doutor มีไร่กาแฟแห่งแรกในเกาะโคนา รัฐฮาวาย ตามมาด้วยไร่แห่งที่สองซึ่งเริ่มดำเนินการในปี 1995 ถือเป็นหนึ่งในความสำเร็จของ Doutor ในช่วงเวลาอันสั้นหลังจากเปิดบริการสาขาแรก
ความนิยม Doutor เกิดจากการเจาะกลุ่มเป้าหมายอย่างมนุษย์เงินเดือน โดยทำร้านกาแฟให้เป็นสวรรค์ของเหล่ามนุษย์เงินเดือนที่ขยันขันแข็ง ด้วยการบริการห้องสำหรับผู้สูบบุหรี่ ราคาไม่แพงที่สามารถจับต้องได้ และนำเสนอเครื่องดื่มและอาหารว่างในรูปแบบง่าย ๆ หลากหลายรูปแบบ สิ่งเหล่านี้เหมาะสำหรับกลุ่มคนรีบเร่งที่แวะหาที่พักผ่อนเพียงชั่วครู่ ซึ่งตรงตามสังคมคนทำงานในญี่ปุ่นเป็นอย่างมาก
Komeda ร้านกาแฟที่ช่วยให้ผ่อนคลายในยามเช้า
Komeda (โคเมดะ) เป็นร้านกาแฟที่ให้บริการเต็มรูปแบบที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น ซึ่งมุ่งเน้นเป็นสถานที่ที่ดีที่สุดสำหรับการพักผ่อนและผ่อนคลายให้กับลูกค้า
Komeda ก่อตั้งร้านกาแฟแห่งแรกขึ้นที่เมืองนาโกย่าในปี 1968 โดย Taro Kato (ทาโร่ คาโตะ) ด้วยกลยุทธ์ในการเปิดร้านกาแฟที่ทำให้ผู้คนรู้สึกเหมือนอยู่บ้าน พร้อมให้บริการกาแฟชั้นเยี่ยมและขนมปังสดใหม่ ด้วยเหตุนี้ Komeda จึงถือได้ว่าเป็น “ห้องนั่งเล่นในเมือง”
แม้ว่า Komeda จะเริ่มต้นจากร้านกาแฟเล็ก ๆ แต่ปัจจุบันได้เติบโตกลายเป็นร้านกาแฟแฟรนไชส์รายใหญ่ที่สามารถขยายสาขาออกไปทั่วประเทศญี่ปุ่นได้อย่างสำเร็จ
Komeda มีความแตกต่างอย่างเห็นได้ชัดจากแบรนด์ร้านกาแฟรายใหญ่อื่นๆ คือ การให้บริการแบบ Full Service โดยพนักงานจะรับออเดอร์และเสิร์ฟให้ถึงโต๊ะ ทำให้ Komeda ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากทั้งสำหรับลูกค้ากลุ่มวัยรุ่นและวัยสูงอายุ
Komeda ยังเน้นให้บริการสำหรับลูกค้ายามเช้าด้วยการเสิร์ฟขนมซองเล็ก ๆ ฟรีให้รับประทานคู่กับกาแฟหรือเครื่องดื่มในร้าน และหากใครมาที่ร้านก่อน 11 โมงก็จะได้ “Morning Service” เสิร์ฟเพิ่มขนมปังปิ้งร้อน ๆ กับไข่ต้มอีกหนึ่งฟองฟรี
สำหรับเมล็ดกาแฟของ Komeda นั้นจะผ่านการคัดสรรอย่างพิถีพิถันจากทั่วทุกมุมโลก จากนั้นนำมาผสมและคั่วโดยตรงเพื่อให้มั่นใจในคุณภาพของกาแฟและรสชาติที่อร่อย ที่สำคัญหากลูกค้าชื่นชอบกาแฟของทางร้านก็สามารถซื้อเมล็ดกาแฟกลับบ้านได้
นอกจากกาแฟที่ถูกและอร่อยแล้ว ยังมีขนม Shiro no Whirl (ชิโระโนะเวิร์ล) ที่อร่อยขึ้นชื่อไม่แพ้กัน ซึ่ง Shiro no Whirl เป็นขนมที่ราดด้วยซอฟต์ครีมวนิลาเนื้อนุ่ม เสิร์ฟมาพร้อมกับเมเปิ้ลไซรัป และ Ogura toast (โอกุระ โทสต์) ขนมปังปิ้งง่าย ๆ เสิร์ฟพร้อมมาการีนและถั่วแดงกวน ซึ่งขนมทั้งสองอย่างนี้เข้ากันได้ดีกับกาแฟของทางร้าน
Komeda นั้นยังมีร้านกาแฟที่ทำจากพืชทั้งหมดแห่งใหม่ในโตเกียว เพื่อรองรับกลุ่มคนที่เน้นรับประทานอาหารทางเลือก โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่รับประทานมังสวิรัติ เนื่องจากความต้องการของร้านที่จะลดก๊าซเรือนกระจกและการใช้ทรัพยากร รวมทั้งการสร้างพื้นที่ที่ผ่อนคลายและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมที่นำกลับมาใช้ใหม่
Tully’s แบรนด์ร้านกาแฟที่ทันสมัยอยู่เสมอ
Tully’s (ทัลลีส์) เป็นร้านกาแฟเฉพาะทางที่มุ่งเน้นจะนำเสนอกาแฟคุณภาพสูงสุดให้กับลูกค้า เพื่อความสุขในการดื่มและสัมผัสรสชาติ Tully’s จึงใช้เมล็ดกาแฟของพื้นที่การผลิตกาแฟทั่วโลกเพื่อนำมาทำกาแฟแฮนด์เมดที่อร่อยที่สุด
Tully’s เป็นแบรนด์ร้านกาแฟของอเมริกาที่ก่อตั้งโดย Tom O’Keefe (ทอม โอคีฟ) ในปี 1992 ได้เข้ามาเปิดบริการในญี่ปุ่นสาขาแรกในย่านกินซ่า โตเกียว ในปี 1997 เนื่องจาก Kota Matsuda (โคตะ มัตสึดะ) พนักงานธนาคาร Sanwa (ซันวา) ได้ขอให้ Tom O’Keefe เปิดเครือข่ายร้านกาแฟคุณภาพสูงในญี่ปุ่นเป็นการส่วนตัว
หลังจากนั้น Kota Matsuda ได้กลายเป็น CEO ของ Tully’s ในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งถือเป็นการร่วมทุนระหว่าง Tully’s แบรนด์ร้านกาแฟชั้นนำ Kota Matsuda และนักลงทุนภายนอกอีกหลายคน ทำให้ Tully’s ขยายกิจการในญี่ปุ่นผ่านแฟรนไชส์เป็นกำลังสำคัญ
Tully’s Coffee Japan Inc. ก่อตั้งขึ้นในปี 1998 เพื่อดำเนินกิจการในประเทศญี่ปุ่นโดยเฉพาะ และในปี 2005 Tully’s Coffee Japan ได้ซื้อทรัพย์สินทางปัญญาของ Tully’s Coffee ด้วยเหตุนี้ Tully’s ในประเทศญี่ปุ่นจึงยังคงดำเนินธุรกิจได้จนถึงทุกวันนี้ ในขณะที่ Tully’s ต้นตำรับในสหรัฐอเมริกาล้มละลายในปี 2018
กาแฟของ Tully’s จะประกอบด้วยเมล็ดกาแฟคุณภาพสูง ทางร้านจึงออกเมล็ดกาแฟใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง ทั้งแบบผสมและแบบเมล็ดเดี่ยว รวมทั้งยังจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของ Tully’s ที่ร้านค้าของตนเอง ร้านสะดวกซื้อ และร้านขายของชำทั่วประเทศญี่ปุ่น
นอกเหนือจากกาแฟที่ขึ้นชื่อแล้ว Tully’s ยังให้บริการเครื่องดื่มอื่น ๆ อย่างอูจิมัทฉะลาเต้ และอาหารที่เข้ากันกับรสชาติกาแฟอย่างแซนด์วิชแฮมชีส ไส้กรอกกรอบ พิซซ่าสไตล์เนเปิลส์เนื้อหนา หรือแพนเค้กเมเปิ้ล
Tully’s ยังเป็นแบรนด์ร้านกาแฟที่เข้าร่วมเทรนด์ใหม่ ๆ อยู่เสมอโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อฤดูกาลเปลี่ยนไป เพื่อเพิ่มความน่าดึงดูดใจของผู้บริโภคสูงสุด อย่างเช่นในโอกาสครบรอบ 20 ปีภาพยนตร์แฮร์รี่ พอตเตอร์เรื่องแรก ‘แฮร์รี่ พอตเตอร์กับศิลาอาถรรพ์’ Tully’s ในญี่ปุ่นได้เปิดตัวคอลเลกชั่นสินค้าและเครื่องดื่มสุดพิเศษที่จัดวางจำหน่ายในช่วงนี้เท่านั้น ทำให้ Tully’s ขึ้นชื่อในด้านการปล่อยเครื่องดื่มลิมิเต็ดเอดิชั่นที่อร่อยเป็นประจำ
ที่มา:
–
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline



