เฮียฮ้อกำลังจะนำบริษัท เชฎฐ์ เอเชีย จำกัด ใส่นามสกุล มหาชน ด้วยการเปิดขาย IPO จำนวน 562 ล้านหุ้น ราคาพาร์หุ้นละ 0.50 บาท ในเร็ว ๆ นี้

เหตุผลการนำ เชฎฐ์ เอเชีย เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ของเฮียฮ้อมาจากบริษัท เชฎฐ์ เอเชีย ดำเนินธุรกิจให้บริการติดตามทวงถามและเร่งรัดหนี้สิน, ธุรกิจบริหารจัดการสินทรัพย์จากการรับโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพและธุรกิจให้สินเชื่อ

ซึ่งเฮียฮ้อมองเห็นศักยภาพของเชฎฐ์ เอเชีย ตั้งแต่มาร่วมกับ RS Group ในปีที่ผ่านมาว่า มีพื้นฐานการดำเนินงานด้วยบริหารสินทรัพย์หนี้เสีย และบริการติดตามหนี้เสียที่เติบโตได้ในปีที่ผ่านมา ข้อมูลจาก อาร์เอส พบว่า แม้สถานการณ์โควิด เชฎฐ์ เอเชีย ยังคงสร้างการเติบโตสินทรัพย์จากพอร์ตหนี้เพิ่มขึ้น 24% และมีจำนวนลูกค้าใหม่เพิ่มขึ้น 31% เป็นกว่า 140,000 ราย

ซึ่งเป็นผลจากเงินทุนที่เพิ่มขึ้นจากการเพิ่มทุนของ RS และโอกาสในการหาเงินกู้เพิ่มเติมอีกกว่า 2,000 ล้านบาทภายใต้ RS Group

ถ้ามองในช่วงสามปีที่ผ่านมา เชฎฐ์ เอเชีย มีรายได้เติบโตอย่างต่อเนื่อง

ปี 2562 รายได้ 635.69 ล้านบาท

แบ่งเป็น รายได้จาก

ธุรกิจให้บริการติดตามทวงถามและเร่งรัดหนี้สิน 363.15 ล้านบาท

ธุรกิจบริหารจัดการสินทรัพย์จากการรับโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ 241.17 ล้านบาท

ธุรกิจให้สินเชื่อ 31.14  ล้านบาท

อื่น ๆ 0.24 ล้านบาท

 

ปี 2563 รายได้ 730.20 ล้านบาท

แบ่งเป็น รายได้จาก

ธุรกิจให้บริการติดตามทวงถามและเร่งรัดหนี้สิน 348.53 ล้านบาท

ธุรกิจบริหารจัดการสินทรัพย์จากการรับโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ 325.99 ล้านบาท

ธุรกิจให้สินเชื่อ 55.63 ล้านบาท

อื่น ๆ 0.04 ล้านบาท

 

ปี 2564 รายได้ 781.07 ล้านบาท

แบ่งเป็น รายได้จาก

ธุรกิจให้บริการติดตามทวงถามและเร่งรัดหนี้สิน 276.27 ล้านบาท

ธุรกิจบริหารจัดการสินทรัพย์จากการรับโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ 375.26 ล้านบาท

ธุรกิจให้สินเชื่อ 128.63 ล้านบาท

อื่น ๆ 0.91 ล้านบาท

 

ครึ่งปีแรก 2565 รายได้ 360.33 ล้านบาท

แบ่งเป็น รายได้จาก

ธุรกิจให้บริการติดตามทวงถามและเร่งรัดหนี้สิน 125.18 ล้านบาท

ธุรกิจบริหารจัดการสินทรัพย์จากการรับโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ 211.55 ล้านบาท

ธุรกิจให้สินเชื่อ 23.35 ล้านบาท

อื่น ๆ 0.25 ล้านบาท

การระดมทุนในครั้งนี้เฮียฮ้อมองเห็นว่าตลาดบริการเจรจาติดตามทวงถามและเร่งรัดหนี้สินมีโอกาสทางการแข่งขันจากความต้องการของสถาบันการเงินที่มีหนี้ด้อยคุณภาพที่ไม่สามารถจำหน่ายออกมาได้มีจำนวนที่มากขึ้น

โดยเฉพาะในช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา ส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจเกิดภาวะชะลอตัว จนเกิดแนวโน้มปริมาณหนี้ในระบบที่เพิ่มมากขึ้น และปริมาณการค้างชำระของเงินกู้ยืมมีปริมาณมากขึ้นตามมา

และส่งผลให้ความต้องการใช้บริการติดตามทวงถามเร่งรัดหนี้สินเพิ่มขึ้นตามลำดับ

โดยการที่อาร์เอสต้องการให้เชฎฐ์ เอเชียเข้าตลาดหลักทรัพย์อีกประการหนึ่งเรามองว่ามาจากการแข่งขันในตลาดธุรกิจบริหารสินทรัพย์และธุรกิจให้สินเชื่อเป็นธุรกิจที่มีผู้ประกอบการหลายราย

และในปัจจุบันมีการแข่งขันที่สูงขึ้น จากต้นปีที่ผ่านมาธนาคารแห่งประเทศไทยอนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์และบริษัทบริหารสินทรัพย์สามารถร่วมลงทุนในกิจการร่วมทุน หรือ Joint Venture เพื่อทำธุรกิจบริการบริหารสินทรัพย์ได้

การที่ธนาคารแห่งประเทศไทยอนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์และบริษัทบริหารสินทรัพย์สามารถร่วมลงทุนในกิจการร่วมทุนเป็นโครงการที่มีระยะเวลา 3 ปี ในการยื่นขอจัดตั้งกิจการร่วมทุน และมีระยะเวลา 15 ปีในการดำเนินกิจการร่วมทุนนี้

จุดประสงค์เพื่อให้สถาบันการเงินบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

ทำให้ในวันนี้เราเริ่มเห็นธนาคารพาณิชย์เริ่มส่งสัญญาณร่วมทุนกับบริษัทบริหารสินทรัพย์จัดตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์ร่วมแข่งขันในตลาด

อย่างเช่น เคแบงก์จับมือกับ บมจ. เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส หรือ JMT ด้วยการจัดตั้งบริษัทร่วมทุนบริษัทบริหารสินทรัพย์ และรับโอนหนี้ด้อยคุณภาพส่วนหนึ่งของเคแบงก์มาบริหารในการติดตามหนี้สิน เป็นต้น

และเมื่อธนาคารพาณิชย์ใช้กลยุทธ์การจับมือกับบริษัทบริหารสินทรัพย์มากขึ้น การแข่งขันจากคู่แข่งที่แข็งแกร่งก็จะมีเพิ่มขึ้นตามมา เพราะอย่างน้อยธนาคารพาณิชย์เลือกที่จะสร้างรายได้ส่วนหนึ่งให้กับบริษัทร่วมทุนของตัวเองด้วยการผลักดันหนี้ด้อยคุณภาพบางกลุ่มที่สามารถติดตามทวงหนี้ได้โดยไม่มีปัญหามากนักมาให้บริษัทร่วมทุนของตัวเองดูแลมากกว่าปล่อยให้บริษัทที่เป็นคู่แข่งดูแล

จากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทยพบว่า ธนาคารพาณิชย์มียอดสินเชื่อและหนี้ด้อยคุณภาพ หรือ NPL ดังนี้

 

Q1/2564

สินเชื่อ 17,376,812 ล้านบาท

หนี้ที่มีโอกาสเป็นหนี้ด้อยคุณภาพ 1,118,799 ล้านบาท

หนี้ด้อยคุณภาพ 537,138 ล้านบาท

 

Q2/2564

สินเชื่อ 17,665,253 ล้านบาท

หนี้ที่มีโอกาสเป็นหนี้ด้อยคุณภาพ 1,123,574 ล้านบาท

หนี้ด้อยคุณภาพ 545,460 ล้านบาท

 

Q3/2564

สินเชื่อ 17,393,200 ล้านบาท

หนี้ที่มีโอกาสเป็นหนี้ด้อยคุณภาพ 1,162,793 ล้านบาท

หนี้ด้อยคุณภาพ 546,299 ล้านบาท

 

Q4/2564

สินเชื่อ 17,860,387 ล้านบาท

หนี้ที่มีโอกาสเป็นหนี้ด้อยคุณภาพ 1,138,357 ล้านบาท

หนี้ด้อยคุณภาพ 530,736 ล้านบาท

 

Q1/2565

สินเชื่อ 18,207,457 ล้านบาท

หนี้ที่มีโอกาสเป็นหนี้ด้อยคุณภาพ 1,106,242 ล้านบาท

หนี้ด้อยคุณภาพ 531,894 ล้านบาท

 

Q2/2565

สินเชื่อ 18,358,323 ล้านบาท

หนี้ที่มีโอกาสเป็นหนี้ด้อยคุณภาพ 1,115,852 ล้านบาท

หนี้ด้อยคุณภาพ 527,949 ล้านบาท

ซึ่งการแข่งขันที่กล่าวมาอาจจะทำให้บริษัทติดตามหนี้สินด้อยคุณภาพต้องสร้างความแข็งแกร่งให้กับตัวเอง และจุดเด่นที่แตกต่างเพื่อสร้างความได้เปรียบจากคู่แข่ง

การระดมทุนของ เชฎฐ์ เอเชีย ผ่าน IPO นั้นเฮียฮ้อต้องการนำเงินไปใช้ซื้อสินทรัพย์ด้อยคุณภาพที่เกิดจากหนี้ด้อยคุณภาพในอนาคต

และเพื่อนำไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน

ซึ่งพอร์ตการซื้อสินทรัพย์ด้อยคุณภาพในปัจจุบันของเชฎฐ์ เอเชีย ถือเป็นพอร์ตที่สร้างรายได้ให้กับบริษัทสูงสุดในปัจจุบัน และเป็นธุรกิจที่มีคู่แข่งจำนวนมากที่มีพลังในการแข่งขันผ่านจุดเด่นที่แตกต่างกันไป

โดยการซื้อสินทรัพย์ด้อยคุณภาพของธุรกิจนี้ส่วนใหญ่จะมาจากการเข้าร่วมประมูลซื้อสินทรัพย์ด้อยคุณภาพจากสถาบันการเงินและที่ไม่ใช่สถาบันการเงินที่ปล่อยออกมาให้บริษัทที่สนใจประมูลรับช่วงต่อ

การเข้าร่วมประมูลซื้อสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ ถือเป็นต้นทุนที่บริษัทบริหารสินทรัพย์จะต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมาก และบริหารความเสี่ยงที่เกิดขึ้น

เพราะการประมูลสินทรัพย์ด้อยคุณภาพมีความท้าทายคือ บางครั้งสถาบันการเงินและที่ไม่ใช่สถาบันการเงินจะสอดไส้นำสินทรัพย์ด้อยคุณภาพมา

สำหรับเชฎฐ์ เอเชีย 5 ปีที่ผ่านมามีการใช้เงินประมูลซื้อสินทรัพย์ด้อยคุณภาพดังนี้

2559

ต้นทุนรับโอน  47.28 ล้านบาท

เงินได้ที่รับชำระทั้งหมด 108.85 ล้านบาท

 

2560

ต้นทุนรับโอน  28.85 ล้านบาท

เงินได้ที่รับชำระทั้งหมด 62.99 ล้านบาท

 

2561

ต้นทุนรับโอน 432.07 ล้านบาท

เงินได้ที่รับชำระทั้งหมด 390.01 ล้านบาท

 

2562

ต้นทุนรับโอน 250.77 ล้านบาท

เงินได้ที่รับชำระทั้งหมด 204.26 ล้านบาท

 

2563

ต้นทุนรับโอน N/A

เงินได้ที่รับชำระทั้งหมด N/A

 

2564

ต้นทุนรับโอน 888.75 ล้านบาท

เงินได้ที่รับชำระทั้งหมด 60.65 ล้านบาท

ในปี 2564 เชฎฐ์ เอเชีย ให้ข้อมูลว่าข้อมูลเงินที่ได้รับชำระและสัดส่วนเงินที่ได้รับชำระทั้งหมดต่อต้นทุนรับโอนของปี 2564 ไม่สะท้อนภาพผลการเรียกเก็บของปี 2564 ทั้งปีเนื่องจากในปี 2564 บริษัทฯ รับโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพส่วนใหญ่ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2564

การระดมทุนผ่าน IPO ในครั้งนี้ เชฎฐ์ เอเชีย เชื่อว่าบริษัทตัวเองมีความแข็งแกร่งจากบริการที่ครบวงจร ทั้งให้บริการติดตามทวงถามและเร่งรัดหนี้สิน, ธุรกิจบริหารจัดการสินทรัพย์จากการรับโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ สามารถให้บริการตั้งแต่รับติดตามหนี้ที่ยังไม่ถูกจัดชั้นด้อยคุณภาพซึ่งช่วยลดภาระการดำเนินงานให้แก่คู่ค้าในการติดตามและสามารถใช้เวลาในการดำเนินธุรกิจหลักของคู่ค้าได้อย่างเต็มที่ ตลอดจนในกรณีที่ลูกหนี้ดังกล่าวเปลี่ยนสถานะเป็นลูกหนี้ด้อยคุณภาพ บริษัทฯ สามารถรับโอนลูกหนี้ดังกล่าวมาบริหารจัดการต่อ ซึ่งช่วยลดระยะเวลาและขั้นตอนกระบวนการตามหาและทำความรู้จักลูกหนี้ได้



อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline

ติดตาม Marketeer Online ทาง LINE Official


เพิ่มเพื่อน