ที่มาเต้าหู้ ‘Tofu’ มาจากไหน และทำไมถึงเป็นหนึ่งในอาหารที่นิยมระดับโลก
เชื่อว่าหลายคนคงรู้จักเต้าหู้กันเป็นอย่างดี เพราะเต้าหู้เป็นหนึ่งวัตถุดิบที่สำคัญของหลาย ๆ จาน ทั้งแกงจืด เต้าหู้ทอด ไปจนถึงผัดต่าง ๆ ซึ่งเต้าหู้ไม่ได้เป็นส่วนประกอบที่พบเห็นแค่ในอาหารไทยเท่านั้น แต่ยังเป็นที่นิยมในต่างประเทศทั้งเอเชียและยุโรปอีกด้วย
เต้าหู้เป็นอาหารที่ทำมาจากน้ำเต้าหู้ที่รวมกันเป็นลิ่มน้ำนม แล้วกดให้เป็นก้อน โดยแต่ละชนิดมีความแข็งที่แตกต่างกันออกไป เต้าหู้มีประวัติความเป็นมายาวนานตั้งแต่เมื่อ 2,000 ปีก่อน ในสมัยราชวงศ์ฮั่น ซึ่งผู้คิดค้นเต้าหู้นั่นคือ เจ้าชายหลิวอัน พระราชนัดดาของจักรพรรดิหลิวปัง กษัตริย์องค์แรกของราชวงศ์ฮั่น
ตั้งแต่วันที่เริ่มคิดค้นขึ้นมาจนถึงปัจจุบัน เต้าหู้ได้กลายเป็นหนึ่งในอาหารที่ได้รับความนิยมระดับโลก มีผู้คนนับล้านรับประทานเต้าหู้ในทุกวัน
แล้วเพราะอะไรเต้าหู้ถึงได้รับความชื่นชอบขนาดนี้?
เหตุผลแรกคือ ผู้คนในวัฒนธรรมเอเชียมีความผูกพันและคุ้นชินกับเต้าหู้มาตั้งแต่แรก ผ่านรสชาติในอาหารแสนอร่อยที่มีคุณค่าทางโภชนาการต่าง ๆ
ส่วนอีกเหตุผลหนึ่งคือ ปัจจุบันผู้คนนิยมรับประทานอาหารมังสวิรัติ และอาหารที่มีพืชเป็นส่วนประกอบหลัก (Plant-based) เต้าหู้จึงได้รับความนิยมมากขึ้น เพราะมีโปรตีนสูง ไขมันต่ำ คาร์โบไฮเดรตต่ำ และยังมีแคลเซียมจำนวนมาก
นอกจากนี้ เต้าหู้มีราคาไม่แพง แถมมีประโยชน์หลายอย่าง สามารถใช้ปรุงกับอาหารหลากหลายประเภทได้อย่างง่ายดาย จึงกลายเป็นสินค้าขายดีได้อย่างไม่ยาก
ยิ่งไปกว่านั้น เต้าหู้ยังเป็นที่รู้จักในฐานะตัวแทนอาหารญี่ปุ่นเพื่อสุขภาพอีกด้วย คนญี่ปุ่นนิยมรับประทานเต้าหู้ เพื่อสุขภาพหรือเพื่อควบคุมน้ำหนัก จนเต้าหู้ได้ชื่อว่าเป็น “อาหารอายุยืน” เนื่องจากมีประโยชน์ต่อสุขภาพมากมาย จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้เต้าหู้เป็นที่รักของคนญี่ปุ่นมาช้านาน เห็นได้จากเมนูอาหารมากมายไปจนถึงเครื่องเคียงยอดนิยมตอนดื่มแอลกอฮอล์
ยอดขายเต้าหู้พุ่งสูงขึ้นในช่วงการระบาดใหญ่ของโควิด-19
ในสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ทำให้ยอดขายของเต้าหู้เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด เนื่องจากผู้บริโภคมองหาทางเลือกใหม่ที่ราคาไม่แพงแทนเนื้อสัตว์ต่าง ๆ โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา
นับตั้งแต่การล็อกดาวน์ในสหรัฐอเมริกาเริ่มต้นขึ้นในกลางเดือนมีนาคม มีรายงานว่า เต้าหู้ขาดแคลนมากที่สุดในหลาย ๆ รัฐ โดยข้อมูลของ Nielsen (นีลเส็น) หนึ่งในบริษัทวิจัยการตลาดที่มีชื่อเสียงของสหรัฐอเมริกา และได้รับการยอมรับมากที่สุดในโลก เผยว่า ยอดขายเต้าหู้สูงขึ้น 40% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2020 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว รวมทั้งมีการคาดการณ์ว่า ตลาดเต้าหู้ในสหราชอาณาจักรจะมีอัตราการเติบโต 14.68% ต่อปีตั้งแต่ปี 2021 ถึง 2026
Pulmuone
ขณะที่ Pulmuone บริษัทเกาหลีใต้ที่ผลิตอาหารจากพืชให้จำหน่ายผลิตภัณฑ์ทั้งในประเทศเกาหลีและต่างประเทศ เจ้าของ Nasoya แบรนด์เต้าหู้อันดับ 1 ของสหรัฐอเมริกา ถูกบังคับให้จัดส่งเพิ่มอีก 1 ล้านแพ็กจากเกาหลีใต้ ทำให้บริษัทเติบโตเพิ่มขึ้นกว่า 20%
ข้อมูลในการค้นหาบน Google ยังพบว่า มีการค้นหาสูตรวิธีทำอาหารจากเต้าหู้เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าตั้งแต่เดือนมีนาคม และ Allrecipes บริการเครือข่ายสังคมออนไลน์ที่เน้นด้านอาหารในซีแอตเทิล วอชิงตัน ได้เผยฐานข้อมูลสูตรอาหารประจำปี พบว่า การค้นหาสูตรเต้าหู้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา โดยเพิ่มขึ้นถึง 266%
Allrecipes
นอกจากนี้ Kroger บริษัทค้าปลีกของอเมริกาที่ดำเนินธุรกิจซูเปอร์มาร์เก็ตและร้านค้าหลายแผนกทั่วสหรัฐอเมริกา ยังมียอดขายเต้าหู้เพิ่มขึ้น 30% ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปี 2019 อีกด้วย
ความรักของผู้คนที่มีต่อเต้าหู้
ในฝรั่งเศส Vicky Lau (วิคกี้ หลิว) เชฟและเจ้าของห้องอาหาร Tate Dining Room ระดับสองดาวมิชลิน และ Romain Herbreteau (โรเมน เฮอร์เบิร์ตโทร์) อดีตผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการของ Dominique Bouchet เครือร้านอาหารหรู ได้เพิ่มเครื่องทำผลิตเต้าหู้ขนาดยักษ์เข้ามาในร้านอาหารของพวกเขา เนื่องจากร้านอาหารนี้เป็นร้านอาหารธีมเต้าหู้นั่นเอง และ Vicky Lau ยังได้คิดค้นสูตรอาหารสำหรับเต้าหู้ “Ode to Tofu” ในปี 2020 ขึ้นมาเองอีกด้วย
Ode to tofu
ทุกวันนี้ในญี่ปุ่น ศิลปะการทำเต้าหู้แบบดั้งเดิมยังคงได้รับการอนุรักษ์ไว้อย่างดีในเกียวโต ซึ่งมีร้านอาหารมากมายได้จำหน่าย ผลิต และปรุงอาหารอยู่จำนวนมาก อย่างร้าน Okutan (โอคุทัน) ร้านเต้าหู้อายุสามศตวรรษในเกียวโต
Okutan ก่อตั้งขึ้นเมื่อกว่า 380 ปีที่แล้ว เป็นหนึ่งในร้านเต้าหู้ที่เก่าแก่ที่สุดในเกียวโต ซึ่งมีเมนูซิกเนเจอร์คือ Mukashi-tofu (เต้าหู้สูตรดั้งเดิม) และเมนูอื่น ๆ อย่างเต้าหู้โกมะ พุดดิ้งเต้าหู้งาเย็น เต้าหู้เด็งกาคุ หรือเต้าหู้ก้อนต้มในน้ำซุปดาชิ เป็นต้น
Okutan
ด้วยประสบการณ์ที่สะสมมาตลอดหลายร้อยปี ทำให้ Okutan เป็นร้านอาหารที่โดดเด่นกว่าร้านอาหารอื่น ๆ ในด้านการทำเต้าหู้ได้อร่อยและมีรสชาติเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว
นอกจากร้านอาหารต่าง ๆ ในทั่วโลกที่นิยมนำเต้าหู้มาปรุงอาหารแล้ว ยังมีหนังสือ The Book of Tofu ของ Shurtleff (เชอร์ทเลฟ) และ Diet for a Small Planet ของ Frances Moore Lappé (ฟรานเซส มัวร์ ลาปเป) หนังสือเกี่ยวกับเต้าหู้ ที่มาเต้าหู้ ได้รับการตีพิมพ์ในปี 1970 ได้รับความนิยมและยกย่องในการส่งเสริมส่วนผสมให้กับมวลชนชาวตะวันตกอีกด้วย
ความชื่นชอบของผู้คนที่มีต่อเต้าหู้นี้จึงทำให้เต้าหู้กลายเป็นเมนูอาหารรสเลิศที่ทันสมัย สามารถนำไปประกอบอาหารได้ตามความชอบของทุกคน ทั้งอบ ทอด ต้ม หรือย่าง ซึ่งสามารถรับประทานเป็นอาหารประจำวันของผู้คนได้อย่างง่ายดาย
ที่มา:
–
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้
Website : Marketeeronline.co /
ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ