ช่วงเวลาที่ตื่นเต้นมากกว่าที่เคย ออกนอกบ้านให้มากขึ้น เพื่อเปลี่ยนบรรยากาศและเข้าถึงหลายสิ่งหลายอย่าง ๆ ที่เคยเป็นรวมทั้ง “เวลากาแฟ”
จะด้วยอยู่แต่บ้านนานไปหรืออย่างไร ไม่ว่าภาพใหญ่ ๆ ความเป็นไปในหลาย ๆ สิ่งดูถดถอยไปบ้าง และหลายอย่างยังไม่เข้าที่เข้าทาง ทว่ามีเรื่องหนึ่งซึ่งน่าทึ่ง เพิ่งสังเกต คาเฟ่ หรือร้านกาแฟ ได้เข้ามาประชิดติดขอบรั้วบ้านตนเองมากขึ้น
อันที่จริง บางแห่งดูเหมือนมีมานานแล้ว เพิ่งจะมาเตะตาให้ความใส่ใจ ไม่ผ่านเลยอย่างที่เคยออกนอกบ้านจนเป็นกิจวัตรเช่นช่วงก่อน Covid-19 ที่แน่ ๆ หลาย ๆ คาเฟ่นั้นมาใหม่จริง ๆ จะถือเป็นปรากฏการณ์ก็ว่าได้
กับคนที่ใช้ “เวลากาแฟ” ที่บ้านมานาน หรือว่าบางครั้งใช้บริการ Delivery จึงเป็นจังหวะอันควร การหาโอกาสไปแวะเยือนคาเฟ่ข้างบ้านที่ว่า คือการแสวงหาสิ่งอ้างอิงและอัปเดตอะไรใหม่ ๆ
ก็เป็นเช่นคอกาแฟทั่วไป บางครั้งวิ่งตามกระแสไปไกลกว่านั้น สัมผัสความยิ่งใหญ่จากน้ำมือผู้ลงทุน ผู้ท้าทาย “ขาใหญ่” ระดับโลก ให้ปรากฏโฉมคาเฟ่มีดีไซน์ ใหม่-ใหญ่ ด้วยมีมุมหลากหลาย ชวนให้ปักหมุดหมายในโลกโซเชียล
ทว่าโดยพื้นฐานแล้วเป็นพวกใส่ใจให้ความสำคัญกระบวนการกาแฟ มักเริ่มจากแหล่งที่มาที่ดี ผ่านการคั่วอย่างพิถีพิถัน จนถึงวิธีทำตามตำราคลาสสิก เป็นไปอย่างช้า ๆ ณ Slow bar ทั้งสังเกตและจับภาพความเคลื่อนไหวอันไม่หยุดนิ่ง สะท้อนจากฉากชีวิตผู้คน จนถึงบทสนทนาพอบางช่วงกับบาริสต้า เพื่อเช็ก เพื่อแชร์ความรู้และประสบการณ์ บ่อยครั้งเรื่องราวออกไปไกลจากกาแฟ
ที่น่าตื่นตาตื่นใจ ในรัศมี 1 กิโลเมตรรอบ ๆ บ้าน มีคาเฟ่ผุดขึ้นหลายแห่ง รอบ ๆ เดินทางไปถึงไม่กี่นาที และดูจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แม้ในช่วงเวลาที่ผู้คนไม่ค่อยออกจากบ้านที่ผ่านมากว่า 2 ปี ในนี้ย่อมมีสัก 1–2 แห่ง คือ “คาเฟ่ข้างบ้าน” เล็ก ๆ ออกแบบอย่างตั้งใจ ให้มีบุคลิก เปิดพื้นที่มีบรรยากาศและฉากอย่างที่ว่าไว้จริง ๆ
รู้แค่ว่าปรากฏการณ์ “คาเฟ่ข้างบ้าน” เป็นจริงเป็นจัง ขยายตัวขยายเครือข่ายอย่างต่อเนื่อง ด้วยฝ่าวิกฤต ฝ่ามุมมองทั่ว ๆ ไป ด้วยพยายามเข้าใกล้และสัมพันธ์กับชุมชนและกลุ่มก้อนผู้คนหนึ่ง ๆ ในเมืองใหญ่ ผู้คนผู้มีวิถีชีวิตคล้าย ๆ กัน ผ่านทางไปมาเป็นปกติเป็นประจำ ค่อย ๆขยับปรับตัวจากครั้งคราว กลายมาเป็นผู้แวะเวียนคาเฟ่อย่างสม่ำเสมอ ไม่ใช่แค่เป็นไปตามแบบแผนหนึ่งว่าด้วยพฤติกรรมผู้บริโภคในเมืองใหญ่ หากเชื่อว่ามีความเชื่อมโยงเป็นชิ้นส่วนวัฒนธรรมกาแฟกำลังสถาปนาขึ้นในสังคมไทย ทั้งนี้ จะมีความหมายอย่างพิเศษในฐานะเป็นที่หนึ่งในสังคมโลก กอปรด้วยห่วงโซ่ทั้งสายไปจรดต้นธาร
เท่าที่คาดและหวังว่าจะเป็นเช่นนั้น คาเฟ่ข้างบ้านก่อตัวตั้งต้นขึ้นมาจากผู้ฝักใฝ่กาแฟท้องถิ่น เป็นพวก Startup หน้าใหม่ ๆ ซึ่งใช้เวลาค่อย ๆ สะสมบทเรียนจนสามารถขยับขยายเครือข่ายคาเฟ่ได้ระดับหนึ่ง ไม่ถึงกับอยู่ในระดับ “ขาใหญ่” แต่มีระบบบริหารสมัยใหม่ และแบบแผนความสัมพันธ์กับคอกาแฟอย่างสมดุลกัน
สอดรับกับความคิดความเชื่ออันหนักแน่น อย่างที่ผมเองเคยว่าไว้ ในฐานะเป็นทั้ง “คอกาแฟ” และผู้สังเกตการณ์สังคมไทย ปรากฏเป็นข้อคิดข้อเขียนในคอลัมน์นี้มาตั้งแต่ตอนแรก ๆ ในช่วงต้น ๆ เมื่อกว่า 4 ปีที่แล้ว
เปิดฉากมาจากจินตนาการภาพกว้าง ๆ พลวัตทางสังคม ด้วยความเชื่อว่า เป็นปรากฏการณ์ และเรื่องราวอันเต็มไปด้วยแรงบันดาลใจ แรงขับเคลื่อนโดยคนหนุ่มสาว ประหนึ่งได้เพาะเชื้อ หรือจุดตั้งต้นให้ก้าวไปสู่อีกยุคสมัย จากยุคราชการ ยุคลูกจ้าง ไปสู่ยุคสมัยอันหลากหลาย ด้วยผู้ประกอบการใหม่ ๆ
ปรากฏการณ์ซึ่งสะท้อนพลังไม่อาจมองข้ามได้ เมื่อรายย่อย-รายกลาง รวมตัวกัน แม้ไม่ตั้งใจ ทว่าเป็นไปโดยอัตโนมัติ เป็นแรงปะทะปะทุซึ่งท้าทาย สวนกระแส และผสมผสาน เพื่อเปิดทางเลือกให้กว้างขึ้น ท่ามกลางกระบวนการหลอมละลายธุรกิจ พยายามให้มาอยู่ในเครือข่ายในมือเดียวของบรรดา “ขาใหญ่”
อีกมิติหนึ่งคือ ผลพวง ก่อเกิดทักษะและความรู้ใหม่ ๆ อันจำเป็น ซึ่งมิอาจสร้างขึ้นจากการศึกษาในระบบ ให้เป็นบทเรียนและทักษะองค์รวม ในวงกว้าง เป็นผลึกความรู้จากบทเรียนทั้งความล้มเหลวและอยู่รอด ท่ามกลางปรากฏการณ์คาเฟ่ในเมืองใหญ่ทั่วไทย มีทั้งเกิดขึ้นและล้มหายในทุก ๆ วัน ด้วยพื้นฐานแห่งองค์ความรู้อันพอกพูนโดยทั่วไป สร้างเสริมความพร้อมอย่างมั่นใจ จะก้าวไปไกลขึ้น ทั้งสามารถข้ามพรมแดนไปสู่ธุรกิจเปิดกว้างอย่างแท้จริง
จึงเชื่อว่า “เวลากาแฟ” @ คาเฟ่ข้างบ้าน จะเบ่งบานต่อไป
–
อ่าน เวลากาแฟ
วิรัตน์ แสงทองคำ คอลัมนิสต์ ธุรกิจอิสระ ด้วยวัตรปฏิบัติ 4 ทศวรรษกับผลงานนับพันชิ้น งานบางส่วนปรากฏใน https://viratts.wordpress.com/และ https://www.facebook.com/วิรัตน์-แสงทองคำ เบื้องหลังฉาก “เวลากาแฟ” ดำเนินไปเป็นกิจวัตร ด้วยเรื่องราวและความคิดที่แตกต่าง เพิ่งจะเปิดสู่วงกว้างครั้งแรก @Marketeer online
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline



