เศรษฐกิจของประเทศจะขับเคลื่อนไปได้ก็ด้วยธุรกิจต่าง ๆ ที่ทำเงิน และเม็ดเงินเหล่านี้ก็จะถูกนำกลับมาพัฒนาสาธารณูปโภค ซึ่งสาธารณูปโภคสำคัญสุดคือไฟฟ้า โดยสำหรับเวียดนามประเด็นนี้ทวีความสำคัญขึ้นมาอีกหลายเท่า
รองรัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจเวียดนามเผยเมื่อต้นสิงหาคมที่ผ่านมาว่า ภายในปี 2030 รัฐบาลวางแผนลงทุนด้านพลังงานไว้สูงสุดถึง 14,000 ล้านดอลลาร์ (ราว 515,000 ล้านบาท) โดยในจำนวนนี้ 75% เป็นโรงไฟฟ้าแห่งใหม่และอีก 25% เป็นการขยายโรงไฟฟ้าเดิมที่มีอยู่
รัฐมนตรีคนนี้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าเมื่อถึงเวลาดังกล่าวจะไม่มีการลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าพลังถ่านหินอีกต่อไป โดยโซลาร์เซลล์และพลังงานลมจะเข้ามามีบทบาทในฐานะขุมพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศมากขึ้นในยุคที่สิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องสำคัญ
สิ่งที่ทำให้เรื่องนี้น่าจับตามอง ไม่ได้มาจากเม็ดเงินลงทุนมหาศาลที่ตั้งไว้ และความต้องการพลังงานปริมาณมากของเวียดนามเพื่อนำไปใช้ป้อนสายพานการผลิตในอุตสาหกรรมโรงงานเวียดนามที่มีแต่จะยิ่งขยายตัวเท่านั้น ทว่าในถ้อยแถลงดังกล่าวระบุด้วยว่า รัฐบาลเวียดนามเปิดรับการลงทุนจากภาคเอกชน
ถัดจากนั้น บริษัทพลังงานยุโรปก็เริ่มเคลื่อนไหว โดย TotalEnergies ของฝรั่งเศสจับมือกับบริษัทอสังหาริมทรัพย์เวียดนามผลิตโซลาร์เซลล์ล็อตใหญป้อนดงโรงงานเวียดนาม
เพราะเห็นว่าอนาคต นอกจาก Foxconn ยักษ์ OEM ไต้หวันและ Samsung แล้ว จะมียักษ์ธุรกิจอีกมากมายที่ย้ายหนีจีนมาใช้เวียดนามเพื่อเป็นฐานการผลิตใหม่ในเอเชีย
สัญญาณล่าสุดที่ชี้ว่าเวียดนามจะกลายเป็นขุมทองแห่งใหม่ของบริษัทพลังงานยุโรปคือการที่ Orsted บริษัทพลังงานอันดับหนึ่งของเดนมาร์ก ทุ่มงบ 13,600 ล้านดอลลาร์ (ราว 501,000 ล้านบาท) สร้างทัพกังหันลมปั่นไฟฟ้ามากมายในเวียดนาม ภายในปี 2030
เมื่อนำเม็ดเงินของ Orsted มารวมกับงบการสร้างโรงงานของ Lego จะทำให้เดนมาร์กเป็นประเทศอันดับต้น ๆ ของกลุ่มประเทศแถบยุโรปเหนือ (Nordic) ที่มาลงทุนในเวียดนาม
สำหรับเดนมาร์กนี่คือความเคลื่อนไหวสำคัญในเวียดนามและยังเป็นการฉลองครบรอบ 50 ปีในการสถาปนาความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศอีกด้วย ซึ่งในประเด็นหลังจะยืนยันความสำคัญด้วยการเดินทางมาเยือนเวียดนามของมกุฎราชกุมาร Frederik พฤศจิกายนที่จะถึงนี้อีกด้วย
ส่วนในภาพใหญ่นี่เป็นสัญญาณว่าจากนี้บริษัทพลังงานยุโรปอีกมากจะพากันมาลงทุนในเวียดนาม ตาม TotalEnergies และ Orsted เพราะต่างก็รู้ดีว่าเวียดนามต้องการพลังงานอีกมหาศาลเพื่อขับเคลื่อนประเทศ
และป้อนดงโรงงาน โดยที่อุปสรรคต่าง ๆ ถูกกำจัดไปแล้วเกือบหมดหลังเวียดนามและสหภาพยุโรป (EU) จัดตั้งเขตการค้าเสรีเวียดนาม-ยุโรป (EVFTA) เสร็จหมาด ๆ เมื่อปี 2020
โดยเขตการค้าเสรีดังกล่าวแม้ใช้เวลาหลายปีในการเจรจาแต่มูลค่าการลงทุนก็เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน โดยเฉพาะปี 2021 มูลค่าลงทุนของบริษัทยุโรปในเวียดนาม อยู่ที่ 63,600 ล้านดอลลาร์ (ราว 2.3 ล้านล้านบาท) เพิ่ม 14.8% จากปี 2020
ดังนั้นจึงเป็นที่แน่นอนว่าในอนาคตจากนี้การลงทุนของบริษัทยุโรปในเวียดนาม ทั้งจากธุรกิจพลังงานและธุรกิจอื่น ๆ จะเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่า/dw, reuters, nikkei, worldpopulationreview
–
ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ