สำหรับช่วงเวลาสิ้นปีนี้ เริ่มใกล้เข้าสู่กำหนดการเปิดตัวของหลาย ๆโครงการ ทั้งโครงการวันซิตี้ เซ็นเตอร์ ที่คาดว่าจะก่อสร้างเสร็จในไตรมาส 4 ปีนี้  รวมถึงโครงการวัน แบงค็อก เฟส 1 ที่มีแพลนพร้อมเปิดในปีหน้า

 

  • ทำไมต้องสร้างตึกระฟ้าหรืออาคารสูง

การสร้างอาคารสูง อาจมีเหตุผลเรื่องพื้นที่ใช้งานที่มากขึ้น  เพื่อผู้อยู่อาศัยที่มีจำนวนเพิ่มขึ้น  สอดคล้องกับความหนาแน่นของประชากรที่พุ่งสูงขึ้น ประกอบกับความก้าวหน้าทางวิศวกรรม

นอกจากนั้น ตึกระฟ้ายังสามารถตกแต่งและปรับปรุงภูมิทัศน์เมืองให้ดูทันสมัยได้ เป็นสัญลักษณ์ของความก้าวหน้าของเมือง  แสดงถึงความเจริญรุ่งเรืองและการพัฒนา  อีกทั้งการเกิดโครงการตึกระฟ้าในพื้นที่ ยังส่งผลให้มูลค่าของที่ดินโดยรอบมีการเปลี่ยนแปลงไปด้วย

ข้อมูลจาก Council on Tall Building and Urban Habitat พบว่า ประเทศไทยมีอาคารที่มีความสูงมากกว่า 150 เมตร มากเป็นอันดับ 10 ของโลก รองจากอินโดนีเซียและแคนาดา

แต่ความหนาแน่นประชากรไทยกลับใกล้เคียงจีนที่อยู่ในอันดับหนึ่ง แสดงให้เห็นว่าไทยมีพื้นที่น้อยแต่จำนวนประชากรมาก การสร้างอาคารแนวดิ่งจึงสอดรับกับการรองรับประชากรที่เพิ่มจำนวนขึ้นได้ดีกว่าการลุยสร้างอาคารแนวราบ ซึ่งมีพื้นที่ไม่เพียงพอ

ไทยมีอาคารสูงมากเป็นอันดับที่ 10 ของโลก

ประเทศ จำนวนอาคารที่สูง 150m+ ความหนาแน่นประชากร
1. จีน 2,968 139 คน/ตารางกิโลเมตร
2. อเมริกา 858 32 คน/ตารางกิโลเมตร
3. สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 314 65 คน/ตารางกิโลเมตร
4. เกาหลีใต้ 276 500 คน/ตารางกิโลเมตร
5. ญี่ปุ่น 271 349 คน/ตารางกิโลเมตร
6. มาเลเซีย 266 92 คน/ตารางกิโลเมตร
7. ออสเตรเลีย 140 3 คน/ตารางกิโลเมตร
8. อินโดนีเซีย 129 124 คน/ตารางกิโลเมตร
9. แคนาดา 124 9 คน/ตารางกิโลเมตร
10. ไทย 124 131 คน/ตารางกิโลเมตร

 

  • รายละเอียดข้อมูลอาคารในไทย

ด้านข้อมูลของไทย Council on Tall Building and Urban Habitat ระบุว่า อาคารสูงของไทยอายุเฉลี่ย 12 ปี  ส่วนใหญ่เป็นการสร้างเพื่อที่อยู่อาศัยประมาณ 58%

ในอดีตอาคารใบหยกที่สร้างในปี 2530 กลายเป็นอาคารที่สูงที่สุดในเวลานั้น และกลายมาเป็นอาคารที่มีความสูงมากกว่า 150 เมตรแห่งแรกของประเทศไทยที่สูงที่สุด และสูงเป็นอันดับ 6 ของเอเชีย

นับจากนั้น อาคารใบหยกก็เป็นที่จดจำว่าเป็นอาคารที่สูงที่สุดในประเทศไทย จนกระทั่งอาคารระฟ้ามหานครเปิดตัวในปี 2559 ก็ได้ทำลายสถิติของอาคารใบหยก และเข้ามายืนแทนที่ในอันดับหนึ่ง

หลังจากนั้นไม่นาน แมกโนเลียส์ วอเตอร์ฟรอนท์ เรสซิเดนซ์  ซึ่งเป็นคอนโดมิเนียม ระดับลักชัวรี ก็เข้ามาอยู่ในอันดับหนึ่ง ด้วยความสูง 315 เมตร

แต่ในปี 2560 บริษัท ทีซีซี แอสเซ็ท (ประเทศไทย) จำกัด และ บริษัท เฟรเซอร์ พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด เปิดตัว One Bangkok ด้วยงบการลงทุน 1.2 แสนล้านบาท โครงการมิกซ์ยูส รวมออฟฟิศ รีเทล โรงแรม และที่พักอาศัย ซึ่ง Signature Tower อาคารที่อยู่ในโครงการมีรายละเอียดความสูงที่ 436.1 เมตร ด้วยความสูงดังกล่าว ทำให้ Signature Tower ในโครงการวันแบงค็อกกลายเป็นอาคารที่สูงที่สุดในเมืองไทย แทนที่ทั้งใบหยก มหานคร และแมกโนเลียส์ วอเตอร์ฟรอนท์

 

อัปเดตอันดับอาคารที่สูงที่สุดในประเทศไทย

อันดับ ชื่อ สถานะ สูง(เมตร)
1 Signature Tower วัน แบงค็อก อยู่ระหว่างดำเนินการ 436.1
2 แมกโนเลียส์ วอเตอร์ฟรอนท์ เรสซิเดนเซส ทาวเวอร์ 1 แล้วเสร็จ 315
3 มหานคร แล้วเสร็จ 314
4 ใบหยก Tower II แล้วเสร็จ 304
5 Four Seasons Private Residences แล้วเสร็จ 299.5
6 สุนทรียา อยู่ระหว่างดำเนินการ 295.2
7 วัน แบงค็อก เฟส 3 ทาวเวอร์ 2 อยู่ระหว่างดำเนินการ 284.7
8 อาคารที่พักอาศัยวันแบงค็อก เฟส 2 อยู่ระหว่างดำเนินการ 277.7
9 วัน ซิตี้ เซนเตอร์ ใกล้แล้วเสร็จ 275.8
10 วัน แบงค็อก เฟส 1 ออฟฟิศ ทาวเวอร์ อยู่ระหว่างดำเนินการ 274.2

 

อ้างอิง: Council on Tall Building and Urban Habitat



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online