ปีนี้คือปีแห่งการกลับมาใช้ชีวิตจริง

แต่การกลับมาใช้ชีวิตในครั้งนี้เปลี่ยนไปจากเดิม เรามีความสุขน้อยลง จากค่าใช้จ่ายและค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับน้ำมันที่มีราคาสูง ทำให้คนคิดออกจากบ้านคิดถี่ถ้วนในการวางแผน

และสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในประเทศและโลก ยังผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม

รวมถึงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ตลอด 2-3 ปีที่ผ่านมาเข้ามาสร้างการเปลี่ยนแปลงในการใช้ชีวิตให้กับคนทั่วโลกด้วยเช่นกัน

สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งที่ส่งผลให้ผู้บริโภคมีทัศนคติ ความคิด และพฤติกรรมในการใช้ชีวิต และเสพสื่อที่เปลี่ยนไป

จากงาน GroupM Focal 2022 ณัฐวีร์ ณีว มาวิจักขณ์ หุ้นส่วนผู้บริหาร และแพน จรุงธนาภิบาล ผู้อำนวยการแผนกพัฒนาและการตลาด กรุ๊ปเอ็ม (ประเทศไทย) สำรวจทัศนคติ ความคิด และพฤติกรรมในการใช้ชีวิตปี 2022 พบการเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภคที่มีผลต่อนักการตลาดที่น่าสนใจ

“ในเวลานี้โควิด-19 จะแทบไม่มีผลต่อการดำเนินชีวิตของผู้บริโภคอีกต่อไป แต่ผลกระทบจาก 2 ปีที่ผ่านมาทำให้ผู้บริโภคไทยมีรายได้น้อยกว่าเดิมมีกำลังซื้อลดลงอย่างมาก อีกทั้งยังต้องเจอกับวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่ผลักดันราคาสินค้าต้นทุนให้แพงขึ้น และการก่อกวนจากกลุ่มคอลเซ็นเตอร์ที่เป็นความเสี่ยงใหม่ในการทำให้สูญเสียเงินจำนวนมาก เป็นผลให้ผู้บริโภคมีความกังวลในการใช้เงินและไม่มั่นใจในวางแผนการใช้จ่ายในระยะยาว”ณีว กล่าว

งานวิจัยของ ณีว และแพน ผ่านแบบสอบถาม พูดคุย และใช้ชีวิตร่วมกับผู้บริโภคกลุ่มตัวอย่างทั่วประเทศ พบว่าในวันนี้คนไทยยังคงใช้ชีวิตที่ยากขึ้น มีความสุขน้อยลง จนเกิดเป็นความคิดและพฤติกรรมในการใช้ชีวิต หาเลี้ยงชีพ และต้องการเสพสื่อต่างจากปีที่ผ่านมา

อย่างเช่น อาชีพไรเดอร์ ที่เคยเป็นอาชีพสร้างรายได้เสริมที่น่าสนใจของผู้บริโภคในช่วงที่ผ่านมา ในปีนี้จากการแข่งขันของจำนวนไรเดอร์ที่เพิ่มขึ้น การลดค่ารอบของแพลตฟอร์มเดลิเวอรี่ และค่าน้ำมันต่อลิตรที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้ผู้ที่ประกอบอาชีพไรเดอร์มีรายได้หลักค่าใช้จ่ายลดลงกว่าเดิม

แม่ค้าไม่กล้าขึ้นราคาสินค้า แม้ค่าน้ำมันที่แพงขึ้นส่งผลกระทบให้วัตถุดิบถีบตัวสูงขึ้นก็ตาม ด้วยเหตุผลคือ ลูกค้าไม่มีกำลังซื้อ

คนต่างจังหวัดมองว่าการไปเป็นผีน้อยที่ประเทศเกาหลีทำให้ได้เงินจำนวนมากและเป็นแสงสว่างที่ทำให้อยู่รอด แม้การไปเป็นผีน้อยอาจจะถูกส่งกลับ หรือมีผลกระทบต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นก็ตาม

พ่อค้าลูกชิ้นตามห้างปิดร้าน หรือยอมเสียเวลาพักผ่อนส่วนตัวไปรับงานเสริม เช่น ไปเป็นไรเดอร์ จากการมองเห็นความไม่มั่นคงของชีวิต จากยอดขายลูกค้าที่ลดลง

จากเดิมก่อนโควิด-19 มีรายได้จากการขายลูกชิ้นมากกว่า 4,000 บาทต่อวัน เป็นยอดจำหน่ายเหลือเพียงหลักร้อย

นักศึกษาจบใหม่ มีความกังวลในการหางาน เพราะกลัวว่าความรู้จากการเรียนออนไลน์มานานถึงสองปีจะไม่มากพอเมื่อเทียบกับคนอื่นที่เรียนในรูปแบบออนไซต์

คนรุ่นใหม่ให้ความสนใจสอบเข้ารับราชการเพราะมองว่าเป็นอาชีพที่มั่นคง และมีสวัสดิการต่าง ๆ ที่เอื้อประโยชน์กับพ่อแม่ได้

และระหว่างรอสอบเข้าเพื่อบรรจุเป็นข้าราชการพวกเขาจะหารายได้จากอาชีพเสริมต่าง ๆ เช่น ขายของออนไลน์ หรือเป็นไรเดอร์แพลตฟอร์มเดลิเวอรี่

สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้คือการเปลี่ยนแปลงในการใช้ชีวิตและหาเลี้ยงชีพทั้งสิ้น

และถ้ามองในรูปแบบการใช้เงิน ในวันนี้คนไทยมองการใช้เงินไม่ใช่แค่เงินสดอีกต่อไป

แต่มองว่าการใช้เงินจะอยู่ในรูปแบบกึ่งดิจิทัลกันหมด

โดย Game Changer ให้คนไทยหันมาอยู่ในรูปแบบการเงินในรูปแบบดิจิทัล มาจากการเกิดขึ้นของโครงการคนละครึ่งและเป๋าตัง

และพวกเขายังมองว่าการใช้ดิจิทัลวอลเลตยังเป็นช่องทางที่สามารถสร้างรายได้กลับมาจากการนำพอยต์ในวอลเลตมาใช้ซื้อสินค้า หรือเป็นส่วนลดต่าง ๆ

สำหรับการซื้อสินค้าผู้บริโภคจึงมีแนวโน้มที่จะเลือกซื้อสินค้าเป็นชิ้น หรือจำนวนน้อย ๆ จากร้านค้าใกล้บ้านมากกว่าการเลือกออกไปซื้อของที่ซูเปอร์มาร์เก็ตที่ไกลออกไป

ซึ่งการซื้อของในซูเปอร์มาร์เก็ตที่อยู่ไกล จะเป็นการวางแผนล่วงหน้าเพื่อลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง

ในส่วนของการซื้อสินค้าผ่านออนไลน์ ผู้บริโภคมองกว่าการซื้อสินค้าในราคาหลักร้อย พวกเขากล้าที่จะซื้อผ่านโซเชียลคอมเมิร์ซ เพราะถ้าของไม่ตรงปก หรือถูกหลอกจะไม่เสียดายเงินมากนัก

ส่วนการซื้อสินค้าที่มีมูลค่าในหลักพันบาทพวกเขาจะหันไปซื้อผ่านอีมาร์เก็ตเพลส เช่น ลาซาด้า ช้อปปี้ เพราะมองว่าถ้าสินค้ามีปัญหาสามารถติดตามหรือเคลมได้

อย่างไรก็ดี ในแง่ของการเสพมีเดียในปีนี้เป็นปีของสกรีนทั้งมือถือและทีวี

จากการสำรวจของณีวและแพนพบว่า พฤติกรรมการบริโภคสื่อปีนี้ ผู้บริโภคทุกช่วงอายุสามารถเข้าถึงคอนเทนต์ออนไลน์และโซเชียลมีเดียได้ไม่ต่างกัน

ทำให้ไม่ว่าจะเป็นเด็กวัยรุ่น วัยทำงานหรือผู้สูงวัยมีการเข้าเสพสื่อผ่านแพลตฟอร์มสลับไปมาอย่างไม่มีรูปแบบตายตัวอีกต่อไป

และสิ่งที่น่าสนใจคือคอนเทนต์ที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นคือคลิปวิดีโอแบบสั้นบนสื่อโซเชียลซึ่งกลายเป็นความนิยมรูปแบบใหม่สำหรับทุกคนเนื่องจากเข้าใจง่าย ไม่ต้องเสียเวลาวิเคราะห์นาน

ซึ่งคอนเทนต์ที่ได้รับความนิยมยังคงเป็นคอนเทนต์ประเภทข่าว กีฬา และผลงานประเภทให้ความรู้ที่ผลิตจากตัวผู้บริโภคด้วยกันเอง โดยคอนเทนต์ที่ทำให้เกิดความสุขมีแนวโน้มว่าผู้บริโภคจะชอบเป็นพิเศษ

ในปีนี้การเสพมีเดียมีความแตกต่างจากเดิมพวกเขามีการใช้เฟซบุ๊กในการเสพคอนเทนต์ที่เป็นโมชั่นคอนเทนต์หรือวิดีโอน้อยลงแต่จะไปดูคอนเทนต์รูปแบบนี้ในติ๊กต็อก หรือยูทูบแทน

และเมื่อพูดถึงยูทูบ พฤติกรรมผู้บริโภคยังเปลี่ยนแปลง จากการฟังเพลงผ่านการตอบรับเป็นสมาชิกในจูกซ์ หรือ สโฟติฟาย เป็นการฟังผ่านยูทูบ

โดยอาจจะบอกรับเป็นสมาชิกยูทูบพรีเมียม ล็อกอินผ่านทีวีและแบ่งใช้กันทั้งครอบครัว หรือยอมดูโฆษณาเพื่อแลกกับการเสพคอนเทนต์ฟรี เนื่องจากต้องการประหยัดค่าใช้จ่าย

อย่างไรก็ดี เมื่อนำสื่อที่เคยได้รับความนิยมในปี 2021 เปรียบเทียบการเสพสื่อของคนไทยในปี 2022 พบว่ามีหลายสื่อที่ได้รับความนิยมเปลี่ยนไปเช่น

กลุ่มโมชั่นคอนเทนต์หรือวิดีโอคอนเทนต์

สื่อที่ยังได้รับความนิยม ได้แก่

ยูทูบ

ติ๊กต็อก

เน็ตฟลิกซ์

ทีวี

 

สื่อที่เสื่อมความนิยม

เฟซบุ๊ก

 

กลุ่มมิวสิก

สื่อที่ได้รับความนิยม

ยูทูบ

 

สื่อที่เสื่อมความนิยม

สโฟติฟาย

จูกซ์

เรดิโอ แอป

 

กลุ่มข่าวสารทุกสื่อในปี 2021 ยังคงได้รับความนิยมในปีนี้ ประกอบด้วย

เฟซบุ๊ก

ทวิตเตอร์

ยูทูบ

กูเกิล

เว็บไซต์

ติ๊กต็อก

 

กลุ่ม Still Content มีการเปลี่ยนแปลงคือ

ในปีนี้ไอจีเป็นสื่อที่ได้รับความนิยมสูงจากคนไทยเมื่อเทียบกับปี 2021

ส่วนสื่ออื่น ๆ อย่างเฟซบุ๊ก และเว็บไซต์ ยังคงได้รับความนิยมเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา

กลุ่ม What Brings Awareness

ในปีนี้ติ๊กต็อกเป็นสื่อที่ได้รับความนิยมสูงเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา

ส่วน ยูทูบ ไอจี ยังคงได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง

และเฟซบุ๊กเป็นสื่อที่เสื่อมความนิยม

จะเห็นได้ว่าในปีนี้ติ๊กต็อกเป็นสื่อที่มาแรงมาจากผู้บริโภคมองว่าติ๊กต็อกเป็นพื้นที่ที่ให้ค้นพบเจอสิ่งใหม่ ๆ และถ้าเป็นสิ่งที่พวกเขาสนใจจะไปค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมในเว็บไซต์ในยูทูบต่อ

ส่วนเฟซบุ๊กในปีนี้มีความท้าทายจากผู้บริโภคใช้งานเฟซบุ๊กน้อยลง เพราะมองว่าในเฟซบุ๊กมีคอนเทนต์ที่ไม่ตรงกับความต้องการจำนวนมาก

แต่พวกเขายังคงรักษาสถานะเฟซบุ๊กแอคเคานต์ที่มีอยู่ไว้เพื่อใช้ล็อกอินเข้าสู่แพลตฟอร์มอื่น ๆ แทน ไม่ว่าจะเป็นเกม ความบันเทิง และการซื้อของออนไลน์

ทำให้ผู้ใช้โซเชียลมีเดียจริง ๆ ไม่ได้อยู่บนเฟซบุ๊ก ซึ่งเป็นสิ่งที่นักการตลาดต้องหันกลับมามองถึงการใช้ข้อมูลเพื่อระบุตัวตนของผู้บริโภคอย่างแท้จริง



อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline

ติดตาม Marketeer Online ทาง LINE Official


เพิ่มเพื่อน