จากประเทศใหญ่แต่ไม่มีความเป็นปึกแผ่นในอดีต วันนี้จีนเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง โดยนอกจากทุกองคาพยพของประเทศจะเคลื่อนไปในทิศทางเดียวกันแล้ว บทบาทและอิทธิพลบนเวทีโลกก็เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลสอดคล้องกับขนาดประเทศอีกด้วย

ส่วนเศรษฐกิจ อุตสาหกรรมและเทคโนโลยีก็พัฒนาแบบก้าวกระโดด ขณะเดียวกันก็เป็นตลาดใหญ่และมีกำลังซื้อสูงที่แบรนด์น้อยใหญ่ต่างอยากเจาะให้ได้

ทว่าจีนก็ดำเนินนโยบายเข้มงวดในประเทศจนถูกมองว่าปิดกั้นลิดรอนสิทธิเสรีภาพ ขณะเดียวกันยังหนุนรัสเซียอีก

ความเคลื่อนไหวเหล่านี้ทำให้ทุกประเทศต้องดำเนินนโยบายที่เกี่ยวกับจีนอย่างรอบคอบ และชั่งน้ำหนักให้ดีว่าจะกดดันเพื่อแสดงความไม่เห็นด้วยต่อเรื่องสิทธิมนุษยชนหรืออาจทำเป็นหลับตาข้างหนึ่งแล้วจับมือเพื่อประโยชน์ทางธุรกิจ

นายกรัฐมนตรี โอลาฟ ชอลซ์

สำหรับเยอรมนีดูเหมือนว่าจะเลือกอย่างหลัง โดยวันที่ 3-4 พฤศจิกายนนี้ นายกรัฐมนตรี โอลาฟ ชอลซ์ จะเดินทางไปเยือนจีน เพื่อเข้าพบประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ในประเด็นทางเศรษฐกิจและกระชับความสัมพันธ์ในด้านต่าง ๆ

ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง

ท่ามกลางการคาดว่าประเด็นสำคัญลำดับต้น ๆ ที่ผู้นำทั้งสองจะได้หารือกันคือ การซื้อขายหุ้นท่าเรือในเมืองฮัมบูร์กให้ COSCO

รัฐบาลเยอรมนีเพิ่งอนุมัติขายหุ้นท่าเรือแห่งนี้ด้วยสัดส่วนการถือหุ้น 24.9% ที่แม้น้อยกว่า 35% ที่ COSCO บริษัทขนส่งสินค้าทางเรือของจีนต้องการ แต่ก็เป็นการยืนยันแล้วว่าเยอรมนีขาดจีนประเทศคู่ค้าอันดับหนึ่ง ที่มูลค่าการค้าเฉพาะในปี 2021 สูงถึง 240,000 ล้านดอลลาร์ (ราว 9 ล้านล้านบาท) ไปไม่ได้

พร้อมกันนี้เยอรมนีก็อยากให้จีนช่วยจัดการให้การดำเนินธุรกิจของบริษัทสัญชาติเยอรมนีอย่าง Volkswagen, Siemen, BASF และ Biersdorf ใน “แดนมังกร” ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่ยานยนต์ไปถึงสินค้ากลุ่ม Personal care เป็นไปอย่างราบรื่น

นัยสำคัญของการไปเยือนจีนของนายกรัฐมนตรี โอลาฟ ชอลซ์ ยังอยู่ที่จังหวะเวลาและการแสดงให้เห็นถึงความกระตือรือร้น เพราะทำให้เขาเป็นผู้นำประเทศตะวันตกคนแรกที่เยือนจีน หลังผู้นำจีนนั่งเก้าอี้ต่อเป็นสมัยที่ 3

และอีกราวไม่ถึงสัปดาห์ถัดจากนี้ทั้งคู่ก็น่าจะได้พบกันอีกระหว่างการประชุมผู้นำกลุ่มประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ 20 ประเทศ (G20) ที่เกาะบาหลีของอินโดนีเซียอีกด้วย

ความคิดเห็นต่อการเยือนจีนโดยใช้เรื่องเศรษฐกิจเป็นธงนำครั้งนี้แตกออกเป็นสองฝ่าย โดยฝ่ายที่สนับสนุนเห็นว่า ด้วยฐานะคู่ค้าอันดับ 1 เยอรมนีจึงต้องรักษาความสัมพันธ์กับจีนเอาไว้

และหากดีลซื้อ-ขาย หุ้นท่าเรือฮัมบูร์กหลุดมือก็อาจกระทบเป็นระบบต่อการทำธุรกิจกับจีน ทั้งยุโรปและในดินแดนของจีน

ส่วนฝ่ายที่คัดค้านมีตั้งแต่คนในรัฐบาลเยอรมนีด้วยกันเองไปจนถึงสหภาพยุโรป เพราะเป็นการย้ำว่าเยอรมนีพึ่งพาจีนมากเกินไป และหากปิดดีลซื้อขายหุ้นท่าเรือเมืองฮัมบูร์กได้ จีนก็จะมีหุ้นหรือเป็นเจ้าของท่าเรือในยุโรปเพิ่มเป็น 8 แห่ง

จนทำให้อิทธิพลในยุโรปผ่านโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (One Belt-One Road) เพิ่มขึ้น ท่ามกลางความกังวลว่าจีนอาจใช้ท่าเรือเป็นข้อต่อรองหากเกิดความขัดแย้ง เหมือนที่รัสเซียใช้น้ำมันและก๊าซตอบโต้การคว่ำบาตรอยู่ขณะนี้  

ดังนั้นประเด็นที่ต้องจับตามองจากนี้คือ ผลการเจรจาระหว่างผู้นำเยอรมนีและจีน โดยฝ่ายเยอรมนีก็คงต้องการให้ความสัมพันธ์ระหว่างกันเป็นไปอย่างเท่าเทียมกว่านี้ ลดข้อติดขัด

และเร่งรัดดีลต่าง ๆ ที่อยู่ระหว่างเจรจา เพราะแม้จีนคือคู่ค้ารายใหญ่สุด แต่ครึ่งแรกปี 2022 ที่ผ่านมาเยอรมนีก็ยังเป็นฝ่ายขาดดุล

และมีบริษัทเยอรมนีมากมายที่ทำธุรกิจในจีน ซึ่งทุกบริษัทต่างก็เห็นว่าจีนสำคัญ โดยยืนยันได้จากยอดขายในจีนที่กินสัดส่วนถึง 30% จากยอดขายทั้งหมดของทั้ง  Volkswagen และ BMW  

ท่าเรือเมืองฮัมบูร์ก

ส่วนฝ่ายจีนแม้มีแต้มต่ออยู่มากแต่ก็ต้องติดตามกันว่า จะรับข้อเสนอของเยอรมนีในดีลซื้อขายหุ้นท่าเรือเมืองฮัมบูร์กเลยหรือขอสัดส่วนหุ้นเพิ่มอีก

ถ้าดีลเกิดล่มขึ้นมา นอกจากความสัมพันธ์ที่ร้าวฉานแล้ว ก็อาจเป็นอุปสรรคต่อการเจรจาซื้อ-ขายหุ้นท่าเรือเยอรมนีอีก 2 แห่งในอนาคต รวมไปถึงประเด็นทางเศรษฐกิจอื่น ๆ ด้วย/nikkei



อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline

ติดตาม Marketeer Online ทาง LINE Official


เพิ่มเพื่อน