Soft Power เกาหลี ทำให้ค่ายเพลงกลายเป็นอภิมหาอาณาจักร (วิเคราะห์)

ย้อนกลับไปหลายทศวรรษ นับตั้งแต่การพัฒนาของอุตสาหกรรมภาพยนตร์และการแพร่กระจายของการใช้โทรทัศน์ในสื่อกระแสหลัก ชาติตะวันตกโดยเฉพาะอเมริกัน ได้เข้ามามีอิทธิพลครอบคลุมหลายภูมิภาคในยุคนั้น ทั้งไลฟ์สไตล์คนดังฮอลลีวูดที่ผู้คนพยายามจะเลียนแบบ รวมถึงวัฒนธรรมการกินอาหารฟาสต์ฟู้ดต่างๆ

แต่สุดท้าย อเมริกาเริ่มสูญเสียการผูกขาดด้านวัฒนธรรมเช่นเดียวกับในด้านอื่นๆ เมื่อพบคู่แข่งรายใหม่

  • โอลิมปิกฤดูร้อนปี 1988 จุดเริ่มต้นซอฟต์เพาเวอร์

เกาหลีใต้ ถูกขนาบข้างด้วยยักษ์ใหญ่ทางเศรษฐกิจอย่างญี่ปุ่นและจีน มีการแข่งขันที่สูงลิ่ว  ประเทศที่ซึ่งมีภูมิประเทศไม่เอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูกอย่างเกาหลี จึงไม่สามารถแข่งขันกับเพื่อนบ้านทั้งสองได้โดยตรง

จนกระทั่งในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนปี 1988 ที่กรุงโซล กลายเป็นจุดพลิกผัน เกาหลีซึ่งได้รับความสนใจในการจัดโอลิมปิกขณะนั้น  รีบต่อยอดกระแสด้วยการส่งซอฟต์เพาเวอร์ เปิดวัฒนธรรมป๊อปของประเทศ  ผ่านK-Pop ละครโทรทัศน์ และภาพยนตร์

โดยที่ทั้งหมดได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล ที่ต้องการฉายภาพเกาหลีใต้สู่สายตาคนนอกประเทศ ด้วยคอนเทนท์ที่คัดมาอย่างรอบคอบ รัดกุม

  • กระแสฮันรยูสู่การขยายอาณาเขต K-Pop

ในปี 2010 วัฒนธรรมสมัยนิยมของเกาหลีใต้เริ่มบูมในเอเชีย เรียกว่า “ฮันรยู” แปลได้ว่า “คลื่นเกาหลี” เป็นสำนวนที่อธิบายถึงความสำคัญของวัฒนธรรมป๊อปของเกาหลีใต้ที่ขยายวงกว้างอย่างรวดเร็ว ก่อนจะแพร่กระจายไปทั่วโลก จนทำให้วงการเพลงและภาพยนตร์ที่กลายเป็นสัญลักษณ์ของประเทศนี้

ในปี 2012 ยิ่งตอกย้ำกระแสฮันรยู ให้ชัดเจนขึ้นอีก จากการโด่งดังไปทั่วโลกของเพลง “Gangnam Style” ของ Psy นักร้องเพลงป๊อปชาวเกาหลีใต้ ที่สร้างแรงกระเพื่อมใหญ่แก่อุตสาหกรรมดนตรีทั่วโลก ทลายกำแพงภาษาสู่ดนตรีที่แท้จริง

นับจากนั้นกระแสเกาหลีฟีเวอร์ก็มีมาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดในปี 2020 ภาพยนตร์เกาหลีใต้เรื่อง “Parasite” ก็สร้างเสียงฮือฮาจากการคว้ารางวัลออสการ์ อะคาเดมี อวอร์ดส์ และเป็นครั้งแรกของภาพยนตร์ที่ไม่ใช่ภาษาอังกฤษ

อีกทั้งซีรีส์ที่โด่งดังไปทั่วทั้งเอเชียและอเมริกาอย่างเรื่อง “Squid Game” ที่ได้สร้างรายได้มหาศาล

ไม่เพียงเท่านั้น อุตสาหกรรมดนตรีเกาหลี ก็ได้รับความนิยมแบบก้าวกระโดดเช่นกัน รู้จักกันในชื่อของ “K-POP”  ในแต่ละปีจะมีจำนวนองค์กรที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมดนตรีเกาหลีเพิ่มขึ้น 7% และจำนวนสมาชิกที่เข้ามาอยู่ในอุตสาหกรรมอีก 36%

อิทธิพลของนักร้อง มีส่วนช่วยผลักดันยอดนักท่องเที่ยวให้มาเยือนเกาหลีใต้ประมาณ 7% ของจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งหมด

แน่นอนว่าความสำเร็จนี้ไม่ใช่เรื่องบังเอิญสำหรับเกาหลีใต้  การสร้างแบรนด์ “South Korea” มีมากกว่าขบวนการชาตินิยม เพราะมีในเรื่องผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ การเมือง การปกครองเข้ามาร่วมด้วยทั้งหมด  เนื่องจากรัฐบาลเกาหลีเล็งเห็นความสำคัญของซอฟท์เพาเวอร์ ว่าเป็นเครื่องมือที่จะสามารถลอยตัวเหนือทุกปัญหาข้อพิพาทได้

●      อุตสาหกรรมดนตรีเกาหลีใต้สร้างรายได้เข้าประเทศมหาศาล

ในปี 2019 อุตสาหกรรมเพลงของเกาหลีใต้มีรายได้จากการขายสูงสุดเป็นประวัติการณ์กว่า 6.8 ล้านล้านวอน มีมูลค่าการส่งออกกว่า 756 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นมูลค่าการส่งออกที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องมาตลอดระยะเวลาสิบปี

 

เกาหลีใต้ ประเทศบ้านเกิดของ Samsung และ LG ผู้บริโภคส่วนใหญ่มีสมาร์ทโฟนเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก จึงไม่น่าแปลกใจที่ยอดสตรีมเพลงสูงถึง 63.7%

จากรายงานของ International Federation of the Phonographic เผยว่า อุตสาหกรรมเกาหลีใต้เป็นตลาดเพลงหลักที่เติบโตเร็วที่สุดในโลกในปี 2020 โดยมีรายได้จากการบันทึกเสียงเพิ่มขึ้นเกือบ 45 % ของปีที่แล้วในประเทศ  ท่ามกลางกระแสK-Pop ที่เฟื่องฟูไปทั่วโลก

 

ด้วยการสนับสนุนจากรัฐบาลเกาหลีใต้ กระแสฮันรยูได้แพร่หลายยิ่งขึ้น จนขยายฐานผู้ชมไปทั่วโลก นอกเหนือจากในประเทศตน เห็นได้จากข้อมูลจำนวนเงินที่ใช้ต่อเดือนสำหรับเนื้อหาเคป๊อปทั่วโลกที่เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า อยู่ที่ 10.8 ดอลลาร์สหรัฐ/คน

และในปีที่ผ่านมา ผู้บริโภคที่ใช้จำนวนเงินเฉลี่ยสูงสุดในเนื้อหาเคป๊อปอาศัยอยู่ในสหราชอาณาจักร และใช้จ่ายประมาณ 25.3 ดอลลาร์สหรัฐ/เดือน

 

ส่องรายได้ค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ในเกาหลี

หัวข้อ HYBE YG SM JYP
ปีก่อตั้ง 2005 1996 1995 1997
ผู้ก่อตั้ง บัง ชีฮยอก หยาง ฮยอนซอก อี ซูมาน พัค จินยอง
รายได้เฉพาะจากธุรกิจเกี่ยวกับเพลง (ล้านดอลลาร์) 932.98 262.85 520 143.65
ตัวอย่างศิลปิน -BTS
-TXT-Seventeen-Enhypen-Le Sserafim
-Blackpink -Bigbang

-Winner

-Ikon

-Treasure

-Girl’s Generation

-Exo

-Aespa

-Red velvet

-SuperJunior

-Twice
-Itzy-Stray Kids-2PM-Nmixx

อ้างอิง : ตัวเลขรายได้จากตลาดหลักทรัพย์สหรัฐ , Marketeerรวบรวม *รายได้ปี 2021

 

 

ในปี 2021 ผลประกอบการบริษัทยักษ์ใหญ่ที่เปิดมานานอย่าง SM, YG และ JYP Entertainment อยู่ที่ประมาณ 510 ล้านดอลลาร์ 258 ล้านดอลลาร์ และ 141 ล้านดอลลาร์ ตามลำดับ

ขณะที่HYBE บริษัทต้นสังกัดของบอยแบนด์ BTS มีรายได้นำโด่งมาที่ 1.26 ล้านล้านวอน หรือประมาณ 902.60 ล้านดอลลาร์ แม้ว่าจะมีอายุบริษัทน้อยกว่ารายชื่อข้างต้นก็ตาม แต่ HYBE สามารถสร้างรายได้มากที่สุดในบริษัทเพลงเกาหลี เนื่องมาจากความโด่งดังของบอยกรุ๊ปอย่าง BTS

แม้ต้องเผชิญสถานการณ์โควิด19 ระลอกแรก คอนเสิร์ตถูกยกเลิก ทำให้หลายบริษัทรายได้ลดลง เนื่องจากส่วนใหญ่ พึ่งพารายได้จากการขายบัตรคอนเสิร์ต อย่างเช่น SM Entertainment ที่มีรายได้ลดลง 56 ล้าน ตอนช่วงโควิด

แต่ก็สามารถฟื้นกลับมาได้หลังการเปิดฉีดวัคซีน ที่จากนั้นรัฐบาลอนุญาตให้วงการดนตรีดำเนินการแสดงได้ตามปกติ  ประกอบกับการเปิดตัววงน้องใหม่ ที่ช่วยให้กระแสกลับมาเป็นบวกมากขึ้น และมีตัวเลขรายได้ดีขึ้นอย่างรวดเร็ว

และจากการวิเคราะห์ของ Statista เกี่ยวกับรายงานรายได้ของบริษัท ระบุว่า บอยแบนด์วง BTS นั้น ได้สร้างอิทธิพลต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ผลักดันยอดนักท่องเที่ยวให้มาเยือนเกาหลีใต้ประมาณ 7% ของจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งหมด รวมถึงการศึกษาภาษาเกาหลี และอุตสาหกรรมอาหารที่ได้รับอานิสงส์ไปด้วย

กล่าวได้ว่าแทบจะช่วยสร้างอิทธิพลทุกอย่างต่อวัฒนธรรมเกาหลีใต้ ให้เผยแพร่ออกไปในวงกว้าง โดยที่มูลค่าเม็ดเงินในอุตสาหกรรม ที่อิทธิพลของ BTS เข้าไปกระตุ้นนั้น สร้างมูลค่ามหาศาล เกือบจะเทียบเท่าได้กับรายได้ของสายการบินประจำชาติอย่าง Korean Air กันเลยทีเดียว

แน่นอนว่าความสำเร็จนี้ไม่ใช่เรื่องบังเอิญสำหรับเกาหลีใต้  การสร้างแบรนด์ “South Korea” มีมานานและถูกวางรากฐานมาเป็นอย่างดี

ย้อนกลับไปเมื่อหลายสิบปีก่อน ตั้งแต่ที่ซีรีส์ “Autumn in my heart” โด่งดังทั่วเอเชีย จริงๆแล้วนั้น  ผู้สร้างคอนเทนต์เหล่านี้ได้รับเงินทุนสนับสนุนจากรัฐบาลเกาหลี เนื่องจากเล็งเห็นว่า คอนเทนต์ความบันเทิง เป็นอิทธิพลที่สามารถแทรกซึมได้ง่ายกว่าการ Propaganda แบบตรงๆ

การที่เราได้เห็นSoft Power ประสบความสำเร็จเช่นนี้ ไม่ได้เกิดจากวางแผนปีสองปีเท่านั้น แต่เป็นรากฐานที่ถูกสร้างขึ้นมาอย่างมีระบบและใช้เวลาเกือบ 20 ปี กว่าจะเกิดเป็นความสำเร็จเช่นในปัจจุบัน

และมูลค่าเม็ดเงินมหาศาลที่ปรากฏอยู่นี้ นี่คือพลังของ Soft Power


อ้างอิง : Statista, BusinessKorea, Statista-Kpop, Naver, The Korea Herald, YonHapNews , The Wall Street Journay , Investing.com

 

อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online