หนังไทย จะไปต่อได้ไหม ในวันที่ต้องอยู่บนสตรีมมิ่ง และต้องเจอคู่แข่งระดับโลก
ท่ามกลางตลาดภาพยนตร์และความบันเทิงทั่วโลกที่มีมูลค่ากว่า 90.92 พันล้านดอลลาร์ และคาดว่าจะขยายตัวที่อัตราการเติบโตต่อปีที่ 7.2% จากการเพิ่มขึ้นของรายได้ด้านเอนเตอร์เทนเมนต์และความบันเทิงทำให้ตลาดเติบโตได้อย่างรวดเร็ว
ซึ่งมูลค่าของคอนเทนต์ความบันเทิงนั้นไม่ได้มีเพียงยอดที่เป็นตัวเลขการขายเท่านั้น แต่ยังมีพลังสร้างอิทธิพลต่อทั้งการท่องเที่ยว สังคม และเศรษฐกิจ สร้างมูลค่าต่ออีกมหาศาล ที่เราเรียกกันว่า “Soft Power”
สรุปประเด็นน่าสนในงาน Icreator 2022 ในหัวข้อ “อนาคตวงการภาพยนตร์ โลกคู่ขนาน โรงหนังและโลกออนไลน์”
ทำไมคนไทยไม่ดูหนังไทย และ ‘หนังที่ดี’ เป็นอย่างไร
เป็นประเด็นที่ผู้ผลิตสื่อต้องทำความเข้าใจ หลังเกิดเป็นค่านิยมไม่รับชมคอนเทนต์หนังไทยในหมู่คนรุ่นใหม่ เพราะมองว่าไม่มีความสดใหม่ คอนเทนต์วนเวียนยึดติดเรื่องเดิม ๆ
ซึ่งคุณเล็ก คงเดช ผู้กำกับภาพยนตร์ไทย มองต่างว่า หลายปีที่ผ่านมานี้คอนเทนต์หนังมีความอิสระขึ้นมาก เนื้อหาหลากหลายขึ้นทุกปี แต่ตัวหนังเหล่านั้นต่างมีกลุ่ม Target ของตน และมีความเฉพาะกลุ่มสูงมาก และไม่เป็นที่รู้จักเเหมือนหนังจากค่ายใหญ่
แต่ก็สามารถขายได้และมีกระแสอยู่ในกลุ่มเป้าหมายของหนังเรื่องนั้น ๆ จึงอาจนิยามได้ว่า
“หนังที่ดี คือ หนังที่ถูกใจคนดู”
ผู้ผลิต หนังไทย รับมืออย่างไร ก่อนกระโดดเข้าไปในสนามสตรีมมิ่ง
คุณนิ้ง ภัทนะ ผู้กำกับซีรีส์เรื่อง Hurt like hell มองว่า การเข้ามาของสตรีมมิ่งช่วยให้เปิดโอกาสแก่ผู้ผลิตหน้าใหม่ ทำให้ผู้บริโภคเห็นคอนเทนต์ที่หลากหลายขึ้น ไม่ผูกขาดอยู่แค่กับเจ้าใหญ่ ๆ ไม่กี่เจ้า แต่เมื่อลงไปอยู่ในแพลตฟอร์มสตรีมมิ่ง แม้จะช่วยขยายฐานแฟนออกสู่ผู้ชมต่างประเทศ แต่ผู้ผลิตหนังไทยก็ต้องเผชิญการแข่งขันที่สูงมาก
เนื่องจากการรับชมบนแพลตฟอร์ม ผู้บริโภคสามารถตัดสินใจทุกอย่างได้ด้วยตนเอง หากคอนเทนต์ไม่ดึงดูดพอจะไม่สามารถรั้งผู้ชมไว้ได้เลย ดังนั้น การผลิตคอนเทนต์ออกมาหนึ่งอย่างต้องทำรีเสิร์ช หาอินไซต์ วาง Position และ Target ให้ชัด เพื่อให้ผลงานเสี่ยงขาดทุนน้อยที่สุด
แล้วโรงภาพยนตร์จะไปต่อได้หรือไม่ ในยุคที่สตรีมมิ่งถูกเลือกมากกว่า
การระบาดใหญ่ของ COVID-19 ที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าส่งผลกระทบโดยตรงต่อตลาดภาพยนตร์ เนื่องจากโรงหนังจำเป็นต้องปิดทำการ
อย่างไรก็ดี โรงภาพยนตร์ถือว่าฝ่าฟันอุปสรรคการเปลี่ยนแปลงมาหลายอย่างแล้วก่อนจะเจอช่วงโควิด ทั้งยุคที่วิดีโอมาแรง ผู้คนซื้อแผ่นภาพยนตร์ไปรับชมกับโฮมสตูดิโอแทนการเดินเข้าโรงภาพยนตร์ จนกระทั่งมาถึงยุคดิจิทัล ที่การรับชมหนังไปอยู่บนแพลตฟอร์มสตรีมมิ่ง
คุณสุวิทย์ ทองร่มโพธิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานการตลาด บริษัท เอส เอฟ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ได้เผยมุมมองอีกด้านว่า โรงภาพยนตร์ยังคงตอบโจทย์การให้ประสบการณ์ที่ดีในการรับชม ที่โฮมสตูดิโอไม่สามารถให้ได้
หนังฟอร์มยักษ์บางเรื่องจำเป็นต้องรับชมที่โรงภาพยนตร์ เนื่องจากโปรดักชั่นการถ่ายทำที่ถูกคิดมาตั้งแต่ต้นสำหรับการเปิดในโรง เพื่อรักษาอรรถรสเรื่อง แสง สี เสียงต่าง ๆ ของภาพยนตร์
อย่างไรก็ตาม โรงภาพยนตร์ก็ต้องปรับตัว นำเอาอัลเทอร์เนทีฟคอนเทนต์เข้ามาฉายมากขึ้น ทั้งการถ่ายทอดสดฟุตบอล คอนเสิร์ตศิลปินต่างประเทศ ความหลากหลายดังกล่าวเป็นอีกกลยุทธ์หนึ่งในการดึงลูกค้าเข้ามาเยือนยังโรงภาพยนตร์
โรงหนัง กับ สตรีมมิ่ง ไม่ใช่คู่แข่งกัน แต่เป็นคู่ขา
ยุคปัจจุบันโรงหนังกับสตรีมมิ่งไม่ได้เป็นคู่แข่งที่ต้องฟาดฟันกินเลือดกินเนื้อกัน แต่ต้องประคับประคอง Eco System ให้เติบโตไปพร้อมกัน เปรียบการนำหนังเข้าฉายในโรงเป็นการวางสินค้าบนเชลฟ์ ก่อนจะต่ออายุสินค้าด้วยการนำมาลงฉายต่อในแพลตฟอร์มสตรีมมิ่ง
โดยสรุป การจะทำกระบวนการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำให้ดี เพื่อสร้างผลผลิตปลายน้ำที่มีคุณภาพนั้น อุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยยังคงห่างชั้นด้านมูลค่างบการลงทุน เมื่อเทียบกับต่างประเทศอยู่พอสมควร อีกทั้งไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลอย่างเป็นรูปธรรม ทำให้พลังของ Soft Power ไทยไม่สามารถสร้างมูลค่าแก่ตลาดภาพยนตร์ไทยได้มากเท่าที่ควรจะเป็น
–
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้
Website : Marketeeronline.co /
ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ